posttoday

คณะกรรมการปรองดองจะตั้งได้ไหม

13 พฤศจิกายน 2563

โดย...โคทม อารียา

****************

ผมขอตอบคำถามนี้ว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะแต่งตั้งคณะกรรมการปรองดองหรือคณะกรรมการสมานฉันท์ได้สำเร็จ และหวังว่าหลาย ๆ ฝ่ายจะเอาใจช่วยด้วย เพื่อว่าคณะกรรมการฯจะสามารถดำเนินภารกิจให้ลุล่วงไปในขอบเขตของวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้

ในแถลงการณ์ปี 2557 คสช. ได้อธิบายเหตุผลของการยึดอำนาจว่ามาจากสถานการณ์รุนแรงที่มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในหลายพื้นที่ จึงต้องการนำประเทศกลับสู่สภาวะปกติ และเพื่อให้ประชาชนกลับมารักและสามัคคีกัน คสช. ได้วางแผนที่เดินทาง (road map)

โดยมีก้าวเดิน 3 ก้าวคือ ก้าวที่หนึ่ง สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ก้าวที่สอง ดำเนินการปฏิรูป ร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งสภาปฏิรูป ก้าวที่สาม คืนอำนาจให้ประชาชน ทั้งหมดนี้จักใช้เวลาไม่เกิน 15 เดือน ในตอนนั้น คสช. ต้องการสร้างความปรองดองระหว่างเสื้อสี จึงได้จัดตั้งศูนย์การปรองดองสมานฉันท์ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ดำเนินการโดยกระทรวง และหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน ครอบคลุมทุกตำบลในประเทศ

แต่ก็เป็นแบบไฟไหม้ฟาง ทำให้ในครั้งนั้น คสช. ไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความปรองดอง การณ์กลับเป็นว่ารัฐบาลที่สืบเนื่องมาจาก คสช. ได้สร้างความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นใหม่ที่ไม่ใช่ระหว่างเสื้อสี หากเป็นระหว่างฝ่ายที่อิงอยู่กับ คสช. และฝ่ายนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่เรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรม อย่างไรก็ดี คสช. เคยให้อาณัติแก่ตนเองว่ามาช่วยแก้ไขความขัดแย้งและสร้างความปรองดอง แม้จะกลายมาเป็นคู่ขัดแย้งเอง ก็คงไม่ถึงกับลืมเรื่องที่ได้ก่อไว้ และคงไม่ถึงกับจะขัดขวางความพยายามสร้างความปรองดองที่ริเริ่มโดยฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร

ย้อนกลับไปปี 2537 หลังสมัย รสช. (นำโดย พล.อ.สุจินดา คราประยุร) นายมารุต บุนนาค ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตยขึ้น โดยมีนายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธาน และมีกรรมการรวม 58 คน มีหน้าที่ 1) ศึกษาและเรียบเรียงบทบัญญัติขึ้นเป็นร่างรัฐธรรมนูญ 2) ศึกษาและเรียบเรียงบทบัญญัติขึ้นเป็นร่างกฎหมายการเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายอื่นเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย 3) ศึกษาและยกร่างข้อเสนอแนะเพื่อจัดทำแผนหรือโครงการพัฒนาหรือปฏิรูปการเมือง ในที่สุด ผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดนี้ได้นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ที่เป็นหมุดหมายหนึ่งในการปฏิรูปการเมือง

แม้บริบทจะเปลี่ยนไป แต่ความจำเป็นรีบด่วนของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแทนฉบับ คสช. ได้เกิดขึ้นแล้ว มาคราวนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็สังกัดพรรคประชาธิปัตย์เหมือนเมื่อ 26 ปีก่อน ประธานสภาฯจึงน่าจะมีความพยายามอย่างเต็มที่ในเรื่องนี้ โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้าน และบางส่วนของพรรคฝ่ายรัฐบาล ช่วยสนับสนุนให้มีคณะกรรมการปรองดองที่จะช่วยให้รัฐไทยได้หลุดออกจากหล่มที่ติดอยู่อย่างยักแย่ยักยันมา 29 ปี

นับแต่ยุค รสช. นั่นแหละ ถ้าคณะกรรมการฯสามารถทำงานได้อย่างเป็นผล คือช่วยทำให้เกิดรัฐธรรมนูญที่คล้ายรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ง่ายและสั้นกว่า โดยคณะกรรมการฯมีหน้าที่ทำการสื่อสารกับสังคมเป็นหลัก สร้างบรรยากาศการศึกษาเรียนรู้เรื่องรัฐธรรมนูญ สร้างบรรยากาศการสานเสวนา (การฟัง) และการถกแถลง (deliberation) ที่เน้นการแจงเหตุผล เอื้ออำนวยแก่เสรีภาพทางวิชาการและการมีพื้นที่แสดงออกที่ปลอดภัย นอกจากนี้ คณะกรรมการฯน่าจะศึกษาประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในเรื่องความยั่งยืน ความสอดคล้องกับบริบทสังคมไทยและบริบทสากล ตลอดจนเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

คราวนี้ขอพิจารณาประเด็นที่มีผู้ออกมาคัดค้านดูบ้าง มี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐบางคนมาพูดทำนองว่าคณะกรรมการฯนี้จะมาเข้าข้างกลุ่มผู้ชุมนุม คือมาช่วยกดดันให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาตนเอง และมาขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ จึงไม่เห็นด้วย อีกทั้งค้านไว้ก่อนเกี่ยวกับบุคคลบางคนที่ถูกพาดพิงว่าอาจมาเป็นกรรมการปรองดอง

ส่วนเสียงคัดค้านแบบเปรย ๆ ก็มีเช่น เคยมีคณะกรรมการปรองดอง/สมานฉันท์มาหลายต่อหลายชุดแต่ไม่เห็นผลทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม คนแต่งตั้งก็ว่าอย่าง คนที่มีอำนาจต่อมาว่าอีกอย่าง ไม่สานต่อ อีกทั้งดูเหมือนว่าคำว่าสมานฉันท์กลายมาเป็นวาทกรรมกลวง ๆ เพียงให้ดูดี แต่ไม่เคยทำอย่างจริงจัง มีความเห็นหนึ่งที่ไม่ถึงกับคัดค้าน เพียงแต่เสนอเงื่อนไขว่า ถ้าจะให้คณะกรรมการนี้มีประสิทธิผล ก็ขอให้รัฐสภาออกกฎหมายรองรับ ให้มีอำนาจในการประกันเสรีภาพการแสดงความเห็น ตลอดจนมีผลบังคับให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯไปพิจารณา ผมเองเห็นว่าการออกกฎหมายเช่นนี้จะยิ่งประวิงเวลาออกไป อีกทั้งความปรองดองเป็นเรื่องของจิตใจ ของความคิดเห็น ของอัตวิสัย มากกว่าจะเป็นเรื่องของวัตถุวิสัยหรือรูปธรรมที่จะใช้กฎหมายมาบังคับให้เป็นผล

ส่วนการคัดค้านอย่างเด็ดขาดว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมมีขึ้นอย่างชัดเจนจากฝ่ายผู้ชุมนุมหรือฝ่ายคณะราษฎร 63 ที่พูดถึงเรื่องนี้ในการแถลงข่าวที่ท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนว่า คณะกรรมการฯเป็นเพียงการแสดงละครทางการเมืองของรัฐบาลเพื่อซื้อเวลาให้นายกรัฐมนตรีอยู่ต่อ พร้อมทั้งยืนยันให้นายกรัฐมนตรีลาออกเท่านั้น “เราไม่สามารถปล่อยให้ พล.อ. ประยุทธ์ตีเนียนไปจนหมดวาระได้แน่นอน”

นายชวน หลีกภัย ให้ข่าวในเรื่องนี้ว่า ได้คุยกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรีทางโทรศัพท์ พล.อ.สุรยุทธ์ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นทางการเมือง แต่ขอให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ส่วนรวม ขอประชาชนอย่าเป็นกังวลเรื่องคณะกรรมการสมานฉันท์ ความเห็นขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าไม่มีเป็นเรื่องผิดปกติ นายชวนกล่าวต่อไปว่า อดีตนายรัฐมนตรีทุกคนให้ความเห็นที่ดี ได้คุยทางโทรศัพท์กับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งบอกว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ ยินดีให้ความร่วมมือ

ในเรื่องโครงสร้างของคณะกรรมการฯนั้น นายชวนให้ความเห็นว่า โครงสร้างแบบที่ 1 ที่มี 7 ฝ่ายนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ หรือจะให้ได้ก็ต้องเสียเวลาติดต่อมาก คิดว่าได้เท่าไรเอาเท่านั้นก่อน ส่วนโครงสร้างแบบที่ 2 องค์ประกอบไม่ใช่นักการเมือง หากเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาว

เท่าที่ผ่านมา ทั้งสถาบันพระปกเกล้าและนายชวนไม่ค่อยได้แย้มพรายเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ในตอนต้นของบทความนี้ ผมได้เสนอแนะเรื่องนี้ไว้บ้าง คืออยากให้มีหน้าที่สร้างบรรยากาศการปรองดองผ่านการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน โดยเน้นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความเห็น ขณะเดียวกันก็ทำการศึกษาในประเด็นที่ข้องเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและระบบความคิดที่จะต้องสมานให้ทนกันและโอบรับกันได้ ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์และฝ่ายที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

ผมอยากฝากให้คณะกรรมการฯมีหน้าที่อีกสักหน้าที่หนึ่ง นั่นคือการวิเคราะห์ความเสี่ยง และการชี้ให้สังคมและผู้มีอำนาจหน้าที่เห็นจุดที่เสี่ยง จุดที่คนเพียงกลุ่มเล็ก ๆ สามารถสร้างความปั่นป่วน และก่อเหตุที่อาจลุกลามเป็นความโกรธแค้นที่ขยายวงได้

ผมทราบดีว่าทั้งผู้ชุมนุมและฝ่ายความมั่นคงต่างก็พยายามอยู่แล้วที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรง แต่อยากให้มีการเตือนสติ การกำชับ และการเน้นในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เหตุการณ์ที่ทำให้ผมกังวลมี อาทิ ตำรวจยืนอยู่และไม่รู้จะทำอะไรเมื่อเห็นผู้ชุมนุมฝ่ายหนึ่งใช้ไม้ไล่ตี หรือเข้าทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อถูกถามก็ตอบว่านายยังไม่สั่ง หรือตำรวจยืนอยู่เห็นการล้อมรถและการแสดงความอาฆาตมาดร้ายเมื่อคิดว่ามีบุคคลที่ตนเกลียดชังเดินทางมาพร้อมกับรถคันนั้น ในกรณีทำนองนี้ แผนการเผชิญเหตุ (rule of engagement) ของตำรวจควรจะเป็นอย่างไร และตำรวจและนายตำรวจทราบแผนนั้นอย่างชัดเจนเพียงไร

สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ ทางสุขภาพอนามัย ทางความเป็นธรรมในสังคมอย่างหนักหนาสาหัส ส่วนการเมืองอยู่บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลง ผมจึงอยากให้มีคณะกรรมการปรองดอง ไม่ใช่ว่าขอให้มีดีกว่าไม่มี แต่อยากให้เป็นคณะกรรมการฯที่เข้มแข็ง อยากให้กรรมการแต่ละคนเอาจริงเอาจัง อยากให้สังคมให้ความไว้วางใจ อยากให้คณะกรรมการฯเป็นมโนสำนึกของสังคมได้ในระดับหนึ่ง ในยามที่สังคมเกิดความว้าเหว่เช่นนี้