posttoday

เรียนรัฐศาสตร์จากวรรณคดีไทย (3)

15 พฤษภาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*******************

สังคมอยุธยาชี้ให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ ณ ที่สูงสุดเหนือชีวิตของทุกๆ คน

ขุนไกรพ่อของขุนแผน นอกจากจะมีหน้าที่หลักในการสืบข่าว หรือเป็นสายลับให้กับทางราชการในกรมอาทมาตนั้นแล้ว ยังมี “งานฝาก” ที่ต้องทำนอกเหนือหน้าที่ประจำอยู่ด้วย นั่นก็คือการดูแลควายป่าแถวเมืองสุพรรณ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียกว่านี่คืองานอนุรักษ์ธรรมชาติ (ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนมาถึงตรงนี้น่าจะมีนัยยะที่ต้องการจะประชดระบบราชการไทยที่มา “งานฝาก” มากเหลือเกิน จนบ่อยครั้งงานฝากนั้นก็กลายเป็นงานหลัก ซึ่งข้าราชการไทยในช่วง พ.ศ. 2530 จะต้องมีงานฝากนอกเหนือหน้าที่หลักมากมาย ที่รวมถึงงานอนุรักษ์ธรรมชาตินี้ด้วย) ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อธิบายว่า

ในสมัยอยุธยาลงมาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทางการได้อนุรักษ์สัตว์ป่าหลายชนิดไว้เป็นฝูง ๆ ขึ้นต้นก็คือ โขลงช้างป่าทั่วราชอาณาจักร มีกรมพระคชบาล หรือที่ชาวบ้านเรียกว่ากรมช้างมีหน้าที่ติดตามโขลงช้างไปในป่าทุกแห่ง คอยดูแลความเป็นไปของโขลงช้างมิให้มีอันตรายได้ และคอยทำบัญชีช้างให้รู้ในขณะใดขณะหนึ่ง ว่ามีช้างพลายกี่เชือก และช้างพังกี่เชือก รายงานเข้ามายังต้นสังกัดเป็นระยะ ๆ ไป

เมื่อมีพระราชดำรัสถามถึงโขลงช้าง เจ้าหน้าที่กรมพระคชบาลก็มีข้อมูลอันถูกต้องที่จะกราบบังคมทูลได้ทุกเมื่อ ... โขลงช้างนั้น อนุรักษ์เพื่อคล้องเอามาใช้ในราชการ อย่างหนึ่งคือราชการสงคราม ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมช้างต้น จะต้องคอนดูแลและฝีกช้างของทางราชการอันมีจำนวนมากนี้ ให้ออกทัพจับศึกทำหน้าที่รบได้ ส่วนช้างนอกนั้น ทางราชการก็คงจะจับมาแล้วจำหน่ายจ่ายแจกให้กับบุคคลเพื่อเป็นพาหนะส่วนตัวบ้าง หรือใช้ในการขนส่งสินค้า ตลอดไปจนถึงการลากไม้และงานอื่น ๆ บ้าง ที่ต้องใช้แรงช้างของราษฎรทั่วไป

ส่วนควายแถวเมืองสุพรรณและกาญจนบุรีนั้น เป็นควายป่าโดยแท้ แต่ทางราชการก็ติดตามดูแลคอยอนุรักษ์ไว้ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หากเมื่อไรปรากฏว่าราษฎรไม่มีควายไถนา ทางราชการก็จะจับควายป่าที่ทางราชการดูแลอยู่นั้น เอามาฝึกแล้วแจกให้ราษฎรใช้งานได้ “

โศกนาฏกรรมแรกของเรื่องขุนช้างขุนแผนก็เกิดจากกรณี “งานฝาก” ดังกล่าวนี้ ตอนนั้นขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมพิลาไลยยังเป็นเด็ก สมเด็จพระพันวษาที่นักวิชาการด้านวรรณคดีเชื่อว่าเป็นนามสมมุติของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งสมัยอยุธยา ได้เสด็จไปตรวจราชการแขวงเมืองสุพรรณ ได้เสด็จไปทอดพระเนตรฝูงควายป่าที่ให้ขุนไกรดูแลไว้ที่เมืองกาญจนบุรีนั้นด้วย แต่แล้วเหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เพราะฝูงควายนับร้อย ๆ ตัวนั้นเกิดตกใจแตกตื่น วิ่งออกจากฝูงดูโกลาหล

ขุนไกรเห็นดังนั้นก็ขึ้นม้าถือหอกออกไล่แทงฝูงควายที่คุ้มคลั่งนั้นตายลงไปหลายสิบตัว จนกระทั่งสงบลงและพระพันวษาทรงปลอดภัย แต่ก็ทรงกริ้วอย่างมาก ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์วิจารณ์เรื่องนี้ด้วยอารมณ์ขันว่า “นี่ขนาดต่อหน้าพระพักตร์ยังกล้าฆ่าควายตายลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของผู้ที่มีหน้าที่อนุรักษ์ ถ้าลับหลังพระองค์แล้ว จะไม่เอาไปทำเนื้อแดดเดียวเลยหละหรือ”

พระพันวษาได้ให้ประหารชีวิตขุนไกร ที่ตอนแรกเมื่อได้ทราบพระราชโองการดังกล่าว ขุนไกรก็เกิดอาการคุ้มคลั่ง จะไม่ยอมเข้าหลักประหาร จนกระทั่งมีเพื่อนขุนนางเข้าไปปลอบ จึงยอมลดละแล้วปลดอาคมต่าง ๆ ออกจากตัว ให้เพชฌฆาตลงดาบประหารชีวิตได้ ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ชี้ให้เห็นว่า นี่คือระบบของความจงรักภักดีที่อยู่ในระบบราชการไทยโดยแท้ ที่แม้ตนเองอาจจะเอาตัวรอดด้วยคาถาอาคมต่าง ๆ นั้นได้ แต่ข้าราชการที่ดีจะต้องยึดความจงรักภักดีเหนืออื่นใด เพื่อให้หลักการของประเทศคือ “พระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์” นั้นยังคงอยู่ ซึ่งหลักของพระบรมเดชานุภาพนี้ก็คือ “ความยิ่งใหญ่สูงสุดของพระมหากษัตริย์” แม้แต่ชีวิตของผู้คนแผ่นดินทุกคนก็ต้องอยู่ในการควบคุมของพระมหากษัตริย์อย่างเด็ดขาดนั้นด้วย

ในฉากการตายของขุนไกรนี้ ยังมีสอดแทรกไว้ด้วย “ความเชื่อแบบไทย ๆ” อยู่อย่างหนึ่ง คือเรื่องของ “โชคลาง” ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ความเชื่อเรื่องโชคลางนี้ถือได้ไว้เป็น “เอกลักษณ์” ที่สำคัญอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ที่มักจะเชื่อในเรื่องโชคลางเอามาก ๆ และส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เองที่จบการศึกษามาจากต่างประเทศ ก็ยังเคยเจอเรื่องนี้เข้ากับตัว อย่างที่พูดด้วยภาษาปัจจุบันว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” โดยท่านเล่าว่า

“ในคืนที่ขุนไกรนอนบ้านเป็นครั้งสุดท้ายนั้น นางทองประศรีผู้เป็นภรรยาได้ฝันร้ายเป็นอย่างยิ่ง คือฝันว่าฟันหักออกจากปาก ฝันนี้ถือกันว่าร้ายนัก เพราะถ้าใครฝันแล้ว บิดามารดา หรือสามีภรรยาของผู้นั้น จะต้องถึงแก่ความตายเป็นแน่นอน คนโบราณเชื่อกันอย่างนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องแปลก ผมเองไม่ค่อยจะเชื่อถือในโชคลางแต่อย่างใดเลย โดยเฉพาะเรื่องฝันนั้น ถ้าจะว่าไปก็เกือบจะฝันไม่เป็น และถ้าเกิดฝันขึ้นแล้วก็มักจะจำไม่ได้เมื่อเกิดขึ้น ว่าได้ฝันว่าอะไรไปบ้าง แต่ในคืนก่อนที่พ่อผมจะตายนั้น ผมจำได้เป็นแน่นอนว่า ผมฝันว่าฟันผมยุ่ยเป็นแป้งไปทั้งปาก จนไม่มีเหลือ พอตื่นขึ้นมาในรุ่งเช้าวันนั้น อีกไม่กี่ชั่วโมงพ่อก็ตาย”

ภายหลังการตายของขุนไกร “ดราม่า” ทั้งหลายในเรื่องขุนช้างขุนแผนก็ก่อตัวขึ้น นอกจากความเศร้าโศกอย่างใหญ่หลวงในครอบครัวของขุนแผน ที่ต้องถูกริบราชบาตร คือบ้านเรือน ที่ทำกิน และทรัพย์สินทั้งหลาย ที่รวมถึงข้าทาสบริวารทั้งปวงนั้นแล้ว ก็ยังรวมไปถึงลูกและเมียนั้นด้วย นางทองประศรีจึงต้องพาขุนแผนหลบหนี่ราชภัยไปอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี อันเป็นการเปิดฉากใหม่ของอีกโศกนาฏกรรมหนึ่ง คือรักสามเส้าระหว่างชุนแผน ขุนช้าง และนางพิมพิลาไลย ที่แฝงไว้ด้วย “เล่ห์สวาท” อันลึกล้ำ อย่างที่มีผู้วิจารณ์ว่าเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้เป็น “วรรณกรรมลามก” จนกระทั่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ต้องออกมาปกป้องและเขียนอธิบายเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ให้เข้าใจเสียใหม่

ว่าเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องของคนไทย ชีวิตไทย และการเมืองการปกครองไทย

*******************************