posttoday

การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมสมัยใหม่ (1)

24 ตุลาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*************

สังคมวิวัฒน์ไป สถาบันทั้งหลายต้องวิวัฒน์ตาม

“วิวัฒน์” หรือ “วิวัฒนาการ” (Evolution) คือการปรับตัวอย่างช้า ๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างเช่นการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ถ้าตามทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน ก็คือปรับตัวให้อยู่รอดตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ส่วนใหญ่จะใช้เวลานานมาก เช่น วิวัฒนาการจากลิงมาเป็นมนุษย์ก็ใช้เวลาหลายล้านปี สำหรับในทางสังคม วิวัฒนาการคือการปรับตัวของกลุ่มคนเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม อย่างเช่น วิวัฒนาการของบ้านเมือง จากสังคมโบราณสู่สังคมสมัยใหม่ เป็นต้น ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพอสมควรเช่นกัน

ผู้เขียนได้อ่านหนังสือชื่อ “สถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาธิปไตย” โดย สันติสุข โสภณสิริ ซึ่งนำมาจากวิทยานิพนธ์ในการศึกษาระดับปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2555 ซึ่งมีความน่าสนใจในหลาย ๆ ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย

ประเด็นแรก สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยแบบสมัยใหม่ที่เรียกว่า “พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” นำรูปแบบมาจากประเทศอังกฤษ โดยมาดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ทั้งนี้ในตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ตามความคิดของคณะราษฎรวางรูปแบบให้พระมหากษัตริย์เป็นเพียง “สัญลักษณ์” ของประเทศ คือมีพระราชอำนาจน้อยและถูกควบคุมโดยรัฐสภา โดยมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 กำกับไว้

แต่ภายหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8ได้ไม่นาน กระแสสังคมไทย “ถวิลหวัง” (หมายถึงความรู้สึกนึกคิดที่คุกรุ่นอยู่ในสังคมไทย แต่เนื่องจากตอนนั้นเราปกครองด้วยรัฐบาลทหาร ประชาชนจึงไม่กล้าแสดงออก รวมถึงไม่มีสื่อสมัยใหม่ที่จะสื่อสารถึงกันได้เหมือนในสมัยนี้ ประชาชนจึงทำได้แค่จับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ แต่ผู้มีอำนาจที่เอาใจใส่ในประชาชนก็น่าจะรับรู้ได้)ถึงการฟื้นฟูของสถาบันพระมหากษัตริย์

คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญที่นำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นประธาน จึงได้นำเสนอเรื่องการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ขึ้นสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ด้วยการยกประเด็นเป็นข้อความที่จะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญว่า “ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งคณะกรรมาธิการก็ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช มีอิทธิพลต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 เป็นอย่างมาก เพราะสามารถทำให้คณะกรรมาธิการบัญญัติข้อความที่ต้องการนั้นได้ ทั้งนี้นอกเหนือจากปัจจัยที่สังคมไทยต้องการจะถวายพระเกียรติยศและความปลอดภัยคืนสู่พระมหากษัตริย์ ได้เป็นกระแสบีบให้คณะกรรมาธิการยกร่างต้องให้ความสำคัญแล้ว

อีกปัจจัยหนึ่งก็คือเหตุผลที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ได้อธิบายต่อคณะกรรมาธิการยกร่างถึง “รูปแบบที่ถูกต้อง” โดยยืนยันว่ารูปแบบการปกครองที่จะมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่เรายึดรูปแบบของประเทศอังกฤษนี้ จำเป็นที่จะต้องให้พระมหากษัตริย์มีพระเกียรติยศสง่างาม ผู้ใดจะละเมิดมิได้ พร้อมกับที่ต้องให้มีพระราชอำนาจในบางเรื่องเพื่อให้คงพระราชอิสริยยศนั้นไว้ โดยมีผู้นำในฝ่ายต่าง ๆ ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติก็คือประธานรัฐสภา ฝ่ายบริหารก็คือนายกรัฐมนตรี และฝ่ายตุลาการก็คือประธานศาลฎีกา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการปกครองของอังกฤษที่ “พระมหากษัตริย์จะทรงทำผิดมิได้” (The king can do no wrong.) เพราะต้องมีผู้รับความผิดนั้นแทนดังกล่าว

ในประเด็นเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์นี้ ยังมีการอภิปรายกันถึงการฟื้นฟูระบบ “องคมนตรี” ซึ่ง ม.ร.ว.เสนีย์เห็นว่ามีความจำเป็น เนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ในรูปแบบนี้จะต้องทรงงานหลายอย่าง ทั้งที่เป็นพระราชกิจส่วนพระองค์และพระราชกิจในส่วนของบ้านเมือง โดยเฉพาะการใช้พระราชอำนาจผ่านองค์กรทั้งสามนั้น

แม้ว่าจะมีกรรมาธิการบางคนคัดค้านว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากในระบบของอังกฤษก็ไม่มีองคมนตรี โดยพระมหากษัตริย์อังกฤษทรงใช้รัฐบาลเป็นที่ปรึกษา และนายกรัฐมนตรีเองก็ต้องเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์อยู่เป็นระยะ แต่ ม.ร.ว.เสนีย์ก็ยืนกรานว่ามีความจำเป็น และเหมาะสมกับการปกครองของไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่สุดรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 ก็ให้เรื่องขององคมนตรีเป็นพระราชอำนาจส่วนพระองค์

ก่อนที่จะไปพูดถึงประเด็นอื่น ๆ เกี่ยวกับ “การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ผู้วิจัยได้นำเสนอความคิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่มาของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าประกอบด้วย แนวคิดของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบอังกฤษ ซึ่งมีหลักว่า “ทรงปกเกล้า แต่ทรงไม่ปกครอง”

แนวคิดเรื่องปัญหาการเมืองการปกครองของไทยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตั้งปัญหาถามข้าราชการผู้ใหญ่และพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างที่ทรงให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับพระราชทาน” แต่ยังไม่ทันได้ประกาศใช้ก็มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน

แนวคิดของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(นายปรีดี พนมยงค์)เกี่ยวกับการคงอยู่ของพระมหากษัตริย์ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และแนวคิดของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เกี่ยวกับการคงพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ดังที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งทั้ง 4 ส่วนนี้มีผลต่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังที่จะได้กล่าวต่อไป

บางทีอาจจะอธิบายเรื่องกระบวนการปฏิรูปกษัตริย์ ที่กำลัง “เป็นประเด็น” ขึ้นมาอีกในขณะนี้ได้บ้าง

*******************************