posttoday

ตั้งคำถามตามกรอบ

26 กุมภาพันธ์ 2564

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

*****************

ท่านอาจเคยฟังคำแนะนำของกูรูหรือโค้ชความคิดมาบ้างว่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ต้องการการคิดนอกกรอบ แต่บทความคราวนี้ผมขออนุญาตนำเสนอกลับทาง คือจะขอเล่าถึงการคิดตามกรอบดูบ้างนะครับว่าให้ผลออกมาแบบไหนได้บ้าง โดยจะขอเล่าจากมุมมองของคนที่ทำงานในโลกวิชาการหรือการวิจัย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มองหาความคิดดีๆ มาใช้เป็นกรอบวิเคราะห์ เวลาที่พวกเขาต้องลงมือศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อเปลี่ยนสิ่งที่ยังไม่รู้ให้เกิดเป็นความรู้ขึ้นมา

มุมมองนี้ส่วนหนึ่งได้มาจากเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสตามไปฟังกลุ่มวิจัยของสถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำเสนอรายงานเบื้องต้นจากโครงการวิจัย ที่มีรองศาสตราจารย์ ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ เป็นหัวหน้าทีมศึกษามาตรการและผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ในหลายประเทศเปรียบเทียบกัน รวมทั้งประเทศไทย

เนื่องจากโครงการวิจัยยังอยู่ในระยะแรก ส่วนที่ผมจะเล่านี้จึงยังไม่ใช่ผลสรุปจากโครงการวิจัยโดยตรง แต่จะเล่าถึงข้อคิดข้อสังเกตที่ผมได้จากการฟังทีมวิจัยนำเสนอกรอบแนวคิดที่ใช้ ผมฟังด้วย คิดตามที่ฟังด้วย และจดไปด้วย ขอคัดบางประเด็นนำเสนอในบทความคราวนี้ ดังนี้ครับ

พอจับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มาศึกษาในเชิงเปรียบเทียบระหว่างประเทศ สิ่งที่ปรากฏออกมาเด่นชัดที่สุดจากการนำเสนอของนักวิจัยในเบื้องต้นพร้อมกัน แม้ว่านักวิจัยจะเสนอรายงานแบบแยกเป็นรายประเทศ คือ เห็นการขึ้นต่อกันและกันของระบบต่างๆ ทั้งระบบที่ทำงานอยู่ในสังคม/ประเทศหนึ่งๆ กับการส่งผลเชื่อมต่อกันข้ามประเทศจากความสำเร็จ (หรือความล้มเหลว) ในการทำงานของระบบในประเทศหนึ่ง ส่งออกมาหาอีกหลายประเทศ ที่ทำให้ผลความสำเร็จในการดำเนินมาตรการและการจัดการกับผลกระทบที่ตามมา ไม่ใช่สิ่งที่ระบบของประเทศใดจะสามารถกำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการได้เองโดยลำพัง

งานวิจัยทำให้เห็นว่า ความเปราะบางของระบบสาธารณสุขในประเทศที่คุมการระบาดไว้ไม่ได้ หรือย้อนกลับมาปะทุขึ้นใหม่ แต่ถ้าประเทศนั้นเป็นประเทศใหญ่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพราะอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของเครือข่าย เป็นต้นทางของทุน หรือเป็นจุดหมายปลายทางของตลาด หรือเป็นแหล่งที่มาของการก่อรายได้ทางเศรษฐกิจ เช่นการท่องเที่ยว หรือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวพรมแดนประชิดติดต่อกัน ความเปราะบางของระบบสาธารณสุขของประเทศเหล่านี้กลายมาเป็นเงื่อนไขล้อมกรอบจำกัดความสำเร็จของระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งกว่าในอีกหลายประเทศเอาไว้ ที่ทำให้การติดตามจัดการกับผลกระทบ ทั้งของโรคระบาดที่อาจย้อนคืนกลับมา และผลกระทบจากการดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมป้องกันโรคระบาด และการบรรเทาปัญหาที่เป็นผลตามมาจากมาตรการเหล่านั้น กลายเป็นเรื่องยากขึ้นมา

ถ้าอาเซียนพาให้พิจารณา connectivity ว่าเป็นการเชื่อมต่อระบบที่จะช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ผลจากการการเชื่อมต่อแบบนี้ไม่มีใครปฏิเสธแน่ แต่ในความสัมพันธ์เชิงระบบ ไม่อาจบังคับให้เกิดแต่เฉพาะผลดีเพียงอย่างเดียวออกมาจากปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกันได้ จากการเชื่อมต่อระบบที่ต่างกันเข้าสู่ความสัมพันธ์กันอย่างหนาแน่นเข้มข้นจึงมีผลลัพธ์ และผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจ มีผลข้างเคียงที่ไม่ได้คาดคิดไว้ค่อยๆ ผุดปรากฏขึ้นมาด้วย ดังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เราเห็นความหมายหรือผลของ connectivity ที่ว่านี้

นั่นคือ ในระบบที่ขึ้นต่อกันอย่างซับซ้อนนี้ เมื่อปัญหาโรคระบาดข้ามจากพื้นที่หนึ่งเข้ามาแพร่ระบาดในอีกหลายพื้นที่ติดต่อกันจนกลายเป็นการระบาดใหญ่ในระดับโลก มันจึงเหมือนการส่งปัญหาจากพื้นที่แรกเข้ามาเป็นบททดสอบความเปราะบางอ่อนไหวกับความเข้มแข็งฟื้นคืนสภาพได้ของระบบในพื้นที่อื่นๆ ว่ามีสัดส่วนต่อกันอย่างไร และปัญหานั้นมิได้มีแต่โรคระบาดเพียงมิติเดียว แต่จากปัญหาโรคระบาดที่เป็นจุดตั้งต้น มันได้ค่อยๆ คลี่ปัญหาและผลกระทบด้านอื่นๆ ให้ค่อยๆ ผุดปรากฏบททดสอบแต่ละเรื่องแต่ละมิติออกมาในแต่ละระยะ ต่อความเสี่ยงที่มีอยู่ในกลุ่มทางสังคมกลุ่มต่างๆ ต่อความเปราะบาง/เข้มแข็งของภาคส่วนเศรษฐกิจหนึ่งที่โยงผลไปหาภาคส่วนอื่นๆ ต่อขีดความสามารถในการปรับตัวที่แตกต่างกันของคนในระดับต่างๆ ต่อประสิทธิภาพของระบบการตัดสินใจและการดำเนินมาตรการในลำดับชั้นต่างๆ ตามออกมาเป็นลูกโซ่

และผลของบททดสอบที่ว่านี้ก็มีลักษณะที่ค่อยๆ ผุดปรากฏผลลัพธ์ขึ้นมาให้เห็นเร็วช้าต่างกันเช่นกัน ที่คิดว่าจะจบ ที่คิดว่าสำเร็จ ที่คิดว่าจัดการได้ในวันนี้ จึงยังต้องเตรียมตัวไว้ด้วยว่า การติดตามจัดการกับผลกระทบที่มีเป็นระลอกแบบนี้ มันจึงอาจยังไม่จบโดยง่าย ทำให้ยังไม่อาจประกาศชัยชนะจากการเห็นความสำเร็จเฉพาะหน้า และมีปัญหาให้ต้องติดตามจัดการต่อไปอีกมาก

รายงานเบื้องต้นของคณะนักวิจัยยังทำให้ผมเห็นความยากลำบากของการตัดสินใจในวิกฤตที่มีความซับซ้อนแบบนี้ ที่น่าเรียนรู้และถอดบทเรียน เพราะการดำเนินมาตรการเพื่อจัดการกับปัญหาและผลกระทบจากวิกฤตแบบนี้ในแต่ละด้านนั้น มันไม่ได้มีเป้าหมายแบบเดียวให้คิดถึง ไม่ได้มีคุณค่าด้านเดียวให้มุ่งรักษา ไม่ได้มีคนเพียงกลุ่มเดียว/ภาคส่วนเดียวที่เจอปัญหาแบบเดียวกันให้เข้าไปช่วยแก้ไข ไม่ได้มีมาตรการแบบเดียวและมีผู้รับไปดำเนินปฏิบัติเป็นหลักอยู่ฝ่ายเดียวที่ต้องติดตามกำกับ ไม่ได้มีวิธีเดียว/ทางเลือกเดียวที่เป็นไปได้หรือที่ทำได้ ไม่ได้มีกระบวนการหรือขั้นตอนปฏิบัติให้อาศัยได้เหมือนกับการทำงานประจำตามปกติ ไม่อาจวางมาตรการปฏิบัติในสเกลเดียวแล้วสำเร็จผล

แต่มีความไม่แน่นอน มี tradeoffs ให้ต้องตัดสินใจเลือก มีเงื่อนไขเวลาที่เป็นทั้งการทิ้งระยะให้พอมีเวลาคิดเวลาเตรียมการและเวลาดำเนินการ แต่ก็มีอยู่อย่างจำกัดและเป็นตัวเร่งรัดที่ทำให้การตัดสินใจไม่อาจรอช้าเพื่อให้ได้ข้อมูล ได้ความรู้ ได้ความแน่ชัดเกี่ยวกับประสิทธิผลของทางเลือกที่ต้องตัดสินใจ

ในกระบวนการตัดสินใจที่มีลักษณะหลายระลอกและเผชิญความท้าทายจากปัญหาที่ค่อยๆ ผุดขึ้นมาเรื่อยๆ แบบนี้ ทำให้ความเปราะบาง/ความเข้มแข็งของระบบที่จะรับมือกับปัญหาจึงวัดกันที่คุณภาพของระบบการตัดสินใจของประเทศ หรือของใคร ในระดับใด ภาคส่วนไหน ว่าจะมีความสามารถในการติดตามรับและใช้ประโยชน์ feedbacks ที่มาจากผลลัพธ์ของการตัดสินใจก่อนหน้านั้นได้ดีกว่ากัน

ในการตัดสินใจในระบบที่มีพลวัตสูง มีเวลาจำกัดในการตอบสนอง มีปัญหาที่กลายรูปใหม่จากปัญหาเดิมเปลี่ยนเข้ามาให้แก้ การตัดสินใจส่วนใหญ่จะหาที่เป็นการตัดสินใจเด็ดขาดลงไปในคราวเดียวจบไม่มี แทบทั้งหมดจะเป็นการตัดสินใจเฉพาะเรื่อง เฉพาะกาล จากเหตุปัจจัยเฉพาะหน้า และต้องติดตามและปรับเปลี่ยนนโยบาย แนวทาง มาตรการ วิธีดำเนินมาตรการ ไปตามเงื่อนไขและผลลัพธ์ความสำเร็จ/ความล้มเหลว การได้ผลหรือไม่ได้ผลที่เกิดขึ้น

เมื่อเป็นแบบนี้ คุณภาพของระบบการตัดสินใจในการติดตามและใช้ประโยชน์จาก feedbacks ที่จะมาปรับหรือเปลี่ยนการทำความเข้าใจสภาพปัญหาที่ต้องจัดการกันใหม่ ปรับหรือเปลี่ยนการกำหนดเป้าหมายของนโยบายหรือของยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินกันใหม่ ปรับหรือเปลี่ยนขนาดในการจัดสรรทรัพยากรหรือลำดับความสำคัญของการจัดสรรทรัพยากรกันใหม่ ปรับหรือเปลี่ยนแนวทาง เปลี่ยนหน่วย เปลี่ยนการจัดองค์กรเครือข่ายการทำงาน หรือปรับเปลี่ยนคนทำงานกันใหม่ จึงเป็นเงื่อนไขและเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญมาก ว่าระบบการตัดสินใจของประเทศไหน หรือในระดับใด ของภาคส่วนไหน มีความเข้มแข็งมากน้อยต่างกันอย่างไร

สุดท้ายที่ผมได้ความเข้าใจจากการติดตามรับฟังการนำเสนองานวิจัยเมื่อวันก่อน คือ ธรรมดาของงานวิจัยที่เป็นการเปรียบเทียบระหว่างประเทศหรือหน่วยการวิเคราะห์แบบเดียวกันต่อการเผชิญกับปัญหาอย่างเดียวกัน โครงการวิจัยจะต้องวางกรอบการเปรียบเทียบในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้เมื่อได้ข้อสรุปออกมาแล้วได้ผลการวิจัยที่เปรียบเทียบข้ามประเทศได้

อย่างไรก็ดี การคิดตามกรอบนี้ กลับทำให้ผมเห็นประเด็นอีกแบบหนึ่งขึ้นมาด้วย นั่นคือ ผมได้ข้อสังเกตในเบื้องต้นว่า แต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน และความแตกต่างกันที่อาจจะทำให้เทียบเคียงแต่ละประเทศได้ยากขึ้นนั้น กลับจะเป็นส่วนที่ให้ผลการวิจัยออกมาน่าสนใจมากกว่าส่วนที่เหมือนกัน

ถ้าใช้การผลิตประโยชน์หรือสวัสดิการสาธารณะ เป็นตัวตั้ง เราอาจพบจุดเด่นของประเทศอินเดียเรื่องระบบการผลิตยาและวัคซีนที่เอื้อเฟื้อแก่คนและประเทศที่มีรายได้น้อย ซึ่งจุดเด่นแบบนี้สิงคโปร์ไม่มี และสิงคโปร์มีข้อจำกัดอย่างมาก แต่ไม่เหมือนกับที่อินเดีย การแก้ไขข้อจำกัดของสิงคโปร์ในการป้องกันโรคระบาดในพื้นที่ขนาดเล็ก ที่มีความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ในอัตราเกือบจะสูงที่สุดในโลก และยังเป็นเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการระบาดในพื้นที่อันจำกัด ทำให้สิงคโปร์มีบทเรียนที่เป็นตัวแบบแก่ไทยในเรื่องนี้ได้ แต่เป็นตัวแบบที่จะต่างไปจากจุดเด่นของญี่ปุ่น

และญี่ปุ่นก็ให้ตัวแบบการจัดการที่มีแนวทางแตกต่างอย่างมากจากจีน เพราะอำนาจการปกครองจัดไว้แตกต่างกันเป็นคนละระบบ ส่วนจีนก็มีประเด็นให้น่าค้นหาอีกแบบหนึ่งสำหรับจะใช้ชี้วัดว่านานาชาติควรยอมรับจีนเพียงใดในฐานะมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบ เมื่อพิจารณาจากแนวทางในการจัดการรับมือและป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาด และการทูตวัคซีนที่จีนแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตอื่นๆ อย่างเข้มข้น

ผมเลยได้ความคิดว่า จากจุดเริ่มต้นที่คิดตามกรอบ แต่เมื่อผลการวิจัยพาออกมาให้เห็นความแตกต่าง และความแตกต่างนั้นมีนัยสำคัญให้เรียนรู้ในเชิงยุทธศาสตร์การจัดการจากตัวแบบที่แตกต่างกัน บางทีการก้าวออกนอกกรอบการเปรียบเทียบตามแนวคิดเดิมที่วางไว้ก็น่าจะทำให้งานวิจัยในขั้นสุดท้ายได้ผลออกมาที่ยังให้เกิดการเรียนรู้จากจุดเด่นของแต่ละประเทศได้มาก

ในระบบที่เชื่อมติดและขึ้นต่อกันและกันอย่างซับซ้อนนี้ ความสามารถของแต่ละระบบในการปรับตัวให้ฟื้นคืนสภาพได้เข้มแข็งยิ่งขึ้นกว่าเดิมมิใช่จะได้มาจากที่ไหน นอกจากจะได้มาจากการเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้จากกันและกันนี่เอง

*********************