posttoday

นักการเมืองยังจะพัฒนาได้อีกไหม(3)

06 มีนาคม 2564

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

******************

ทีนี้ก็ถึงคิวของนักการเมืองที่ผู้เขียนเคารพรักอย่างยิ่ง ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ผู้เขียนขอสารภาพว่าได้คุยการเมืองกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์น้อยมาก แม้จะกินนอนอยู่ที่บ้านสวนพลูกว่า 10 ปี ในช่วงที่ทำงานเป็นเลขานุการของท่านในช่วง พ.ศ. 2520 - 2531ความรู้ทางด้านการเมืองที่เอามาเล่ามาเขียนนี้ส่วนใหญ่เป็นแบบ “ครูพักลักจำ” คือต้องคอยสังเกตและเรียนรู้เอาเอง รวมถึงติดตามงานเขียนและฟังคำบรรยายตามที่ต่าง ๆ ของท่าน แล้วก็นำมาปะติดปะต่อให้เป็นความรู้ความเข้าใจเอาเอง (ผู้เขียนเคยเรียบเรียงเอามาเขียนเป็นเรื่องเป็นราวอย่างยาวเหยียดถึง 200 กว่าตอนในหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ในชื่อบทความว่า “คึกฤทธิ์วิทยายุทธ์” ที่เพิ่งจะจบไปเมื่อปีก่อน)

จะมีบ้างที่คุยเป็นเรื่องเป็นราวก็ตอนที่ผู้เขียนได้มาทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แล้ว โดยใน พ.ศ.2536 ผู้เขียนได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยให้ทำโครงการวิจัยเรื่อง “การเมืองไทยจากคำบอกเล่าของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” ซึ่งสัมภาษณ์ไปได้ไม่กี่เทป ท่านก็ต้องเข้าโรงพยาบาล (คือท่านไปผ่าตัดหัวใจที่สหรัฐอเมริกาในปลายปี 2530 จึงมีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงนัก เข้าออกโรงพยาบาลอยู่เป็นระยะ จนถึงต้นปี 2538 ก็เข้าไปนอนที่ห้องไอซียู กระทั่งวันที่ 9 ตุลาคมปีนั้นท่านก็ถึงแก่อนิจกรรม)

งานวิจัยดังกล่าวจึงยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็มีเนื้อหาที่มีประโยชน์หลายเรื่อง และเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งผู้เขียนนำมาเสนอในบทความนี้ก็คือ เรื่องที่เกี่ยวกับ “คุณภาพของนักการเมือง” ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้กล่าวถึงไว้พอสมควร

ท่านได้เล่าเรื่องการเมืองไทยตั้งแต่ครั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 ว่า ชนชั้นปกครองในสมัยนั้นเป็นพวกที่ “น่าเบื่อมาก” ซึ่งก็คงจะเป็นเพราะความเป็นเด็กที่ท่านเติบโตมาท่ามกลางเหล่าขุนนางที่ล้วนเป็นคนเฒ่าคนแก่น่ากลัว โดยที่ขุนนางเหล่านี้ส่วนใหญ่จะ “วางก้าม” คือแสดงความยิ่งใหญ่น่ากลัวเหล่านั้น ในทำนอง “อวดบารมี” ทำให้ท่านมีความรู้สึกฝังใจ แม้จะไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษในตอนที่เป็นวัยรุ่นแล้ว ก็ยังมีความรู้สึกว่าขุนนางเหล่านี้มีความน่าเกลียดน่ากลัวเป็นที่สุด ดังนั้นเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่24 มิถุนายน 2475 ท่านจึงมีความรู้สึก “โล่งใจ” ที่จะได้พ้นความกลัวนั้นเสีย ด้วยหวังว่าพวกขุนนางที่น่าเกลียดน่ากลัวเหล่านั้นคงจะถูกกำจัดให้หมดไป ด้วยฝีมือของผู้ปกครองยุคใหม่ที่เรียกว่า “คณะราษฎร”

เมื่อท่านกลับมาเมืองไทยใน พ.ศ. 2476 และเข้ารับราชการในกระทรวงการคลัง ท่านจึงได้เห็นว่าระบบราชการไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ยังคงแข่งบุญแข่งวาสนากันเป็นปกติ ยิ่งเป็นผู้บริหารที่มาจากคณะราษฎรด้วยแล้วก็ยิ่งแสดงอำนาจบาตรใหญ่ให้ผู้คนเกรงกลัวกันมากยิ่งขึ้น รวมถึงตัวคณะราษฎรเองก็ทั้งหวงและ “บ้าอำนาจ” รวบอำนาจไว้ที่คณะของตนทั้งหมด ไม่ให้มีคณะการเมือง(ที่ต่อมาเรียกว่าพรรคการเมือง)ขึ้นมาแข่งขัน ทั้งยังอำนาจแบบน่ากลัวไม่น้อยไปกว่า “เจ้าพวกเดิม” ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงเรียกคณะราษฎรนี้ว่า “เจ้าพวกใหม่”

หลังสงครามโลกครั้งที่2 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช พี่ชายของท่านในฐานะหัวหน้าคณะเสรีไทยในต่างประเทศ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ช่วงสั้น ๆ และได้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือฉบับ พ.ศ. 2489 ที่ให้มีพรรคการเมืองขึ้นได้ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงตั้งพรรคการเมืองชื่อพรรคก้าวหน้า ที่ถือว่าเป็นพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญพรรคแรกของประเทศไทย แต่ภายหลังการเลือกตั้งในปี 2489 นั้น พรรคการเมืองในกลุ่มที่สนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ รวมตัวกันเป็นเสียงข้างมากได้จัดตั้งรัฐบาล และให้นายปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงร่วมกับนายควง อภัยวงศ์ และ ส.ส.อีกจำนวนหนึ่ง มารวมตัวกันให้เป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่ขึ้น แล้วจัดตั้งเป็นพรรคชื่อว่า “พรรคประชาธิปัตย์” โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์รับตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคนแรก และถือว่าเป็นนักการเมืองที่อายุยังหนุ่มมาก ๆ คืออายุเพียง 35 ปีเท่านั้น

ท่านเล่าให้ฟังในการสัมภาษณ์ว่า สภาพของนักการเมืองไทยในยุคนั้น “ดูดีมาก” คือมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เคารพกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงการแต่งกายก็ “โก้หรู” สวยงาม แบบว่าฝรั่งหรู ๆ เขาแต่งอย่างไร นักการเมืองไทยก็แต่งได้อย่างนั้น แต่ว่าการอภิปรายในสภาก็ยังดู “เด๋อ ๆ ด๋า ๆ” โดยที่ตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เองก็พยายามที่จะให้คำแนะนำกับเพื่อน ส.ส.บางท่านในเวลาที่จะขึ้นอภิปราย ในฐานะที่ท่านได้มีประสบการณ์มาบ้างจากที่ได้เห็นสมาชิกรัฐสภาในอังกฤษเขาอภิปรายกัน แต่ก็มีเพียงบางคนที่พอจะได้เรื่องได้ราว เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่ในยุคแรก ๆ ไม่ค่อยกล้าที่จะอภิปรายอะไร ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นด้วยการขาดความมั่นใจในการพูด และอีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นด้วยวัฒนธรรมไทยที่หลาย ๆ คนยังต้องฟังคำสั่งจาก “ผู้เป็นใหญ่” ไม่ค่อยกล้าที่จะพูดถ้าไม่มีการมอบหมายหรือสั่งการให้ทำ สภาในยุคแรกจึงดูเรียบร้อยดีมาก

สภาเริ่มมีสภาพที่ “ดุเดือด” ก็ในตอนที่มีผู้เสนอญัตติเรื่องการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 เข้าไปไปในการประชุม โดยมีสภาพของการอภิปรายตอบโต้กันอย่างรุนแรง ร่วมกับการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ที่ใช้กรณีนี้ปั่นยอดขาย ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ที่ทำให้นักการเมืองในกลุ่มของนายปรีดีหมดอำนาจไป

แต่การขึ้นมามีอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงครามในรอบใหม่ดูจะมีความรอมชอมกับนักการเมืองในสภามากขึ้น ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 ให้มีการขยายสิทธิเสรีภาพให้มากขึ้น รวมถึงที่ตัวนายกรัฐมนตรีก็ดูจะลดความเป็นเผด็จการลงไปมาก แต่ตัวท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เองต้องลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. เพราะได้อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือน ส.ส. ซึ่งเป็นข่าวฮือฮามาก คือภายหลังจากที่ท่านลาออกแล้วก็ได้มีชาวบ้านเอาทองมาขอปิดที่แขนของท่าน เพื่อแสดงความนับถือที่ได้แสดงวีรกรรมดังกล่าว

“การเมืองไทยน่าจะดีขึ้น ถ้าทหารไม่เข้ามายุ่งมาก” ก่อนที่ท่านจะเล่าเรื่องการเมืองในช่วงท้ายของสมัยปกครองของจอมพล ป. อันนำมาสู่ยุค “นายทุนขุนศึก” ในช่วงของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมามีอำนาจสืบต่อ ซึ่งจะขอนำเสนอในสัปดาห์หน้าครับ

*******************************