posttoday

การทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบ): อังกฤษ-สยาม/หมอสมิธและ “Old Siam”

13 พฤษภาคม 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร

***********

จากตอนที่แล้ว ท่านผู้อ่านคงได้รับทราบแล้วว่า ไทยทำสนธิสัญญาเป็นมิตรและการค้ากับอังกฤษฉับแรกในปี พ.ศ. 2368 และสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นที่รู้จักกันดีในนามของ “สนธิสัญญาเบอร์นีย์” เพราะตัวแทนของอังกฤษที่ถูกส่งเข้ามาเจรจาคือ ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นีย์ และท่านผู้อ่านคงยังจำได้ว่า ในตอนแรกที่เบอร์นีย์เดินทางเข้ามาไทยเพื่อมาขอทำสัญญาการค้า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรดที่จะให้ไทยต้องผูกมัดทำสัญญาการค้ากับอังกฤษ แต่เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ได้กราบบังทูลให้เหตุผลว่า ก่อนหน้านี้อังกฤษเคยส่งจอห์น ครอฟอร์ดมาเจรจาแต่ไม่สำเร็จ มาคราวนี้ถ้าปฏิเสธอีก อังกฤษอาจจะพาลเกเรได้ ไทยเสียเปรียบที่จะสู้รับปรบมือกับอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯก็ทรงยอมในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ตามสาระของสนธิสัญญาเบอร์นีย์นี้ ไทยไม่ได้เสียเปรียบอะไรให้อังกฤษ สนธิสัญญานี้ถือว่าเสมอภาคและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ เรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯที่อยู่ในบันทึกของนายแพทย์มิชชันารีชาวอเมริกันที่ชื่อ แซมมวล สมิธ หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามของหมอสมิธ หมอสมิธเป็นชื่อที่คุ้นรองมาจากหมอบรัดเลย์ที่เป็นนายแพทย์มิชชันนารีชาวอเมริกันเช่นกัน ที่ว่าแปลกก็คือ หมอสมิธมีทัศนคติในด้านลบต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมากถึงกับขนานนามพระองค์ท่านว่าเป็นต้นแบบของคนที่หมอสมิธเรียกว่า “Old Siam” หรือที่นักวิชาการไทยแปลว่า “สยามเก่า”

การทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบ): อังกฤษ-สยาม/หมอสมิธและ “Old Siam”

                       หมอสมิธ หนังสือพิมพ์                                                                Siam Repository

“สยามเก่า” คือคนประเภทไหน ? ไม่ดีอย่างไรในสายตาของหมอสมิธ

“Old Siam” ปรากฏในข้อเขียนของหมอสมิธ ในหนังสือพิมพ์รายสามเดือน Siam Repository พ.ศ. 2416 ที่ตัวเขาเป็นบรรณาธิการและเจ้าของ ความเป็นมาของ “Old Siam” เกิดจากการที่หมอสมิธเขียนเล่าเรื่องพระยากระสาปนกิจโกศล หมอสมิธเล่าว่าตัวเขาได้รู้จักคุ้นเคยกับพระยากสาปฯมาตั้งแต่สมัยที่พระยากสาปฯยังไม่มีบรรดาศักดิ์ โดยหมอสมิธเรียกว่า คุณโหมด (K’un Mot)

หมอสมิธชื่นชมคุณโหมดมากที่คุณโหมดเป็นคนพากเพียรที่จะทำความรู้จักกับมิชชันนารีชาวอเมริกันต่างๆ โดยหนึ่งในนั้นคือ มิสเตอร์แชนด์เลอร์ (J.P.H. Chandler) และมิสเตอร์แชนด์เลอร์เป็นผู้ที่แนะนำให้คุณโหมดได้รู้จักคุ้นเคยกับศาสตร์สมัยใหม่ต่างๆและเครื่องจักรกล ตัวคุณโหมดเองก็มีความอุตสาหะในการศึกษาหาความรู้ที่หมอสมิธเห็นว่าเป็นความรู้ที่มีค่าจากมิสเตอร์แชนด์เลอร์ ซึ่งทำให้คุณโหมดมีความรู้พื้นฐานในเครื่องจักรกลและวิทยาศาสตร์ ซึ่งต่อมา ความรู้ของคุณโหมดก็ทำให้คุณโหมดเป็นบุคคลที่โดดเด่นในหมู่ชาวสยาม ในฐานะวิศวกรเครื่องกลและนักเคมี และเป็นชาวสยามคนแรกที่อุตสาหะในการทำแท่นพิมพ์และระบบการพิมพ์เพื่อพิมพ์หนังสือภาษาไทย

ในปี พ.ศ. 2390 ซึ่งตรงกับช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ หมอสมิธชื่นชมความกล้าของคุณโหมดมาก ที่คุณโหมดกล้าและประสบความสำเร็จในการพิมพ์หนังสือกฎหมายของสยามออกมาเป็นจำนวนถึง 500 ชุด และจัดจำหน่าย

การทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบ): อังกฤษ-สยาม/หมอสมิธและ “Old Siam”

                              พระยากระสาปนกิจโกศล                                                  นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์

หมอสมิธเล่าว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงทราบ พระองค์ได้โปรดให้ริบหนังสือที่เข้าเล่มแล้วและที่ยังไม่ได้เข้าเล่มทั้งหมด และห้ามมิให้มีการพิมพ์และจำหน่ายหนังสือกฎหมายนี้อีก จากการกระทำดังกล่าวนี้เอง หมอสมิธเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเป็นบุคคลที่เขาใช้คำว่า “bigotted” (ตามต้นฉบับ) อันหมายถึงคนที่ “หัวแข็งดื้อยึดถือแต่ในความคิดความเชื่อของตัวเอง”

และตรงจุดนี้เองที่หมอสมิธกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเป็นตัวอย่างของแท้ของ “สยามเก่า” (Old Siam) ที่ทรงปฏิเสธการทำสนธิสัญญาใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะกับประเทศโปรตุเกส อังกฤษ สหรัฐอเมริกาโดยขัดขวางการเจรจาสนธิสัญญาต่างๆอย่างเต็มที่ผ่านบรรดาขุนนางของพระองค์

ตรงนี้เองที่ผมเห็นว่า แปลก ! เพราะมีหลักฐานอยู่ทนโท่ว่า ในปี พ.ศ. 2368 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงโปรดให้ไทยทำสนธิสัญญาเบอร์นีย์ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น อีกทั้งในปี พ.ศ. 2376 ยังทรงโปรดให้ทำสนธิสัญญากับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2376 อีกด้วยดังที่เป็นที่รู้จักกันในนามของสนธิสัญญาโรเบิร์ต (เพราะสหรัฐอเมริกาส่งทูตชื่อนายเอ็ดมันด์ โรเบริตส์มาเจรจาทำสัญญากับไทย)

โดยสนธิสัญญาโรเบริต์ที่มีสาระสำคัญในทำนองเดียวกันกับสนธิสัญญาเบอร์นีย์ และเมื่อสนธิสัญญาโรเบิร์ตมีสาระในทำนองเดียวกันกับสนธิสัญญาเบอร์นีย์ ก็ไม่มีเหตุผลใดๆที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจะทรงปฏิเสธหรือขัดขวางตามที่หมอสมิธกล่าวหา และในกรณีของโปรตุเกส ยังไม่มีการทำสนธิสัญญาใดๆเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แม้จะเป็นความจริงที่ว่า ในปี พ.ศ. 2361 มีการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างโปรตุเกสกับสยาม แต่ไม่ใช่สนธิสัญญา หากเป็นแต่เพียงข้อตกลงที่ทางสยามอนุญาตให้โปรตุเกสทำการค้ากับสยามเป็นการตอบแทนต่อการแสดงเจตนาดี และเพื่อการได้อาวุธปืนของโปรตุเกสที่ทางสยามต้องการซื้อมาเพื่อป้องกันประเทศ

ดังนั้น การที่หมอสมิธกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯว่าทรงปฏิเสธสนธิสัญญาที่ทำกับโปรตุเกส อังกฤษและสหรัฐอเมริกาจึงถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก

หมอสมิธเข้ามาเมืองไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2376 และเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2378 และกลับมาเมืองไทยอีกครั้งใน พ.ศ. 2393 ปลายสมัยรัชกาลที่สามเป็นเวลา 24 ปีหลังจากที่เกิดสนธิสัญญาเบอร์นีย์ที่ทำขึ้นในปี พ.ศ. 2369 และเป็นเวลา 17 ปีหลังจากสนธิสัญญาโรเบิร์ต อาจเป็นไปได้เหมือนกันว่า เขาไม่ทราบเรื่องการทำสนธิสัญญาดังกล่าว เพราะการทำสนธิสัญญาทั้งสองนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าที่เขาจะกลับมาเมืองไทยเป็นเวลาหลายปีอยู่

แต่ความไม่น่าเป็นไปได้มีมากกว่า เพราะแม้ว่าสนธิสัญญาเบอร์นีย์จะเป็นสนธิสัญญาที่ไทยทำกับอังกฤษและเกิดขึ้นก่อนหน้าที่เขาจะกลับเมืองไทยถึง 24 ปี และสนธิสัญญาโรเบิร์ตเป็นสนธิสัญญาที่ไทยกับสหรัฐอเมริกา ตัวหมอสมิชซึ่งเป็นชาวอเมริกันน่าจะรับรู้ และตัวหมอสมิธเองก็เป็นผู้รู้จบการศึกษาถึงระดับปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกาและเป็นนักหนังสือพิมพ์ จึงไม่น่าที่จะไม่รู้เรื่องสนธิสัญญาเบอร์นีย์ ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าเป็นเรื่องแปลกที่หมอสมิธกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นนั้น

ดังนั้น การที่หมอสมิธกล่าวข้อความดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก

ทำไมหมอสมิธถึงพูดตีขลุมไปว่าพระองค์ปฏิเสธที่จะทำสนธิสัญญาใดๆทั้งสิ้น

แต่ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ในรัชสมัยของพระองค์ มีการทำสนธิสัญญาที่คั่งค้างไม่สำเร็จอยู่ฉบับหนึ่ง แต่มาสำเร็จในสมัยรัชกาลที่สี่ นั่นคือ สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ที่เป็นที่รู้จักกันดี

ตัวหมอสมิธเอง นอกจากจะเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในไทยแล้ว แน่นอนว่า แกเห็นดีเห็นงามกับการที่ไทยจะทำสนธิสัญญาการค้ากับประเทศต่างๆของตะวันตก และการที่หมอสมิธไม่เห็นด้วยกับการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงขัดขวางการทำสนธิสัญญา เพราะหมอสมิธเห็นว่าสนธิสัญญาต่างๆที่ไทยจะทำกับชาติตะวันตกนั้นจะช่วยขยายการค้าของประเทศให้เจริญก้าวหน้าทันสมัยรุ่งเรือง

นักวิชาการได้อธิบายสาเหตุที่แตกต่างมากมายที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯไม่ทรงมีพระราชประสงค์จะทำสนธิสัญญาการค้ากับฝรั่ง บ้างก็บอกว่า พระองค์เห็นว่าการทำสนธิสัญญากับฝรั่งจะทำให้พระองค์สูญเสียความได้เปรียบในทางการค้าที่พระองค์ได้ประโยชน์อยู่ หรืออาจจะเป็นเพราะพระองค์ยังไม่มั่นใจในความรู้ว่าจะเท่าทันฝรั่งหรือไม่ ไม่ว่าจะในเรื่องกฎบัตรกฎหมายอย่างที่พม่าเสียทีอังกฤษมาแล้ว รวมทั้งสมัยนั้น ยังหาคนรู้ภาษาอังกฤษดีๆไม่ได้ มิพักต้องพูดถึงความรู้ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ

ดังนั้น การไม่ซี้ซั้วทำสนธิสัญญาในรัชสมัยของพระองค์จึงเป็นเรื่องฟังขึ้นอยู่ไม่น้อย แต่คงไม่ถูกใจหมอสมิธแก แต่ที่แน่ๆก็คือ สนธิสัญญาที่ทำขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ก็เป็นสนธิสัญญาที่ได้รับการยอมรับว่าเสมอภาคกันระหว่างอังกฤษกับไทย

ส่วนในเรื่องการริบและห้ามเผยแพร่หนังสือกฎหมายที่คุณโหมดจัดพิมพ์ขึ้นมานั้น หมอสมิธแกโกรธนักโกรธหนา และตีตราพระองค์ว่าเป็นคน “bigotted” ใจคอคับแคบ ซึ่งฟังเผินๆก็ดูจะจริงเช่นนั้น และก็เข้าใจได้ว่าทำไมหมอแกถึงคิดอย่างนั้น เพราะแกคงตีความการริบและห้ามจำหน่ายเผยแพร่หนังสือกฎหมายตามพื้นฐานความคิดแบบตะวันตกของตัวแกเองที่เห็นว่า การปิดกั้นความรู้เป็นความคับแคบของคนสยามหัวเก่าที่ไม่เข้าใจในอารยธรรมการศึกษาหาความรู้แบบตะวันตก

อีกทั้งตัวหมอสมิธเองก็เป็นคนชอบเขียนหนังสือและหากินกับการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์และขายหนังสือต่างๆเผยแพร่อยู่เป็นประจำ จึงมีความเห็นอกเห็นใจคุณโหมดที่มีความสนใจในการพิมพ์หนังสือเหมือนตน แต่หมอสมิธไม่ได้ใส่ใจที่หาเหตุผลอันแท้จริงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงไม่ให้พิมพ์และจำหน่ายหนังสือกฎหมายของสยาม เพราะมีผู้ทำการศึกษาค้นคว้าในประเด็นนี้ นั่นคือ คุณกำธร เลี้ยงสัจธรรม

คุณกำธรพบว่าใน “ปี พ.ศ. 2393 เป็นปีปลายรัชกาลที่ 3 ซึ่งในรัชกาลนี้คนไทยเริ่มตระหนักถึงภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกที่แผ่เข้ามา โดยเฉพาะเมื่ออังกฤษรบชนะพม่าใน พ.ศ.2369 และรบชนะจีนเมื่อ พ.ศ. 2385...การพิมพ์หนังสือครั้งนี้ (ของคุณโหมด/ผู้เขียน) ถือเป็นการพิมพ์กฎหมายสำคัญทั้งฉบับออกเผยแพร่แก่คนทั่วไปเป็นครั้งแรกในเมืองไทย

นับเป็นการกระทำที่กล้าหาญและสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมายว่าด้วยขี้ฉ้อหมอความ, ไม่อาลัยต่อทำเนียมการศึกษากฎหมายที่จำกัดอยู่ในหมู่เจ้านายและขุนนางจำนวนน้อย และขัดต่อพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนสาเหตุของการริบนั้นมาจากการที่เซอร์เยมส์ บรุก ทูตอังกฤษเข้ามาเจรจาความเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. 2393 แล้วแสดงตนว่ามีความรู้เรื่องเมืองไทยมาก จนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระแวงว่าคนไทยนำเรื่องราวต่างๆ ของทางราชการไปบอกแก่เซอร์เยมส์ บรุก ทั้งมีรับสั่งให้สืบถามพวกลูกจ้างของหมอบรัดเลและคนอื่นๆ ว่าใครเป็นผู้นำเรื่องราวไปบอกเล่า

และทรงสงสัยเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระยศในขณะนั้นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) จะมีส่วนเกี่ยวข้อง จมื่นราชามาตย์ (ขำ บุนนาค) ปลัดกรมพระตำรวจในซ้ายกลัวว่าเรื่องนี้จะกระทบถึงเจ้าฟ้ามงกุฎ จึงนำหนังสือกฎหมายฉบับพิเศษที่ซื้อเชื่อไปจากนายโหมดเล่มหนึ่งกับหนังสือว่าด้วยราชการต่างๆ ของสังฆราชยอง (บาทหลวง ฌัง บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์) เล่มหนึ่งไปถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีรับสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวงศาธิราชสนิท กับพระอินทรเทพ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้ายเอานายโหมดและพวกลูกจ้างของหมอบรัดเลไปซักถาม ‘พอเป็นเหตุ’ (ที่เอาพวกลูกจ้างขอหมอบรัดเลย์มาซักถาม เพราะ “มีความเป็นไปได้ว่าหมอบรัดเลย์เป็นผู้แนะนำให้นายโหมดเอาหนังสือกฎหมายมาพิมพ์ เพราะทั้งสองมีความสนิมสนมกันอยู่” มากกว่าที่จะเป็นความคิดริเริ่มของนายโหมดเอง) แล้วโปรดให้ริบหนังสือกฎหมายของนายโหมดทั้งหมด...

การเอาหนังสือกฎหมายไปพิมพ์จำหน่ายนั้น ไม่มีบทบัญญัติใดในกฎหมายตราสามดวงบัญญัติว่าเป็นความผิด แต่มีบทบัญญัติว่าการกระทำเป็นคนขี้ฉ้อหมอความ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มิได้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เข้าว่าต่างๆ (ฟ้องคดีแทน) หรือแก้ต่าง (สู้คดีแทน) แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือช่วยแนะนำการเขียนคำฟ้องหรือคำให้การแก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นความผิด ผลกระทบในครั้งนั้น พวกมิชชันนารีถูกเพ่งเล็ง และอยู่ในภาวะเลวร้าย แต่หมอบัดเลย์ และนายโหมดไม่ได้ถูกลงโทษแต่อย่างใด”

แต่เพื่อความเป็นธรรมแก่หมอสมิธ เป็นไปได้ว่าหมอสมิธเป็นคนนอกและเป็นชาวต่างชาติ จึงไม่สามารถล่วงรู้ข้อมูลวงในที่เกิดขึ้นในราชสำนักอย่างที่กำธรได้ค้นพบในภายหลัง

การทำแผนที่สยาม (ตอนที่สิบ): อังกฤษ-สยาม/หมอสมิธและ “Old Siam”

                     พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว                                            Sir Jame Brooke

ดังนั้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริบหนังสือกฎหมายและห้ามเผยแพร่นั้น อาจจะมีประเด็นเรื่องความคับแคบที่ต้องการจำกัดความรู้กฎหมายแต่เฉพาะ “หมู่เจ้านายและขุนนางจำนวนน้อย” อยู่จริง แต่สาเหตุที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การตระหนักถึงภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกที่แผ่เข้ามาและทรงระแวงว่าคนไทยจะนำเรื่องราวต่างๆของทางราชการไปบอกแก่เซอร์เยมส์ บรุก ทูตผู้มีอำนาจเต็มของอังกฤษ

อนึ่ง เราจะเข้าใจพระราชดำริของพระองค์ได้ถูกต้องขึ้น โดยพิจารณาจากพระราชดำรัสสุดท้ายที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานก่อนเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2394 ว่า “...การต่อไปภายหน้า...การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่งให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่ดีควรจะเรียนร่ำเอาไว้ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว...” นั่นคือ พระองค์มิได้ปิดกั้นการศึกษาหาความรู้ของตะวันตก แต่ทรงสนับสนุนให้เรียนรู้ในสิ่งที่ดีของตะวันตก แต่อย่าถึงกับลุ่มหลงมากจนกระทั่งต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลตะวันตกไปเสียทั้งหมด

(เรื่อง Old Siam และคุณโหมดยังมีต่อตอนหน้าด้วยนะครับ)

(ในการเขียนบทความตอนนี้ ผู้เขียนขอบพระคุณ คุณเตช บุนนาค, คุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์แห่งสำนักพิมพ์ต้นฉบับ, คุณกนิษฐา กสิณอุบล กรรมการผู้จัดการสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์, คุณพิณทิพย์ เกิดผลานันท์ บรรณารักษ์ประจำห้องสมุดสยามสมาคมฯ, พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1-4 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) เล่ม 2, (นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา: 2555), หน้า 1415, หนังสือชาวต่างชาติในประวัติศาสตร์ไทย ฉบับปรับปรุงและเพิ่มเติม ของ ส. พลายน้อย, หนังสือ “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ของ ทรงศรี อาจอรุณ, หนังสือ วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย ของ ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย, และบทความของ กำธร เลี้ยงสัจธรรม เรื่อง“กรณีริบหนังสือกฎหมายในรัชกาลที่ 3” ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2547 และบทความเรื่อง“สั่งริบหนังสือกฎหมาย โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์” ศิลปวัฒนธรรม วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2564)