posttoday

SDGs Mega Trends 2021 : การท้าทายที่มากขึ้นในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

26 เมษายน 2564

โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ

************************

แม้ว่าก่อนหน้าปี ค.ศ.2020 จะมีความพยายามอย่างมากในการลดปริมาณขยะพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่สถานการณ์ปริมาณขยะพลาสติก ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกกลับเพิ่มมากขึ้น เมื่อต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัส COVID-19 ในปี 2020 จนปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากการล็อคดาวน์

เว็บไซต์ Oxford and business group รายงานว่า สถานการณ์ COVID-19 ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นขยะพลาสติกในอุตสาหกรรมต่างๆ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้าน (40 bn) เหรียญสหรัฐ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นระดับโลกเป็นเช่นเดียวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ขยะพลาสติกของไทยสูงขึ้นกว่าร้อยละ 60 ในช่วงล็อคดาวน์ ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกจากการสั่งอาหาร จึงเป็นความท้าทายขนาดใหญ่ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก รวมถึงการขับเคลื่อนแนวทางการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืน ซึ่งพบว่า นอกจากขยะพลาสติกจะมีปริมาณมากขึ้น  ในขณะเดียวกันอัตราการ นำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ ก็มีอัตราลดลงด้วย  โดยจาก รายงานล่าสุดของ The circularity gap ประจำปี ค.ศ. 2020 ระบุว่า อัตราการนำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ลดลงเหลือเพียง 8.6% เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 2019 ที่อัตราการนำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่อยู่ที่ 9.1%

SDGs Mega Trends 2021 : การท้าทายที่มากขึ้นในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

ความพยายามที่ผ่านมาของภาคธุรกิจในการผลักดันเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อยู่จุดที่ ท้าทายยิ่งขึ้น และนั่นเป็นเหตุผลว่าเพราะอะไร “เศรษฐกิจหมุนเวียน” จะยังกลายเป็นหนึ่งในแนวโน้มหลักที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ต้องเร่งทำให้มากขึ้น โดยเน้นที่การลงมือทำและการสร้างความร่วมมือ

ในการประชุมผู้นำธุรกิจ Uniting Business LIVE โดย UN Global Compact ผู้นำส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า “ใน COVID-19 มีการพูดกันมากมายเกี่ยวกับการสร้างให้กลับมาดีขึ้นและการกลับมาสู่ความปกติใหม่ แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยหากไม่มีความพยายาม” ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะจากเวทีดังกล่าว เน้นการขับเคลื่อน SDGs ไปที่ 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วและแก้ไขสิ่งต่างๆ การหาประเด็นร่วมในการทำงานระหว่างกัน และการเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่จะเป็นทางออกสำคัญของการแก้ปัญหาในระดับนานาชาติ จึงได้เห็นความร่วมมือที่จะมีมากขึ้น ทั้งในระดับข้ามกลุ่มธุรกิจและเชื่อมโยงกันในระดับโกลบอล ซัพพลายเชน เช่น ความร่วมมือที่ใหญ่ที่สุดในภาคธุรกิจ Alliance to End Plastic Waste ที่มีสมาชิกกว่า 80 บริษัททั่วโลก มุ่งมั่นกำจัดขยะพลาสติกในธรรมชาติให้หมดไป รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ที่ทยอยประกาศเป้าหมายสำคัญเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น เช่น ความเคลื่อนไหวของอิเกียที่ประกาศพันธกิจที่จะเป็นธุรกิจระบบหมุนเวียน 100% (100 percent circular company) ภายในปี ค.ศ.2030 ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจากวัตถุดิบหมุนเวียนและรีไซเคิล หรือ สตาร์บัคส์ ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 ใน ปี ค.ศ.2021 ซึ่งได้ประกาศความมุ่งมั่นในการเป็นบริษัทที่มีการใช้ทรัพยากรเป็นบวก ฯลฯ ปรากฎการณ์ต่างๆเหล่านี้ ล้วนเป็นผลสะเทือนที่จะทำให้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคธุรกิจมีความชัดเจนและมีรูปธรรมขึ้นในทางปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ในการประชุมสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน 2563 มีการเสนอ 8 แนวทางของข้อเสนอแนะในการพัฒนา CE  (Circular Economy) ของไทย ได้แก่ 1.ครบวงจรและปิดวงจร การส่งเสริม CE โดยออกแบบระบบตั้งแต่ต้นทางให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ครบวงจรและปิดวงจร   2.การส่งเสริม CE เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้และการ สร้างงาน - โดยจุดเน้นต้องคำนึงถึงการมูลค้าเพิ่มทางเศรษฐกิจใหม่ และโอกาสทางสังคมที่เพิ่มขึ้น 3.CE จะเป็นทางออกสำหรับปัญหาที่มีอยู่เดิมและเป็นโอกาสสำหรับเศรษฐกิจใหม่ - โดยการส่งเสริม CE จะช่วยลดขยะซึ่งเป็นปัญหาวิกฤตของประเทศและช่วยสร้างมูลค่าขยะผ่านรูปแบบธุรกิจแบบใหม่ๆ

4.ขยายตลาด CE ภายในประเทศ-ผ่านการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคตระหนักเรื่อง CE และผ่านการศึกษาและฝึกอบรมเพื่อสร้างผู้บริโภค CE รุ่นใหม่ 5.เริ่มทำ CE ในภาคส่วนที่มีความพร้อมและผลกระทบสูง- ความพร้อมทั้งในมิติผู้เล่นหลัก กฎระเบียบ องค์ความรู้ เทคโนโลยี ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ CE ในภาคส่วนดังกล่าวได้จริง 6. ต้องมีการวิเคราะห์และการจัดการผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง -  ในการส่งเสริม CE อาจทำให้ผู้ประกอบการเดิมบางกลุ่มเสียประโยชน์ เช่น การลดของเสียจากโรงงานจะทำให้ธุรกิจจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมหดตัวลง จึงต้องดึงเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น 7.ตัวช่วยทางการเงินที่ใหม่และหลากหลาย- ต้องทำความเข้าใจรวมทั้งให้แรงจูงใจกับนักลงทุนและธนาคาร ในการเข้าใจแนวคิด CE จนนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินหลากหลายเพื่อเป็นตัวเลือกให้แก่นักลงทุน 8. การเชื่อมโยงธุรกิจกับองค์ความรู้และนวัตกรรม – ต้องพัฒนากลไกการเชื่อมโยงผู้ประกอบการหรือผู้ที่มีความพร้อมในการทำ CE ให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้หรือนวัตกรรมที่มีอยู่ในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ

ซึ่งแนวทางทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่กระบวนการออกแบบและคิดใหม่ด้านธุรกิจตามแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ตัวอย่าง เช่น Laika ขนมสุนัขที่ใช้โปรตีนจากแมลงเป็นวัตถุดิบพื้นฐาน ซึ่งไม่เพียงดีต่อสุขภาพของสุนัขแต่ยังถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขนมสุนัข Laika ถูกผลิตขึ้นบนความสนใจในเรื่อง food waste และความมั่นคงทางอาหาร แรกเริ่มนั้นผู้ก่อตั้งทำฟาร์มแมลง และต้องการที่จะต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และด้วยแรงบันดาลใจจากสุนัขที่เลี้ยงไว้ จึงผลิตขนมสุนัข Laika ขึ้นมาโดยใช้โปรตีนจากแมลงที่มีคุณภาพ และผักออร์แกนิกคุณภาพดีที่ถูกคัดทิ้งจากโรงงานมาเป็นส่วนผสม เพื่อลดปัญหาเรื่อง food waste โดยขนม Laika 1 ถุงจะสามารถลดปริมาณทั้ง food surplus และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้พร้อมกัน

ทั้งนี้ ในระดับองค์กร ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า ภาคธุรกิจสามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ในหลายด้าน พิจารณาวงจรของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment) การสร้างการมีส่วนร่วมกับพนักงานหรือลูกค้าในนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ลงทุนกับพันธมิตรสร้างนวัตกรรมใหม่ที่สามารถทดแทนวัสดุที่ไม่เป็นธรรมชาติ ไปจนถึงความร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเก็บขยะพลาสติก รวมถึงพัฒนาตลาด secondary markets เพื่อนำของเสียหรือวัตถุดิบเหล่านี้กลับมาใช้ใหม่ในอนาคต