posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่เจ็ด): ฟุกุสะวะ - สอ เสถบุตร

12 เมษายน 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร

****************

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศที่เริ่มขึ้นในยุคเมจิ คือ การที่ประชาชนอ่านออกเขียนได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆแล้ว ถือได้ว่า ประชาชนญี่ปุ่นที่อ่านออกเขียนได้มีถึงร้อยละ 40

ดังนั้น หลังจากญี่ปุ่นประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี พ.ศ. 2432 แล้ว อีกหนึ่งปีต่อมา ก็สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปได้ทันที อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2432 จะให้สิทธิ์เลือกตั้งแก่ประชาชน และประชาชนที่อ่านออกเขียนได้มีจำนวนถึงร้อยละ 40 แต่ก็จำกัดสิทธิ์ให้แต่เฉพาะพลเมืองเพศชายที่มีทรัพย์สินตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น อันหมายความว่า พลเมืองญี่ปุ่นที่มีสิทธิ์และใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเป็นพลเมืองที่นับได้ว่ามีคุณภาพทั้งในแง่ของความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจและมีความรู้พอสมควร

นอกจากคนญี่ปุ่นจะอ่านออกเขียนได้ถึงร้อยละ 40 แล้ว การศึกษาหาความรู้ของตะวันตกในญี่ปุ่นก็เริ่มเกิดขึ้นมานานก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้าสู่ยุคปฏิรูปเมจิ ที่สำคัญคือ เขาเน้นการแปลตำราจากภาษาตะวันตก โดยเริ่มจากภาษาดัทช์ก่อนแล้วต่อมาค่อยแปลเป็นอังกฤษ คนญี่ปุ่นที่จัดทำพจนานุกรมอังกฤษ-ญี่ปุ่นขึ้นเป็นครั้งแรกคือ ฟุกุสะวะ ในราวปี พ.ศ. 2403 ดังนั้น คนญี่ปุ่นที่อ่านออกเขียนได้ (ภาษาญี่ปุ่น) และมีความอุตสาหะกระตือรือร้นที่จะศึกษาความรู้ตะวันตก ก็สามารถทำได้ผ่านการใช้พจนานุกรม

ผู้เขียนจำได้ว่า สมัยเด็กๆมีหนังสือภาษาอังกฤษที่บ้าน อ่านยังไม่รู้เรื่อง บางครั้งก็นึกขยันเปิดพจนานุกรมไปทีละคำเลย ก็กล้อมๆแกล้มๆ และล้มเลิกไปเพราะขาดแรงอุตสาหะ การมีพจนานุกรมจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาเราไปสู่ความรู้ต่างชาติต่างภาษา

ทีนี้ถ้าจะถามว่า บ้านเราเริ่มมีพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยครั้งแรกเมื่อไร ? เพื่อจะได้นำมาเปรียบเทียบและตอบคำถามที่ผู้คนมักสงสัยอยู่เสมอว่า การปฏิรูปของไทยเริ่มขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับเมจิของญี่ปุ่น แต่ของเรามันไม่ไปไหนได้ไกลเหมือนอย่างของญี่ปุ่น เป็นเพราะอะไร ?

จากการค้นคว้า (ในกูเกิลนี่แหละ !) พบว่า ในราวทศวรรษ 2373 มีหลักฐานว่า มิสซิสโจนส์ หรือแหม่มโจนส์ภริยานายแพทย์จอห์น โจนส์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้พยายามจัดทำพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ไม่ได้ตีพิมพ์ เพราะมีอุปสรรคทางเทคนิคการพิมพ์ แต่ต่อมา แม้เธอจะสามารถตีพิมพ์คัมภีร์ไปเบิลที่แปลเป็นภาษาไทยฉบับแรกได้ แต่ก็ไม่มีการตีพิมพ์พจนานุกรมอังกฤษ-ไทยที่เธอได้จัดทำต้นร่างไว้

หากมีการจัดทำพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2373 ก็แปลว่า ไทยเรามีพจนานุกรมอังกฤษกับภาษาของตัวเองเร็วกว่าของญี่ปุ่นถึงราว 20 ปี คำถามคือ คนไทยเราจะขยันใช้พจนานุกรมในการทำความเข้าใจตำรับตำราภาษาอังกฤษหรือไม่ ?

อันนี้ ผมไม่ทราบจะตอบยังไงดีเหมือนกัน! หรือเราจะอ้างว่า เราไม่มีชนชั้นซามูไรอย่างของญี่ปุ่น ที่ผมเคยเล่าไปในตอนก่อนๆแล้วว่า กลุ่มคนที่ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาหาความรู้ในช่วงที่ญี่ปุ่นปลอดสงครามทั้งภายในและภายนอกในสมัยโชกุน โทะกุงะวะ ก็คือ พวกซามูไร เพราะไม่มีเงื่อนไขให้ต้องจับดาบ พวกเขาก็หันมาใช้เวลาศึกษาหาความรู้ทั้งความรู้ในแบบขงจื่อของจีนที่มีอิทธิพลต่อญี่ปุ่น และความรู้ตะวันตกที่ได้รับจากดัทช์ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ญี่ปุ่นขับไล่ฝรั่งออกไป เพราะไม่ต้องการให้ฝรั่งมีอิทธิพลทั้งทางศาสนาและการเมืองต่อสังคมญี่ปุ่น แต่ฝรั่งชาวดัทช์ เป็นข้อยกเว้น เพราะดัทช์ไม่มีวาระอื่นใดจริงๆ นอกจากค้าขาย ญี่ปุ่นจึงรับความรู้ตะวันตกผ่านดัทช์มาเป็นเวลาร้อยๆปีเลยทีเดียว ดังนั้น ลำพังการมีพจนากุรมอังกฤษ-ญี่ปุ่นคงไม่ใช่ปัจจัยที่หลัก

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่เจ็ด): ฟุกุสะวะ - สอ เสถบุตร             ฟุกุสะวะ ผู้ให้กำเนิดพจนานุกรมอังกฤษ-ญี่ปุ่น                              สอ เสถบุตร ผู้ให้กำเนิดพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย

อย่างไรก็ตาม หากจะถามว่า คนไทยคนแรกที่แต่งพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ก็คงไม่พ้น สอ เสถบุตร และมีการพิมพ์ออกมาขายเป็นเล่มโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2493 ดังนั้นในแง่ของคุณูปการของการทำให้คนในชาติมีพจนานุกรมอังกฤษกับภาษาของตัวเอง สอ เสถบุตรก็เทียบได้กับฟุกุสะวะของญี่ปุ่น เรารู้ประวัติคร่าวๆของฟุกุสะวะไปในตอนที่แล้ว เราควรจะรู้จัก สอ เสถบุตร ผู้ทำให้เมืองไทยมีพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยเอาไว้ใช้เป็นสื่อกลางในการศึกษาหาความรู้ในโลกภาษาอังกฤษกัน

จากข้อมูลจากนิตยสารสารคดี ฉบับพิเศษ ปีที่ 17 ฉบับที่ 206 เดือน เมษายน 2545 ที่เขียนโดยคุณ ศรัณย์ ทองปาน ทำให้เราทราบว่า สอ เสถบุตร เกิดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2446 เป็นบุตรของนายสวัสดิ์ กับ นางเกษร เศรษฐบุตร เริ่มหัดอ่านเขียนภาษาไทยจากแม่ครูชุ่ม และไปเรียนต่อที่โรงเรียนสุขุมมาลัยใกล้ๆ บ้าน ต่อมา พ.ศ.2458 ได้เข้าเรียนชั้นมัธยม 4 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่ออายุได้ 15 ปี ต้องกลายมาเป็นหัวหน้าครอบครัว เนื่องจากบิดาเสียชีวิตจากไข้จับสั่น

ต่อมา สอสอบชิงทุนคิงสกอลาร์ชิพ (ทุนเล่าเรียนหลวง) ไปเรียนที่ลอนดอน ในปี พ.ศ.2464 และจบกรศึกษาในปี พ.ศ.2469 เดินทางกลับมาพร้อมใบปริญญาเกียรตินิยม B.S.c. (HONS) ทางธรณีวิทยาและประกาศนียบัตร F.G.S. ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์เป็นคนแรกของประเทศไทย เมื่อกลับมาได้เข้ารับราชการตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยา ในกรมโลหกิจและภูมิวิทยา นอกจากนั้นยังได้ทำหนังสือพิมพ์ “บางกอกการเมือง” และหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ

ต่อมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้อ่านบทความของ สอ เศรษฐบุตร ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Daily mail แล้วพอพระทัย จึงให้มาถวายงานใกล้ชิด ทำหน้าที่เป็นหลวงมหาสิทธิโวหาร และขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้ากรมกองราชเลขาธิการองคมนตรี ในปี พ.ศ.2473-2474

หลังการปฏิวัติของคณะราษฎร สอ เศรษฐบุตร จึงได้ลาออกจากราชการ และถูกจับกุมในเวลาต่อมาพร้อมกับคนที่เคยทำหนังสือพิมพ์ “กรุงเทพเดลิเมล์” ในข้อหาร่วมกันเป็นตัวการพิมพ์ใบปลิวเข้าข้างพวกกบฏ (กบฏบวรเดช) และถูกตัดสินโทษให้จำคุกตลอดชีวิตในฐานกบฏ

ต่อจุดยืนทางการเมืองของ สอ เสถบุตรและรวมทั้งของพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นเรื่องที่น่าสนใจใคร่รู้ว่า ตกลงแล้วพระองค์เจ้าบวรเดชก็ดี และ สอ เสถบุตรมีจุดยืนอย่างไรกันแน่ เพราะผู้ที่ศึกษาในเรื่องนี้มีความเห็นแตกต่างกันไป บ้างว่า กบฏบวรเดชมีจุดยืนทางการเมืองที่ต้องการกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ บ้างว่า ต้องการให้รัฐสภามีอำนาจตรวจสอบมากขึ้นเพื่อลดความเป็นเผด็จการอำนาจนิยมของคณะราษฎร คงต้องมีการศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานข้อมูลมาถกเถียงกันมากขึ้นกว่านี้

สำหรับตัวผมเองที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทยในช่วงนี้ มีความเห็นว่า กบฏบวรเดชกับคณะราษฎรมีจุดยืนตรงกันอยู่ คือ ไม่ต้องการสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และต้องการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่เห็นต่างกันในประเด็นขอบเขตของพระราชอำนาจและอำนาจของรัฐสภาและฝ่ายบริหาร

และในปี พ.ศ. 2476 หนึ่งปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ย่อมมีความหวาดระแวงกันและกันอยู่มาก อันทำให้แต่ละฝ่ายคิดไปว่า อีกฝ่ายหนึ่งจะกลับไปสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ส่วนอีกฝ่ายจะก้าวต่อไปสู่สาธารณรัฐ

จากข้อมูลจากนิตยสารสารคดีที่กล่าวไปข้างต้น ในช่วงที่ สอ เสถบุตรต้องจำคุก เขาได้ใช้เวลาและความรู้ของเขาให้เกิดเป็นรายได้ ด้วยงานเขียน Dictionary งานเขียนพจนานุกรมนี้ต้องแอบทำไม่ให้ผู้คุมตรวจจับได้ มารดาของ สอ เศรษฐบุตร เป็นคนจัดการหาตำรา และเครื่องเขียนต่างๆ มาให้ นักโทษการเมืองต่างให้ความร่วมมือ โดย สอ เศรษฐบุตร เป็นผู้บอกคำศัพท์จากมันสมองออกมาอย่างรวดเร็ว อีกคนมีหน้าที่จดลงสมุดด้วยดินสอ

อีกฝ่ายทำการตรวจทานและคัดลอกใหม่ให้สะอาดสวยงาม พร้อมที่จะนำออกตีพิมพ์ ใต้เพดานที่ถูกเจาะเป็นช่องสำหรับเก็บของ เวลาในแต่ละวันจัดไว้อย่างดี ในตอนเช้าเริ่มงานเขียนพจนานุกรมตั้งแต่ 07.30 น. พักรับประทานอาหาร บ่ายเริ่มเขียนอีกครั้ง 14.30-17.00 น. เมื่อเขียนมาได้ถึงตัว S วันหนึ่งมีคำสั่งให้ย้ายนักโทษทางการเมืองทั้ง 70 คน ไปที่เกาะตะรุเตา

ที่เกาะตะรุเตาผู้คุมอนุญาตให้ปลูกกระท่อม สอ เศรษฐบุตร เลือกปลูกกระท่อมอยู่คนเดียวทำให้สะดวกขึ้นมากในการเขียนต้นฉบับพจนานุกรมฉบับห้องสมุด เมื่อเขียนต้นฉบับนี้เสร็จจึงจ้างนักโทษการเมืองคนอื่นๆ คัดลอกลงในสมุดด้วยค่าจ้างเล่มละ 1 สลึง และลงมือเขียนฉบับตั้งโต๊ะต่อ ต่อมาวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2486 นักโทษการเมืองต้องย้ายไปที่เกาะเต่า ในระหว่างการเคลื่อนย้ายนี้มีการแวะรอรถไฟที่สถานี นักโทษได้เห็นอักษรไทยที่แปลกไป อันเกิดจากแนวคิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ยกเลิกพยัญชนะที่มีรากจากบาลีสันสกฤตออก และจุดนี้ทำให้ สอ เศรษฐบุตร ได้รู้ว่า ชื่อบนปกพจนานุกรมที่พิมพ์จำหน่ายของเขาได้เปลี่ยนไปเป็น “สอ เสถบุตร” จึงได้ยึดชื่อนี้มาตลอดไม่ได้เปลี่ยนกลับ

จนกระทั่ง 20 ตุลาคม พ.ศ.2487 จึงได้รับการปล่อยตัว เมื่อมีการขอพระราชทานอภัยโทษ ในสมัยนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นยังเคยรับตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” ตามข้อเสนอของ นายมานิต วสุวัต ต่อมาร่วมกันตั้งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษขึ้นชื่อว่า Liberty และเป็นบรรณาธิการ ต่อมายังได้ออกนิตยสารรายสัปดาห์ชื่อ Leader ที่มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยในฉบับเดียว โดยคอลัมน์ความยอกย้อนซ่อนเงื่อนของภาษาเป็นที่สนใจอย่างสูง เพราะ สอ เสถบุตร ตอบปัญหาให้ผู้อ่านที่สงสัยเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ ต่อมาในปี พ.ศ. 2493 สอได้แก้ไขปรับปรุงพจนานุกรมของเขาและจัดพิมพ์จำหน่ายเองทั้งหมด ในระหว่างนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะซื้อพจนานุกรมฉบับตั้งโต๊ะของสอที่กำลังขาดตลาด สำนักพิมพ์หลายแห่งเมื่อทราบเข้า จึงพากันมาติดต่อขอเป็นผู้พิมพ์ สอ เสถบุตร ได้เลือกร้านวรรธนะวิบูลย์เป็นผู้จัดจำหน่าย โดยเขาเป็นผู้จัดพิมพ์เอง ทำให้ได้รับเงินก้อนใหญ่มาปรับปรุงโรงพิมพ์

และในปี พ.ศ.2507 สอ เสถบุตร เขียนพจนานุกรมอีกครั้งโดยเขียนที่บ้านชายทะเล เดือนมีนาคม 2508 จึงเขียนและพิมพ์พจนานุกรม New Model Thai – English Dictionary (Library Edition) เสร็จพร้อมออกจำหน่าย และปีต่อมาพจนานุกรม New Model English – Thai Dictionary (Desk Edition) ก็ออกตามมา และได้จำหน่ายลิขสิทธิ์ทั้งหมดให้กับสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชในที่สุด

คุณ สอ เสถบุตร เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2513

ทีนี้ เมื่อมีพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยแล้ว คำถามคือ คนไทยที่อ่านออกเขียนได้ (อ่านภาษาไทยออก !) มีจำนวนเท่าไร ?