posttoday

Carbon Net-Zero Targets ดีต่อกำไรและดีต่อโลก

17 พฤษภาคม 2564

.

โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ

************************

นอกจาก วิกฤติ Covid-19  ความท้าทายที่ทั่วโลกให้ความสนใจวันนี้ยังคงเป็นเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น  โดยเฉพาะผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิต จนเกิดเป็นความพยายามของหลายฝ่ายในการร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้  ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของข้อตกลงปารีส ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และมุ่งสู่การจำกัดอุณหภูมิไว้ ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส หรือการลุกขึ้นมาปลุกกระแสรณรงค์เรื่องนี้โดยเกรต้า ธันเบิร์ก  นักเคลื่อนไหวรุ่นเยาว์ชาวสวีเดน วัย 16 ปี ภายใต้ขบวนการวันศุกร์เพื่ออนาคต (Fridays for Future) หรือหยุดเรียนทุกวันศุกร์เพื่อสภาพภูมิอากาศ (Climate Strike) ซึ่งสามารถปลุกระดมคนรุ่นใหม่ให้เคลื่อนไหวเรื่องนี้ได้มากกว่า 2 ล้านคนใน 135 ประเทศทั่วโลก แต่นี่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอที่โลกจะรับมือกับมหันตภัยโลกร้อน

ล่าสุด องค์การสหประชาชาติ (The United Nations) เตือนว่า จากแนวโน้มสถานการณ์ปัจจุบัน ระดับของก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอาจไม่ลดลงเลยในปี 2030 ทั้งที่จริงๆแล้ว ควรจะเป็นช่วงที่เราต้องลดระดับของก๊าซเรือนกระจกลงประมาณ 50% เพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจนำมาสู่ภัยพิบัติที่ไม่อาจย้อนคืนได้ (Point of no return) หากเราไม่เริ่มยับยั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ตอนนี้  เราอาจไม่มีหวังเลย ในปี 2050 ที่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะต้องถูกยับยั้งทั้งหมด

Carbon Net-Zero Targets ดีต่อกำไรและดีต่อโลก

แซนด้า โอเจียมโบ CEO และผู้อำนวยการ UN Global Compact เครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เห็นว่า ภาคธุรกิจคือพลังสำคัญที่จะมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ได้  จึงเชิญชวนให้รวมพลังต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) อย่างเร่งด่วนและเข้มข้น  โดยให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าหมาย  การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Targets) และรายงานผลการดำเนินงานเรื่องนี้ให้เหมือนกับที่รายงานผลลัพธ์ทางการเงิน ซึ่งจะไม่เพียงส่งผลดีต่อโลกเท่านั้น แต่ยังดีต่อธุรกิจเองด้วย

ในขณะที่ ข้อมูลจากงานวิจัยของ New Climate Institute แสดงให้เห็นว่า ทุกวันนี้มีบริษัทเพียงแค่ 8% เท่านั้นที่มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Targets) และยังมีบริษัทไม่มากนักที่เปิดเผยเป้าหมายระยะสั้นและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นอกจากการเรียกร้องให้ภาคธุรกิจลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ ผู้อำนวยการ UN Global Compact มองว่าปัญหาสำคัญ ก็คือ ถึงแม้จะมีหลายบริษัทให้คำมั่นว่าจะยับยั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Emission) โดยตั้งเป้าหมาย Net-Zero Targets  ภายในปี 2050  แต่การไม่แจกแจงว่าจะไปสู่เป้าหมายอย่างไร ถือเป็นความเสี่ยงว่าความตั้งใจนี้อาจจะ สูญเปล่าหรือไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้  ทั้งยังจะบั่นทอนความเชื่อมั่นในความพยายามที่จะหยุดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก หรือถูกตั้งข้อสงสัยว่านี่คือการฟอกเขียว (Green Washing)

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่การเปิดเผยแผนปฏิบัติงานในเรื่องนี้มีน้อยหรือแทบจะไม่มีเลยนั้น UN Global Compact เห็นว่ามิได้เป็นความผิดขององค์กร แต่อาจเป็นเพราะต้องการคำแนะนำในเรื่องของทักษะ กระบวนการ และข้อมูลที่จำเป็นเพื่อวัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงทางสภาพภูมิอากาศ เพื่อหาจุดเริ่มต้นที่ดี ก่อนที่จะวางแผนไปให้ถึงจุดหมายหรือเป้าหมายที่ตั้งไว้  ซึ่งหมายความถึง จะต้องมีการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกและตั้งเป้าหมายที่ “อยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์” ซึ่งจะทำให้แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกของบริษัทชัดเจนมากยิ่งขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อ การพลิกความเสี่ยงในเรื่องนี้ให้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจด้วย

ดังตัวอย่างที่ชัดเจนของบริษัทสัญชาติเดนมาร์กอย่าง Ørsted ในช่วงปี 2008-2009 หน่วยงานสาธารณูปโภคหรือที่รู้จักกันในนาม Dong Energy ในขณะนั้น ชี้ว่าทรัพย์สินที่เป็นถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ เป็นทั้งความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและ ด้านธุรกิจ Ørsted จึงเริ่มที่จะลดการลงทุนในกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง และหันมาลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยจะเปลี่ยนจากการใช้ถ่านหินมาใช้ชีวมวลที่มีความยั่งยืนมากกว่า ภายในปี 2023  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตพลังงานจะลดลงถึง 96% เมื่อเทียบกับปี 2006 และภายในปี 2023 Ørsted จะผลิตไฟฟ้าโดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงถึง 25 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับโรงผลิตขนาดกลางที่ใช้พลังงานจาก ถ่านหิน อีกทั้งการหยุดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็ยังมีผลดีกับกำไรทางธุรกิจอีกด้วย เพราะบริษัทนี้มีมูลค่ามากขึ้นเกือบ สี่เท่า นับตั้งแต่การจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2016

UN Global Compact ยังมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าบริษัทที่มีเป้าหมายอยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ สามารถลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างชัดเจน  โดยภาพรวม บริษัทที่มีเป้าหมายอยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ 338 บริษัท สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 25% ต่อปี ในช่วงปี 2015-2019  แต่การที่เราจะไปถึงเป้าหมาย การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ได้นั้น ยังต้องการกำลังและองค์กรธุรกิจมากกว่านี้ ที่จะร่วมตั้งเป้าหมายหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค่อนข้างสูง โดยมี แผนหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ในเรื่องนี้

เพื่อหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยทำให้เป้าหมายเรื่องนี้ขององค์กรธุรกิจเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้น UN Global Compact ในฐานะเครือข่ายความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้จัดให้มีโครงการ  Business Ambition 1.5 ° C ซึ่งมีบริษัททั่วโลกกว่า 500 องค์กรเข้าร่วม  พร้อมเปิดตัวหลักสูตรการเรียนการสอน  ที่จะช่วยให้เครื่องมือและทักษะที่จำเป็นต่อภาคธุรกิจ ในการวางแนวทางเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยยะสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ โดยบริษัทสามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมที่เรียกว่า Climate Ambition Accelerator ผ่าน Global Compact ที่ตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อ จะได้รับหลักการปฏิบัติที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ได้โอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อคิดเห็นต่างๆ  ด้วยการอบรมที่ได้รับการออกแบบเฉพาะตรงจุดว่า  ทำอย่างไรจึงจะสามารถจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกพร้อมยกร่างกรอบยุทธศาสตร์ที่จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมายได้อย่างจริงจัง และการรายงานผลการดำเนินงานให้เป็นที่ประจักษ์    

สำหรับประเทศไทย สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) ในฐานะเครือข่ายท้องถิ่นของ UN Global Compact กำลังเปิดรับสมัครบริษัทที่สนใจเข้าร่วมโปรแกรม Climate Ambition Accelerator ซึ่งเป็นโปรแกรมการเรียนรู้เพื่อให้บริษัทมีความรู้และทักษะที่ช่วยให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ภายใน ปี 2030 และบรรลุเป้าหมาย Net-Zero ภายในปี 2050

ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามได้ในวันจันทร์หน้า