posttoday

การฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ การนิรโทษกรรมและทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 

30 พฤศจิกายน 2563

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร 

*********************

สงครามกลางเมืองในอังกฤษเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1642-1649  สาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายพระมหากษัตริย์ พระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง  ฝ่ายรัฐสภาได้ยื่นข้อเสนอสิบเก้าประการให้พระเจ้าชาร์ลสปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งข้อเสนอสิบเก้าประการนี้เป็นการลดทอนพระราชอำนาจอย่างชัดเจน  แต่พระเจ้าชาร์ลสเห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการล้มล้างการปกครองของอังกฤษ พระองค์จึงประกาศสงครามกับฝ่ายรัฐสภา และรบพุ่งกันเป็นเวลาเจ็ดปี ลงเอยฝ่ายพระเจ้าชาร์ลสแพ้ และมีการดำเนินคดีพิพากษาโทษต่อพระองค์ด้วยข้อหาเป็นทรราชและกบฏต่อแผ่นดิน ผลการตัดสินให้สำเร็จโทษโดยการบั่นพระเศียร หลังจากนั้น ฝ่ายรัฐสภาได้ตั้งคณะบุคคลขึ้นมาปกครองบ้านเมือง ด้วยไม่ต้องการให้อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่คนๆเดียว

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมอังกฤษถึงไม่ประสบความสำเร็จในการสถาปนาการปกครองระบอบสาธารณรัฐ แต่กลับต้องฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมาในปี ค.ศ. 1660 ?

มีคนชอบกล่าวว่าเป็นเพราะหลังจากโอลิเวอร์ ครอมเวลตายในปี ค.ศ. 1658  ริชาร์ด ครอมเวลขึ้นมาปกครอง แต่ไม่มีบารมีในกองทัพเหมือนพ่อของเขา เมื่อกองทัพขาดความเชื่อมั่นในตัวเขา เขาเองก็ไม่มีความไว้ใจในกองทัพ  ทำให้เป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้เขาไม่สามารถนำพาระบอบสาธารณรัฐให้เดินหน้าต่อไปได้  และในที่สุด ทหารก็คือกำลังสำคัญที่ทำให้เขาต้องพ้นจากตำแหน่งไปในปี ค.ศ. 1659 โดยการนำของนายทหารที่ชื่อ George Monck ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการนำสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมา     

     

การฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ การนิรโทษกรรมและทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 

การฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ การนิรโทษกรรมและทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 

แค่สาเหตุเรื่องผู้นำนี้ไม่น่าจะทำให้กองทัพไม่เดินหน้าปฏิวัติต่อ ?! แต่ปัจจัยสำคัญคือ กองทัพไม่มีแรงจูงใจ เพราะนายทหารส่วนใหญ่มาจากชนชั้นสูง ซึ่งหลังการปฏิวัติ มีความพึงพอใจกับสิ่งที่ได้มา รวมทั้งนายทหารที่แม้ว่าไม่ได้มาจากชนชั้นสูง แต่ผลพวงที่พวกเขาได้จากการปฏิวัติทำให้เลื่อนสถานะขึ้นเป็นชนชั้นสูง พวกเขาจึงไม่มีความจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ ขณะเดียวกัน เมื่อเวลาผ่านไป ภาพลักษณ์ของกองทัพที่เข้าร่วมกับกลุ่มการเมืองหัวรุนแรงต่างๆในช่วงสงครามกลางเมืองที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ผู้คนในสังคมชื่นชมกองทัพเหมือนเคย  เพราะประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนระดับกลางขึ้นไปต่างต้องการให้บ้านเมืองกลับสู่ความสงบเรียบร้อย ซึ่งยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้ระบอบการเมืองใหม่นี้   อีกทั้งการเดินหน้าปฏิวัติจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสูญเสียประโยชน์ของบรรดาชนชั้นกลาง-สูงได้

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการประสานเป็นพันธมิตรกันระหว่างฝักฝ่ายในรัฐสภา ทั้งที่เป็นเคยเป็นฝ่าย “ล้มเจ้า” และฝ่าย “นิยมเจ้า” อีกทั้งยังรวมถึงฝ่ายแกนนำทางการเมืองของกรุงลอนดอน (the City of London) และแน่นอนที่สุดก็คือ การสนับสนุนอย่างแข็งขันจากกองทัพ อันนำมาซึ่งการสถาปนาสถาบันพระมหากษัตริย์กลับคืนมา  และไม่เพียงเป็นการฟื้นฟูสถาบันฯกลับคืนมาเท่านั้น แต่หมายถึงการทำให้สังคมที่เคยวุ่นวายสับสนกลับหัวกลับหาง—ในสายตาของคนส่วนใหญ่หลังปฏิวัติ---กลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อยภายใต้การนำของสถาบันพระมหากษัตริย์  และนี่เป็นที่มาของช่วงเวลาที่เรียกว่า “English Restoration”

กองทัพและรัฐสภาได้กราบบังคมทูลเชิญพระเจ้าชาร์ลส์ที่สอง พระโอรสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งที่เสด็จไปลี้ภัยอยู่ที่ฝรั่งเศสให้กลับมาเป็นพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ  ในปี ค.ศ. 1660  โดยขอให้พระองค์ทรงยอมรับเงื่อนไขที่จะให้มีการออกกฎหมายนิรโทษและอภัยโทษแก่ทุกคนที่กระทำผิดทางอาญาในช่วงสงครามกลางเมืองและในช่วงตั้งแต่การตัดสินสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1649 จนถึงการเสด็จพระราชดำเนินกลับลอนดอนของพระเจ้าชาร์ลสที่สองในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1660 อันเป็นช่วงที่เรียกว่า “Interregnum” ในประวัติศาสตร์อังกฤษ ซึ่งพระองค์ก็ทรงยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว

จากนั้น รัฐสภาอังกฤษได้ตราพระราชบัญญัตินิรโทษและอภัยโทษขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1660 (The Indemnity and Oblivion Act) การนิรโทษและอภัยโทษในพระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่รวมความผิดอาญาบางประเภทเช่น การฆาตกรรมที่ไม่ได้รับการอนุญาตจากรัฐสภาหรือได้รับพระราชโองการจากพระมหากษัตริย์ นั่นคือ ผู้ที่เข้ารบในสงครามกลางเมืองจากฝ่ายรัฐสภาและฝ่ายพระมหากษัตริย์ไม่ถือว่าเป็นความผิด  แต่ความผิดที่กระทำขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองที่ไม่เกี่ยวกับการทำสงคราม เช่น การปล้น ข่มขืน และผู้มีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นแม่มดหมอผี                 

     

การฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ การนิรโทษกรรมและทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 

แต่ยังไงก็ตาม พระราชบัญญัติไม่นิรโทษและอภัยโทษให้กับบรรดาคณะผู้พิพากษาที่ตัดสินสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งในปี ค.ศ. 1649  ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 59 คน  และใน 59 คนนี้ มี 31 คนที่ตัดสินและลงนามให้สำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง  ผู้พิพากษา 31 คนนี้ จะต้องถูกนำตัวมาดำเนินคดีพิพากษาในฐานะผู้ปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ จึงมีการออกล่าตัวสามสิบเอ็ดคนนี้  มีที่หนีไปได้ แต่ส่วนใหญ่ถูกจับและถูกนำตัวดำเนินคดี มีสามคนที่หนีไปอเมริกา และแน่นอนว่า จอห์น คุก (John Cooke) ผู้ทำหน้าที่อัยการแผ่นดินฟ้องร้องกล่าวโทษพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องถูกดำเนินคดี แต่อย่างที่ได้เล่าไปในตอนก่อนๆว่า เขายืนหยัดความถูกต้องในสิ่งที่เขาได้ทำไป  เขาจึงถูกตัดสินประหารชีวิต        

การฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ การนิรโทษกรรมและทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 

แต่พระราชบัญญัติฯได้กำหนดไว้ด้วยว่า ในอนาคต จะต้องไม่มีการรื้อฟื้นคดีใดๆย้อนหลัง นั่นคือ หลังจากพิจารณาคดีต่อบรรดาผู้ที่เข้าข่ายกระทำผิด  จะไม่มีการื้อฟื้นฟ้องร้องดำเนินคดีใดๆอีก พูดง่ายๆก็คือ ถ้าการพิจารณาคดีครั้งนี้สิ้นสุดลง ก็ถือว่าจบกันไปเลย และในช่วง “Interregnum” นี้จะถือว่าเป็นการกระทำผิดทางอาญาที่ได้รับการอภัยโทษและเป็นการกระทำที่ถือว่าไม่ได้เกิดขึ้นในทางกฎหมาย  (legally forgotten)

นั่นคือ ให้ลืมๆกันไปนั่นเอง ดังจะเห็นได้จากชื่อพระราชบัญญัติที่ใช้คำว่า “Oblivion” ที่แปลว่า “การลืม”

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวยังกำหนดให้คืนที่ดินและทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และศาสนจักรที่ยึดไปเป็นสมบัติของแผ่นดิน เพราะระหว่างปี ค.ศ.1649-1653 อังกฤษอยู่ภายใต้การปกครองใหม่ที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ ถือเป็นสาธารณรัฐ และฝ่ายรัฐสภาได้ขนานนามรัฐอังกฤษว่าเป็น “commonwealth” ต่อมาเมื่อโอลิเวอร์ ครอมเวลขึ้นมาปกครอง ตั้งแต่ ค.ศ.1653-1658 และริชาร์ด ครอมเวลขึ้นมาปกครอง ค.ศ. 1658-1659  ก็เรียกขานว่าเป็นรัฐผู้พิทักษ์ (the Protectorate) และหลังจากไม่ยอมรับริชาร์ด ครอมเวล ก็กลับมาเรียกว่า “commonwealth” อีกในช่วง ค.ศ. 1659-1660 และหลังจากสถาปนาสถาบันพระมหากษัตริย์กลับขึ้นมาก็ยกเลิกการใช้คำว่า “commonwealth”

และเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1649 แน่นอนว่า ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ย่อมต้องตกเป็นของแผ่นดินภายใต้การดูแลของสภาความมั่นคงแห่งรัฐที่แต่งตั้งขึ้นมาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลและภายใต้รัฐที่ฝ่ายรัฐสภาเรียกขานว่า “commonwealth” ทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งของพระมหากษัตริย์ก็ย่อมจะต้องเป็น “ทรัพย์สินและความมั่งคั่ง” ร่วมกัน (common) และต้องอย่าลืมว่าชื่อของสภาล่างของอังกฤษก็คือ  the House of Commons ที่หมายถึงสภาของสามัญชนที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบสาม

ดังนั้น เมื่อรัฐสภาเรียกอังกฤษว่าเป็น commonwealth  นอกจากจะมีความหมายว่า ความมั่งคั่งเป็นของที่คนอังกฤษใช้ร่วมกัน และไม่ใช่ของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวอีกต่อไป  อย่างที่ในอังกฤษทุกวันนี้ พื้นที่สนามหญ้าหรือสิ่งใดๆที่ใช้ร่วมกันของผู้ที่พักอาศัยในอาคารที่พักขนาดใหญ่  คนอังกฤษก็จะเรียกว่า “common”

ขณะเดียวกัน คนอังกฤษในช่วงปฏิวัติย่อมต้องนึกถึงการที่สมาชิกสภาสามัญชน (the House of Commons) เป็นผู้เข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินที่ยึดมาจากพระมหากษัตริย์ด้วย

แต่เมื่อรัฐสภาและกองทัพสถาปนาสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมา ก็ย่อมต้องคืนทรัพย์สินที่ดินที่ยึดไปเป็นสมบัติของแผ่นดินคืนให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดังที่ปรากฏในพระราชบัญญัติข้างต้น

ส่วนที่ดินของบรรดาผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านพระมหากษัตริย์ที่ถูกยึดหรือขายไปในช่วงระหว่างสงครามกลางเมืองและช่วง “Interregnum” ก็ให้เป็นเรื่องของการเจรจาตกลงหรือฟ้องร้องกันไปเอง   หมายความว่า รัฐบาลใหม่ไม่ช่วยให้บรรดาผู้สนับสนุนฝ่ายพระมหากษัตริย์ได้ที่ดินหรือทรัพย์สินของตนกลับคืนมา  ทำให้ผู้สนับสนุนฝ่ายพระมหากษัตริย์ต่างพากันผิดหวังและตัดพ้อว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ “นิรโทษศัตรูของพระเจ้าชาร์ลส แต่กลับลืมผู้เป็นมิตรของพระองค์”

การรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษในปี ค.ศ.1660 รัฐสภาขณะนั้นยังไม่ได้ตรากฎหมายจำกัดพระราชอำนาจใดๆ หรือกำหนดให้พระมหากษัตริย์จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองการปกครองใดๆ โดยที่ประชุมรัฐสภาได้ตกลงมีมติให้พระราชอำนาจของพระเจ้าชาร์ลสที่สองมีพระราชอำนาจตามเดิมเหมือนพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งก่อนที่จะเกิดสงครามกลางเมือง แต่รัฐสภาจะกำหนดและจำกัดเป้าหมายของการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์มากกว่า โดยให้พระมหากษัตริย์ทรงบริหารราชการแผ่นดินร่วมกันกับรัฐสภา อันเป็นที่มาของการเรียกสถาบันพระมหากษัตริย์และแนวทางการปกครองที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1660 ว่าเป็น “the King and Parliament” 

ดังนั้น การคืนทรัพย์สินแก่พระมหากษัตริย์จึงเป็นการคืนทั้งหมดที่เคยเป็นของพระองค์  เพราะพระองค์อยู่ในสถานะและมีพระราชอำนาจเหมือนเดิม แต่ก็ไม่เดิมเสียทีเดียว เพราะการกลับมาของสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชอำนาจและทรัพย์สินที่ได้กลับคืนมานั้น มาจากอำนาจของรัฐสภาที่ตัดสินลงมติให้สถาปนารื้อฟื้นคืนพระราชอำนาจและทรัพย์สินให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ในแง่นี้ อำนาจของรัฐสภาจึงถือเป็นอำนาจสถาปนา และสถาบันพระมหากษัตริย์กลับมาได้ไม่ใช่จากอำนาจจากพระผู้เป็นเจ้าตามหลักการเทวสิทธิ์ (Divine Right) แม้ว่ารัฐสภาจะประกาศว่าพระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจตามหลักการนี้ก็ตาม แต่นั่นเป็นแค่คำประกาศ แต่ในทางปฏิบัติ เป็นอำนาจของ

ถ้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี พ.ศ.2475 เป็นการเปลี่ยนไปสู่สาธารณรัฐ  ทรัพย์สมบัติของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะต้องตกเป็นของรัฐหรือแผ่นดินภายใต้การบริหารจัดการของคณะราษฎร และพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ก็จะกลายเป็นสามัญชน เมื่อเป็นสามัญชน จะไม่ให้มีทรัพย์สินอะไรเลยเพื่อการดำเนินชีวิต ก็แปลกประหลาดอยู่  ก็เกิดคำถามตามมาว่า จะยึดทรัพย์สมบัติจากเจ้านายไปแค่ไหน และเหลือไว้แค่ไหน ?

แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐ แต่ยังคงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ เป็นระบอบการปกครองที่เรียกว่า “พระมหากษัตริย์หรือราชาธิปไตยพระราชอำนาจจำกัดโดยรัฐธรรมนูญ” การยึดทรัพย์สินแบบทั้งหมดให้ตกเป็นของแผ่นดินอย่างในกรณีสาธารณรัฐจึงเป็นไปไม่ได้  แต่จะปล่อยให้ถือครองทรัพย์สินไม่ต่างจากในช่วงที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองที่พระราชอำนาจยังไม่ถูกจำกัด ก็ไม่ใช่อีก ในประเด็นนี้ของอังกฤษ ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถือเป็นวิวัฒนาการมากกว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

แต่ไทยเราจะดูตามสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีการรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษในปี ค.ศ.1660  จะเห็นได้ว่า คำตอบอยู่ที่รัฐสภาว่าจะกำหนดอย่างไร  และในการกำหนดนั้นถือเป็นกระทำร่วมกันในลักษณะของ “พระมหากษัตริย์กับรัฐสภา” (the King and Parliament)  และเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้รัฐสภาต้องประนีประนอมกับพระเจ้าชาร์ลสที่สองก็คือ ประชาชนอังกฤษเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยิ่ง ดังที่มีบันทึกประวัติศาสตร์กล่าวถึงการที่ประชาชนโห่ร้องต้อนรับพระเจ้าชาร์ลสที่สองในขณะที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินสู่กรุงลอนดอนในปี ค.ศ.1660 และแน่นอนว่า พระเจ้าชาร์ลสที่สองเองก็ต้องทรงประนีประนอมกับรัฐสภาหลังจากการสำเร็จโทษพระราชบิดาของพระองค์ในปี ค.ศ.1649

ขณะเดียวกัน ในกรณีของไทย การสืบทอดพระราชมรดกทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ไม่ได้พิจารณาจากเพียงแค่ตัวพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๑ เท่านั้น แต่ย่อมต้องอิงกับกฎมณเฑียรบาลที่กำหนดเงื่อนไขผู้ที่มีสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์ด้วย และปัญหาสำคัญบางประการที่คนจำนวนหนึ่งพากันคาดการณ์กังวลก็จะตกไป เพราะผู้สืบราชสันตติวงศ์คือผู้สืบราชบัลลังก์และราชสมบัติ  

                     

    

การฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ การนิรโทษกรรมและทรัพย์สินพระมหากษัตริย์