posttoday

สงครามกลางเมืองอังกฤษ: ความพ่ายแพ้ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง

29 ตุลาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

************************

“สงครามกลางเมืองอังกฤษ” (the English Civil War) เป็นสงครามระหว่างฝ่ายสถาบันพระมหากษัตริย์กับฝ่ายรัฐสภา เริ่มจากการที่ฝ่ายรัฐสภาได้กราบบังคมทูลยื่นข้อเสนอสิบเก้าประการ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ลดทอนพระราชอำนาจ หลังจากที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งทรงรับทราบ พระองค์ได้มีพระราชหัตถเลขาตอบกลับโดยตอบโต้ว่า ถ้าหากพระองค์ทรงยอมรับข้อเสนอทั้งสิบเก้าประการนี้ ก็เท่ากับยอมให้การปกครองของอังกฤษที่ดำเนินมาตั้งแต่โบราณต้องมีอันสูญสิ้นลง พระองค์จึงทรงเสด็จออกจากกรุงลอนดอนไปยังเมืองนอตติงแฮม และประกาศสงครามกับฝ่ายรัฐสภา และสงครามกลางเมืองอังกฤษก็ได้เริ่มอุบัติขึ้น

สงครามกลางเมืองอังกฤษได้แบ่งออกเป็นสามช่วง ช่วงแรกคือนับตั้งแต่การประกาศสงครามในวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1642 จนถึง ค.ศ. 1646 ช่วงที่สอง ระหว่าง ค.ศ. 1648-1649 และช่วงที่สามคือ ค.ศ. 1649-1651 โดยในสองช่วงแรกของสงครามกลางเมืองอังกฤษเป็นการทำสงครามระหว่างผู้ที่สนับสนุนพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งกับพวกที่สนับสนุนรัฐสภาอันมีนายทหารที่ชื่อโอลิเวอร์ ครอมแวลเป็นผู้นำ ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งในปี ค.ศ. 1642

หลังได้ชัยชนะในสงครามกลางเมือง ในปี ค.ศ. 1649 ฝ่ายรัฐสภาได้ออกกฎหมายตั้งคณะตุลาการขึ้นมาพิพากษาพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง โดยฝ่ายรัฐสภาได้กล่าวหาพระองค์ว่าเป็นผู้ทรยศต่อแผ่นดินอังกฤษและเป็นทรราชใช้อำนาจไปเพื่อตัวพระองค์เอง และพระองค์ได้ทรงนำอังกฤษไปสู่สงครามกลางเมือง ชักศึกเข้าบ้านโดยการนำกองทหารจากสก๊อตแลนด์มาเข่นฆ่าคนอังกฤษ ทำให้ผู้คนต้องเสียชีวิตล้มตายไปเป็นจำนวนมาก (จำนวนผู้เสียชีวิตในการรบ ๘๔,๘๓๐ คน และเสียชีวิตจากการบาดเจ็บอีกถึงนับแสนคน คิดเป็น ๓.๖ เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในขณะนั้น)

องค์คณะตุลาการดังกล่าวมีทั้งสิ้น ๑๓๕ คน แต่ผู้ที่เข้านั่งบัลลังก์ตัดสินมีเพียง ๖๘ คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้สนับสนุนฝ่ายรัฐสภาและต่อต้านพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น ซึ่งในสภาวะดังกล่าวที่เป็นสภาวะหลังสงครามกลางเมืองที่ฝ่ายสนับสนุนพระมหากษัตริย์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ตุลาการคนใดที่สนับสนุนพระราชอำนาจก็คงจะต้องเก็บเนื้อเก็บตัว อีกทั้งจะคาดหวังให้สภาที่ปรึกษา (the Council of State) หรือสภาคณะปฏิวัติแต่งตั้งตุลาการให้สมดุลกันมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านพระมหากษัตริย์นั้น ก็คงจะเป็นเรื่องประหลาดสำหรับสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น คงไม่ต่างจากการเมืองในบ้านเราขณะนี้ ที่การตั้งอะไรต่อมิอะไรก็ล้วนแล้วแต่เป็นคน “ฝ่ายเดียวกัน” ทั้งนั้น หรือไม่ก็เป็นพวกที่ “ไม่เคยมีฝ่ายอะไรเลย” ดีคอยตีกินกับฝ่ายที่มีอำนาจอยู่เสมอ

ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นอัยการฟ้องร้องในคดีดังกล่าวคือ จอห์น คุ๊ก (John Cooke: ๑๖๐๘-๑๖๖๐) ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการในขณะนั้น เป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งหลังจากที่ฝ่ายรัฐสภาได้ชัยชนะ เพราะก่อนหน้าที่เขาจะได้รับแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมอัยการนี้ คุ๊กได้ชื่อว่าเป็นนักกฎหมายหัวก้าวหน้า และแน่นอนว่า คนที่จะมารับตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการและรับหน้าที่ในการฟ้องร้องพระเจ้าแผ่นดินเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษ ย่อมจะต้องเป็นคนที่กล้าหาญและยืนหยัดในอุดมการณ์ในเรื่องสิทธิและความเสมอภาคของประชาชนอย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้เอง ประวัติศาสตร์อังกฤษจึงบันทึกว่า อธิบดีกรมอัยการคนแรกในช่วงที่อังกฤษเป็นสาธารณรัฐ (รัฐที่มีการปกครองที่ไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์) ก็คือ จอห์น คุ๊กนี่เอง

แต่ต่อมา หลังจากที่การเมืองผันผวน อังกฤษกลับเข้าสู่การมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอีกครั้งในยุคที่เรียกว่า “ยุคฟื้นฟู” (English Restoration) โดยได้มีกราบบังคมทูลเชิญพระเจ้าชาร์ลส์ที่สอง พระโอรสของพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งที่เสด็จไปลี้ภัยอยู่ที่ฝรั่งเศสให้กลับมาเป็นพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1660 ในขณะที่คนอื่นๆที่เคยสนับสนุนสาธารณรัฐนิยม (republicanism) นั้นเอาตัวรอดโดยการยอมก้มหัวเลียเท้าให้กับผู้มีอำนาจ แต่คุ๊กนั้นยอมหักเสียดีกว่าที่จะยอมงอก้มหัวให้ใคร เขาจึงถูกตัดสินพิพากษาว่ามีความผิดในฐานมีส่วนในการปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดิน ถูกลงโทษประหารชีวิตโดยการแขวนคอ และร่างของเขาถูกฉีกออกเป็นชิ้นๆ

ตามหลักฐานประวัติศาสตร์กล่าวถึงคุ๊กว่าเป็นนักกฎหมายที่มีหัวก้าวหน้า รักอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง คุ๊กยังเคยเป็นทนายให้กับจอห์น ลิลเบิร์น (John Lilburne: ๑๖๑๔-๑๖๕๗: ลิลเบิร์นเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อสู้เพื่อสิทธิอันความเสมอกันของมนุษย์ ลิลเบิร์นเป็นคนสร้างคำว่า “freeborn rights” หรือ “สิทธิของการเกิดมาเสรี” จนทำให้เขามีฉายาว่า “Freeborn John”) และในการเป็นทนายต่อสู้คดีครั้งนั้น คุ๊กได้คิดค้นหลักการใหม่ในกระบวนการยุติธรรมที่เรียกว่า “right to silence” หรือ “สิทธิในการไม่ให้ปากคำ” ดังที่เรามักจะได้ยินในภาพยนตร์ฝรั่งที่ตำรวจจะต้องอ่านสิทธิให้กับผู้ต้องหาในขณะจับกุมว่า ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะไม่ให้การใดๆได้ (right to remain silent) และผู้ให้กำเนิดหลักการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหานี้ก็คือ จอห์น คุ๊ก นี่เอง

นอกจากหลักการดังกล่าวนี้ คุ๊กยังมีคุณูปการอีกมากมายในการเป็นผู้บุกเบิกปฏิรูประบบ กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของอังกฤษ เช่น หลักการที่เรียกว่า “cab-rank-rule” อันเป็นหลักการที่กำหนดว่า ทนายทุกคนจะต้องรับว่าความให้กับผู้ต้องหา ไม่ว่าผู้ต้องหานั้นจะมีสถานภาพใดในสังคม หากไม่มีหลักการที่ว่านี้ ก็จะเกิดปัญหาว่า ผู้ต้องหาคนใดที่อาจจะมีชื่อเสียงหรือสถานะไม่ดีในสังคมไม่ว่าในทางใดๆก็ตาม จะหาคนมาเป็นทนายแก้ต่างให้เขาไม่ได้ เพราะไม่มีทนายคนใดจะยอมว่าความให้กับคนที่สังคมต่อต้าน เพราะเกรงจะถูกสังคมประณามตำหนิหรือต่อต้านไปด้วย

อีกทั้งคุ๊กยังเป็นนักกฎหมายคนแรกๆที่ออกมาปกป้องคนยากคนจน โดยชี้ให้เห็นว่า ความยากจนเป็นสาเหตุหนึ่งของการกระทำผิด และด้วยเหตุนี้เขาจึงเสนอให้มีการทำทัณฑ์บนสำหรับคนที่ขโมยเพื่อหาอาหารมาต่อชีวิตเขาหรือคนในครอบครัวของเขา และคุ๊กยังริเริ่มให้คนจนได้รับการดูแลว่าความต่อสู้คดีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหลักการนี้สำคัญอย่างยิ่งสำหรับสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ และสังคมที่อารยะแล้วย่อมจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นพิเศษ

หลายคนอาจจะคิดว่า จากคุณสมบัติดังกล่าว คุ๊กน่าจะเป็นคนที่ต่อต้านพระมหากษัตริย์ แต่จริงๆแล้ว เขาก็ไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองที่ต่อต้านพระมหากษัตริย์ขนาดนั้น แต่เขาเป็นคนที่มีจุดยืนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของคนทุกคน และต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนยากคนจน และด้วยคุณสมบัตินี้เองที่ฝ่ายปฏิวัติเห็นว่า เขาเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดที่จะมารับตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการ ทำหน้าที่ “ฟ้องพระเจ้าแผ่นดิน” เพราะชื่อเสียงของเขาน่าจะช่วยให้ฝ่ายปฏิวัติมีภาพลักษณ์ที่เที่ยงธรรมในการพิพากษาพระเจ้าแผ่นดิน

กล่าวได้ว่า คุ๊กถูกแต่งตั้งแกมบังคับให้รับภาระหน้าที่ดังกล่าว เพราะหลังจากที่ฝ่ายปฏิวัติตั้งข้อกล่าวหา “ทรยศต่อชาติและทรราช” อันเป็นอาชญากรรมร้ายแรงต่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง พระองค์ปฏิเสธที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยพระองค์ให้เหตุผลว่า ไม่มีศาลใดจะมีอำนาจในการตัดสินสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ พระองค์ยืนยันว่า พระราชอำนาจในการปกครองแผ่นดินของพระองค์นั้นได้รับประทานมาจากพระผู้เป็นเจ้าและพระองค์ก็ทรงขึ้นครองราชย์และทรงเข้าพระบรมราชาภิเษกตามจารีตประเพณีและกฎหมายของแผ่นดินอังกฤษ ส่วนอำนาจของพวกที่ต้องการพิพากษาพระองค์นั้นเป็นอำนาจที่มาจากการใช้กำลังความรุนแรง

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงยืนยันว่า การพิพากษาคดีนี้ผิดกฎหมาย พระองค์ทรงตรัสต่อฝ่ายปฏิวัติว่า “ด้วยกฎหมายแห่งแผ่นดินนี้ ข้าพเจ้ามั่นใจอย่างยิ่งว่า ไม่มีนักกฎหมายผู้ทรงความรู้คนใดที่จะยืนยันว่าการถอดถอนจะสามารถกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ได้ เพราะกฎหมายทั้งหลายทั้งปวงนั้นดำเนินไปภายใต้พระปรมาภิไธยในพระองค์ และหนึ่งในหลักกฎหมายนั้นก็คือ พระมหากษัตริย์ไม่ทรงสามารถกระทำผิดได้” (Then for the law of this land, I am no less confident, that no learned lawyer will affirm that an impeachment can lie against the King, they all going in his name: and one of their maxims is, that the King can do no wrong.)

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งไม่ทรงยอมรับการตั้งข้อกล่าวหาและการพิพากษาคดีของฝ่ายปฏิวัติ เพราะคำถามที่พระองค์ตั้งย้อนกลับไปก็คือ ฝ่ายปฏิวัติเอาอำนาจอันชอบธรรมอะไรและจากไหนมาตัดสินพระองค์ ?

สงครามกลางเมืองอังกฤษ: ความพ่ายแพ้ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง

“The King can do no wrong.”   

สงครามกลางเมืองอังกฤษ: ความพ่ายแพ้ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง

                                                         การพิพากษาคดีพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่ง