posttoday

การทำแผนที่ประเทศกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม (ตอนที่สอง)

18 มีนาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

**********************

ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอออกตัวว่า ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยแต่อย่างใด แต่กำลังเริ่มสนใจศึกษา ดังนั้น หากมีข้อผิดพลาดประการใด ขอให้ผู้รู้ได้กรุณาชี้แนะด้วย จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง จากตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ตั้งสมมุติฐานว่า กล่าวได้ว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 และรัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1720และรัฐธรรมนูญเดนมาร์ก ค.ศ.1849 มีลักษณะของการเป็นรัฐธรรมนูญของรัฐสมัยใหม่ที่พยายามกล่าวถึงความชัดเจนของดินแดนภายใต้การปกครอง

และผู้เขียนได้ตั้งสมมุติฐานอีกว่า มูลเหตุที่มาของการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาฯนี้ สันนิษฐานว่า น่าจะมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงมีพระราชประสงค์จะให้ถือเป็นรัฐธรรมนูญรัฐสมัยใหม่ของสยามเพื่อไว้ใช้ในการยืนยันอาณาเขตดินแดนที่อยู่ภายใต้พระเจ้ากรุงสยามที่เป็นบรมราชาธิราช ซึ่งปรากฏอยู่ในมาตราที่หนึ่ง: “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปนพระเจ้าแผ่นดิน ฤาพระเจ้ากรุงสยาม เปนบรมราชาธิราชแห่งมลาวประเทศ มลายูประเทศ กเหรี่ยง ฯลฯ ผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ”

ปัญหาในเรื่องอาณาเขตดินแดนที่แน่นอนตามกฎหมายระหว่างประเทศอันเป็นกติกาหรือระเบียบโลกที่ชาวยุโรปจัดตั้งขึ้นมา โดยเริ่มจากระเบียบที่ใช้ในยุโรปเองและปรับปรุงขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นๆนี้ เป็นปัญหาที่พม่าต้องเผชิญมาก่อนในรัชสมัยพระเจ้าปะดุงในราว พ.ศ. 2327 ที่พระองค์ทรงมั่นพระทัยใน “ความยิ่งใหญ่” ของพม่าในภูมิภาคดังกล่าว และเป็นฝ่ายละเมิดพรมแดนของอังกฤษ โดยราชสำนักพม่ายังไม่ตระหนักถึง “กฎหมายระหว่างประเทศ”

และในการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาฯ โดยเฉพาะมาตราหนึ่งที่เป็นการยืนยันอาณาเขตดินแดนของพระเจ้ากรุงสยาม จำเป็นต้องมีการสำรวจพื้นที่และพรมแดนและจัดทำแผนที่ขึ้นตามแบบตะวันตก ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2418 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหน่วยทหารช่างขึ้น ในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ให้นายเฮนรี อะลาบาสเตอร์ (Henry Alabaster) (ซึ่งเคยรับราชการสถานทูตอังกฤษ แล้วเข้ามารับราชการไทยเป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์) เป็นหัวหน้า นายนาวาเอก ลอฟทัส (Lophtus) เป็นผู้ช่วย และมีหม่อมราชวงศ์ แดง (หม่อมเทวาธิราช) นายทัด (พระยาสโมสรสรรพการ) นายสุด (พระยาอุดรกิจพิจารณ์) และหม่อมราชวงศ์แปลก (พระยาสากลกิจประมวล)

ทั้ง 4 นายนี้ เป็นนายทหาร ในกรมทหารมหาดเล็ก ให้เข้ารับการอบรมฝึกหัดในหมวดทำแผนที่นี้ นายเจมส์ แมคคาร์ที ได้เริ่มเข้ารับราชการ ไทยเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2424 โปรดเกล้าฯ ให้สังกัดสมุหพระกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ในบังคับบัญชาของนายพันโทพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ผู้บังคับการ และการทำแผนที่แบบตะวันตกในประเทศไทยได้เริ่มตั้งแต่ นายแมคคาร์ที เข้ารับราชการไทย

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2425 นายแมคคาร์ทีได้รับคำสั่งให้ไปสำรวจทำแผนที่บริเวณลุ่ม แม่น้ำตืน ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำปิง บริเวณ ต้นแม่น้ำตืนเป็นป่าไม้สักหนาแน่น ได้มีกรณี พิพาทเรื่องเขตระหว่างเชียงใหม่กับระแหง เกี่ยวกับ สิทธิการเก็บภาษีอากร เสร็จงานทำแผนที่รายนี้ แล้ว ก็ต้องไปทำแผนที่กำหนดเขตแดนระหว่าง รามัญ (มณฑลปัตตานี) กับเปรัค (อาณานิคมของ อังกฤษ) ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน พ.ศ. 2426เวลานั้น ได้รับรายงานมีการก่อการไม่สงบจากพวกฮ่อ ในภูมิภาคทางตะวันออกเฉียงเหนือ ทางราชการเห็นเป็นการสมควรที่จะต้อง มีการสำรวจทำแผนที่บริเวณที่เกิดความไม่สงบ

ในการไปทำงานแผนที่ครั้งนี้ มีนายเจ. บุช (J.Bush) และช่างแผนที่ไทย 7 นาย เป็นกองทำแผนที่ และทางราชการได้จัดกองทหาร 200 คน มีนายลีโอโนเวนส์ (Leonovens) เป็นผู้บังคับบัญชาควบคุมไปด้วย ทั้งคณะได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2426 โดย ทางเรือ ถึงสระบุรีแล้วเดินทางทางบกต่อไปถึง นครราชสีมา และเดินทางต่อไปผ่านพิมาย ภูไทสง และกุมภวาปีไปถึงหนองคายริมฝั่งแม่น้ำโขง จาก หนองคาย ให้นายบุชเดินทางต่อไปยังหลวงพระบาง

ส่วน นายแมคคาร์ทีเดินทางต่อไปยังเวียงจันทน์ ก่อน แล้วต่อไปยังเชียงขวาง ผ่านเมืองฝาง และเมืองจัน แล้วจึงล่องตามลำน้ำจัน มาออกแม่น้ำโขง กลับมายังหนองคายอีก แล้วเดินทางต่อไปถึงหลวงพระบาง ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2426ได้กำหนดการไว้ว่า จะอยู่ทำงานที่บริเวณนี้ในระหว่างฤดูฝน แต่นายบุชได้ล้มป่วยลงและได้ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่29 มิถุนายน พ.ศ. 2426 เนื่องจาก ไข้พิษ ดังนั้นต้นเดือนกรกฎาคม นายแมคคาร์ทีจึงได้ยกกองกลับกรุงเทพฯ

ภายหลังจากนั้นกองแผนที่ไทยได้นายดี.เจ. คอลลินส์ (D.J.Collins) ช่างแผนที่จากสถาบัน การแผนที่อินเดียเข้ามารับราชการไทย เมื่อวันที่ 19ตุลาคม พ.ศ. 2426 ซึ่งเหมาะกับเวลาที่ จะยกกองออกไปภาคเหนือ พระวิภาคภูวดลจึงได้ยกกองออกเดินทาง ในเดือนพฤศจิกายน มีนายคอลลินส์ไปด้วย และมีหน่วยทหารคุ้มกัน ซึ่งมีนายเรือโทรอสมุสเซน (Rosmussen) เป็นผู้บังคับบัญชาทหารเรือ 30 คน เดินทางทางเรือ ผ่านชัยนาท นครสวรรค์ไปถึงอุตรดิตถ์แล้วเดินทาง ทางบกถึงน่าน

จากน่านไปหลวงพระบาง ได้แยกกองออก เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งนำโดยนายคอลลินส์ และ นายเรือโทรอสมุสเซน ไปทางบก อีกกลุ่มหนึ่ง นำโดยพระวิภาคภูวดล ไปทางท่านุ่น แล้วเดินทางทางน้ำไปบรรจบกันที่หลวงพระบาง

กลุ่มพระวิภาคภูวดลได้ผ่านเมืองจุก (หงสาวดี) มีทุ่งพื้นราบยาวประมาณ 6x10 ไมล์ ล้อมรอบด้วยภูเขา มีภูเขาไฟ 2 ลูก โผล่ให้เห็น ชื่อ ภูไฟใหญ่ และภูไฟน้อย เมื่อเดินทางต่อไปถึงท่านุ่น ริมแม่น้ำโขง กลุ่มของพระวิภาคภูวดลได้เดินทางทางน้ำไปพบ กันกับอีกกลุ่มหนึ่งที่หลวงพระบาง จากหลวงพระบาง กองแผนที่ได้เดินทางต่อไปยังทุ่งเชียงคำ ซึ่งเป็นที่ตั้งกองทหารไทย กำลังทำการปราบพวก ก่อการร้ายฮ่อ เมื่อเสร็จธุรกิจกับข้าหลวงที่กำลัง ทำการปราบฮ่อ ได้ยกกองทำแผนที่ไปที่หลวงพระบาง และทำการบุกเบิกสำรวจและทำแผนที่ ภูมิประเทศบริเวณเหนือของแม่น้ำโขง และตะวันออกของหลวงพระบาง แล้วยกกองกลับกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2427

ต่อมาทรงสถาปนากรมแผนที่ เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2428 ภายหลังตั้งกรม พระวิภาคภูวดลได้ขึ้นไปภาคเหนืออีกสองครั้ง เพื่อทำแผนที่ให้แก่กองทัพ ครั้งสุดท้ายไปที่เมืองเทิง ซึ่งอยู่ทางเหนือ ของหลวงพระบาง และเวลานั้น เป็นที่ตั้งกองทัพของพระยาสุรศักดิ์มนตรี (ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยา) และได้กลับกรุงเทพฯ ปลาย พ.ศ. 2429 ปีต่อมารัฐบาลไทยได้ทำสัญญากับบริษัท พูชาร์ด (Puchard) ให้สำรวจแนวทางสำหรับสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่ พระวิภาคภูวดลได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนรัฐบาล ติดตามช่างของบริษัทที่ทำการนี้ด้วย

ใน พ.ศ. 2433 มีงานแผนที่สำคัญที่ ต้องทำ เป็นงานสำรวจทำแผนที่กำหนดเขตแดน ระหว่างไทยกับพม่า ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ได้มีการเริ่มทำแผนที่สามเหลี่ยมบริเวณภาค เหนือ ตั้งต้นที่เชียงใหม่ วัดโยงยึดติดต่อกับโครงข่ายการสามเหลี่ยมภาคตะวันออก ของสถาบันการแผนที่อินเดีย มีการวัดเส้นฐานที่ทุ่งนาเมือง เชียงใหม่ (และมีการทำแผนที่ด้วยโซ่และเข็มทิศ ในบางภาค ของมณฑลพายัพด้วย) โดยตั้งต้นที่เชียงขวาง ไปถึงหลวงพระบาง วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2435 หลวงเทศาจิตวิจารณ์ (ภายหลังเป็น พระยามหาอำมาตย์) ได้รับคำสั่งให้กลับกรุงเทพฯ เนื่องจากได้มีการปรับปรุงระเบียบบริหาร มีการตั้ง กระทรวง และทางราชการได้ให้ไปรับตำแหน่ง ทางกระทรวงมหาดไทย

งานแผนที่สามเหลี่ยม ได้ดำเนินไปจนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2436 พระวิภาคภูวดลได้รับคำสั่ง ได้ยกกองกลับกรุงเทพฯ เนื่องจากได้เกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ทางฝ่าย ฝรั่งเศสยึดเอาดินแดนซึ่งกองแผนที่ได้สำรวจไว้ แล้วทางเหนือและตะวันออกของแม่น้ำโขง พระวิภาคภูวดลได้ยกกองกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2436 (ข้อมูลในส่วนการทำแผนที่นี้ ผู้เขียนได้จาก ประวัติการทำแผนที่ประเทศไทย สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่12 / เรื่องที่ 10 แผนที่ / ประวัติการทำแผนที่ประเทศไทย)

จากกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2436 นี่เองที่ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับมาตราที่หนึ่งในร่างพระราชกฤษฎีกาฯที่ต้องการกำหนดอาณาเขตพื้นที่ ซึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2436 สยามก็มีปัญหาเกี่ยวกับดินแดนตลอดรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และนี่ก็น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ไม่สามารถประกาศใช้ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ในฐานะที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย

แต่ที่กล่าวมานี้ ก็เป็นเพียงสมมุติฐานของผู้เขียนเกี่ยวกับการทำแผนที่และรัฐธรรมนูญ (ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ) และมองว่า ความพยายามในการทำแผนที่และรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของ “พระราชารักษาเมือง”

การทำแผนที่ประเทศกับการร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม (ตอนที่สอง)

ขณะเดียวกัน ก็มีนักวิชาการท่านอื่นที่ศึกษาเรื่องการทำแผนที่ในช่วงเวลานั้นอย่างจริงจังมาแล้ว เช่น Siam Mapped, a history of the Geo-body of a Nation (กำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ) ของ ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ซึ่งก็ให้มุมมองอีกมุมหนึ่งที่น่าสนใจต่อการทำแผนที่ในสมัยรัชกาลที่ห้า ซึ่งผู้เขียนจักได้หยิบยกมานำเสนอไปตอนต่อไป