posttoday

UNGC Leaders Summit 2021 (ตอนที่ 4) ประเด็นร้อนด้านความยั่งยืนในเวทีโลก

21 มิถุนายน 2564

โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ

********************

ผ่านไปแล้ว กับการประชุมความยั่งยืนครั้งสำคัญของโลก UNGC Virtual Leaders Summit 2021 ในปีนี้มีผู้นำความยั่งยืน เข้าร่วมงานมากกว่า 20,000 คน จาก 165 ประเทศ ผ่านทางระบบออนไลน์ต่อเนื่อง 26 ชั่วโมง ที่ถ่ายทอดสดจากมหานครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปยังทั่วโลก

UNGC Leaders Summit 2021 (ตอนที่ 4) ประเด็นร้อนด้านความยั่งยืนในเวทีโลก

นายอันโตนิโอ กูแทเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ  กล่าวเปิดการประชุมในครั้งนี้ โดยระบุว่า ผู้นำความยั่งยืนที่มารวมตัวกันในครั้งนี้ พร้อมสนับสนุนแผนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยองค์กรธุรกิจต่างๆ ที่เข้าร่วมงานนี้แสดงถึงความพร้อมที่จะร่วมรับผิดชอบและเดินหน้าลงมือในภารกิจการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  นอกจากนี้  ยังได้ย้ำว่าองค์กรธุรกิจจะต้องบูรณาการในเรื่องการลงทุน การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจต่าง ๆ ที่ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และคำนึงถึง ESG (Environmental, Social, Governance)

UNGC Leaders Summit 2021 (ตอนที่ 4) ประเด็นร้อนด้านความยั่งยืนในเวทีโลก

ด้านแซนด้า โอเจียมโบ ซีอีโอและผู้อำนวยการบริหาร UN Global Compact  แสดงความเป็นห่วงผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการ ขาดแคลนวัคซีน โดยมีหลายประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงการรับวัคซีนได้ ตลอดจนปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะ ในกลุ่มสตรีวัยทำงานที่ต้องถูกเลิกจ้างจากสถานการณ์โควิด-19 

ไฮไลท์ประเด็นความยั่งยืนในเวทีโลกวันนี้ หนีไม่พ้นการเรียกร้องให้ภาคธุรกิจแสดงบทบาทมากขึ้นและจริงจังขึ้น ในการบูรณาการความยั่งยืนเข้าสู่เป้าหมายและภารกิจองค์กร โดยเฉพาะประเด็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการลดความเหลื่อมล้ำ

ในงานนี้ นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ 3 ซีอีโอบริษัทไทยชั้นนำ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ที่แสดงถึงศักยภาพของผู้นำความยั่งยืนของไทยที่พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก และเป็นตัวอย่างขององค์กรธุรกิจที่นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก (Global Goals) มาผนวกเข้ากับเป้าหมายองค์กร มีแผนงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมทั้งวัดผลได้ โดยเฉพาะเรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

UNGC Leaders Summit 2021 (ตอนที่ 4) ประเด็นร้อนด้านความยั่งยืนในเวทีโลก

คุณศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศ และซีอีโอเครือเจริญ โภคภัณฑ์ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ  “Light the Way to Glasgow and Net Zero: Credible Climate Action for a 1.5 °C World”   หรือ “จุดคบเพลิงเพื่อมุ่งหน้าสู่การประชุม COP26 Glasgow และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์: ลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส”  ระบุว่าการที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ต้องเริ่มจากการทำให้คนในประเทศตระหนักถึงปัญหาการบริโภคที่ยังไม่ยั่งยืน เช่น การใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากเกินไปมาอย่างยาวนานที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ  ในฐานะที่ธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์เกี่ยวข้องกับอาหาร การเกษตร และการค้าปลีก จึงพยายามทำงานร่วมกับพันธมิตรมากกว่า 100,000 ราย ในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 10 ปีข้างหน้าจะดำเนินการใน 3 หัวข้อหลัก  คือ 1) ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนตามปริมาณที่เครือฯ ต้องการใช้ใน 10 ปีหน้า 1,600 เมกะวัตต์ โดยจะลงทุนเรื่องพลังงานสีเขียวกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 2) ปลูกป่าให้ได้ 16 ล้านไร่ เพื่อครอบคลุมการชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ใน 10 ปีข้างหน้า รวมถึงมุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครอบคลุมพื้นที่ของเกษตรกรในห่วงโซ่อุปทาน 3) ขับเคลื่อนการกำจัดขยะ โดยเฉพาะขยะอาหารในกระบวนการทั้งหมดให้เป็นศูนย์

UNGC Leaders Summit 2021 (ตอนที่ 4) ประเด็นร้อนด้านความยั่งยืนในเวทีโลก

ด้านคุณแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน)  เปิดวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กร หัวข้อ “A New Era of Action. Accelerate Climate Action: Raising Business Pathway to Decarbonization” หรือ “การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ: ยกระดับแนวทางธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” โดยกล่าวว่า เอ็นอาร์เอฟ จะทำให้โลกปลอดคาร์บอนผ่านการเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร โดยระบุอยู่ในทุกสิ่งขององค์กร ตั้งแต่วิสัยทัศน์ นโยบาย และเป้าหมายที่จะเป็นผู้ผลิตโปรตีนทางเลือกและอาหารจากพืชที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสร้างเครือข่ายกำลังการผลิตที่ครอบคลุมมากที่สุดในโลก ตั้งแต่แบรนด์ระดับสากล ไปจนถึงสตาร์ทอัพ สู่ซุปเปอร์มาร์เก็ต เพื่อเปลี่ยนไปสู่การผลิตอาหารคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน สิ่งที่เอ็นอาร์เอฟให้ความสำคัญก็คือ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ให้เข้าใจถึงวิสัยทัศน์และเป้าหมายขององค์กร ด้วยการมีนโยบายที่ชัดเจนที่ถ่ายทอดจากระดับผู้บริหารสูงสุด ไปถึงผู้บริหารระดับกลาง และผู้ปฏิบัติงานในระดับจัดซื้อ เพื่อให้มั่นใจว่าได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานขององค์กร  

พร้อมทั้งได้แชร์มุมมองที่น่าสนใจว่า ความท้าทายสำคัญในธุรกิจอาหาร ก็คือ การเปลี่ยนผ่านจากผู้ผลิตที่ทำการเกษตรบนพื้นฐานของสารเคมี ไปสู่การทำการเกษตรชีวภาพ ที่ไม่ใช่สารเคมี  เพราะถ้าทำเช่นนี้ได้ย่อมทำให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจำไปได้ในตัว และสถานการณ์โควิด-19 ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในห่วงโซ่อุปทาน เพราะทุกคนต้องการมีสุขภาพดี ทุกคนต้องการอาหารสะอาด และต้องการ “เดี๋ยวนี้”  สิ่งที่ทุกคนต้องการ ไม่เพียงแต่ทำให้ตนเองรู้สึกดี แต่ยังทำให้โลกดีขึ้นด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองสิ่งที่ผู้คนต้องการนี้ จะผลักดันให้ภาคธุรกิจยกระดับแผนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

UNGC Leaders Summit 2021 (ตอนที่ 4) ประเด็นร้อนด้านความยั่งยืนในเวทีโลก

คุณโฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวในหัวข้อ ”SDG Ambition: Mobilizing Ambitions Corporate Actions Towards the Global Goals หรือ ยกระดับการดำเนินงานขององค์กรธุรกิจสู่เป้าหมายความยั่งยืนระดับโลก โดยให้ความเห็นว่า ภาคเอกชนและภาครัฐ สามารถผลักดันการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคมได้ เช่นเดียวกับที่ไทยวาทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยชั้นนำ และสตาร์ทอัพ ในการวิจัยพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้า สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ จนถึงคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังได้เปิดเผยถึงแผนงานของไทยวาว่ากำลังจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในปลายปีนี้ เป็นการพัฒนานวัตกรรม บรรจุภัณฑพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งนอกจากจะสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 100% ปลอดสารพิษและไม่เป็นอันตราย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย โดยไทยวาจะเป็นผู้บุกเบิกพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากมันสำปะหลังรายแรกของไทย และมีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพชั้นนำในระดับภูมิภาค เพื่อนำไปสู่แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรในระยะยาว  ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างทวนสอบรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีหลังนี้