posttoday

การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมสมัยใหม่ (2)

31 ตุลาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**************

รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นกษัตริย์ในยุคใหม่ที่มีแนวคิดปฏิรูป “แบบไทย ๆ”

ผู้เขียนก็เช่นเดียวกันกับคนที่เรียนประวัติศาสตร์ไทยแล้วทราบว่า ประเทศไทยมีการปฏิรูปประเทศในหลาย ๆ ด้านครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ถ้าเราวิเคราะห์ลงไปในกระบวนการของการปฏิรูปนั้น จะพบว่าเป็น “พระมหากรุณาธิคุณ” จากองค์พระมหากษัตริย์เป็นเบื้องต้น คือรัชกาลที่ 5 ท่านทรงมีพระราชดำริและดำเนินพระราโชบายต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง ในแบบ “เอกาธิปไตย” คือพระองค์ท่านนั่นแหละที่ทรงกระทำการปฏิรูปแต่พระองค์เดียว โดยมุ่งถึงความเป็นปึกแผ่นและความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง แม้ว่าในระยะต่อมาท่านจะทรงใช้บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์มาผ่อนเบาพระราชภาระ แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นล้วนมาจากพลังขับเคลื่อนจากพระองค์เป็นปฐม

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 น่าจะทรง “ซึมซับ” แนวพระราชดำริและวิธีปฏิบัติต่าง ๆ มาจากพระราชบิดาไม่มากก็น้อย แต่พระองค์กลับมีแนวพระราชดำริและวิธีปฏิบัติที่เป็นแนวทางเฉพาะพระองค์นั้นด้วย นั่นก็คือแนวคิดและวิธีปฏิบัติแบบประธิปไตย ด้วยการสร้างระบบ “ถ่วงดุลอำนาจ” จากการดึงภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมปรึกษาหารือ อย่างเช่นในเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญ ก็ทรงใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาร่วมร่างและให้ข้อแนะนำ รวมถึงที่เนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญก็ให้มีลักษณะของการ “ประสานประโยชน์” คือรวบรวมผู้คนในหลาย ๆ ภาคส่วนให้มาร่วมกันรับผิดชอบบ้านเมือง เป็นต้นว่าในเรื่องของ "คณะอภิรัฐมนตรี” ก็เป็นคงพระราชอำนาจในการที่จะกระจายภาะงานออกไปในระบบราชการ

ในขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์ยังทรงต้องเป็นหลักของบ้านเมือง จึงทรงมีแนวคิดที่จะคงรูปแบบของคณะอภิรัฐมนตรีไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับในพระองค์” อันประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ให้มาร่วมถวายงานเพื่อผ่อนเบาพระราชภาระนั่นเอง

นักวิชาการได้ศึกษาถึงเหตุผลที่รัชกาลที่ 7 ทรงต้องถ่วงดุลอำนาจและประสานประโยชน์ในตอนนั้นว่า เหตุผลประการสำคัญน่าจะมาจากรัชกาลที่ 7 ทรงรู้ว่าสถานะของพระมหากษัตริย์ไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนเช่นครั้งในรัชสมัยของพระราชบิดา อย่างกรณีของกบฏ ร.ศ. 130 ที่มีทหารชั้นผู้น้อยพยายามจะโค่นล้มราชบัลลังก์เป็นต้น อีกทั้งน่าจะทรงล่วงรู้ด้วยว่าในการเปลี่ยนรัชกาลภายหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 6 นั้นมีปัญหาอย่างไร โดยเฉพาะทัศนะของข้าราชการรุ่นใหม่ที่มีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการเคลื่อนไหวที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากข้าราชการกลุ่มนี้ ที่คงจะทราบถึงพระเนตรพระกรรฐ์เช่นกัน

อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ อย่างที่ทราบกันว่าพระองค์ไม่ได้เตรียมพระองค์ที่จะขึ้นครองราชย์ ถ้าจะมองด้วยเหตุผลทางการเมืองก็คือ ทรงขาดฐานอำนาจอยู่พอควร โดยเฉพาะระบบราชการที่พระมหากษัตริย์เคยควบคุมและใช้งาน อีกทั้งพระองค์ก็อยู่ในกลุ่มเจ้านายที่ยังมีอาวุโสน้อย เพราะยังมีเจ้านายอื่นที่มีอาวุโสสูงกว่า รวมถึงมีบารมีมากกว่า จึงยังทรงต้องพึ่งเจ้านายเหล่านั้นและเอาเข้ามาสนับสนุนงานราชการต่าง ๆ อยู่ด้วย แต่ก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งเดียวกันเหมือนอย่างในครั้งรัชสมัยของพระราชบิดาที่ทรงมีพระบารมีในพระองค์เองสูงยิ่ง จึงทรงสามารถกำกับและใช้งานเจ้านายต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและกลมเกลียวกัน

อีกปัญหาหนึ่งในการร่างรัฐธรรมนูญของรัชกาลที่ 7 ก็คือ ทรงเป็นกังวลถึงระบบรัฐสภาว่าจะมีรูปแบบใดและสมาชิกรัฐสภาจะมีที่มาอย่างไร เพราะตามระบบตะวันตกถ้าจะยึดอังกฤษเป็นแม่แบบนั้น สมาชิกรัฐสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้ก็ด้วยความเป็นห่วงเป็นใยของผู้ปกครองไทยที่มีมาแต่โบราณ ว่าคนไทย “ยังไม่พร้อม” โดยเฉพาะอย่างที่ชนชั้นสูงเหล่านั้นมีความเชื่อว่า ราษฎรไทยอาจจะถูก “จูงจมูก” คือชักจูงไปตามที่ผู้มีอำนาจโน้มน้าวจนถึง “บังคับ” เอาได้ เพราะคนไทยยังเกรงกลัวผู้มีอำนาจและไม่ได้มีความคิดเป็นของตนเอง

ดังนั้นถ้าเป็นระบบเลือกตั้งที่เปิดกว้าง อาจจะมีคนไปโน้มน้าวหรือบังคับราษฎรให้เลือกฝ่ายของตน และเนื่องจากคนที่อยากเข้ามามีอำนาจนี้มีหลายคนหลายฝ่าย บ้านเมืองก็จะเกิดการแตกแยกเสียตั้งแต่หาเสียงเลือกตั้งนั้นแล้ว และยิ่งจะมีความแตกแยกมากขึ้นเมื่อต้องมาจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงที่จะต้องเข้ามากำกับควบคุมข้าราชการก็ยิ่งจะทำให้ข้าราชการสับสนว่าจะเข้าข้างกับฝักฝ่ายใดกันแน่ เนื่องจากการขึ้นสู่อำนาจของผู้ปกครองในระบบที่มาจากการเลือกตั้งนี้สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา

ด้วยเหตุนี้ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับของรัชกาลที่7 จึงค่อนข้างล่าช้า คือทรงให้พระยากัลยณไมตรี (นายฟรานซิส บี. แซร์) ศึกษาแนวทางต่าง ๆ ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใช้ในประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2469 รวมถึงที่ได้ให้ นายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ ได้ศึกษาเปรียบเทียบระบบการเมืองในนานาชาติ จนกระทั่งได้ให้พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ปลัดทูลฉลอง(ปลัดกระทรวง)กระทรวงการต่างประเทศ ได้ไปลองร่างรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่ทรงมีพระราชดำริและพระราชวินิจฉัยในเวลาต่อมานั้น ด้วย ถึงขั้นที่มีข่าวออกมาสู่สังคมไทยในตอนนั้นว่า อาจจะมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญในปี 2475 อันเป็นปีที่150 ของการสถาปนาราชวงศ์จักรีหรือ “กรุงรัตนโกสินทร์” แต่ก็มาเกิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อนในวันที่ 24 มิถุนายนปีนั้น

สาเหตุของความล่าช้าในการร่างรัฐธรรมนูญตามพระราชประสงค์ก็คือ บรรดาที่ปรึกษาตามที่ทรงใช้งานให้ถวายคำปรึกษาเหล่านั้นไม่ค่อยเห็นด้วยกับการลดทอนพระราชอำนาจ และยังคงต้องการที่จะให้พระมหากษัตริย์มีบทบาทในการกำกับดูแลทั้งรัฐบาลผ่านคณะอภิรัฐมนตรี และรัฐสภาผ่านการแต่งตั้งภายใต้พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ ในขณะที่รัชกาลที่7 มีพระราชประสงค์ที่จะให้ราษฎรได้เข้ามามีบทบาทในการปกครองรูปแบบใหม่มากกว่าที่เป็นอยู่

ทั้งหมดนี้จึงเป็นปัญหาของชนชั้นปกครองของไทยที่ยังไม่ไว้วางใจราษฎร และพยายามทำเรื่องที่จะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองให้เป็นไปอย่างเชื่องช้า อันนำมาซึ่งปัญหาของผู้ปกครองเองที่ต้องสิ้นอำนาจไปเพราะความล่าช้านั้น

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับที่รัฐบาลขณะนี้ไม่เชื่อใจเด็ก ๆ แต่อาจจะมีจุดจบเช่นเดียวกันถ้าทำอะไรล่าช้า

*******************************