posttoday

การทำแผนที่สยาม (ตอนที่หก): บทเรียนจากพม่า

16 เมษายน 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร 

*******************

การทำแผนที่สยาม (ตอนที่หก): บทเรียนจากพม่า

จากตอนที่แล้ว ได้เล่าถึงการที่พม่าต้องมีปัญหากับอังกฤษในเรื่องพรมแดน เพราะดินแดนบางส่วนของอินเดียตอนนั้นได้ตกอยู่ในความดูแลของอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2366 ได้เกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้นระหว่างพม่ากับอังกฤษบริเวณเมืองกาจาร์ (Cachar) ที่เป็นส่วนหนึ่งของแคว้นอัสสัม ซึ่งขณะนั้น อังกฤษได้มาป้วนเปี้ยนอยู่แถวแคว้นอัสสัมอยู่แล้ว

การทำแผนที่สยาม (ตอนที่หก): บทเรียนจากพม่า

ดูจากแผนนที่ จะเห็นว่า กาจาร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นอัสสัมจะมีพรมแดนติดกับพม่า

ทีนี้ คำถามคือ อัสสัม เป็นของใคร ? ถ้าย้อนเวลากลับไป จะพบว่า อาณาจักรอัสสัมเป็นดินแดนที่ถูกผลัดเปลี่ยนครอบครองโดยกษัตริย์แห่งราชวงศ์ต่างๆหลากหลาย แต่ถ้าเอาแบบไม่ต้องย้อนกลับไปไกลถึงยุคมหาภารตะ ก็เอาแค่ราวๆในช่วงสมัยพระเพทราชาก็แล้วกัน ในช่วงเวลานั้น อัสสัมอยู่ภายใต้การปกครองของพวกอาหม (Ahom)  เมื่อพูดถึงอาหม คนไทยรุ่นเก่า (อย่างรุ่นผม) จะรู้จักอาหม เพราะตอนเด็กๆ ครูมักจะสอนว่า ไทยเรามีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล เชื้อสายไทยเราก็มาจากทางตอนเหนือ หนึ่งในนั้นคือ ไทยอาหมที่แคว้นอัสสัม

ช่วงที่อาหมมีอำนาจและรุ่งเรืองที่สุดคือในสมัยของกษัตริย์รูทรา ซิงค์ (Rudra Singh) ระหว่าง พ.ศ. 2239-2257 (ช่วงรัชสมัยพระเพทราชาถึงพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) หลังจากนั้น อัสสัมก็ถูกปกครองโดยขุนศึกจากพม่า ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ราชวงศ์อลองพญา  แต่ความขัดแย้งรบพุ่งกันภายในเจ้าครองอาณาจักรอัสสัมส่งผลให้อำนาจการบริหารส่วนกลางอ่อนแอลง จนปี พ.ศ.2329 เจ้าผู้ครองอัสสัมขณะนั้น คือ กอรินาท ซิงค์ (Gaurinath Singh) ได้หันไปขอความช่วยเหลือจากกัลกัตตา (Kolkata) ซึ่งกัลกัตตา ขณะนั้นได้กลายเป็นเมืองหลวงของบริติชอินเดีย (British India) ไปเสียแล้ว

เมื่อเจ้าครองอัสสัมมาขอความช่วยเหลือจากกัลกัตตาที่อยู่ในความดูแลของอังกฤษ ก็กลายเป็นเข้าทางอังกฤษไปเลย ผู้ว่าการบริติชอินเดียก็เลยส่งนายทหารอังกฤษเข้าไปดูแลจัดการให้เกิดสันติภาพขึ้นในอัสสัม แม้ว่ากษัตริย์สายอาหมในอัสสัมจะประท้วงไม่ยอมรับการเข้ามาจัดการของอังกฤษก็ตาม

ความขัดแย้งแก่งแย่งกันครองอำนาจภายในอัสสัมยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนในราวปี พ.ศ.2360 พม่าภายใต้พระเจ้าจักกายแมงแห่งราชวงศ์อลองพญาได้ส่งกองทัพเข้าไปในอัสสัมตามคำขอของฝ่ายที่ก่อการกบฏและเข้าไปมีอำนาจในอัสสัม

ในสายตาของอังกฤษ การที่พม่าเข้าไปในอัสสัมถือเป็นการคุกคามผลประโยชน์ของอังกฤษ เพราะอังกฤษก็คงเล็งที่จะเข้าไปมีอิทธิพลในอัสสัมอยู่ เพียงแต่ในครั้งที่ส่งกองกำลังเข้าไปดูแลสันติภาพตามคำขอของกอรินาท ซิงค์ เมื่อดูแลแล้ว อังกฤษก็มีมารยาท ถอนกองกำลังออกมา แต่พม่าส่งกองกำลังเข้าไปแล้ว ไม่ยอมออก สร้างความไม่พอใจให้กับอังกฤษที่ถือพิธีการระหว่างประเทศที่พม่าไม่คุ้นเคย เพราะพม่าเข้าไปในอัสสัมแล้ว ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องออกด้วย วิธีคิดทางการเมืองระหว่างประเทศคนละแบบกัน ! และอย่างที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า กรณีที่พม่าเข้าไปในอัสสัม ส่งผลให้เกิดการปะทะกันขึ้นระหว่างพม่ากับอังกฤษในแคว้นกาจาร์  ฝ่ายอังกฤษเห็นว่าพม่าเป็นฝ่ายรุกราน จึงประกาศสงครามกับพม่าในปี พ.ศ.2366 ถือเป็นสงครามครั้งแรกระหว่างพม่ากับอังกฤษ พม่าพ่ายแพ้หมดรูป ต้องเสียดินแดนดังกล่าวนี้ไปให้อังกฤษในสนธิสัญญายันดาโบในพ.ศ.2368 และพม่าต้องยกยะไข่ ตะนาวศรีและอัสสัมให้อังกฤษไป แถมพม่าจะต้องรับรองว่าแคว้นมณีปุระ กาจาร์ และเจนเทียเป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษ  ซึ่งพม่าจะเข้ามายุ่งเกี่ยวไม่ได้อีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น พม่ายังต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่อังกฤษเป็นจำนวนเงินหนึ่งล้านปอนด์สเตอลิง รวมทั้งบังคับให้พม่าทำสนธิสัญญาทางพาณิชย์กับอังกฤษ และให้มีตัวแทนประจำอยู่ในแต่ละประเทศได้ (อังกฤษเอาเยอะจริง !)

จากความล้มเหลวพ่ายแพ้ดังกล่าว ส่งผลให้พระเจ้าจักกายแมงเป็นบ้าในที่สุด ต่อมาในสมัยพระเจ้า พุกาม พระองค์ก็พยายามจะทวงดินแดนคืน แต่ไม่สำเร็จ แม้พระองค์จะไม่บ้า แต่ก็กลับไม่สนใจในกิจการบ้านเมืองไปเลย วันๆเอาแต่หมกมุ่นในอบายมุข กินเหล้า ชนไก่ ดูมวย ทิ้งการปกครองประเทศให้อยู่ในมือของเสนาบดีซึ่งไม่มีความสามารถแต่ทะเยอทะยานและฉ้อราษฎร์บังหลวง

ส่วนอังกฤษก็สามารถตั้งมั่นอยู่ในอินเดียได้อย่างมั่งคง  และทะนุบำรุงดินแดนที่อังกฤษยึดครองในพม่าให้มีความเจริญรุ่งเรืองในทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญที่สุด  ผู้สำเร็จราชการอังกฤษที่อินเดียมีนโยบายจะขยายดินแดนของอังกฤษออกไปโดยมุ่งมั่นจะให้แนวฝั่งทะเลทั้งหมดจากอินเดียถึงสิงคโปร์ติดต่อถึงกัน อันจะทำให้อังกฤษสามารถขยายอำนาจทางน่านน้ำให้กว้างขวางขึ้นและมีตลาดเสรีคอยรับซื้อสินค้าจากอังกฤษเพิ่มขึ้น

คงไม่ต้องบอกเลยว่า นโยบายหิวกระจายอย่างใหญ่โตนี้ของอังกฤษย่อมเป็นอันตรายต่อเอกราชและความอยู่รอดของพม่า ไม่ว่าอังกฤษจะดำเนินการด้วยสันติวิธีหรือด้วยการทำสงครามก็ตาม !

ภายหลังที่อังกฤษทำสนธิสัญญาทางพาณิชย์กับพม่าเมื่อปี พ.ศ. 2369  ชาวอังกฤษจำนวนมากได้เข้ามาค้าขายอยู่ที่เมืองร่างกุ้ง และมักร้องเรียนต่อทางอินเดียอยู่เสมอถึงการใช้อำนาจของเจ้าเมืองร่างกุ้งในการเรียกเก็บภาษีอย่างไม่เป็นธรรม จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2394  ผู้บังคับการเรือสินค้าชาวอังกฤษสองคนเกิดข้อพิพาทกับเจ้าเมืองร่างกุ้งในข้อหาฆาตกรรม และถูกลงโทษให้เสียค่าปรับ คนทั้งสองได้ส่งคำร้องเรียนไปยังผู้สำเร็จราชการบริติชอินเดียว่า ตนได้รับการปฏิบัติไม่ดีจากเจ้าเมืองร่างกุ้ง ผู้สำเร็จราชการบริติชอินเดียจึงประท้วงโดยส่งนายพลเรือเป็นผู้แทนในการเรียกร้องให้ทางพม่าจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่ชาวอังกฤษสอง คนนั้น และให้ย้ายเจ้าเมืองร่างกุ้งเสียโดยมิได้สืบสวนว่าข้างใดเป็นฝ่ายผิด  นายพลเรือผู้นั้นได้เดินทางมาถึงร่างกุ้งพร้อมด้วยเรือรบติดอาวุธ โดยอังกฤษน่าจะมีเจตนามุ่งหมายจะใช้กำลังขู่บังคับพม่าให้ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของตนมากว่าที่จะเจรจาด้วยสันติวิธี

และแน่นอนว่าในเวลานั้นพม่าไม่พร้อมที่จะทำสงคราม พระเจ้าพุกามทรงยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของอังกฤษและทรงส่งเจ้าเมืองร่างกุ้งคนใหม่มาพร้อมกับกองทัพจำนวนหนึ่งเพื่อคอยป้องกันการรุกรานของอังกฤษ ท่าทีของทั้งสองฝ่ายแสดงความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันมากขึ้นนอกจากนี้ นายพลเรือตัวแทนอังกฤษได้กระทำการที่ขัดต่อพิธีทางการทูต เป็นเหตุให้เจ้าเมืองร่างกุ้งปฏิเสธไม่ยอมให้ผู้แทนของอังกฤษเข้าพบ

ซึ่งหากเจ้าเมืองร่างกุ้งยอมโอนอ่อนผ่อนตามบ้าง เหตุการณ์ร้ายแรงก็อาจไม่เกิดขึ้น เพราะถ้าหากโอนอ่อนผ่อนปรนแกล้งมีมารยาทยอมเจรจาตามธรรมเนียมผู้ดีอังกฤษ อังกฤษก็คงไม่มีเหตุให้หาเรื่อง แต่การกระทำของเจ้าเมืองร่างกุ้งทำให้ตัวแทนอังกฤษไม่มีความอดทนอีกต่อไป และมีข้ออ้างหาเหตุนำเรือรบปิดล้อมเมืองร่างกุ้งและยึดเรือของพระเจ้าพุกามโดยที่ยังไม่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลอินเดียเลยด้วยซ้ำเมื่อถึงตรงนี้ ทำให้ผ มนึกถึงถ้อยคำในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ฝรั่งมาขอทำสัญญาไมตรีดีๆ เหมือนอย่างเช่นมาทำกับเมืองไทย  ก็ไม่รับไม่ยอมทำถุ้มเถียงเกะกะไป จึงก่อเหตุให้รบกันกับฝรั่ง ถ้าจะรับทำสัญญาเสียดีๆ เหมือนอย่างเมืองไทยทำแล้วก็มิสบายอยู่อย่างเมืองไทยหรือ... ”