posttoday

ประชาธิปไตยกับโควิด 19

04 มีนาคม 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

************

ในทุกต้นปี สำนักข่าวฝรั่งแห่งหนึ่งจะออกรายงานประจำปีซึ่งเป็นการสำรวจความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในปี 2564 ก็เช่นกัน สำนักข่าวแห่งนี้เพิ่งออกรายงานสำรวจสถานภาพความเป็นประชาธิปไตยในปี 2563 ของ 165 ประเทศทั่วโลก) โดยพิจารณาจากคุณสมบัติ 5 ประการ คือ 1.กระบวนการเลือกตั้ง 2.สิทธิเสรีภาพ 3.การบริหารงานของรัฐบาล 4.การมีส่วนร่วมทางการเมือง 5.วัฒนธรรมทางการเมือง

ประเทศใดประเทศหนึ่งจะถูกจัดเข้าหนึ่งในสี่ประเภทนี้คือ (1) ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ (2) ประชาธิปไตยมีตำหนิ (3) ประชาธิปไตยพันทาง (4) เผด็จการ

ประเทศที่ถูกจัดให้มีประชาธิปไตยมากที่สุดหรืออยุ่ในประเภทหนึ่ง ห้าอันดับแรกเรียงตามลำดับ แต่คะแนนสูสีกันมาก คือ เข้าประเภทแรก คือ นอร์เวย์ ไอซแลนด์ สวีเดน นิวซีแลนด์ และแคนาดา ซึ่งประเทศนี้ได้ลำดับต้นๆ ไปครองทุกปีโดยไม่เป็นที่สงสัยของประเทศอื่น

ส่วนประเทศที่เป็นประชาธิปไตยน้อยที่สุดห้าอันดับสุดท้าย คือ ชาด ซีเรีย สาธารณะรัฐอัฟริกา สาธารณะรัฐคองโก และเกาหลีเหนือ ซึ่งก็ครองลำดับท้ายๆทุกปีด้วยคะแนนต่ำสุดสูสีกัน และไม่มีใครสงสัย

สำหรับประเทศไทย เขาจัดให้อยู่ในประเภท “ประชาธิปไตยมีตำหนิ” ซึ่งคงเป็นเพราะฝรั่งมองว่า ทหารสืบทอดอำนาจก็เป็นได้ แม้จะผ่านกระบวนการเลือกตั้งและสรรหาตามรัฐธรรมนูญมาแล้วก็ตาม นี่ก็เป็นวิธีคิดของฝรั่งที่ทำรายงาน

นี่เป็นวิธีคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยในมุมมองของฝรั่ง แม้แต่ฝรั่งด้วยกันเอง บางครั้งยังตั้งข้อสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับประชาธิปไตยที่คนต้นคิดบอกว่า ประชาธิปไตยจะทำให้ชีวิตคนดีขึ้น รวยขึ้น กำจัดทุจริตคอรัปชั่น หยุดสงคราม แต่ที่ผ่านมา ประชาธิปไตยมักแสดงความอ่อนแอ ล้มเหลว ทำผิดทำถูกวุ่นวายไปหมดโดยเฉพาะในประเทศประชาธิปไตยใหม่ มีการใช้อำนาจที่ได้มาจากการเลือกตั้งกองโกยหาประโยชน์ในหมู่นักการเมือง ครอบครัว เกิดการทุจริตคอรัปชั่นอย่างมโหฬาร ประชาธิปไตยดูอ่อนแรง แต่ทำไมประเทศจีนที่ฝรั่งมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ถึงเจริญเอา ๆ แม้แต่เวียตนาม

ในรายงานฉบับนี้ได้กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปี 2563 มีผลกระทบต่อประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ ( ซึ่งเจอกับพิษโควิดกันแทบทั้งนั้น ) จากมาตรการบังคับล็อคดาวน์ ห้ามคนออกนอกบ้านในห้วงเวลาหนึ่ง จำกัดสิทธิในการชุมนุม การเดินทาง เสรีภาพในการดื่ม กิน เลี้ยง ปิดกิจการบางแห่ง เช่น สนามกีฬา แข่งได้แต่ห้ามคนไปดู ปิดโรงเรียน ปิดสถานบันเทิง แน่นอน ในสายตาของนักประชาธิปไตย มาตรการเหล่านี้ย่อมกระทบต่อเสรีภาพส่วนบุคคล คนอเมริกันซึ่งคลังเสรีภาพมากที่สุดและไม่สนใจมาตรการป้องกัน ออกมาชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องเสรีภาพในการชุมนุม ฯลฯ ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคร้าย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนอเมริกันถึงติดโรคโควิด 19 มากที่สุดในโลก และตายมากที่สุดในโลก

ฝรั่งที่คลั่งสิทธิเสรีภาพบางคนตั้งคำถามว่า คนต้องตายเท่าไรถึงจะคุ้มกับการสูญเสียเสรีภาพ การสูญเสียเสรีภาพชั่วคราว กับ การสูญเสียชีวิต จุดคุ้มทุนอยู่ที่ตรงไหน ราคาที่จะต้องจ่ายให้กับเสรีภาพ คิดกันอย่างไร ฯลฯ เอาหลักเศรษฐศาสตร์มาใช้กับกรณีนี้ได้หรือไม่?

ในเมืองไทย มีคนกลุ่มเล็ก ๆ ออกมาเรียกร้องเสรีภาพแบบคนอเมริกัน เบื้องหลังก็คงต้องการวิจารณ์โจมตีรัฐบาลประยุทธ์ว่าจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ฯลฯ แต่โดนคนไทยด่าแบบไม่ยั้ง พวกนี้ก็เงียบไปตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แต่มองอีกมุมหนึ่ง คนไทยฉลาดกว่าที่ยอมถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการเป็นการชั่วคราว เพื่อให้มีชีวิตอยู่เพื่อใช้เสรีภาพตลอดไปจนกว่าจะตาย คุ้มกว่า

จะว่าคนไทยกลัวตายก็ได้ แต่คนไทยไม่โง่

เมื่อคนๆหนึ่งตาย เสรีภาพก็ถูกพรากไปด้วย แต่ถ้ามีชีวิตอยู่ ยังมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำอะไรตามที่ตนต้องการได้อีก ดังนั้น การยอมจำกัดเสรีภาพชั่วคราวเพื่อตนเองและเพื่อสังคม เพื่อจะใช้สิทธิเสรีภาพนั้นในช่วงที่เหลือของชีวิต นับว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

กลับมาที่ประชาธิปไตยเมืองไทย ทำให้คิดถึง “ประชาธิปไตยขยะ” ที่เสนอภาพให้เห็นชัดเจนว่า ประชาธิปไตย เป็น “ไฟท์ติ้งแบรนด์” ในตลาดการเมือง โดยเฉพาะในตลาดการเมืองไทย ที่แต่ละพรรคการเมืองพยายามฉวยโอกาสสร้างภาพตัวเองให้เป็นแบรนด์ประชาธิปไตยไว้ก่อน แม้ว่าตัวเองจะชั่วช้าสามานย์เพียงใดก็ตาม ต้องช่วงชิงภาพประชาธิปไตยมาไว้กับตัวเองให้ได้ และใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามให้เปรอะเปื้อนไปด้วยภาพของ “เผด็จการ” โดยเฉพาะทหารที่มาจากการยึดอำนาจ ไม่ว่าจะทำดีเพียงใด ช่วยชาติบ้านเมืองให้พ้นจากหายนะที่เกิดจากโกงกิน กัดแทะชาติบ้านเมือง ฯลฯ ก็ตาม ก็จะถูกเอาภาพเผด็จการมาแปะไว้ที่หน้าผาก เมื่อไม่มีนักการเมืองเผด็จการทหาร ก็หันมาป้ายสีกันเอง แย่งชิงแบรนด์ประชาธิปไตยเป็นของตนเองให้ได้ อย่างน้อยก็ขอให้ได้แชร์มากกว่าครึ่ง แล้วใส่ร้ายพรรคอื่นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

การเมืองไทยไม่เคยขาดนักการเมืองหน้าใหม่ที่เสนอ “สินค้าประชาธิปไตย” ในรูปลักษณ์แปลกใหม่โดนใจวัยรุ่น เป็นประชาธิปไตยเคลือบน้ำตาลให้ลูกค้าได้ลิ้มชิมรส ผ่านวิธีการโฆษณาแบบใหม่ที่รวดเร็วทันใจ เร้าใจ โดยอ้างว่าเป็นของสดใหม่ หน้าใหม่ ทั้งที่เป็นผลิตภัณท์เก่าเมื่อสิบกว่าปีมาแล้วแต่เอามาดัดแปลงโฉมใหม่ รูปรสกลิ่นเสียงใหม่ ผู้ผลิตสรรหา “วาทกรรม” ที่เร้าใจโดยลอกจากของฝรั่งมาหลอกคนหนุ่มสาว โดยไม่มีความคิดของตัวเองเลย ผู้บริโภคคนหนุ่มสาวก็ตื่นเต้นกับผลิตภัณท์ตัวใหม่ จนสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ เมื่อคนหนุ่มสาวเริ่มรู้ทัน ผู้ขายก็ต้องหาลูกค้ารุ่นใหม่ไปเรื่อย ๆ

เวลานี้ ผลิตภัณท์เก่าที่เคลือบน้ำตาล เอาแบรนด์ดังของฝรั่งเศสมาปะไว้บ้าง เอาของฝรั่งอเมริกันมาติดไว้บ้าง เอาภาพยนต์ฮอลลีวู๊ดทำสอดแทรกให้มีสีสันดูเร้าใจขึ้น เริ่มเสื่อม โดยเฉพาะขายได้น้อยลงมากในตลาดใหม่ เจ้าของสินค้าต้องจ้างบริษัทโฆษณาคิดหาวิธีการ รูปแบบใหม่ ๆ มาแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดที่กำลังจะเปิดใหม่ต่อไป

ใครจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม เมืองไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ใครที่คิดไม่ดีมักมีอันเป็นไปเสมอ (จบ)