posttoday

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดนปัจจุบันมาจากสามัญชนชาวฝรั่งเศส (ตอนจบ)

04 มีนาคม 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***************

รัฐสภาสวีเดนเลือกเบอร์นาดอตต์ นายพลชาวฝรั่งเศส ทหารคนสนิทของนโปเลียนให้เป็นมกุฎราชกุมารสวีเดน นโปเลียนไม่ปฏิเสธที่เบอร์นาดอตต์จะไปดำรงตำแหน่งดังกล่าว แต่เขาขอคำมั่นสัญญาจากเบอร์นาดอตต์ว่า จะไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อฝรั่งเศส และเบอร์นาดอตต์ก็ได้ตอบกลับไปว่า เขาจะทำในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของสวีเดน และนโปเลียนได้ตอบกลับไปเพียงว่า “ไปเถิด และให้เป็นไปตามโชคชะตาของเรา”

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1812 กองทัพฝรั่งเศสได้บุกไปยังพื้นที่พอมเมอเรเนีย (Pomerenia) และเกาะรูเกน (Rugen) ของสวีเดนทันที เหตุผลสำคัญคือ ก่อนฝรั่งเศสจะเคลื่อนทัพไปยังมอสโค นโปเลียนจะได้มั่นใจไม่ต้องระวังหลัง เพราะเขาไม่ไว้ใจสวีเดน และเพื่อจะทำการตัดไม้ข่มนามมกุฎราชกุมาร-ผู้สำเร็จราชการพระองค์ใหม่ของสวีเดน ซึ่งก็คือ เบอร์นาดอตต์ลูกน้องเก่าของเขาเอง เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เบอร์นาดอตต์ได้วางหมายกำหนดการเกี่ยวกับงานวันเกิดของพระองค์อยู่พอดีด้วย

การรุกรานสวีเดนของนโปเลียนส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเบอร์นาดอตต์เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การกระทำของนโปเลียนถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และทำให้สาธารณชนในสวีเดนไม่พอใจอย่างยิ่ง ยิ่งกว่านั้น ยังได้ก่อให้เกิดการเป็นปฏิปักษ์ต่อราชสำนักสวีเดนจากพวกที่นิยมฝรั่งเศสในสวีเดน เพราะคนเหล่านี้สนับสนุนให้สวีเดนเป็นสาธารณรัฐอย่างฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้เบอร์นาดอตต์หรือ “Karl Johan” จึงตัดสินใจประกาศให้สวีเดนเป็นกลาง และรีบเปิดการเจรจากับอังกฤษและรัสเซียโดยทันที

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดนปัจจุบันมาจากสามัญชนชาวฝรั่งเศส (ตอนจบ)

                     คาร์ล โยฮัน (เบอร์นาดอตต์)                                                  นโปเลียน

การที่เบอร์นาดอตต์ตัดสินใจกลับลำไม่ทำสงครามกับอังกฤษ ย่อมถือว่าเป็นการประกาศตัวเป็นศัตรูกับนโปเลียนที่เคยเป็นผู้บังคับบัญชาของเขาอย่างชัดเจน คำถามคือ กองทัพภายใต้การนำของเบอร์นาดอตต์หรือ “Karl Johan” ผู้สำเร็จราชการฯของสวีเดนจะสู้กองทัพนโปเลียนได้หรือ ?

ในปี ค.ศ. 1813 จากข้อพิพาทกรณีพอมเมอเรเนียของสวีเดน เบอร์นาดอตต์ได้นำสวีเดนเข้าเป็นพันธมิตรกับบรรดาศัตรูของนโปเลียนภายใต้ข้อตกลงที่เรียกว่า “สหสัมพันธมิตรครั้งที่หก” หรือ the Sixth Coalition อันเป็นการตกลงร่วมมือกันระหว่างออสเตรีย, ปรัสเซีย, รัสเซีย, อังกฤษ, โปรตุเกส, สวีเดน, สเปน และรัฐเยอรมันอีกหลาย ๆ รัฐ เข้าทำสงครามกับฝรั่งเศส ส่งผลให้กองทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้แตกหักไป

เบอร์นาดอตต์ยังนำทัพไปรบชนะเดนมาร์กและบังคับให้นอร์เวย์มาเป็นสหภาพร่วมกับสวีเดนได้สำเร็จ แต่ชาวนอร์เวย์ไม่สมัครใจที่จะยอมรับการอยู่ภายใต้การควบคุมของสวีเดน นอร์เวย์ประกาศเอกราช และร่างรัฐธรรมนูญฉบับเสรีนิยมและเลือกมกุฎราชกุมารเดนมาร์ก Christian Frederick เป็นพระมหากษัตริย์ แต่เบอร์นาดอตต์นำทัพไปรบกับนอร์เวย์และชนะสงคราม และปฏิบัติการการทำสงครามครั้งนี้ถือเป็นการทำสงครามครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์สวีเดนจนถึงปัจจุบัน เบอร์นาดอตต์ได้วางเงื่อนไขกับนอร์เวย์ แต่ก็ยอมรับรัฐธรรมนูญดังกล่าวของนอร์เวย์และให้คงไว้ซึ่งความเป็นอิสระทางการเมือง ส่งผลให้นอร์เวย์ยอมเข้าร่วมเป็นสหภาพกับสวีเดน

ในช่วงที่ฝ่ายสหสัมพันธมิตรได้รุกเข้าฝรั่งเศสระหว่างฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1814 ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครจะปกครองฝรั่งเศสหลังสงคราม พระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่หนึ่ง (Tsar Alexander I) ทรงมีพระราชดำริจะให้เบอร์นาดอตต์เป็นพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสแทนนโปเลียน แต่ที่สุดแล้ว อังกฤษและออสเตรียคัดค้าน และตกลงกันว่า หากจะถอดถอนนโปเลียน สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นก็คือการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บอง (Bourbon) ของฝรั่งเศสเองกลับมา และอังกฤษได้บังคับให้ฝรั่งเศสรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมา และให้ใช้ระบอบการปกครองที่คนฝรั่งเศสเรียก la monarchie constitutionnelle หรือระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และคำดังกล่าวในภาษาฝรั่งเศสนี้ ได้ถูกนำมาใช้เรียกการปกครองของอังกฤษในเวลาต่อมา

ต่อปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ต้องขอกล่าวไว้ด้วยว่า นับว่าประหลาดดี ! ที่หลังจากชนะสงคราม อังกฤษต้องการให้ฝรั่งเศสรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ต้องการให้เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะตอนนั้น อังกฤษได้เลิกระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ไปแล้ว

อังกฤษต้องการให้ฝรั่งเศสใช้ระบอบการปกครองแบบของอังกฤษ ซึ่งคนอังกฤษเรียกว่า การปกครองโดยพระมหากษัตริย์กับรัฐสภา (King and Parliament) และไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนฝรั่งเศสปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรมาก่อน เมื่อใช้รูปแบบการปกครองตามแบบของอังกฤษ คนฝรั่งเศสจึงเรียกว่า la monarchie constitutionnelle ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วง ค.ศ. 1791 ที่บังคับให้พระเจ้าหลุยส์ที่สิบหกอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ตราโดยรัฐสภาฝรั่งเศส

ต่อมาในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1818 พระเจ้าคาร์ลที่สิบสามแห่งสวเดีนเสด็จสวรรคต เบอร์นาดอตต์ได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสหภาพสวีเดน-นอร์เวย์ และทรงพระนามว่าพระเจ้าคาร์ลที่สิบสี่ โยฮ นในสวีเดนและทรงพระนามว่า พระเจ้าคาร์ลที่สาม โยฮันแห่งนอร์เวย์

ในช่วงแรกเริ่ม พระองค์ได้รับความนิยมจากประชาชนของทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกัน กระบวนการและพลังประชาธิปไตยได้ค่อยๆเติบโตอย่างมั่นคงภายใต้การจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และนโยบายต่างประเทศของพระองค์ในช่วงหลังยุคนโปเลียนมีลักษณะของการรักษาดุลอำนาจระหว่างมหาอำนาจต่างๆและมีนโยบายไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในความขัดแย้งนอกคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้แตกต่างอย่างชัดเจนจากนโยบายของสวีเดนก่อนหน้าที่มุ่งแผ่ขยายอำนาจและครองความเป็นเจ้าผ่านการทำสงครามอย่างไม่หยุดหย่อนกับประเทศเพื่อนบ้านมาหลายศตวรรษ

พระเจ้าคาร์ลที่สิบสี่ทรงประสบความสำเร็จในการรักษาสันติภาพของสวีเดนตั้งแต่ ค.ศ. 1814 จนถึงสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระองค์ทรงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1834 เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเริ่มตึงเครียดต่อกรณีวิกฤตตะวันออกใกล้ (the Near East) พระองค์ได้ทรงส่งบันทึกไปยังรัฐบาลอังกฤษและรัสเซียโดยประกาศความเป็นกลางไว้ล่วงหน้า และการประกาศดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นของจุดยืนความเป็นกลางของประเทศสวีเดนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ส่วนนโยบายภายในประเทศ พระองค์เน้นให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจและการพัฒนาในเรื่องการลงทุนด้านสาธารณูปโภค และด้วยความที่พระองค์ทรงสามารถรักษาประเทศให้ปลอดภาวะสงครามได้เป็นเวลายาวนานตั้งแต่ ค.ศ. 1814 เป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับสวีเดนเป็นอย่างยิ่ง

ตลอดระยะเวลา 26 ปีแห่งการครองราชย์ของพระองค์ ประชากรสวีเดนได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยจำนวนผู้ที่อาศัยอยู่ในเฉพาะสวีเดนมีจำนวนเท่ากับสวีเดนรวมกับฟินแลนด์ก่อนที่ฟินแลนด์ถูกแยกออกมา มีการชำระหนี้สินของชาติที่คั่งค้างมาตั้งแต่รัชกาลก่อนๆได้สำเร็จ มีการประกาศประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีการส่งเสริมการศึกษา การเกษตร การพาณิชย์และการผลิตให้เจริญรุ่งเรือง มีการสร้างการติดต่อสื่อสารภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ภายใต้รัชสมัยของพระองค์ สวีเดนไม่เคยต้องเผชิญอันตรายร้ายแรงแต่อย่างใดเลย และในภาพรวม ชาวสวีเดนและนอร์เวย์ต่างภาคภูมิใจในสถาบันพระมหากษัตริย์ของตนที่เป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีชื่อเสียงดีของยุโรป

อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงเผชิญความท้าทายในนอร์เวย์ จากการที่รัฐธรรมนูญนอร์เวย์ให้สภานอร์เวย์ มีอำนาจนิติบัญญัติมากกว่าสภาของประเทศอื่นๆในยุโรปทั้งหมด ในขณะที่ภายใต้รัฐธรรมนูญสวีเดน พระองค์ทรงมีอำนาจคัดค้านร่างกฎหมายอย่างเต็มที่สมบูรณ์ แต่ในนอร์เวย์ พระองค์ทรงมีอำนาจเพียงยับยั้งชั่วคราวเท่านั้น พระองค์ทรงเรียกร้องให้สภานอร์เวย์ให้อำนาจอันสมบูรณ์แก่พระองค์ แต่ไม่เป็นผล

พระองค์จึงทรงมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับนอร์เวย์ดังจะเห็นได้จากการที่สภานอร์เวย์ไม่ลงมติอนุมัติทุนในการสร้างพระราชวังในออสโล การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1825 แต่สภาได้หยุดการให้ทุนหลังจากที่ได้มีการวางฐานที่มีค่าใช้จ่ายสูงไปแล้วและสั่งให้สถาปนิกสร้างพระราชวังในราคาที่ถูกลง ถือเป็นการกระทำที่ต่อต้านการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและต่อต้านพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ด้วย กว่าพระราชวังจะสร้างเสร็จก็ปี ค.ศ. 1849 ใช้เวลาถึง 24 ปี เป็นเวลาหลายปีหลังจากที่ พระองค์ได้เสด็จสวรรคตไปแล้ว

แต่ในอีกด้านหนึ่ง แม้ว่าพระองค์จะทรงก้าวหน้าในวัยหนุ่ม แต่ทรรศนะของพระองค์ได้ค่อยๆเปลี่ยนไป ในช่วงที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้กลายเป็นนักอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้น (ultra-conservative) และใช้วิธีการแบบอำนาจนิยม โดยเฉพาะการเซนเซอร์สื่อ ทำให้เริ่มเกิดกระแสไม่นิยมพระองค์ขึ้น

โดยเฉพาะหลังปี ค.ศ.1823 กระแสความนิยมต่อพระองค์ได้ลดลงในช่วงทศวรรษ 1830 และตกต่ำที่สุดเมื่อเกิดจลาจลขึ้นหลายครั้ง หลังจากที่มีการตัดสินโทษจำคุกนักหนังสือพิมพ์ในข้อหาหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ (lese-majeste) และมีบางคนเรียกร้องให้พระองค์สละราชสมบัติ แต่พระองค์ได้ทรงผ่านวิกฤตดังกล่าวไปได้จนถึงพระราชพิธีฉลองรัชดาภิเษก (silver jubilee/ครองราชย์เป็นเวลา 25 ปี) และนับเป็นพระราชพิธีเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่

พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสวีเดนและนอร์เวย์ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1818 จนสวรรคตในปี ค.ศ. 1844 ก่อนสิ้นพระชนม์ พระองค์ได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ไม่มีใครมีชีวิตเหมือนชีวิตเรา เราอาจจะสามารถตกลงที่จะเป็นพันธมิตรกับนโปเลียน แต่เมื่อเขาโจมตีประเทศที่ชะตากรรมอยู่ในมือของเรา เราไม่สามารถเป็นอะไรอื่นได้นอกจากเป็นศัตรูกับผู้ที่เป็นศัตรูกับสวีเดน เหตุการณ์ต่างๆได้สั่นคลอนยุโรป แต่ก็ได้ให้เสรีภาพกลับคืนแก่ยุโรป และเราก็มีส่วนทำให้เสรีภาพกลับคืนมาสู่ยุโรป”

ผู้สืบราชสมบัติต่อคือ พระเจ้าออสการ์ที่หนึ่ง พระราชโอรสของพระองค์ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์สวีเดนที่มีความเป็นเสรีนิยมสูง และเมื่อเอ่ยถึงพระนาม “ออสการ์” ผู้อ่านหลายคนอาจจะหวลนึกถึง หม่อมเจ้าออศคาร์นุทิศ จักรพันธุ์ และสงสัยว่า มีอะไรเกี่ยวข้องกับเจ้านายสวีเดนหรือเปล่า ?

พระเจ้าออสการ์ที่หนึ่งเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าออสการ์ที่สอง และพระราชโอรสของพระเจ้าออสการ์ที่สองคือ เจ้าชายออสการ์ เบอร์นาดอตต์ พระองค์ได้เสด็จเยือนประเทศไทยในปี พ.ศ. 2427 และสมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี พระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ถวายการรับเสด็จเจ้าชายออสการ์ เบอร์นาดอตต์ และกราบบังคมทูลว่า “I have just had a new son and I shall name him Oscar and should he have a son he shall be called Gustavus.” นั่นคือ สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีทรงตั้งพระนามพระโอรสว่า “ออศคาร์นุทิศ” เพื่อเป็นที่ระลึกในเหตุการณ์การเสด็จมาเยือนไทยของเจ้าชายออสการ์ เบอร์นาดอตต์นั่นเอง

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดนปัจจุบันมาจากสามัญชนชาวฝรั่งเศส (ตอนจบ)

          ออสก้าร์ที่สอง             สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี           หม่อมเจ้าออศคาร์นุทิศ (Oscar) หม่อมเจ้าคัสสาวัส (Gustavus)

และที่สำคัญคือ การที่พระองค์ทรงมีพระดำรัสว่า หากพระโอรสของพระองค์ (หม่อมเจ้าออศคาร์นุทิศ) มีทายาท ก็จะให้ตั้งชื่อว่า Gustavus หรือกุสตาฟ อันเป็นพระนามของหนึ่งในพระมหากษัตริย์สวีเดนที่ยิ่งใหญ่ที่ได้รับการยกย่องจากชาวสวีเดนมาตลอด นั่นคือ Gustavus Adolphus (ครองราชย์ ค.ศ. 1611-1632) ที่เคยมีนักวิชาการฝรั่งกล่าวว่า หากจะเปรียบเทียบ Gustavus Adolphus กับพระมหากษัตริย์ไทย สามารถเปรียบได้กับพระมหากษัตริย์ไทยสองพระองค์รวมกัน นั่นคือ พระนเรศวรมหาราชและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะ Gustavus Adolphus ทรงเป็นทั้งกษัตริย์นักรบที่ปรีชาสามารถและกษัตริย์นักปฏิรูประบบราชการแผ่นดินที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

การที่สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมีทรงกล่าวเช่นนั้นต่อเจ้าชายออสการ์ แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงมีความรู้ในประวัติศาสตร์การเมืองของสวีเดนเป็นอย่างดี สร้างความประทับใจให้กับเจ้าชายออสการ์และทำให้สายสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยและสวีเดนแน่นแฟ้นมาจนถึงปัจจุบัน

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดนปัจจุบันมาจากสามัญชนชาวฝรั่งเศส (ตอนจบ)

 สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 14 โยฮัน            พระเจ้าออสการ์ที่หนึ่ง                     สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ

จากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในปี ค.ศ. 1810 สวีเดนตัดสินใจเลือกเบอร์นาดอตต์ให้เป็นมกุฎราชกุมารทั้งๆที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ จนต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญตามมานั้น

คุณปฏิพล อภิญญาณกุล หนึ่งในผู้อ่านได้วิเคราะห์และสรุปออกมาให้เข้าใจได้เป็นอย่างดียิ่ง นั่นคือ คุณปฏิพล เห็นว่าการที่สวีเดนเลือกเบอร์นาดอตต์ให้เป็นมกุฎราชกุมารผู้สืบราชบัลลังก์นั้นเป็นการตัดสินใจบนฐานแห่ง “ ‘การสร้างความสัมพันธ์และการสร้างความสมดุล’ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศได้มากขึ้น...และมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

(ส่วนหนึ่งจากโครงการวิจัย “การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ: ศึกษากรณีสหราชอาณาจักร ราชอาณาจักรสวีเดนและราชอาณาจักรภูฏาน” ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปีงบประมาณ ๒๕๖๐)