posttoday

SDGs Mega Trends 2021 : นวัตกรรมด้านสุขภาพ ตัวช่วยในความปกติใหม่

05 เมษายน 2564

โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ

***************************

ปัจจุบัน “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” ถือเป็นหนึ่งในแนวโน้มสำคัญเกี่ยวกับประเด็นความยั่งยืนของธุรกิจ โดยนวัตกรรมเริ่มได้รับการระบุว่าเป็นหนึ่งในความเสี่ยงเกิดใหม่ (Emerging risk) หากธุรกิจไม่ให้ความสำคัญและปรับตัวเพื่อสร้างนวัตกรรม จะมีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันไปเรื่อยๆ ขณะที่นวัตกรรมที่ดีจะยิ่งสร้างการพัฒนาสูงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงกระตุ้นจากสถานการณ์ COVID-19 นำมาสู่เทรนด์นวัตกรรมที่น่าสนใจในการรับมือกับโรคระบาด ความตระหนัก และพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงแนวโน้มการพัฒนานวัตกรรมที่มีประเด็นความยั่งยืนด้าน “สุขภาพ” เป็นตัวตั้ง ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโรค ที่คาดว่าจะยังไม่จบลง

ผลจากสถานการณ์ COVID-19 ยังกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีในทางการแพทย์และสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น โดยเทรนด์สำคัญที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการสูง เทรนด์แรก ได้แก่ การดูแลผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล (care delivery - telehealth) เทรนด์ที่สอง คือ การวินิจฉัยโรคเบื้องต้น (pre-diagnosis) ที่มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น AI,  Big Data ไปจนถึง Internet of Thing (IoT) จะสร้างผลกระทบอย่างมากและเป็นตัวช่วยของบริษัทในยุค COVID-19 ในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับความปกติใหม่ (New Normal) โดยตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป เราจะได้เห็นถึงการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

SDGs Mega Trends 2021 : นวัตกรรมด้านสุขภาพ ตัวช่วยในความปกติใหม่

Kevin Scott Chief Technology Officer (CTO) ของบริษัทไมโครซอฟต์ กล่าวว่า AI จะเข้ามามีส่วนช่วยคาดการณ์ ป้องกัน รักษาผู้ป่วย COVID-19 และยังสามารถป้องกันการเกิดโรคระบาดใหม่ได้อีกด้วย เช่น การใช้ bot-based technology สำหรับผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีอาการคล้าย COVID-19 สามารถตรวจอาการด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาลได้ นอกจากนี้ เรายังเริ่มเชิญชวนผู้ป่วยที่หายจาก COVID-19 ให้กลับมาบริจาคพลาสมาในเลือด (donate blood plasma) ซึ่งจะมี antibodies อยู่ จากนั้นจะนำพลาสมาเหล่านี้ไปใช้ในกระบวนการรักษาต่อไป  โดย AI จะถูกนำมาเข้ามาช่วยในการจัดเก็บพลาสมาที่ได้รับมาให้ถูกต้องเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ ยังใช้ AI มาวิเคราะห์ในสถานการณ์จำลอง  เพื่อทดลองหาสารประกอบต่างๆ ที่มีศักยภาพเพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนสำหรับป้องกันโรคต่อไป

Kevin ยังกล่าวถึงอนาคตข้างหน้าว่า เราอาจมี smart watch หรือ fitness band ที่มีเซนเซอร์ตรวจวัดไบโอ เมตริกซ์ของผู้สวมใส่ ทำให้ทราบถึงอุณหภูมิของร่างกาย ระดับอ็อกซิเจนในเลือด อัตราการเคลื่อนไหวของร่างกาย อัตราชีพจร และบอกได้ว่าเรากำลังป่วยอยู่หรือไม่ ก่อนที่ร่างกายจะแสดงอาการให้เราเห็นเสียอีก ซึ่งจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากสามารถทราบได้ว่าเรากำลังจะป่วยและให้การรักษา ตั้งแต่อาการยังไม่รุนแรง

นอกจากนี้ virtual healthcare ยังเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก telehealth ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยใน virtual healthcare ได้รับความนิยมสูงขึ้น โดยในสหรัฐอเมริกา มีผู้ใช้ telehealth เพิ่มขึ้นจาก 11% ในปี 2019 มาเป็น 46% ในเดือนเมษายน 2020 โดยมีจำนวนผู้ที่สนใจสูงถึง 76% อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัด ด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี ความรู้ ความเข้าใจในการใช้งานและต้นทุนที่ยังคงสูงอยู่ จึงทำให้มีผู้สามารถใช้งานได้จริงน้อยกว่าจำนวนตัวเลขผู้ที่สนใจ อย่างไรก็ตาม คาดว่าความนิยมนี้จะยังคงอยู่ไปอีกอย่างน้อย 12-18 เดือน หรือจนกว่าวัคซีนป้องกัน COVID-19 จะเข้าถึงประชาชนในวงกว้างได้มากขึ้น นอกจากนี้ การใช้งาน virtual healthcare จะสนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น โดยแพทย์และพยาบาลจะสามารถจัดสรรเวลาเพื่อพบและรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการดูแลรักษาดีขึ้น

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของ McKinsey พบว่า ธุรกิจที่ลงทุนสร้างนวัตกรรมใหม่ในช่วงวิกฤต จะสามารถสร้าง ผลการดำเนินงานที่ดีกว่าคู่แข่ง เมื่อสถานการณ์กำลังฟื้นตัว และยังพบว่าในช่วงวิกฤตมีแนวโน้มที่จะเกิดความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ ในการสร้างสวรรค์นวัตกรรมทางสินค้าและบริการ รวมไปถึงขั้นตอนการทำงานต่างๆ ด้วย เช่น Sherba Medical Center ใน อิสราเอล ร่วมมือกับ TytoCare เพื่อให้ผู้ป่วย COVID-19 ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล   ด้วยการส่งเครื่องมือตรวจของแพทย์ (stethoscopes) ที่เมื่อได้ยินเสียงหัวใจของผู้ป่วยแล้ว  สามารถแปลงเป็นรูปภาพของปอด ส่งไปให้ทีมผู้ดูแลเพื่อสามารถดูแลได้อย่างเหมาะสม หรือ บริษัท Zipline ในสหรัฐอเมริกาที่มีความเชี่ยวชาญในการขนส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปยังสถานที่ห่างไกล ได้ร่วมมือกับบริษัท Novant Health ในการจัดส่งอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับโรงพยาบาลผ่านโดรน (Drones) เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมระดับโลก (Global Innovation Index – GII) ประจำปี ค.ศ.2020 พบกว่า 5 อันดับแรกของประเทศที่มีงบประมาณด้านการสร้างนวัตกรรมสูงสุด ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ สำหรับประเทศไทย ได้รับการจัดอยู่ในอันดับที่ 44 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศ กลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (upper middle-income economies) ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในอันดับ 4 จากจำนวน 37 ประเทศ รองจากจีน  มาเลเซีย และบัลแกเรีย โดยปัจจัยที่ประเทศไทยมีอันดับต่ำกว่าเฉลี่ย ได้แก่ ปัจจัยด้านทุนมนุษย์และการวิจัย และหากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 10 จากจำนวน 17 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของนวัตกรรมด้านสุขภาพในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างชัดเจน จากบทบาทขององค์กรธุรกิจชั้นนำที่ลงมาเล่นในสนามนวัตกรรมในช่วงสถานการณ์ COVID-19 อาทิ การสร้างโรงงาน “หน้ากากอนามัย” โดยใช้เวลาเพียง 5 สัปดาห์ในช่วงที่หน้ากากอนามัยขาดแคลน หรือการพัฒนา “นวัตกรรมห้องตรวจหาเชื้อความ ดันลบ” (Modular Screen Unit) ซึ่งเป็นห้องคัดกรองเชื้อที่สร้างความปลอดภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น

แม้ว่าในวิกฤต COVID-19 เศรษฐกิจ การลงทุน และหลายเรื่องในธุรกิจอาจจะชะลอตัว และหยุดชะงัก แต่ข้อดีอย่างหนึ่งในวิกฤตนี้ ทำให้พบว่า โลกเรายังมีความหวัง จากความร่วมมือครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของ COVID-19  ของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และองค์กรอื่นๆ ที่สามารถร่วมมือกันและตอบสนองปัญหาอย่างเร่งด่วนได้  อาจจะอย่างที่  ชารอน ธอร์น ประธานคณะกรรมการระดับโลกของ Deloitte กล่าวใน การประชุมใหญ่ของผู้นำธุรกิจที่จัดโดย UN Global Compact ว่า  “เราหวังว่าทุกคนจะมุ่งมั่นขับเคลื่อนเรื่อง SDGs ที่เป็นรูปธรรมและรวดเร็ว ในระดับที่เราเคยเห็นผู้คนตอบสนองต่อการระบาดของไวรัส”

นอกจากเรื่องของ “นวัตกรรมด้านสุขภาพ” ซึ่งเป็นเสมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่เริ่มปรากฏให้เห็นทางออกต่าง ๆ ท่ามกลาง COVID-19  สถานการณ์นี้ยังกระตุ้นให้เกิดการเงินและการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Investment) ที่คำนึงถึงประเด็นด้าน ESG สูงขึ้น นั่นคือ เรื่องของสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในตอนต่อไป