posttoday

ทำไมโรคของประชาธิปไตยในวัยเยาว์จึงเรื้อรัง

12 กุมภาพันธ์ 2564

โดย...โคทม อารียา

*************

ประชาธิปไตยไทยถือกำเนิดเมื่อปี 2475 แล้วถูกทำให้สะดุดลง (disrupted) เป็นครั้งแรกด้วยการรัฐประหารปี 2490 จากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อทหารเห็นเป็นโอกาสจะก่อรัฐประหาร ก็จะออกมายึดอำนาจทางการเมือง ซึ่งเย้ายวนใจมากกว่าอำนาจหน้าที่ของทหารในระบอบประชาธิปไตย โดยทหารสามารถหาเหตุผลมาอ้างได้เสมอ กรณีรัฐประหารในเมียนมาเมื่อไม่กี่วันมานี้ ทหารเมียนมาออกมาปรามคนที่ประท้วงการรัฐประหาร ว่า การประท้วงนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงของรัฐและบ่อนทำลายประชาธิปไตย !

ขออุปมาอุปมัยระบอบประชาธิปไตยว่าเหมือนเป็นมนุษย์ เมื่อเกิดมาใหม่ ๆ เด็กอาจมีโรควัยเยาว์ที่ทำให้อ่อนแอ เติบโตได้ช้า โรควัยเยาว์มาทำให้พัฒนาการสะดุดลง คำถามที่น่าสนใจที่ชวนให้ช่วยกันหาคำตอบคือ ถ้าโรควัยเยาว์ของระบอบประชาธิปไตยคือการทำรัฐประหาร (ทุกข์) บรรดาสาเหตุแห่งโรคนี้มีอะไรบ้างเล่า (สมุทัย) ถ้าวินิจฉัยเหตุแห่งโรคได้ถูกต้องใกล้เคียงแล้ว จะขอไปที่มรรค โดยข้ามประเด็นระบอบประชาธิปไตยในอุดมคติ (นิโรธ) ไปก่อน เพราะประเทศที่พัฒนาประชาธิปไตยมานานนับศตวรรษ ก็ยังมีโรคในวัยฉกรรจ์ของตนเองและยังยืนยันไม่ได้ว่า เสรีประชาธิปไตยจะถือเป็นสากลได้สักเพียงใด จึงขอเสนอว่า คำถามที่ควรถกแถลงกันในขณะนี้ น่าจะเป็นมรรควิธีการรักษาโรควัยเยาว์ของประชาธิปไตย

สมมุติว่ามนุษย์ประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ถ้าจะอุปมาว่าระบอบประชาธิปไตยเสมือนเป็นมนุษย์ ร่างกายของระบอบนี้น่าจะได้แก่สิ่งที่จับต้องได้หรือความมั่งคั่งสมบูรณ์ทางวัตถุ (อรรถะ) เช่น เป็นระบอบการปกครองที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีสวัสดิการสังคมที่ดี การปกครองดำเนินไปโดยมีโครงสร้างและองค์กรที่เข้มแข็งรองรับ การใช้อำนาจเป็นไปอย่างยุติธรรมตามหลักธรรมาภิบาล ฯลฯ จิตใจของระบอบประชาธิปไตยน่าจะเป็นในเรื่องความสุขหรือกามะ

ในระบอบนี้ ประชาชนสามารถแสวงหาความสุขได้โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ประชาชนมีสุขภาพจิตที่ดีหรือเมื่อมีปัญหาสุขภาพจิตก็จะได้รับการเยียวยาและดูแลอย่างเหมาะสม ฯลฯ จิตวิญญาณเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องความเชื่อความศรัทธาก็ใช่ เป็นเรื่องทางวัฒนธรรมและสุนทรียะก็ใช่ เป็นเรื่องของคุณค่าและอุดมการณ์ก็ใช่ ฯลฯ เราควรช่วยกันหาคำตอบในเรื่องจิตวิญญาณของประชาธิปไตย (ธรรมะ) ให้มากขึ้น

ประชาธิปไตยที่พัฒนาขึ้นในตะวันตกมีอุดมการณ์เชิงมนุษยนิยมว่า “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” อีกนัยหนึ่งคือ ทุกคนมีเสรี เท่าเทียม และมีไมตรีต่อกัน ระยะหลังเมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้รุกล้ำวิถีธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพมากยิ่ง ๆ ขึ้น ตะวันตกจะเริ่มพูดถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนแนวคิดทางตะวันออก ไม่ถือว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลาง และได้ให้ความหมายคำว่า “ไมตรี” ว่าหมายรวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย

ในโลกตะวันออก การปกครองตลอดจนวัฒนธรรมและปรัชญาการปกครองที่เข้มแข็งได้เริ่มมานานแล้วที่ประเทศจีนและอินเดีย ในการสืบหาจิตวิญญาณทางการเมืองของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ อาจจะเป็นประโยชน์ถ้าจะแวะเวียนไปที่จีนและอินเดียสักเล็กน้อย เผื่อว่าจะเห็นร่องรอยของ “จิตใต้สำนึกรวม” (collective subconscious) ได้บ้าง

มีเรื่องเล่าว่า เล่าจื้อ ได้ฝากคติธรรมแก่ขงจื้อ 3 ข้อ คือ 1. อย่าได้ยึดถือถ้อยคำที่ตกทอดมาของคนโบราณจนเกินไป 2. ผู้มีคุณธรรมควรอออกไปวิ่งเต้นแสดงบทบาทในกาลอันควร แต่ในกาลที่ไม่เหมาะสม ก็ควรรักษาตนให้พ้นวิกฤต 3. ควรละความทระนง ทำอะไรก็ตาม อย่ายึดแต่ตัวตน

ขงจื้อได้พยายามยึดถือคติธรรมเหล่านี้ หลังจากที่ได้ตระเวนไปทำงานในหลายบ้านหลายเมือง และไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย เขาจึงกลับมาที่บ้านเกิดเพื่อสอนลูกศิษย์ลูกหา มีลูกศิษย์ถามเขาว่า จะปกครองรัฐอย่างไรดี

ขงจื้อ ตอบว่า 1. ให้ราษฎรกินอิ่ม 2. ให้มีกองทัพที่เข้มแข็ง 3. ให้ราษฎรเชื่อถือรัฐบาล โดยจัดลำดับว่าความเชื่อถือสำคัญกว่ากองทัพ และกองทัพสำคัญกว่าอิ่มท้อง ถ้ารวมคำสอนของเล่าจื้อและขงจื้อเข้าด้วยกัน เราอาจคิดได้ว่า จะยึดมั่นคำสอนของขงจื้อในส่วนของลำดับความสำคัญไม่ได้เสมอไป เช่น รัฐบาลที่นำโดยพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของเมียนมา

แม้ได้ความเชื่อถือจากร้อยละ 83 ของราษฎร ก็ยากที่จะทานการยึดอำนาจโดยกองทัพที่เข้มแข็งได้ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ การปฏิรูปกองทัพให้ยอมรับการอยู่ใต้การปกครองของผู้นำในระบอบประชาธิปไตยจึงสำคัญยิ่ง ถึงจะยากก็ต้องทำ

ในทางด้านอินเดีย พระเจ้าจันทรคุปต์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เมารยะ สมภพเมื่อ พ.ศ. 203 ขึ้นครองราชย์เมื่อมีพระชนมายุ 18 พรรษา สวรรคตในปี พ.ศ. 245 มีพระเจ้าพินทุสารสืบทอดราชบัลลังก์ ตามด้วยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่เป็นโอรสของพระเจ้าพินทุสาร เบื้องหลังความสำเร็จของพระเจ้าจันทรคุปต์คือนักปราชญ์ชื่อว่า “เกาฏิลยะ” เขาเขียนตำราเศรษฐศาสตร์การเมืองเล่มแรกของโลกก็ว่าได้ ตำรานั้นชื่อว่า “อรรถศาสตร์” หรือศาสตร์แห่งความมั่งคั่ง

คัมภีร์เล่มนี้เสนอเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย การต่างประเทศไว้อย่างละเอียด รวมถึงพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ตั้งแต่ตื่นบรรทมเมื่อเวลา 1.30 น. ไปจนถึงเวลาบรรทมราว 22.30 น. ในเวลากลางวัน ได้จัดเวลาให้จารชนเข้าเฝ้าถึงวันละสองครั้งเพื่อรายงานผลการสอดแนม เป็นต้น เกาฏิลยะเชื่อว่าถ้าจักรวรรดิ์มั่งคั่ง เข้มแข็ง แม้จะต้องใช้เล่ห์กลและความเหี้ยมโหดตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ก็ตาม ราษฎรจะได้รับประโยชน์สุขทางวัตถุจากความอุดมสมบูรณ์และจะเชื่อฟัง กล่าวคือ อรรถะมาก่อน แล้วความพอใจ ความสุขหรือกามะจะตามมา ส่วนธรรมะเป็นเรื่องจับต้องยากและถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างไรก็ดี มาถึงยุคพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ทรงเสียพระทัยมากหลังการสงครามที่ล้มล้างราชวงศ์นันทะ ทำให้ผู้คนนับแสนต้องเสียชีวิต พระองค์จึงหันเหจากคัมภีร์อรรถศาสตร์ และทรงจัดให้มีการประกาศจริยธรรมและขันติธรรมไปทั่วอนุทวีป ดังปรากฏในจารึกอโศก “ธรรมจักรบนเศียรสี่สิงห์” พระองค์เองแม้ต้องพึ่งแนวคิดสัจนิยมของเกาฏิลยะ

แต่ทรงไปไกลกว่าโดยใช้หลักอหิงสาและการเคารพความเห็นต่างเป็นหลักนำ บทเรียนจากอินเดียน่าจะเป็นว่า มีความตึงเครียดระหว่างความเจริญทางวัตถุและทางจิตวิญญาณอยู่เสมอ ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องรักษาและปรับจุดสมดุลให้ได้ โดยตระหนักว่า จะมีเรื่องที่แทรกเข้ามาทำให้เกิดการสะดุดลง จึงมีความจำเป็นในการปฏิรูปอยู่ตลอดเวลา

ลองพิจารณาบทเรียนจากสหรัฐอเมริกาที่เป็นปฐมแบบของประชาธิปไตยดูบ้าง แต่ก็ควรย้อนเวลาไปสักหน่อย จึงขออ้างถึงหนังสือชื่อ “ว่าด้วยประชาธิปไตยในอเมริกา” เขียนโดย เดอ ต็อกเกอวิลล์ นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสที่ได้เดินทางไปศึกษาสังคมอเมริกาในช่วง 9 เดือนในปี พ.ศ. 2374-5

เดอ ต็อกเกอวิลล์ มีข้อสังเกตมากมาย แต่จะขอยกมาเพียงส่วนน้อยมากในที่นี้ เขาสังเกตว่าประชาธิปไตยอเมริกาเริ่มจากล่างขึ้นบน คนที่อพยพมาจากยุโรปมีบางกลุ่มที่หนีการเบียดเบียนของอาณาจักรและศาสนจักร พวกเขาอยากมาสู่ดินแดนแห่งเสรีภาพ จึงมีอุดมการณ์เสรีภาพติดตัวมา

พอมาตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่ม ๆ ก็เริ่มสร้างระบบการปกครองโดยถือความเสมอภาค ไม่ติดยึดกับความเป็นขุนนาง ขุนศึก ศักดินา มีการปรึกษากันในระบบเทาว์ฮอลล์ มีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น สภาท้องถิ่น ตลอดจนตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา และการคัดเลือกลูกขุน

พอก่อตั้งเป็นเมืองเล็ก ๆ แล้ว หลายเมืองก็มารวมกันเป็นมลรัฐ ที่มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยของตนเอง ในที่สุดมลรัฐได้มารวมกันเป็นสหพันธรัฐ ประเด็นท้าทายต่อการดำรงอยู่ของสหพันธรัฐคือสงครามกลางเมือง ฝ่ายใต้มีความเด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ความชำนาญในการทหารและกำลังใจสูงมาก แต่แพ้ฝ่ายเหนือที่มีความมั่งคั่งทางวัตถุมากกว่า

แต่ในที่สุด “ผู้แพ้” ได้รับเกียรติและกลับมาอยู่ร่วมกันบนความเหมือนที่มีมากกว่าความต่าง เมื่อพิจารณาดูแล้ว จะเห็นว่าระบอบการเมืองไทยยังด้อยในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความเสมอภาค มิใช่ในด้านเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น ในด้านจิตวิญญาณและความรู้สึกด้วย อีกทั้งเรามักเชื่อในระบบการควบคุมจากศูนย์กลาง และเชื่อเอกภาพในการสั่งการ จึงทำให้ด้อยในการริเริ่มสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบ การเปิดรับการแปลงเปลี่ยนในเชิงบวก และการรับฟัง “ผู้น้อย” เป็นต้น

ปลายสมัยอยุธยาอาจเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่พึงศึกษา กษัตริย์บางองค์เลือกชอบที่จะเป็นเทวราชา จะเสด็จออกไปพบปะราษฎรก็แต่น้อย ในกรณีที่เสด็จออก พสกนิกรก็ไม่บังอาจเงยหหน้าขึ้นมอง กษัตริย์บางองค์เลือกชอบที่จะเป็นธรรมราชา ทรงเน้นการทำนุบำรุงพระศาสนา สร้างวัดวาอาราม และการทำบุญที่เป็นโอกาสแสดงพระองค์ใกล้ชิดราษฎร สำหรับเทวราชา แทบไม่มีผู้ใดแม้แต่พระสงฆ์ผู้มีสมนศักดิ์สูงที่เตือนสติพระราชาได้

อันที่จริง พวกขุนนางบางคนยังเชื่อคำกล่าวอ้างของพวกตน ว่าเป็นฝ่ายเลือกกษัตริย์ในที่ประชุมขุนนาง และพระสงฆ์หลายรูปยังเชื่อว่าผู้ปกครองจะเชื่อคำสอนและปฏิบัติตามทศพิธราชธรรม ในตอนปลายสมัยอยุธยา เมื่อการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น ถึงกับมีเพลงยาวพยากรณ์ว่า “ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม์ จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ คือดวงดาวดินฟ้าจะอาเพศ อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาฬ เกิดนิมิตพิสดารทุกบ้านเมือง ... กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยนั้นจะถอยจม ...” ข้อคิดที่อาจได้รับจากประวัติศาสตร์อยุธยาก่อนกรุงแตกคงมีมากมาย ที่น่าสนใจคือทางเลือกระหว่างเทวราชากับธรรมราชา

เราได้อุปมาว่าระบอบประชาธิปไตยเปรียบเหมือนมนุษย์ กายเปรียบเหมือนอรรถประโยชน์ทางวัตถุและองค์กรการเมือง (อรรถะ) ใจเปรียบเป็นความพอใจ ความพอเพียงและความสุข (กามะ) และจิตวิญญาณเปรียบเหมือนความเชื่อ ความศรัทธา คุณค่าและวัฒนธรรม (ธรรมะ) ประชาธิปไตยไทยป่วยมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ในเรื่องจิตวิญญาณ เรายังเรียนรู้น้อยไปจากผู้นำทางอารยธรรมอย่างจีน อินเดีย และอเมริกา และแม้แต่จากประวัติศาสตร์ของเราเอง วิธีการรักษาโรควัยเยาว์ของประชาธิปไตยวิธีหนึ่ง คือการปล่อยไปจับยึด พร้อมที่จะสร้างสมดุลระหว่างปัจจัยเชิงวัตถุ เชิงความสุข และเชิงคุณค่าอย่างมีพลวัตมากยิ่งขึ้น