posttoday

การเมืองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน (ตอนที่14): การพยายามเอาคืนจากฝ่ายกษัตริย์และการกำเนิดของ “คณะเจ้า” ชุดที่สอง

01 ตุลาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

***************

ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองของคณะเจ้าที่มีสมเด็จพระราชินี Louisa Ulrika เป็นศูนย์รวมใจสำคัญ ในช่วงแรก จะพบว่าคณะเจ้าประสบความสำเร็จอยู่บ้างในการประชุมรัฐสภาระหว่าง ค.ศ. 1751-1752 สามารถได้เสียงสนับสนุนมากขึ้น แต่ยังไม่มากพอที่จะนำไปสู่แก้รัฐธรรมนูญขยายพระราชอำนาจตามที่ตั้งเป้าไว้ ในการที่จะได้เสียงมากขึ้น คณะเจ้าก็จะต้องทำให้ได้เสียงที่สนับสนุนฝ่ายตนได้ชัยชนะในการเลือกตั้งในสมัยต่อมา

และในการที่จะได้เสียงมากขี้นนั้น Louisa Ulrika ทรงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงิน พระองค์ทรงพยายามที่จะประสานเครือข่ายของพระองค์เพื่อระดมทุนแข่งกับพรรคการเมืองอีกสองพรรค นั่นคือ พรรค the Hat และพรรค the Cap ที่ทั้งสองพรรคนี้ต่างก็รับเงินจากต่างชาติเพื่อมาใช้ในการซื้อเสียงในช่วงเลือกตั้ง พระองค์ทรงติดต่อไปทาง Frederick II แห่งปรัสเซียพระเชษฐาของพระองค์

แต่ถูกปฏิเสธ พระองค์ทรงหันไปขอความช่วยเหลือสนับสนุนจากรัสเซียเพื่อจะให้แผนการของพระองค์สำเร็จลุล่วง นอกจากจะทรงระดมเงินทุนแล้ว พระอง์ยังได้ทรงนำเครื่องเพชรที่เป็นสมบัติของรัฐบาลไปจำนำด้วย

และจากแรงกระตุ้นผลักดันของ Louisa Ulrika และการสนับสนุนจากคณะเจ้า Adolf Frederick ผู้เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงกล้าที่จะขัดแย้งและต่อต้านกับพวก the Hat ในที่ประชุมสภาบริหารเกือบทุกครั้งที่มีการประชุม ทำให้ Tessin ในฐานะที่เป็นประธานสภาบริหารพยายามที่จะหาทางไกล่เกลี่ยประนีประนอมและยุติความขัดแย้งดังกล่าว แต่ก็ไม่เป็นผล และจากการที่เขาตระหนักดีว่า ตัวเขาเองเป็นผู้ที่เคยสัญญากับ Adolf Fredrick และ Louisa Ulrika ว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายพระราชอำนาจ หากพระองค์หันมาสนับสนุนนโยบายต่างประเทศของ the Hat

แต่เมื่อ the Hat บรรลุตามที่ต้องการแล้ว ก็กลับผิดสัญญา Tessin จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานสภาบริหารในปี ค.ศ. 1752 เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่าง the Hat กับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่กระนั้น ก็กล่าวไม่ได้แน่ว่า การลาออกนั้นเป็นกุศโลบายของพรรค หรือเป็นความสมัครใจของ Tessin ที่จะหาทางประนีประนอมระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับพรรคของตน

อย่างไรก็ตาม จากการที่ the Hat ยังครองอำนาจในรัฐสภาอย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติแต่งตั้งคนของ the Hat เป็นประธานสภาบริหารต่อจาก Tessin ได้อยู่ดี

หลังจากที่ Tessin ลาออกแล้ว รัฐสภาภายใต้ the Hat ได้ใช้การลาออกของ Tessin ในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่าง Adolf Frederick กับสภาบริหาร แต่รัฐสภาก็ไม่ได้จะมีทีท่าประนีประนอมเสียทีเดียว แต่ได้กราบบังคมทูลกำชับและเตือนต่อ Adolf Frederick ให้ทรงตระหนักถึงคำสัตย์ปฏิญาณในพิธีบรมราชาภิเษกที่พระองค์จะต้องทรงเคารพและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 รวมทั้งพึงตระหนักถึงข้อจำกัดและขอบเขตของพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจของพระองค์ในที่ประชุมสภาบริหารด้วย นั่นคือ พระองค์จะต้องทรงเคารพเสียงข้างมากอย่างที่พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน Fredrick I ทรงปฏิบัติตามมาตลอดรัชสมัยของพระองค์

แต่กระนั้น ความขัดแย้งตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับฝ่าย the Hat ก็ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้อิทธิพลของ Louisa Ulrika และการสนับสนุนจากคณะเจ้าที่ต้องการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และจากความพยายามที่จะรักษาสถานะพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการประชุมสภาบริหารของ Adolf Frederick ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างพระมหากษัตริย์กับสภาบริหาร

โดยในที่ประชุมสภาบริหาร Adolf Fredrick ไม่ทรงยินยอมต่อเสียงข้างมากในที่ประชุมสภาบริหาร ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงอย่างยิ่งอยู่บ่อยครั้งระหว่าง ค.ศ. 1751-1752 และต่อเนื่องมาถึง ค.ศ. 1756 โดยสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นคือประเด็นการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพและข้าราชการพลเรือน: การเห็นต่างในการตีความมาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720:

นอกจากความขัดแย้งอันเกิดจากการที่ the Hat ไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายพระราชอำนาจแล้ว สาเหตุสำคัญที่เป็นชนวนของความขัดแย้งรุนแรงอันแรกระหว่างฝ่ายสถาบันพระมหากษัตริย์กับฝ่าย the Hat คือ ประเด็นการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพและข้าราชการพลเรือนที่เริ่มเกิดขึ้นทันทีตั้งแต่ Adolf Fredrik เสด็จขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1751โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำแหน่งนายทหารผู้คุมกองกำลังในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญของอำนาจทางการเมือง

ในกระบวนการการแต่งตั้งข้าราชการทหารในตำแหน่งนายพันของกองพันที่ว่างลง จะมีการเสนอบัญชีรายชื่อจำนวนสามรายชื่อ และพระมหากษัตริย์จะทรงเลือกตามอัธยาศัยจากสามรายชื่อนั้น ซึ่งความสามารถควบคุมการแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าวนี้ถือเป็นดัชนีชี้ว่าศูนย์กลางอำนาจของรัฐอยู่ที่ผู้ใดหรือองค์กรส่วนใดของรัฐ

และแม้ว่าผู้ร่างกฎบัตรการขึ้นครองราชย์ของ Frederick I ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวนี้ ดังที่ปรากฏข้อความว่า “และในฐานะที่เป็นอำนาจและอำนาจอันชอบธรรมอันไม่จำกัดในการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆที่ประจักษ์แก่มหาชนว่าจะเป็นหนทางที่จะนำไปสู่อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุด...”

ตรงจุดนี้ ผู้อ่านอาจจะงงๆ แต่จะหายงง ถ้าเข้าใจว่า ในบริบททางการเมืองของสวีเดนขณะนั้น คำว่าอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดมีความหมายในแง่ลบ เพราะอำนาจสูงสุดมีแนวโน้มจะถูกใช้อย่างฉ้อฉลได้ ดังนั้น บทบัญญัติฯ ค.ศ.1719 และรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 จึงบัญญัติความในหมวดนี้ด้วยความระมัดระวังต่อปัญหาดังกล่าว แต่กระนั้นก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะตัดสินว่าใครคือผู้มีอำนาจดังกล่าว เพราะในรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดให้มีการแบ่งอำนาจอย่างค่อนข้างกว้างขวาง

แต่กล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 ได้ปล่อยให้เกิด “พื้นที่สีเทา” นั่นคือ หากสถานการณ์เอื้ออำนวย พระมหากษัตริย์ก็อาจจะทรงใช้พระราชอำนาจของพระองค์ได้ นั่นคือ พระองค์จะทรงสามารถเลือกรายชื่ออื่นนอกบัญชีรายชื่อที่เสนอขึ้นมา และในรัชสมัยของ Frederick I จะพบว่า ในบางครั้ง พระองค์ได้ทรงใช้พระราชอำนาจจาก “พื้นที่สีเทา” นี้ในรัฐธรรมนูญในการแต่งตั้งนายทหารได้ แม้ว่าจะมีการท้วงติงจากสภาบริหารก็ตาม

แต่ Adolf Frederick ไม่ได้ทรงใช้พระราชอำนาจในเรื่องดังกล่าวอย่าง “บางครั้ง” อย่าง Frederick I แต่พระองค์ยืนยันที่จะทรงใช้ “ทุกครั้ง” โดยทรงอ้างว่าเป็นพระราชสิทธิ์ของพระองค์ และจากสถานการณ์ทางการเมืองหลัง ค.ศ. 1752 ที่มีการแบ่งระหว่าง “กลุ่มผู้จงรักภักดี” (ฝ่ายเจ้า) และ “กลุ่มผู้รักปิตุภูมิ” (ฝ่ายพรรคการเมือง) ทำให้สภาบริหารต้องปฏิเสธการอ้างพระราชสิทธิ์ดังกล่าว เพราะภายใต้การเมืองแบบแบ่งฝักฝ่าย ที่ขณะนั้นเป็นการแบ่งแยกชัดเจนระหว่างฝ่ายคณะเจ้ากับฝ่าย the Hat ที่มาแทนที่ความขัดแย้งเดิมระหว่าง the Cap กับ the Hat

หากสภาบริหารปล่อยให้การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญของนายทหารที่คุมกองกำลังทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งอยู่ในมือของ Adolf Frederick ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์พัฒนาไปสู่การมีอำนาจสูงสุดได้

“พื้นที่สีเทา” : ความไม่ชัดเจนในอำนาจการแต่งตั้งข้าราชการในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากการตีความที่แตกต่างกันต่อระบบการเสนอชื่อในการแต่งตั้งตำแหน่งทางราชการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 และกรณีที่เป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงดังกล่าวนี้คือ กรณีการแต่งตั้ง Frederik Axel von Fersen ให้ดำรงตำแหน่งนายพล โดย Adolf Fredrik ทรงไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้ง von Fersen ซึ่งบทบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายทหารที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญสามารถตีความได้สองอย่าง นั่นคือ

หนึ่ง สภาบริหารเป็นองค์กรที่แต่งตั้งตำแหน่งนายทหารที่สูงกว่ายศนายพันขึ้นไป (และตำแหน่งข้าราชการพลเรือนที่เทียบเท่า) จากบัญชีรายชื่อจำนวนสามรายชื่อดังที่กล่าวไปข้างต้น และพระมหากษัตริย์ทรงมีอิสระที่จะเลือกรายชื่อหนึ่งรายชื่อใดจากบัญชีรายชื่อดังกล่าว แต่ถ้าการเลือกของพระองค์ปรากฎให้เห็นว่าเป็นการเลือกที่มีอคติต่อรายชื่อที่เหลือ หรือขัดต่อกฎหมาย สภาบริหารสามารถดำเนินการลงคะแนนเสียงต่อไปได้ และให้ใช้เสียงข้างมากเป็นตัวตัดสิน

สอง ตีความได้ว่า ในการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งแต่ละตำแหน่ง สภาบริหารจะเสนอรายชื่อสามชื่อต่อพระมหากษัตริย์เพื่อให้พระองค์ทรงเลือกหนึ่งจากสามชื่อ “เว้นแต่การแต่งตั้งบุคคลนั้นจะขัดต่อกฎหมายของสวีเดนหรือรูปแบบการปกครอง หรือหากมีบุคคลอื่นที่มีเกียรติและคุณธรรมที่คู่ควรกว่า” และในกรณีดังกล่าวนี้ “ให้สภาที่ปรึกษาลงคะแนนเสียงใหม่ และให้พระมหากษัตริย์ ตามที่ได้ทรงพิจารณาเหตุผลของสภาที่ปรึกษา ทรงเลือกบุคคลอื่นที่มีประวัติการทำงานต่อพระมหากษัตริย์ และต่อปิตุภูมิอันสมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว และปฏิเสธบุคคลที่ไม่ปรากฏผลงานหรือเหตุสมควรเป็นที่ชัดเจน”

และในกรณี Frederik Axel von Fersen เขาเป็นหนึ่งในสามรายชื่อที่สภาบริหารได้กราบบังคมทูลเสนอ Adolf Frederick และหลังจากที่พระองค์ทรงพิจารณาแล้ว ทรงเห็นว่า von Fersen ไม่มีความเหมาะสม พระองค์จึงทรงใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอรายชื่อที่สี่ที่เป็น “บุคคลอื่นที่มีเกียรติและคุณธรรมที่คู่ควรกว่า...ที่มีประวัติการทำงานต่อพระมหากษัตริย์และต่อปิตุภูมิอันสมควร”

ซึ่งอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า การเสนอรายชื่อนอกบัญชีโดยพระมหากษัตริย์ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในรัชสมัยของ Frederick I แต่เกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น แต่ Adolf Frederik ทรงอ้างเป็นพระราชสิทธิ์ที่จะเสนอรายชื่อนอกบัญชี ทางสภาบริหารจึงต้องยืนยันว่า พระองค์จะต้องทรงรับฟังความเห็นและคำปรึกษาของสภาบริหารก่อนที่พระองค์จะทรงแต่งตั้งบุคคลอื่น แต่ Adolf Frederick ก็ทรงยืนยันกลับเช่นกันว่า พระองค์ทรงมีความเป็นอิสระที่จะไม่ใส่ใจความเห็นของสมาชิกสภาที่ปรึกษาได้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้งดังกล่าวนี้เกิดจากปัญหาการตีความรัฐธรรมนูญ ที่ได้กลายเป็นชนวนความขัดแย้งอย่างยิ่งระหว่างพระมหากษัตริย์กับสมาชิกสภาบริหาร และความขัดแย้งที่เริ่มต้นจากประเด็นดังกล่าวนี้ได้พัฒนาบานปลายไปสู่ “ปัญหาความสับสันในมุมองที่มีต่อรูปแบบการปกครอง” และในที่สุด ได้กลายเป็น “ปัญหาความเห็นแย้งแตกต่างต่อตัวรัฐธรรมนูญ”

นอกจากการเห็นต่างในเรื่องสิทธิ์อำนาจในการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพและความเห็นต่างในการตีความรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีประเด็นความขัดแย้งอื่นๆอีกที่ในที่สุดนำมาซึ่งการก่อกรปฏิวัติโดยคณะเจ้าในปี ค.ศ. 1756

การปฏิวัติสำเร็จหรือกลายเป็นกบฏ? โปรดติดตามตอนต่อไป

การเมืองหลังสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน (ตอนที่14): การพยายามเอาคืนจากฝ่ายกษัตริย์และการกำเนิดของ “คณะเจ้า” ชุดที่สอง

                                                 Eric Brahe นายทหารหนุ่มผู้นำการก่อการ