posttoday

เพนกวินได้ประกันตัว

14 พฤษภาคม 2564

โดย...โคทม อารียา

**************

ทำไมกรณีเพนกวินจึงน่าสนใจ เพราะผมเชื่อว่ากรณีนี้ยังจะดำรงต่ออีกนานนับปี เนื่องจากเป็นการต่อสู้ในเรื่องความคิดและความยุติธรรม คดีนี้ทำให้ผมนึกถึงกรณีของ อัลเฟรด เดรฟุส (Alfred Dreyfus) ซึ่งเริ่มในปี ค.ศ. 1894 ที่ประเทศฝรั่งเศส และใช้เวลา 12 ปีกว่าจะมาถึงข้อยุติในปี ค.ศ. 1906 คดีนี้ถือเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมในกระบวนยุติธรรมของฝรั่งเศส

ในสมัยนั้น กระบวนการยุติธรรมยังมุ่งปกป้องสถาบันของตัวเองรวมทั้งสถาบันทหาร โดยคิดว่าสถาบันนั้นสำคัญกว่าการที่คนคนเดียวไม่ได้รับความยุติธรรม ประจวบกับฝรั่งเศสในขณะนั้น ความรู้สึกรักชาติและต่อต้านยิวแพร่หลายมาก บังเอิญเดรฟุสเป็นคนยิว กรณี (ฝรั่งเศสใช้คำว่า affaire) เดรฟุส ได้แบ่งผู้นำทางปัญญาและผู้นำทางการเมืองออกเป็นสองฝ่าย ซึ่งจะขอเล่าโดยสังเขปดังนี้

ในปี ค.ศ. 1894 เดรฟุส อายุ 35 ปี เขาเป็นชาวฝรั่งเศสที่มีภูมิลำเนาอยู่ในแคว้นอัลซาส ซึ่งคนส่วนใหญ่มีเชื้อสายเยอรมันและพูดภาษาถิ่นเยอรมัน แต่อาศัยอยู่ในฝั่งของแม่น้ำไรน์ทางด้านฝรั่งเศส แคว้นนี้จึงเป็นหนึ่งในชนวนสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมันมาตลอด รวมทั้งในสงครามโลกทั้งสองครั้ง เดรฟุสรับราชการเป็นทหารปืนใหญ่ยศร้อยเอกในกองทัพฝรั่งเศส

ในตอนนั้น มีเอกสารลับทางราชการทหารชุดหนึ่งส่งถึงสถานทูตเยอรมันและถูกสกัดได้ พนักงานสอบสวนเชื่อว่าเอกสารลับนั้นเป็นลายมือของเดรฟุส ศาลทหารจึงตัดสินลงโทษในข้อหาทรยศขายชาติ ต่อมาในปี ค.ศ. 1896 หน่วยต่อต้านจารกรรมของฝรั่งเศสสอบสวนพบว่า ผู้กระทำผิดเป็นนายทหารอีกคนหนึ่ง ซึ่งถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร แต่เนื่องจากได้ตัดสินคดีนี้ไปแล้ว ศาลย่อมไม่อาจรับความผิดพลาด ผู้พิพากษาจึงมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ให้ยกฟ้องนายทหารผู้นั้น

ทั้ง ๆ ที่มีหลักฐานว่ากระทำผิดจริง ส่วนเดรฟุสกลับถูกกองทัพฟ้องอีกข้อหาหนึ่งคือ ปลอมแปลงเอกสาร กรณีจึงเหมือนกับจะไปต่อไม่ได้แล้ว แต่ในปี ค.ศ. 1899 นักเขียนผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งชื่อ เอมีล โซลา เขียนบทความสั้น ๆ ลงหนังสือพิมพ์ L’Aurore มีชื่อว่า J’Accuse (ข้าฯกล่าวหา) (บทความนี้มีผลทำให้ผู้เขียนต้องหลบภัยไปอยู่อังกฤษพักใหญ่) มีการขานรับบทความนั้นอย่างกว้างขวาง เพราะโดนใจในหลักการที่ว่า ความยุติธรรมหมายถึงความยุติธรรมแม้ต่อคนคนหนึ่ง ไม่ว่าการคืนความยุติธรรมจะทำให้สถาบันใดเสียหายหรือไม่ก็ตาม

บทความนั้นได้แบ่งแยกความเห็นสาธารณะออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่เดรฟุส ประกอบด้วยฝ่ายนิยมสาธารณรัฐและไม่เห็นด้วยกับคณะสงฆ์ที่มั่งมีสมบัติและแทรกแซงกิจการของรัฐ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งปกป้องกระบวนการยุติธรรมและสถาบันทหาร ประกอบด้วยฝ่ายนิยมกษัตริย์ (monarchist) และผู้มีความคิดชาตินิยมเชิงอำนาจ (authoritarian nationalism)

การต่อสู้ทางความคิดดังกล่าวได้สร้างกระแสความเห็นในทางสาธารณะ ศาลทหารจึงยอมรื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ แต่ลงท้ายด้วยการยืนยันคำพิพากษาเดิมให้จำคุกเดรฟุสมีกำหนด 10 ปี อย่างไรก็ดี กรณีนี้ถึงที่สุดลงในปี 1906 เมื่อรัฐยอมรับความผิดพลาดโดยปริยาย จึงมีการอภัยโทษและการให้เดรฟุสกลับเข้ารับราชการทหาร เขาได้ร่วมสู้กับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ 1 จนได้เลื่อนยศเป็นพันโท

ขอกลับมาเรื่องของเรา เพนควินโพสต์ข้อความต่อไปนี้เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 หนึ่งวันหลังจากที่ได้รับการประกันตัว ขอยกข้อความที่โพสต์มาให้เห็นมุมมองของเขา ดังนี้

“การคุมขังผม 93 วัน และการอดอาหารประท้วงความอยุติธรรมเป็นเวลา 57 วันของผมสิ้นสุดลงแล้ว โดยที่เมื่อวานนี้ ศาลได้คืนสิทธิประกันตัวให้ผม และพี่แอมมี่แล้ว แม้จะเป็นการประกันตัวโดยที่ศาลกำหนดเงื่อนไขมาบางประการ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นเงื่อนไขที่ตั้งขึ้นเพื่อสกัดกั้นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย … อย่างไรก็ดี นี่คือการวางบรรทัดฐานว่าคดีมาตรา 112 ก็มีสิทธิได้รับการประกันตัว จากเดิมที่ในอดีตนั้นแทบไม่มีการได้ประกันตัวเลย …

ในส่วนของเงื่อนไขนั้น ผมเห็นว่าไม่ได้ขัดข้องอะไรต่อการเคลื่อนไหว เพราะเงื่อนไขข้อที่ว่าห้ามมิให้สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันนั้น ผมก็ไม่เห็นว่าผมจะสร้างความเสื่อมเสียอะไรให้ …

สำหรับเงื่อนไขเรื่องห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองนั้น ผมยืนยันว่าตลอดการต่อสู้ที่ผ่านมา ผมยึดมั่นในหลักการไม่ใช้ความรุนแรง การชุมนุมที่ผมเข้าร่วม หรือได้มีส่วนร่วมจัดนั้น ล้วนแต่เป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติ และปราศจากอาวุธทั้งสิ้น เท่าที่เห็นก็มีแต่จะไม่สงบบ้างเพราะถูกเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุมฝ่ายรัฐ และผู้ไม่ประสงค์ดีมาใช้กำลังเพียงเท่านั้น ดังนั้น ผมจึงเห็นว่าเงื่อนไขข้อนี้จะไม่เป็นอุปสรรคในการต่อสู้ของผมเช่นกัน และผมพร้อมที่จะเข้าร่วมทุกกิจกรรมหลังจากที่วิกฤตการณ์โรคระบาดระลอกนี้ (ซึ่งเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล) ได้ผ่านพ้นไปแล้ว

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะยังดำเนินต่อไปด้วยความเข้มข้นและเข้มแข็ง การต่อสู้ของเราดำเนินอยู่บนสัจธรรมความจริง เพราะไม่มีพลังใดจะยิ่งใหญ่เท่าพลังแห่งความจริง และความจริงย่อมเป็นสิ่งนิรันดร์ประดุจดวงดาว เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่มุมใดของฟ้า ดวงดาวก็จรัสแสง เช่นเดียวกับความจริง ไม่ว่าจะอยู่ในกรงขัง ในเครื่องทรมาน หรือที่หลักประหาร ความจริงก็ยังคงเป็นความจริงที่ทรงพลัง และไม่มีวันตาย

ก้าวต่อไปเฉพาะหน้า เราจะต้องช่วยกันปลดปล่อยผู้พูดความจริงอีกหลายคนที่ยังถูกจองจำอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นทนายอานนท์ พี่ไมค์ ระยอง แฟรงค์ ณัฐชนน และอีกหลาย ๆ ท่าน เราผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย ยังจะต้องต่อสู้เพื่อพิสูจน์ให้เห็นอย่างสมบูรณ์ว่าการพูดความจริงไม่ผิด และความเท็จไม่อาจคุมขังปิดบังความจริงได้ตลอดไป

ผมยังคงเป็นผม และยังคงศรัทธาในความจริงที่ว่าไม่มีใครหมุนเข็มนาฬิกากลับได้ และสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง ซึ่งกำลังพัดโบกจะพาเราไปสู่อีกด้านหนึ่งของขอบฟ้าในไม่ช้านี้

ส่วนในระหว่างนี้ ตัวผมขอพักฟื้นร่างกาย และหาอะไรกินก่อนจะเดินไปกับพี่น้องทุกท่านอีกครั้ง ผมยังคงเป็นคนเดิม สู้เพื่ออุดมการณ์ดังเดิม และจะมุ่งมั่นต่อการต่อสู้มากกว่าเดิมครับ

ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”

แค่คำลงท้ายนี่ ก็ทำให้หลายคนสะดุ้งอีกแล้ว ผมมีเพื่อนคนหนึ่งที่ชอบเดินออกกำลังกายในซอย บางครั้งเราก็เดินคุยกันไป เธอยกเรื่องเพนกวินขึ้นมา โดยบอกว่า ออกจากคุกไม่ทันไร ก็ประกาศสู้เหมือนเก่า พร้อมถอนหายใจ คนใกล้ตัวคนหนึ่งบอกผมว่าสงสารแม่เขา น่าจะบอกให้หยุด ๆ กันบ้าง จะไปสู้อะไรกับเขาได้ ผมคอยส่งกำลังใจให้เพนกวินตลอดเวลาที่เขาอดอาหาร ชื่นชมกำลังใจที่เด็ดเดี่ยว และไม่อยากให้เขาเสี่ยงจนเกินไป

แต่ผมคงไม่สามารถแนะนำอะไรได้ ช่องว่างในด้านความเข้าใจมีมากเหลือเกิน เช่น อะไรคือความผิดตามมาตรา 112 ความผิดตามมาตรานี้ครอบคลุมถึงบุคคลใดบ้าง การนำความเสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงการกระทำเช่นไร การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นความผิดตามมาตรา 112 ไหม ฯลฯ อีกทั้งยังมีช่องว่างทางความเข้าใจอีกมาก เพราะฝ่ายหนึ่งบอกว่าพูดความจริง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าการพูดเช่นนั้นอาจเข้าข่ายเป็นการจาบจ้วง ฝ่ายแรกสงสัยต่อไปว่า ข้อกล่าวหาว่าจาบจ้วงเข้าข่ายการกระทำผิดตามมาตรา 112 ไหม ฯลฯ

ขอยกบทบัญญัติมาตรา 112 มาอ้างอีกครั้ง ดังนี้ “มาตรา 112 – ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ผมนึกว่าอ่านแล้วน่าจะเข้าใจ ว่าหมายถึงการกระทำความผิดประการหนึ่งประการใดใน 3 ประการคือ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย เมื่อลองทำความเข้าใจโดยใช้อินเตอร์เน็ตดู พบว่า

- หมิ่นประมาท (defame) หมายถึงทำให้บุคคลตามมาตรา 112 เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แม้คำพูดดังกล่าวจะจริงหรือเท็จก็ตาม

- ดูหมิ่น (insult) หมายถึงสบประมาท ดูถูกเหยียดหยามหรือแสดงกิริยาอาการเหยียดหยาม เช่น ด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือ ถ่มน้ำลายรด หรือ ยกส้นเท้าให้ เป็นต้น

- แสดงความอาฆาตมาดร้าย (threaten) หมายถึงแสดงออกด้วยกิริยาหรือวาจา หรือโดยวิธีการใด ๆ ด้วยความพยาบาทมาดร้ายว่าจะทำให้เสียหายในทางใด ๆ อันมิใช่เป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม หรือสิทธิตามกฎหมาย ถือว่าเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายได้ทั้งสิ้น โดยต้องเป็นการแสดงว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในอนาคต เช่น ขู่ว่าจะปลงพระชนม์ จะทำร้าย หรือจะกระทำให้เกิดภยันตรายต่อสิทธิเสรีภาพ ไม่ว่าจะมีเจตนากระทำตามที่ขู่หรือไม่

ส่วนบุคคลตามมาตรา 112 นั้น อาจจะทำให้งงงวยได้มาก เพราะมีคำพิพากษาศาลฎีกาว่า ไม่ใช่เฉพาะ 3 พระองค์ และ 1 ผู้สำเร็จฯ เท่านั้น แต่ถ้าหมิ่นประมาทอดีตกษัตริย์ เช่น รัชกาลที่ 4 หรือหมิ่นประมาทเจ้าฟ้า ก็ให้ถือว่าผิด “ได้อยู่ในตัวเอง และมีผลกระทบต่อสถานะสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของรัฐ” ส่วนในกรณีที่มีการแจ้งความว่าอาจารย์สุลักษณ์ ศิวารักษ์หมิ่นประมาทสมเด็จพระนเรศวรนั้น ที่อัยการทหารสั่งไม่ฟ้องเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 เหตุผลก็คือหลักฐานไม่เพียงพอ

ขอให้เพนควินมีความรอบคอบ เพราะการให้เหตุผลจากความเข้าใจธรรมดาในการอ่านมาตรา 112 อาจใช้ไม่ได้เมื่อเจอกับอารมณ์ความรู้สึก ส่วนการตีความขอบเขตการทำความผิด และการตีความว่าใครคือบุคคลตามมาตรา 112 อาจยืดหยุ่นในทางเป็นโทษได้มาก ที่ผ่านมาเกรงว่ามีการตีความกว้างขวางมากเกิน แต่ไม่รู้ว่าจะทำความเข้าใจกันอย่างไรดี

ขอให้เพนกวินถนอมแรงไว้ต่อสู้อีกนาน โดยใช้การตีความให้ซื่อ และการฟังความรอบด้านให้มาก