posttoday

ระหว่าง"เทพ"สู่ "มนุษย์"

28 พฤศจิกายน 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*******************

กษัตริย์จากดินสู่ฟ้า แล้วจากฟ้ากลับสู่ดิน

แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการของกษัตริย์มีหลากหลายแนวคิด โดยแนวคิดหนึ่งที่น่าจะเป็นแนวคิดหลักในหลาย ๆ สังคมก็คือ “ความเป็นหัวหน้าครอบครัว” โดยที่สังคมที่เล็กที่สุดของมนุษย์ก็คือครอบครัวนั่นเอง ทั้งนี้เมื่อครอบครัวขยายออกไปเป็นสังคมแบบเผ่าชน หัวหน้าเผ่าก็ยังมีสภาเป็นเหมือน “พ่อ” อยู่นั่นเอง เพราะต้องปกป้องดูแลลูก ๆ ตลอดจนญาติพี่น้องและบริวารอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งสังคมได้ขยายตัวเป็น “รัฐ” ในระยะแรก ๆ ก็ยังมีลักษณะผูกพันกันเป็นแบบเครือญาติ แต่มีความซับซ้อนในการดูแลระหว่างกันและกันมากขึ้น การปกครองดูแลจึงต้องยกระดับที่ซับซ้อนตามขึ้นไปด้วย

นักประวัติศาสตร์ไทยแนวโรแมนติค เมื่อได้อ่านตำนานต่าง ๆ เกี่ยวกับกำเนิด “รัฐไทย” มักจะนำมาเชื่อมโยงกันเป็นเรื่องของความรักและความเป็นครอบครัวเครือญาติ โดยเฉพาะตำนานต่าง ๆ ในภาคเหนือของไทย ที่เป็นจุดกำเนิดของรัฐไทยในยุคเริ่มต้น ซึ่งแรก ๆ ก่อนที่จะเกิดอาณาจักรสุโขทัยขึ้นนั้น เรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐช่างอบอวลไปด้วยเรื่องของ “ความรัก” ระหว่างเจ้าชายกับเจ้าหญิงของแต่ละแว่นแคว้น อย่างเช่นเรื่องของพระลอกับพระเพื่อนพระแพง เป็นต้น ดังนั้นในแนวคิด “โรแมนติค” เหล่านี้ สังคมไทยจึงเป็นสังคมแห่ง “ความสุขแสนหวาน” แม้แต่เรื่องของกำเนิดของรัฐไทยแห่งแรกคืออาณาจักรสุโขทัยก็เต็มไปด้วยความสุขอันหวานชื่นนั้นเช่นกัน ดังชื่อเมืองที่มีความหมายว่า “ความสุขแห่งรุ่งอรุณ”

เช่นเดียวกันกับที่เมืองสุโขทัยเต็มไปด้วยเรื่องราวของการปกครองอัน “สดชื่นแสนหวาน” ในน้ำมีปลาในนามีข้าว พ่อขุนบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง ใครใคร่ค้าช้างค้า ค้าวัวค้าควายค้า ที่ประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้ ใครมีเรื่องขุ่นข้องหมองใจก็ไปสั่นกระดิ่งนั้น พ่อขุนก็จะออกมาแล่งความ ไพร่ฟ้าหน้าใส ล้วนสดับพระธรรมค่ำเช้า มีความสุขทุกเทศกาลงานบุญ ฯลฯ พ่อขุนปกครองดูแลอาณาประชาราษฎรอย่างใกล้ชิด ประดุจพ่อแม่ดูแลลูกกระนั้น นักรัฐศาสตร์จึงเรียกการปกครองในสมัยสุโขทัยว่า “พ่อปกครองลูก” หรือ “ปิตุราชา”

สืบเนื่องต่อมาในสมัยอยุธยา ที่กษัตริย์อยุธยาได้เปลี่ยนแปลงมโนทัศน์เพื่อที่จะเพิ่มความยิ่งใหญ่ให้กับตัวกษัตริย์ เพื่อสร้างความสวามิภักดิ์และความยำเกรงให้เกิดขึ้นทั้งในหมู่ราษฎรไทยและอาณาจักรอบข้าง กษัตริย์อยุธยาจึงสร้างบารมีด้วยการผนวกศาสนาพุทธเข้ากับศาสนาพราหมณ์ ให้เกิดสภาพทั้งของ “ธรรม” และ “เทพ” ผนวกเข้าด้วยกัน อันเป็นที่มาของการปกครองแบบ “เทวราชา” หรือ “เทวดาปกครองมนุษย์” พร้อมกับปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองคือกษัตริย์กับประชาชนให้มีความ “ยำเกรง” เกิดขึ้น แต่กระนั้นก็เป็นไปในสภาพที่ไม่มั่นคง เนื่องจากประชาชนยัง “ถวิลหวัง” หรือรำลึกถึงการปกครองในแบบที่เคยหวานชื่นแบบเดิม ๆ อย่างที่มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ที่ยังคงแนบแน่นอยู่ในระบบศีลธรรมตามแนวพระพุทธศาสนาที่เป็นจุดเด่นที่สุดของอาณาจักแห่งแรกของไทย

หลักฐานที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างศาสนาพุทธกับสังคมไทยก็คือ กษัตริย์แม้จะเป็นนักรบที่เข้มแข็งเพียงไร หากไม่ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ก็ยากที่จะปกครองประเทศให้เกิดความสงบสุข เฉกเช่นเดียวกันกับพ่อบ้านที่ไม่เพียงแต่จะต้องทำมาหาเลี้ยงและปกป้องครอบครัวให้ดี แต่จะต้องเป็น “พ่อที่ทรงคุณธรรม” ดังเช่นที่พระเจ้าตากสินและพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกต้องเข้าส่งเสริมพระพุทธศาสนาอย่างสุดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเจ้าตากสินที่สวรรคตในขณะที่บำเพ็ญพรตอยู่นั้น ตลอดจนพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ที่ทรงปฏิบัติตนเป็นพุทธมามกะอย่างเคร่งครัด ก็เพื่อสนองตอบต่อความรู้สึกที่ยึดมั่นของประชาชน นอกเหนือจากเป็นพระราชจริยาวัตรส่วนพระองค์ที่ทรงเลื่อมใสในศาสนาประจำชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และที่ต้องทรงวางพระองค์ให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชนทั้งหลายนั้น

ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนสถานภาพของพระมหากษัตริย์ครั้งใหญ่ที่สุดก็คือ “การเข้าถึงราษฎร” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ปรับสถานะจากความศักดิ์สิทธิ์กับความสูงส่งแบบกษัตริย์ มาสู่ความเป็น “สามัญ” คือร่วมเป็นราษฎรนั้นด้วย แม้ว่าคนไทยจำนวนมากอาจจะยังไม่คุ้นเคยต่อภาพลักษณ์เช่นนี้ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ “ราชาธิปไตยสมัยใหม่” ที่เชื่อมโยงมาถึงการเปลี่ยนแปลงของสถานะในองค์พระมหากษัตริย์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475นั้นด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลเดช รัชกาลที่ 9 อาจจะเป็น “พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้าย” ที่จะยังรวมความเป็นเทพกับความเป็นมนุษย์เข้าไว้ด้วยกันอย่างสมบูรณ์ ทั้งจากความจงรักภักดีอันมั่นคงแนบแน่นที่เป็นลักษณะสำคัญของ “สมมุติเทพ” เข้าด้วยกันกับการเทิดทูนบูชาเคารพรักอย่างลึกซึ้งที่เป็นลักษณะสำคัญของความผูกพันของคนในครอบครัว ซึ่งยากที่จะมีผู้ใดเสมอเหมือนหรืออุบัติขึ้นได้อีก โดยเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

บทความวันนี้ไม่ได้ต้องการที่จะสื่อถึงความขัดแย้งเกี่ยวกับสถานภาพของพระมหากษัตริย์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นความ “ถวิลหวัง” ของนักรัฐศาสตร์คนหนึ่ง ที่มองย้อนทวนความคิดกลับไปในอดีต เพียงเพื่อจะบอกกับผู้คนในสังคมไทยว่า การปกครองบ้านเมืองนั้นก็ “มีชีวิต” ย่อมจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปเรื่อย ๆ และถ้าเป็นไปตามทฤษฎีวิทยาศาสตร์สังคม ก็จะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ “สังคมที่ดีกว่า” เพื่อให้มนุษย์มีชีวิตดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างที่เรียกว่า “ความสุข” นั่นเอง

หรือหากจะมองด้วยแนวคิดตามหลักศาสนาพุทธ บ้านเมืองก็เป็น “ไตรลักษณ์” คือประกอบด้วย อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา คือ ทั้งไม่เที่ยง ตั้งอยู่ไม่ได้ และไม่มีตัวตน แบบว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด และเวียนว่ายเปลี่ยนไป ดังนี้แล

หากทำใจได้อย่างนี้เราก็จะไม่เดือดร้อนอะไร แม้จะมีม็อบอยู่หน้าบ้านก็ตาม

*************