posttoday

หลากหลายแนวคิดและแนวทางเรื่องวัคซีนโควิด-19 (20)

22 มิถุนายน 2564

โดย...นพ.วิชัย โชควิวัฒน

**************

ทั่วโลก เห็นประจักษ์ในความมหัศจรรย์ของจีน ที่สามารถ “เนรมิต” โรงพยาบาลสนามพันเตียงที่อู่ฮั่นได้สำเร็จในเวลาเพียง 10 วัน นับจากวันประกาศปิดเมืองอู่ฮั่น เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 แต่น้อยคนที่จะรับรู้ถึงการที่บริษัทไบโอเอ็นเทคและไฟเซอร์สามารถเนรมิตวัคซีนที่มีความปลอดภัยและประสิทธิศักย์สูงในการต่อสู้กับโควิด-19 ได้ในเวลารวมทั้งสิ้นไม่ถึง 9 เดือน

พวกเขาทำได้อย่างไร

อัลเบิร์ต โบร์ลา เล่าว่า โควิด-19 เข้ามาสู่ “จอเรดาร์” ของพวกเขาในเดือนมกราคม 2563 เมื่อปรากฏรายงานของโรคระบบหายใจรุนแรงและทำให้เสียชีวิตในอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยที่บริษัทของเขาลงทุนมากมายในเรื่องโรคติดเชื้อและการวิจัยวัคซีน พวกเขาจึงจับตามองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ ก็ชัดเจนแล้วว่าไวรัสนี้แพร่ระบาดไปยังหลายส่วนของโลก และพวกเขารู้ว่าบริษัทของพวกเขาต้องมีบทบาทสำคัญในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดนี้

พวกเขาได้ร่วมกับไบโอเอ็นเทคที่จะนำเทคโนโลยีเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ (เอ็มอาร์เอ็นเอ) ที่กำลังพัฒนาสำหรับสร้างวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาใช้กับโรคนี้

ตามปกติ การวิจัยและพัฒนาวัคซีน จะเริ่มต้นที่การเพาะเลี้ยงไวรัสที่ “ถูกทำให้อ่อนแอแล้ว” (weakened forms) ซึ่งต้องใช้เวลาแรมเดือน ดังกรณีของวัคซีนโรคคางทูม ซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนาจนสำเร็จรวดเร็วที่สุดก็ต้องใช้เวลาถึง 4 ปี ในการตั้งต้นจากห้องปฏิบัติการจนถึงประชาชน ในช่วงทศวรรษ 1960 แต่วัคซีนจากเอ็มอาร์เอ็นเอ สร้างขึ้นโดยการสังเคราะห์โดยสร้างจาก “รหัสพันธุกรรม” (genetic code) ของไวรัสเท่านั้น จึงสามารถทำได้รวดเร็วกว่ามาก

อูการ์ ซาฮิน และ ออซเลม ทูเรซี สองสามีภรรยาชาวตุรกี และทีมงานที่ไบโอเอ็นเทค มองเห็นอย่างรวดเร็วว่าจะนำเอ็มอาร์เอ็นเอมาสร้างวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างไร โดยเริ่มต้นลงมือตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2563 ที่จีนรายงานรหัสพันธุกรรมของโควิด-19 ต่อธนาคารพันธุกรรมโลก และสามารถสร้างวัคซีนนี้สำเร็จในห้องปฏิบัติการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563

วันที่ 1 มีนาคม ทีมงานของไบโอเอ็นเทคโทรศัพท์ติดต่อแคธริน แจนเซน (Kathrin Jansen) หัวหน้าหน่วยวิจัยและพัฒนาวัคซีนของไฟเซอร์ว่า สนใจจะเป็นหุ้นส่วน (partnering) ในการทดสอบ “วัคซีนทดลอง” (Candidate vaccines) ที่พวกเขาพัฒนาขึ้นหรือไม่ โดยพวกเขาพัฒนาขึ้นแล้วราว 20 ชนิด แน่นอน ไฟเซอร์สนใจ แม้เอ็มอาร์เอ็นเอจะมี “จุดอ่อน” สำคัญคือยังไม่มีวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอชนิดใดที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ประเทศไหนๆ

ทั้งสองบริษัทเริ่ม “ความร่วมมือ” (collaboration) นี้ตอนที่การแพร่ระบาดลุกลามไปอย่างกว้างขวาง โดยในวันที่ 11 มีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลกประกาศ “การระบาดใหญ่ทั่วโลก” (pandemic) และวันที่ 13 มีนาคม 2563 ทั่วโลกเริ่มใช้มาตรการ “ระยะห่างทางสังคม” (social distancing) และวันนั้นเอง โบร์ลาก็ประกาศ “นโยบาย 5 ข้อ” เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญให้ทุกคนในบริษัท “ผนึกกำลังร่วมปฏิบัติการ” (Cooperative effort) ในการ “เอาชนะไวรัสโคโรนา”

โดยให้คำแนะนำว่า “เราจะแบ่งปันปัญญาและเครื่องมือ เช่น การคัดกรองไวรัสและรูปแบบอื่นๆ, ควบคู่กับข้อมูลและการวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้อง, นำพาผู้คนของเรา ทั้งนักไวรัสวิทยา นักชีววิทยา นักเคมี แพทย์ นักระบาดวิทยา และผู้เชี่ยวชาญแขนงอื่นๆ , แบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนายาร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotec) ขนาดย่อมต่างๆ เช่นเดียวกับที่ร่วมมือกับบริษัทไบโอเอ็นเทค , ช่วยพวกเขานำทางฝ่ากระบวนการทางคลินิกและกระบวนการทางกฎหมายที่ซับซ้อน , หยิบยื่นขีดความสามารถในการผลิตให้แก่พวกเขา สำหรับวัคซีนหรือยาใดๆ ที่ได้รับอนุมัติ ; และให้สามารถเข้าถึงหน่วยงานต่างๆ ของรัฐเพื่อสร้างหน่วยเคลื่อนที่เร็วของบรรดานักวิชาการเพื่อการรับมือกับการระบาดในรอบใหม่”

น่าสังเกตว่า พวกเขา “พุ่งเป้า” ไปที่ “การระบาดรอบใหม่” เพราะการระบาดรอบแรกที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ พวกเขาไม่มีทางค้นพบยาและวัคซีนมาใช้ได้

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 ผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทได้ประชุมและมีมติว่า บัดนี้เป็นเวลาที่ทุกคนจะต้องพัฒนาวัคซีนกับบริษัทไบโอเอ็นเทคร่วมกับการพัฒนายาและวิธีการรักษาโควิด-19 แม้ว่าจะต้องใช้จ่ายเงินถึง 3 พันล้านดอลลาร์

โดยที่โครงการพัฒนาวัคซีนทั่วไป อาจต้องใช้เวลาถึง 10 ปี และต้องใช้เงินราว 1 พันล้านดอลลาร์ หรืออาจสูงกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ “เราจะต้องไม่มุ่งตัดสินใจเพื่อผลตอบแทนทางการเงินเท่านั้น แต่ลำดับความสำคัญสูงสุดของเราจะต้องเพื่อรักษาชีวิตของผู้คนให้มากที่สุดและรวดเร็วที่สุด”

โบร์ลา ตั้งเป้าหมายให้มีวัคซีนพร้อมใช้ในฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึง นั่นคือราวเดือนสิงหาคม 2563 เพราะคาดว่าการะบาดระลอกสองจะเริ่มขึ้นในช่วงนั้น (จากประสบการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในประเทศเขตหนาว จะระบาดในช่วงฤดูหนาว ขณะที่ในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทย จะระบาดในฤดูฝน) แน่นอนว่าการตั้งเป้าหมายเช่นนั้น เป็นเรื่องหนักหนาสาหัส และอาจเป็นงานที่ไม่อาจบรรลุได้ แต่ทุกคนต้องมุ่งมั่น ทุ่มเท และพยายามที่จะบรรลุให้ได้

และแล้วก็ถึงจุดสตาร์ท มีการลงนามใน “หนังสือแสดงเจตจำนง” (Letter of Intent : LOI) ระหว่าง ไฟเซอร์กับไบโอเอ็นเทคที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ ซึ่งเป็น “เทคโนโลยีนวัตกรรม” (Innovation technology) กับไฟเซอร์ ซึ่งมีขีดความสามารถ (capabilities) เรื่องการวิจัย (research), กฎหมายที่ควบคุม (regulatory) , การผลิต (manufacturing) และการจำหน่าย (distribution)

เป็นเพียง “จดหมายแสดงเจตจำนง” รายละเอียดทางการเงินจะออกมาภายหลัง

หัวใจสำคัญคือเรื่องเวลา

พวกเขาตกลงใจที่จะลงมือกับวัคซีนทดลองหลายชนิดคู่ขนานกันไป แทนการเริ่มทดสอบกับชนิดที่น่าจะดีที่สุดไปตามลำดับทีละชนิด เหมือนที่เคยทำกันมาตามปกติ วิธีการนี้เพิ่มความเสี่ยงทางการเงิน แต่จะสามารถรู้ผลได้รวดเร็วกว่า

พวกเขาตัดสินใจที่จะปฏิเสธไม่รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อ “ปลดปล่อย” (liberate) บรรดานักวิทยาศาสตร์ของพวกเขาจาก “ระบบราชการ” (bureaucracy) และปกป้อง (protect) พวกเขาจากความล่าช้าที่ไม่สมควรใดๆ

ทีมวัคซีนโควิด-19 ของพวกเขา เริ่มประชุมกันทุกวันจันทร์ และพฤหัสบดี โดยจะมีประชุมเฉพาะกิจอย่างสม่ำเสมอด้วย

ถึงวันที่ 12 เมษายน ทีมงานก็สามารถคัดวัคซีนจาก 20 ชนิด เหลือ 4 ชนิด จากผลการศึกษาในระดับโมเลกุลที่บ่งบอก “ประสิทธิศักย์” (efficacy) ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในห้องทดลองและในสัตว์ทดลอง คือ หนูถีบจักร

ตามปกติ จะต้องทดลองในลิงก่อนเข้าสู่การทดลองในมนุษย์ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกแรมเดือน พวกเขาจึงขออนุมัติทั้งต่อ อย.สหรัฐ และ อย.เยอรมนี ขอดำเนินการไป “พร้อมๆ กัน” (simultaneusly) ซึ่ง อย. ของทั้ง 2 ประเทศอนุมัติ

นี่คือ หนึ่งใน “เบื้องหลัง” ความสำเร็จอันรวดเร็ว “(เหลือเชื่อ)” ของวัคซีนโควิด-19

ถ้า อย.สหรัฐ และ อย. เยอรมนี ทำงานไปตาม “ปกติ” และยึด “แบบแผนประเพณีการปฏิบัติ” ก็จะล่าช้าไปอีกหลายเดือน

************************