posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สาม)

15 มีนาคม 2564

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร           

*********************

ญี่ปุ่นเคยขับไล่ฝรั่งออกไปจากประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2182 (ค.ศ. 1639)  และ 260 ปีหลังจากนั้น ฝรั่งก็กลับเข้ามาอีก โดยในปี พ.ศ. 2396 นายพลเรือชาวอเมริกัน แมทธิว ซี. เพร์รี มาพร้อมกับเรือปืนและบังคับให้ญี่ปุ่นต้องเปิดประเทศเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำให้ญี่ปุ่นจำต้องทำสนธิสัญญาที่เสียเปรียบและต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งไทยเราก็ต้องอยู่ในสภาพเช่นเดียวกันนี้หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในปี พ.ศ. 2398

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สาม)

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สาม)

ที่จริง พวกฝรั่งนี่ก็แปลก อ้างว่ามาติดต่อด้วยนโยบายการค้าเสรี แต่ทำไมต้องเอาเรือปืนมาบังคับข่มขู่ด้วย ?!

จากสภาพการณ์ดังกล่าว ทำให้ญี่ปุ่นต้องเรียนรู้แนวทางปฏิบัติทางการทูตและกิจการระหว่างประเทศโดยทั่วไป และเรียนรู้เข้าใจวัฒนธรรมตะวันตกและที่สำคัญคือ การเรียนรู้เกี่ยวกับสถานะศักยภาพของประเทศของตน และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่ญี่ปุ่นได้ปฏิรูปการปกครองจากที่อำนาจอยู่ที่โชกุนมาหลายร้อยปีกลับมาสู่จักรพรรดิอีกครั้งหนึ่งโดยการสนับสนุนของบรรดาซามูไรระดับกลางและระดับล่างและรวมทั้งพ่อค้านายทุนด้วย  การปฏิรูปดังกล่าวรู้จักกันดีในนามของการปฏิรูปเมจิ

จากเงื่อนไขความจำเป็นในการรับมือกับอิทธิพลของชาติตะวันตกที่จำต้องเรียนรู้แนวทางปฏิบัติทางการทูตของตะวันตก ทำให้ผู้นำยุคเมจิตอนต้นได้ส่งคณะทูตที่นำโดยอิวะกุระ โตโมมิเดินทางไปดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1871-1873 (พ.ศ. 2414-2416)

ส่วนของไทยเรานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คณะทูตไทยเดินทางไปอังกฤษเป็นคณะแรกในปี พ.ศ. 2400  นำโดยพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นราชทูตและทรงโปรดเกล้าฯให้หม่อมราโชทัย หรือหม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร ราชเลขานุการในพระองค์เป็นล่ามหลวงในคณะทูตคณะแรกของสยามที่เดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับอังกฤษ ซึ่งเรามักคุ้นชื่อหม่อมราโชทัยกว่าพระยามนตรีสุริยวงศ์ เพราะคุ้นหูกับข้อเขียนนิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัย อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯส่งคนไทยสองคนเดินทางร่วมไปกับคณะทูตเพื่อไปศึกษาที่อังกฤษ  สองคนที่ว่านี้คือ ทด บุนนาค บุตรพระยามนตรีสุริยวงศ์ และเทศ บุนนาค บุตรสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)  แต่ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลกลใด เมื่อคณะทูตเดินทางกลับ ทดและเทศก็เดินทางกลับมาด้วย ตกลงเลยไม่ได้เรียน                                                                

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สาม)

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สาม)

ดังนั้น พระยามนตรีสุริยวงศ์จึงเทียบได้กับอิวะกุระ โตโมมิ ในฐานะที่เป็นผู้นำคณะทูตจากประเทศของตนเดินทางไปประเทศฝรั่ง  ตอนที่พระยามนตรีสุริยวงศ์เดินทางไปนั้นอายุ 37 ส่วนอิวะกุระ โตโมมิอายุได้ 46   พระยามนตรีสุริยวงศ์น่าจะมีความรู้เกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองของฝรั่งอยู่บ้าง เพราะจากบัญชีรายชื่อผู้ซื้อหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ ก็ปรากฏชื่อของท่านอยู่ และหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ที่ชื่อ“บางกอกรีกอเดอ (The Bangkok Recorder) มักจะตีพิมพ์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษและอเมริกาอยู่เนืองๆ เช่น สงครามกลางเมืองในอังกฤษ ระบอบการปกครองของสหรัฐอเมริกาที่มีประธานาธิบดี เป็นต้น  ส่วนในทางภาษาพระยามนตรีสุริยวงศ์ก็ต้องอาศัยหม่อมราโชทัยเป็นล่าม 

            

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สาม)

หม่อมราโชทัยได้เรียนภาษาอังกฤษ เพราะเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯในครั้งที่ยังทรงเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวช หม่อมราโชทัยได้ตามเสด็จไปบวชรับใช้ ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงสนพระราชหฤทัยในภาษาอังกฤษ หม่อมราชวงศ์กระต่ายก็ได้ศึกษาตามพระราชนิยม โดยมีมิชชันนารีที่เข้ามาสอนศาสนาเป็นผู้สอน จนได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษดี จนเจ้าฟ้ามงกุฎทรงใช้ให้เป็นตัวแทนเชิญกระแสรับสั่งไปพูดจากับชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี

ในขณะที่ไทยส่งคนไปเรียนอังกฤษครั้งแรกในปี พ.ศ. 2400 แต่ไม่ได้เรียน  ญี่ปุ่นได้ส่งคนไปเรียนต่างประเทศแล้ว ก่อนที่จะส่งคณะทูตไปในปี พ.ศ. 2414   นั่นคือ นิฌิ อะมะเนะ ที่ผู้เขียนเคยกล่าวไปในตอนก่อนๆแล้ว และรวมทั้ง ท์ซุดะ มะมิชิ (Tsuda Mamichi) ทั้งสองเดินทางไปศึกษาต่อที่เนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ. 2405 โดยรัฐบาลเมจิได้ให้นิฌิ อะมะเนะไปศึกษาทางรัฐศาสตร์และกฎหมาย และหลังจากจบจากเนเธอร์แลนด์ก็ไปต่อที่ฝรั่งเศสด้วย  แม้ว่าผู้เขียนจะหาข้อมูลเกี่ยวกับความรู้ทางภาษาอังกฤษและพื้นฐานความรู้ด้านการเมืองการปกครองของเขาไม่ได้ แต่เข้าใจว่าน่ารับรู้ผ่านคนญี่ปุ่นที่ไปศึกษาต่างประเทศและกลับมา  หลังจากกลับจากการเดินทาง อิวะกุระ โตโมมิในฐานะที่เป็นผู้นำรุ่นหนุ่มคนหนึ่งของรัฐบาลเมจิ และเพื่อนร่วมงานของเขาตระหนักดีถึงความจำเป็นที่ต้องโน้มน้าวให้คนญี่ปุ่นเลิกมีความรู้สึกที่เป็นอคติต่อต้านชาวต่างชาติ เพราะอิวะกุระและคณะของเขารู้ดีว่าหากคนญี่ปุ่นต่อต้านตะวันตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา ย่อมจะส่งผลกระทบต่อเอกราชของประเทศและความอยู่รอดของจักรพรรดิและรัฐบาล

ส่วนของไทยเรานั้น  หลังจากหม่อมราโชทัยได้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่กับคณะทูต ได้เขียนรายงานถวายแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เล่าว่า คณะทูตไทยได้เข้าไปในที่ประชุมรัฐสภาอังกฤษในพระราชพิธีเปิดรัฐสภา โดยหม่อมราโชทัยใช้คำว่า “ที่ว่าราชการ ชื่อปาลิเมนต์” และหม่อมราโชทัยน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐสภาและพระมหากษัตริย์อังกฤษ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็น่าจะทรงได้รับรู้เรื่องดังกล่าวผ่านการถวายรายงานโดยหม่อมราโชทัย

นอกจากนี้ในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังปรากฏข้อความที่อาจช่วยยืนยันองค์ความรู้เกี่ยวกับกลไกและสถาบันทางการเมืองในระบอบการเมืองในโลกตะวันตกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจน โดยในปี พ.ศ. 2408  ทรงมีพระราชสาส์นไปถึงสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียมีความตอนหนึ่งว่า  “...เชื่อว่าปาลิยาแมน (รัฐสภา) ในนอกแลอินเตอรนาแชนนาลลอสอไสยิตี้ จะคิดการแลพิพากษาสิ่งใดก็ล้วนเป็นยุติธรรมดี ทุกประการ...”

ข้อความดังกล่าวย่อมสะท้อนว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าใจเป็นอย่างดีถึงกลไกการทํางานและความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และรัฐสภาอังกฤษในขณะนั้น (ค.ศ. 1865) ที่ซึ่งพระมหากษัตริย์อังกฤษคือสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียทํางานและใช้อํานาจร่วมกันกับเหล่าเสนาบดีในสถาบันทางการเมืองที่เรียกว่ารัฐสภาหรือ “ปาลิยาแมน” (Parliament) โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวคือการปกครองที่เรียกว่าเป็น Queen/King-in-Parliament ที่ซึ่งพระมหากษัตริย์กับรัฐสภาใช้อํานาจในการตัดสินใจต่าง ๆในแต่ละขั้นตอน  นอกจากนี้ข้อความดังกล่าวยังสะท้อนว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประเมินสถานะและความมั่นคงอันเกิดขึ้นจากการจัดการปกครอง ตามลักษณะ ดังกล่าวของอังกฤษที่ได้ผ่านยุคส่องสว่างทางปัญญาหรือ ยุคภูมิธรรม (The Enlightenment) ว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่มี ความลงตัวและก่อให้เกิดเสถียรภาพมาช้านานแล้วอีกด้วย อีกทั้งยังสอดคล้องกับข้อสังเกตของพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อการปกครองของอังกฤษเมื่อครั้งที่ทรงเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่หนึ่งในอีก 33 ปีต่อมา

ในส่วนของญี่ปุ่น พบว่าได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2432  ที่รู้จักกันในนามของรัฐธรรมนูญเมจิ ซึ่งมีทั้งหมด 76 มาตรา ญี่ปุ่นประกาศใช้รัฐธรรมนูญนับเป็นเวลา 18 ปีหลังจากส่งคณะทูตไปสหรัฐอเมริกาและยุโรป และเป็นเวลา 27 ปีหลังจากส่งนิฌิ อะมะเนะไปเรียนทางรัฐศาสตร์และกฎหมาย ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญเมจิคือ อิโตะ ฮิโรบูมิ (Ito Hirobumi) ซามูไรที่ได้มีโอกาสไปศีกษาที่ ยูวิเวอร์ซิตี้ คอลเลจเลจ หรือที่รู้จักกันในคำย่อ UCL  ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2406) อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐบาลได้ส่งนิฌิ อะมะเนะไปศึกษาทางรัฐศาสตร์และกฎหมายที่เนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2405

ในฐานะประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ อิโตะ ฮิโรบูมิ ได้ศึกษาค้นคว้ารัฐธรรมนูญประเทศตะวันตกต่างๆเพื่อเป็นตัวแบบในการร่าง และพบว่า รัฐธรรมนูญอเมริกันก็เสรีเกินไปสำหรับญี่ปุ่น ส่วนของสเปนก็เป็นเผด็จการเกินไป ที่พอจะสอดคล้องและเป็นไปได้สำหรับญี่ปุ่นคือ ของอังกฤษและเยอรมันหรือปรัสเซียในขณะนั้น แต่แน่นอนว่า ถ้าจะใช้รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ก็ต้องตามแนวรัฐธรรมนูญของปรัสเซียที่เพิ่งเริ่มใช้มาในปี ค.ศ. 1850 (พ.ศ. 2393)

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สาม)

วนของไทยเรา ได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาที่หนึ่งว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม ที่สันนิษฐานว่า จัดทำขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2428-2436 ที่อาจารย์วิษณุ เครืองามท่านเห็นว่าร่างฯดังกล่าวนี้มีสถานะเทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญ มีทั้งสิ้น 20 มาตรา และอาจารย์วิษณุท่านสันนิษฐานว่า ผู้มีบทบาทสำคัญในการยกร่างพระราชกฤษฎีกาที่หนึ่งนี้คือ สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศในขณะนั้น  แต่ก็ไม่ได้มีการประกาศใช้

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สาม)

ตามพระประวัติ แม้พระองค์จะไม่ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ความรู้ภาษาอังกฤษที่พระองค์ทรงศึกษาที่โรงเรียนหลวงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นภายในกรมทหารมหาดเล็ก ในพระบรมมหาราชวังก็นับว่าดีเยี่ยม และทรงมีความรู้ในทางปรัชญากรีกโบราณ ด้วยพระองค์ทรงเป็นคนไทยพระองค์แรกที่แปลข้อเขียนของเพลโต เรื่องว่าด้วยมิตรหรือเพื่อน (Lysis) [ตีพิมพ์ในวชิรญาณวิเศษ เล่ม 3 พ.ศ. 2431 ผู้สนใจสามารถดูได้จาก http://www.library.polsci.chula.ac.th/journal2_issue/25/ )

ดังนั้น เมื่อเทียบการปฏิรูปทางการเมืองการปกครองของไทยกับญี่ปุ่นในส่วนนี้ จะพบว่าของเรามีความล่าช้าในเรื่องการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ   และการมีรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง

ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่า ปัญหาการที่ไทยไม่สามารถประกาศใช้ร่างพระราชกฤษฎีกาฯดังกล่าวสืบเนื่องมาจากปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับอาณาเขตของประเทศที่ไม่ลงตัว และเกิดเหตุการณ์สงครามกับฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2436  เพราะมาตราที่หนึ่งของร่างฯกล่าวถึงขอบเขตการปกครองของดินแดนภายใต้พระราชอำนาจการปกครองของพระเจ้ากรุงสยาม แต่ญี่ปุ่นไม่มีปัญหาดังกล่าวนี้รุนแรงเหมือนของไทย เพราะอยู่ในสภาพของการเป็นเกาะ

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่สาม)

และที่น่าสังเกตคือ คนไทยเริ่มรู้ใช้คำว่า คอนสติติวชั่น ทับศัพท์ในต้นรัชกาลที่ห้า และอีกหลายปีต่อมา ค่อยมาบัญญัติคำไทยว่า รัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญเมจิที่ประกาศใช้ปี พ.ศ. 2432 นั้น คำว่า รัฐธรรมนูญเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวคันจิว่า ?? และอ่านออกเสียงว่า เคน โป ที่มีความหมายว่า กฎหมาย และ หลักการ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ภาษาญี่ปุ่นมีรากมาจากภาษาจีนอีกทีหนึ่ง  ซึ่งหมายความว่า การที่ภาษาญี่ปุ่นสามารถรองรับศัพท์ฝรั่งได้ ( เพราะมีรากจากภาษาจีนที่รุ่มรวยความหมาย ทำให้คิดสงสัยต่อไปเล่นๆได้ว่า ความเจริญงอกงามทางปัญญามันเกี่ยวกับรากฐานทางภาษาของชาตินั้นๆด้วย

(ผู้เขียนใช้หนังสือสามเล่มในการเขียนบทความนี้ หนึ่ง นโยบายต่างประเทศญี่ปุ่น: ความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่อง ของ ศ. กิตติคุณ ดร. ไชยวัฒน์ค้ำชู [ผู้สอนวิชาการเมืองญี่ปุ่นให้ผู้เขียน)  สองประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ของ รศ.ดร. สุรางค์ศรี ตันเสียงสม และ Postmodern in Japan ของผู้เขียนเอง)