posttoday

หลังปฏิวัติอังกฤษ ค.ศ.1649: “อัปรีย์ไป จัญไรมา”ตามแนว ส.ศิวรักษ์

23 พฤศจิกายน 2563

โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร 

**********************

ปีนี้ ท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อายุได้แปดสิบเจ็ดปีแล้ว ท่านยังแข็งแรง พูดจาฉะฉาน สมองยังดีเหมือนเคย และยัง “ปากเจ็บ” อย่างคงกระพันยิ่ง  ถ้าฉายาคุณชวน หลีกภัย “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง” แล้วฉายาอาจารย์สุลักษณ์น่าจะเป็นอะไรดี ? ฉายาปัญญาชนสยามนั้นก็จริงอยู่ แต่ฉายานี้ไม่ได้บอกอะไรเกี่ยวกับคารมของท่านฃ

ถ้าใครติดตามการพูดของอาจารย์สุลักษณ์ จะพบว่าท่านมี “วิธีการ” ที่เป็นแบบแผนเลยก็ว่าได้ โสกราติสมีวิธีการโต้แย้งแบบโสกราติสฉันใด  อาจารย์สุลักษณ์ก็มีวิธีการพูดแบบอาจารย์สุลักษณ์ฉันนั้น ที่พอจับได้ ก็คือ แกจะด่าแล้วชม ชมแล้วก็ด่า พลิกกลับไปกลับมาอย่างน่าใจหาย ที่ว่าน่าใจหายก็คือ ฟังท่านชมใครอยู่ดีๆ เผลอแป๊บเดียวด่าเช็ดเลย เรียกว่าดึงอารมณ์คนฟังให้ขึ้นและลงอย่างรวดเร็วจนไม่ทันตั้งตัว ไม่ต่างจากฟังโสกราติส หนึ่งในวลีที่ท่านใช้อธิบายคนบ่อยก็คือ ‘กึ่งดิบกึ่งดี” คนใหญ่คนโต เจ้านายที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปมักจะหนีไม่พ้นคำวิจารณ์ของ ส. ศิวรักษ์(แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่อาจารย์ไม่เคยด่า ! เดี๋ยวเฉลย อ่านไปก่อน)

หลังปฏิวัติอังกฤษ ค.ศ.1649: “อัปรีย์ไป จัญไรมา”ตามแนว ส.ศิวรักษ์

ในงานครบรอบแปดสิบปีของอาจารย์สุลักษณ์ ไม่รู้ใครตั้งชื่องานครั้งนั้นว่า “สามัคคีวิจารณ์” (รุมวิจารณ์อาจารย์สุลักษณ์ ภาษาบ้านๆเขาเรียก “รุมยำ”) ผมได้รับเกียรติให้ไปพูด และก็มีอีกสองท่าน คือ อาจารย์สุทธาชัย ยิ้มประเสริฐ (ถึงแก่กรรม) และอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ที่จริงคนที่ถูกเชิญ คนเชิญเขาต้องการให้ไปสามัคคีพูดถึงอาจารย์สุลักษณ์กัน แต่ไปๆมาๆ อาจารย์สมศักดิ์กลับมาพูดถึงผม ผมก็ต้องถือว่าท่านให้เกียรติ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมฯนี่ก็เป็นหนึ่งในนักพูดนักเขียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้คน    แต่ก็ยังไม่ได้รับฉายาที่เหมาะๆจนติดปากผู้คน

หลังปฏิวัติอังกฤษ ค.ศ.1649: “อัปรีย์ไป จัญไรมา”ตามแนว ส.ศิวรักษ์

แต่วันนั้น ผมได้พูดถึงอาจารย์สุลักษณ์ว่า อาจารย์สุลักษณ์ชอบวิพากษ์วิจารณ์คนไปหมด ยกเว้นประชาชน แกไม่เคยด่าว่าประชาชนเลย แกพยายามจะต่อสู้เพื่อให้โอกาสประชาชนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม  เมื่อแกไม่เคยชี้ให้เห็นจุดอ่อนหรือธรรมชาติบางอย่างของคนส่วนใหญ่ ผมเลยเรียกอาจารย์สุลักษณ์ว่าเป็น demagogue เสียเลย !

พอเลิกเสวนา แกก็เดินมาหา แล้วบอกผมด้วยอาการสงบว่า “คุณว่าผมเป็น demagogue”  โดยแกไม่ได้ปฏิเสธหรือตอบรับแต่ประการใด  ถ้าคิดตามหลักกฎหมายบางหลัก การนิ่งเงียบคือการยอมรับ ก็อาจจะตีความได้ว่า แกยอมรับ ส่วนจริงๆ แกจะยอมรับหรือไม่ ก็คงต้องไปถามแกเอง

นอกจาก “กึ่งดิบกึ่งดี” แล้ว  (หมายถึงคำติดปากอาจารย์สุลักษณ์ ไม่ได้ว่าว่าอาจารย์ป็นคนกึ่งดิบกึ่งดี !) คนที่คุ้นเคยกับอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์หรือคุ้นเคยกับการใช้ภาษาของท่านย่อมจะทราบว่า ท่านจะมีคำเด็ดอึกคำ นั่นคือ  “อัปรีย์ไป จัญไรมา”

หลังปฏิวัติอังกฤษ ค.ศ.1649: “อัปรีย์ไป จัญไรมา”ตามแนว ส.ศิวรักษ์

ส่วนคนที่ไม่คุ้น ผมแนะให้ไปเปิดดูเฟสบุ๊คของท่าน  

https://www.facebook.com/sulak.sivaraksa/posts/10156901494452798  จะปรากฎหลักฐานที่ท่านเขียนไว้ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2019  ว่า “‘อัปรีย์ไป จัญไรมา’”  เป็นคำเปรียบเทียบของคนสมัยก่อนที่เปรียบการเปลี่ยนรัฐบาล”

ถ้ามีโอกาส ผมจะถามท่านว่า คำว่า “คนสมัยก่อน” นี่ มันก่อนแค่ไหน ?  และคนประเภทไหนที่ใช้คำเปรียบเทียบนี้ ? และคนสมัยก่อนเขาหมายถึงรัฐบาลจริงๆหรือ ?

ผมได้ยินอาจารย์สุลักษณ์ใช้คำนี้อยู่เสมอ เวลาท่านกล่าวถึงการเปลี่ยนรัฐบาลตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงปัจจุบัน อาจจะมียกเว้นบ้างหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ  แต่ตอนประท้วงขับไล่ทักษิณ ท่านก็เห็นด้วยกับการประท้วง และเมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549  ท่านก็ยอมเป็นหนึ่งในคณะที่ออกตระเวนทัวร์ไปลงยังประเทศต่างๆเพื่ออธิบายให้ต่างชาติได้เข้าใจถึงสถานการณ์การเมืองของไทย

ใครจะตีความว่า   ท่านเห็นด้วยหรือแก้ต่างให้กับรัฐประหารครั้งนั้น ก็แล้วแต่  คงต้องไปถามท่านเอาเอง

แต่เผลอแพล็บเดียว ท่านก็บอกว่า “อัปรีย์ไป จัญไรมา” และล่าสุดท่านก็พูดอีกแล้วว่า “อัปรีย์ไป จัญไรมา” น่าจะหมายความว่ารัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เปลี่ยนรัฐบาลไป แต่ปัจจุบัน ก็ได้รัฐบาลที่ท่านอาจารย์สุลักษณ์ก็เห็นว่าเข้าข่ายคำเปรียบเทียบดังกล่าวอีกแล้ว

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ผมไม่แน่ใจว่าจะมีรัฐบาลไหนที่ไม่เข้าข่าย “อัปรีย์ไป จัญไรมา” ในสายตาของอาจารย์สุลักษณ์  ถ้ามี ก็น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ทานเห็นว่า น่าจะได้เป็นรัฐบาล แต่ไม่ได้เป็น ท่านอาจจะนึกนิยมอุดหนุนกลุ่มคนดังกล่าวอยู่  แต่สมมุติกลุ่มคนที่ว่านี้ได้เป็นรัฐบาลจริงๆ  ผมก็อดนึกไม่ได้ว่า ในที่สุด ก็อาจจะลงเอยเข้าข่าย “อัปรีย์ไป จัญไรมา” ของท่านอยู่ร่ำไป

ถ้ารัฐบาลไหนๆก็เข้าข่าย “อัปรีย์จัญไร”  ผมว่า อาจารย์สุลักษณ์ก็น่าจะเข้าข่าย “พลาโตเมืองไทย” (Plato) เพราะในหนังสือที่เป็นบทสนทนาชื่อ the Republic อันโด่งดัง พลาโตจะมองว่ารูปแบบการปกครองใดๆล้วนแต่เป็นรูปแบบการปกครองที่ย่ำแย่ตกต่ำทั้งสิ้น จะมีดีที่สุดก็แต่การปกครองโดยผู้ทรงปัญญาและคุณธรรม ที่แสนจะอุดมคติ

แต่พลาโตก็ไม่ได้จะอุดมคติเสียทั้งหมด เพราะในหนังสือเรื่อง the Laws ที่เข้าใจว่า น่าจะเป็นงานชิ้นสุดท้ายหรือชิ้นหลังๆของเขา พลาโตได้นำเสนอแนวคิดที่เรียกว่ารูปแบบการปกครองแบบผสมที่ไม่ต้องการผู้ปกครองที่ดีเลิศปัญญาประเสริฐ  แต่ออกแบบให้มีการถ่วงดุลอำนาจกัน อาจารย์ที่สถาบันใดจะสอนพลาโตแต่เรื่องการปกครองโดยผู้ทรงปัญญาและคุณธรรมที่แสนจะเป็นอุดมคติก็สุดแท้แต่  แต่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ สอนเรื่องรูปแบบการปกครองแบบผสมของพลาโตที่ส่งต่อไปยังอริสโตเติลมานานแล้ว และอาจารย์สุลักษณ์ก็เขียนถึงการปกครองแบบผสมนี้มาแล้วด้วย และก็พูดถึงไม่นานมานี้เอง

ที่กล่าวถึงเรื่อง  “อัปรีย์ไป จัญไรมา” ของอาจารย์สุลักษณ์ เพราะต้องการเชื่อมโยงไปสู่เรื่องสงครามกลางเมืองอังกฤษที่ผมเล่าแง่มุมต่างๆมาแล้วหลายตอน เพราะหลังจากปฏิวัติสำเร็จ ฝ่ายรัฐสภาได้ชัยชนะต่อฝ่ายพระเจ้าชารล์สที่หนึ่ง และนำพระองค์เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยกล่าวหาว่าพระองค์เป็นกบฏต่อแผ่นดินและเป็นทรราช  คณะตุลาการได้ตัดสินสำเร็จโทษพระองค์ในปี ค.ศ. 1649 และหลังจากนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ของอังกฤษก็สิ้นสุดลง  และเข้าสู่การปกครองระบอบใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะเรียกอะไร แต่ที่แน่ๆก็คือเป็นสาธารณรัฐ  และเปลี่ยนจาก ราชอาณาจักรหรือ kingdom มาเป็น commonwealth แทน

ตอนแรก ยังไม่มีผู้นำ เพราะฝ่ายรัฐสภาและผู้นำกองทัพขณะนั้นไม่ต้องการให้อำนาจไปรวมศูนย์อยู่คนๆเดียวอีกต่อไป เพราะเห็นว่า ต่อให้พระมหากษัตริย์จะแสนดี แต่นานไปก็คงใช้พระราชอำนาจเกินเลย  จึงให้ตั้งสภาแห่งอาณาจักรขึ้นทำหน้าที่ประดุจรัฐบาล แต่ไม่นาน ก็หนีการปกครองโดยคนๆเดียวไม่พ้น นั่นคือ เกิดผู้ปกครองใหม่ชื่อโอลิเวอร์ ครอมเวล ผู้นำกองทัพนั่นเอง

ถามว่า ผู้คนดีใจไหม ที่สงครามกลางเมืองอังกฤษลงเอยด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐสภาและสามารถ “กำจัดทรราช” หรือพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งไปได้แล้ว  และได้โอลิเวอร์ ครอมเวลมาเป็นผู้ปกครอง ? 

หลังปฏิวัติอังกฤษ ค.ศ.1649: “อัปรีย์ไป จัญไรมา”ตามแนว ส.ศิวรักษ์

คริสโตเฟอร์ ฮิลล์ได้ค้นข้อมูลในช่วงตั้งแต่ ค.ศ. ๑๖๔๙ เกี่ยวกับทัศนะของคนอังกฤษต่อผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติที่เกิดขึ้น

ฮิลล์ได้ยกข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือชื่อ Tyranipocrit Discovered  ที่กล่าวไว้ว่า “เหล่าทรราชตัวใหม่ ผู้ซึ่งขับไล่ทรราชตัวเก่าไป  ก็กลับเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เลวร้ายหรือแย่ยิ่งกว่าเหล่าทรราชย์ตัวเก่าเสียอีก เพียงแต่ทรราชย์ตัวใหม่เหล่านี้แสร้งว่ามีศรัทธาความเชื่อที่ดีกว่า อันเป็นโฉมหน้าใหม่ของทรราชนั่นเอง”

ในบันทึกของนายพันตรีไวท์ ได้กล่าวว่า “มันไม่ใช่ตัวตนของพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งที่สร้างความเจ็บปวดให้ข้าพเจ้าเท่ากับอำนาจที่เกิดจากระบอบการปกครองใหม่ที่ฉ้อฉล ที่มาแทนที่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์”

ส่วนผู้นำของกลุ่มการเมือง “ the Levellers” อย่างวินสตันลีย์ได้เขียนไว้ว่า “ความจริงแล้ว ระบอบทรราชก็คือระบอบทรราช ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหรือรูปแบบไหนก็ตาม”

จะเห็นได้ว่า จากการค้นคว้าข้อมูลประวัติศาสตร์ของคริสโตเฟอร์ ฮิลล์พบว่า คนอังกฤษส่วนใหญ่ทุกฝักทุกฝ่ายต่างผิดหวังกับการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองอันเป็นผลจากสงครามกลางเมืองระหว่าง ค.ศ. 1642-1649    แม้ว่าจะสามารถโค่นล้มทรราช แต่ผู้ปกครองใหม่ก็กลับเป็นทรราชที่ไม่ต่างหรือแย่กว่าด้วยซ้ำ

ที่จริง ในการประเมินการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากภายใต้พระเจ้าชารล์สที่หนึ่งมาเป็นภายใต้โอลิเวอร์ ครอมเวล  คนอังกฤษควรจะหัดใช้สำนวนไทยๆที่อาจารย์สุลักษณ์ชอบใช้  ที่ประหยัดทั้งคำและเวลาแต่ได้ใจดี  นั่นคือ “อัปรีย์ไป จัญไรมา"

อนึ่ง นอกจากอาจารย์สุลักษณ์จะเป็น demagogue แล้ว ต้องอย่าลืมว่า ท่านยังเป็นปัญญาชนสยามที่ได้รับหมายตราตั้ง มาตรา 112 มากที่สุดในปฐพีด้วย

หลังปฏิวัติอังกฤษ ค.ศ.1649: “อัปรีย์ไป จัญไรมา”ตามแนว ส.ศิวรักษ์