posttoday

คุณภาพขององค์อธิปัตย์

01 ตุลาคม 2563

โดย...ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์

*****************

ในขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นร้อนแรงในการเมืองปัจจุบัน ถึงกับคนกลุ่มหนึ่งที่ไปรวมตัวกันหน้ารัฐสภาขว้างปา ด่าทอสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาหลังปิดประชุม การที่สภาถึงเวลาพักการประชุมเป็นเวลาหนึ่งเดือนน่าจะทำให้อารมณ์ของประชาชนเย็นลงบ้าง พอเปิดประชุมอีกค่อยว่ากันใหม่

การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นประเด็นร้อนแรงอีกเรื่องหนึ่ง ที่สังคมให้ความสนใจ แต่การแสดงความเห็นใด ๆ ก็น่าจะศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 บ้าง ไม่ใชหลงเชื่อตามคำยุยง ปลุกปั่น ของคนที่ต้องการแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งที่ขอแก้ไขบางมาตรา และที่ต้องการเขียนขึ้นใหม่ทั้งฉบับ

หากมีเวลา อยากให้อ่าน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560”ส่วน ส.ส.และ ส.ว.ควรไปอ่าน “ ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 “ ( ที่ห้องสมุดรัฐสภาก็มี ) จะได้รู้ว่า รัฐธรรมนูญแต่ละมาตรานั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนด้วยความมุ่งหมายอะไร แล้วตัดสินใจว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้มาแล้วสองสามปีนี้ มีอะไรที่ดี อะไรที่บกพร่องและสมควรแก้ไข ไม่ใช่เชื่อไปตามคนชักจูง

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เขียนไว้ในหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมไว้สองระดับ คือ (1) ระดับที่ “สำคัญมาก”เช่น รูปแบบของรัฐ รูปแบบของการปกครอง โครงสร้างทางการเมือง เป็นต้น โดยกำหนดการแกไขเพิ่มเติมทำได้ “ยากมาก” หรือแก้ไขไม่ได้ เช่น “มาตรา 255 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้ “ (2) ส่วนระดับที่ไม่มีผลกระทบต่อรูปแบบของรัฐหรือโครงสร้างทางการเมืองมากนัก จะกำหนดให้แก้ไขได้ในระดับที่ “ยากกว่าปกติ”

ถึงกระนั้น ก็ยังมี ส.ส.บางพรรคที่ยังดึงดันจะแก้ไข หมวด 1 หมวด 2 ให้ได้ ไม่รุ้ว่าพวกเขามีอะไรขุ่นเคืองขัดข้องหมองใจกับสถาบันพระมหากษัตริย์กันนักหนา การอ้างว่าเพื่อจะหา “ที่อยู่อันเหมาะสม” ให้กับสถาบัน เป็นเพียงคำอ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ได้จัดที่อยู่อันเหมาะสมให้กับสถาบันนี้ไว้เรียบร้อยแล้ว และคนส่วนใหญ่ไม่เห็นจะมีปัญหาแต่อย่างใด ยกเว้นคนกลุ่มนี้

การแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องต่อไปนี้ (1) การแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป (2) การแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 2 พระมหากษัตริย์ (3) การแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรรมนูญ (4) การแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ (5) การแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออำนาจได้

จะต้องทำประชามติ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าถวายฯพระมหากษัตริย์ก่อนทรงลงพระปรมาภิไธย

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ได้ระบุว่า ให้ทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่การทำประชามติเป็นส่วนหนึ่งระหว่างการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเป็นการแก้ไขมาตราที่กำหนดไว้ 4 ประเด็นข้างต้น ต้องทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 เป็นฉบับ่ที่ผ่านการทำประชามติด้วยความเห็นชอบของประชาชน 16.8 ล้านเสียง หรือร้อยละ 60 เชื่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ควรถามประชาชนเสียเสียก่อนว่า จะแก้ไขหรือไม่ อย่างไร ถ้าประชาชนเห็นว่าควรแก้ไข ก็ดำเนินการต่อไป ในกรณีเช่นนี้ จะใช้กฎหมาย หรือคำสั่งอะไร

น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้ากลุ่มไทยภักดี ได้เปิดเผยว่า (1) . รัฐธรรมนูญปี 2560 มาจากประชามติของประชาชน.16.8 ล้านเสียง ถือว่า ประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ.ปี 2550 ที่ผ่านประชามติเช่นกันว่า แก้ไขรายมาตราได้ แต่การยกร่างใหม่ต้องถาม ประชาชนก่อนว่ายอมหรือไม่ รัฐธรรมนูญปี2560 ก็เช่นกัน ถ้าจะยกร่างใหม่ ต้องถามประชาชนก่อน

(2)การแก้ไขรัฐธรรมนูญ. ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ แต่นักการเมืองที่ต้องการแก้ไขได้ประโยชน์ เช่น คดีทุจริตที่ไม่มีอายุความ รูปแบบเลือกตั้งทีป้องกันทุนสามานย์ซื้อเสียงจนเกิดเผด็จการรัฐสภา การฉวยโอกาสจาบจ้วงเบื้องสูง (3) ไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน 1.5 หมี่นล้านบาทแก้ รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง (4) ปัญหาสมาชิกวุฒิสภาเลือก นายกรัฐมนตรีเป็นเพียงบทเฉพาะกาล ประชาชนเห็นด้วยให้ใช้อำนาจชั่วคราว จากนั้น สมาชิกวุฒิสภาก็จะมาจากการเลือกตั้ง หรือสรรหาของประชาชน (แนวหน้า 23 ก.ย.63)

เรื่องนี้ น่าจะเป็นอันเดียวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 18-22/2555 ซึ่งมีคนยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 68 วรรค 2 และมาตรา 291 (ส่วนจะมีคำวินิจฉัยอื่นหรือไม่อ่างไร ไม่ทราบ)

ย่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 เรื่อง คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยมาตรา 68 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยศาลรัฐธรรมนูญแยกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง มาตรา 6/8 มีความมุ่งหมายให้ชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้อง พิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยและการเข้าสู่อำนาจการปกครองประเทศให้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมิให้ถูกล้มล้าง โดยสภาพจึงเป็นการป้องกันล่วงหน้า

ประเด็นที่สอง อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจของประชาชนอันเป็นที่มาโดยตรงในการให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ โดยถือว่ามีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญที่ก่อตั้งระบบกฎหมายและองค์กรทั้งหลาย ในการใช้อำนาจทางการเมืองการปกครอง เมื่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งมีเพียงอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญ.ให้ไว้และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้องค์กรนั้นใช้อำนาจที่ได้รับมาจากรัฐธรรมนูญเอง กลับไปแก้ไข รัฐธรรมนูญนั้น เหมือนการใช้อำนาจแก้ไขกฎหมายธรรมดา

แม้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ ม.291 ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มาโดยการลงมติของประชาชน ก็ควรจะให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ก็เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวได้

ประเด็นที่สาม ...หากสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์แล้ว ทั้งประธานรัฐสภาและรัฐสภาก็มีอำนาจยับยั้งรัฐธรรมนูญ.นั้นได้ รวมทั้งหากบุคคลใดทราบว่าการกระทำดังกล่าว ก็ยังมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย สั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ (28 พฤศจิกายน 2555)

สรุปว่า ประชาชนคือ “องค์อธิปัตย์” จะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือในประเด็นที่สำคัญก็ควรถามองค์อธิปัตย์เสียก่อน ตามเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงข้างต้นแล้ว

ที่น่าเป็นห่วง คือ จากการทำโพลล์ของสำนักหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ พบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของประชาชนที่เป็นองค์อธิปัตย์ สรุปว่า มีผู้ถูกสำรวจเพียงร้อยละ 26.2 เท่านั้นที่อ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 จบทั้งฉบับ อีกร้อยละ 2.1 อ่านเพียงบางมาตรา และที่ไม่เคยอ่านเลยมีมากที่สุดถึงร้อยละ 71.7 ส่วนที่เห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 85.3 เพราะฟังเขามา

สำหรับม็อบที่ไปชุมนุมกันหน้ารัฐสภาเมื่อ 24 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา และกดดันให้สภารับหลักการร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้น เคยอ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 บ้างหรือเปล่า หรืออยู่ในประเภทใดของโพลล์ที่สำรวจ หรือมีหน้าที่คอยด่า คุกคามสมาชิกรัฐสภาที่ตนไม่ชอบ มีแกนนำบางคนโพสต์ข้อความด่าสมาชิกวุฒิสภา ซ้ำยังแถมให้ “กล้วย” ท่านประธานรัฐสภาอีกด้วย ทั้งที่ท่านก็มีของท่านแล้ว

ส่วนคนที่ชอบแจกกล้วยนั้นไม่มีกล้วยของตนเอง ไม่ทราบไปขโมยกล้วยของใครมา

บรรดาท่านสุภาพบุรุษทั้งหลาย โปรดสำรวจทรัพย์สินของท่านว่า “กล้วย” ของใครหายไปหรือไม่อย่างไร หากหายไป อย่าไปขอคืนจากท่านประธานรัฐสภาเพราะท่านไม่ได้รับไว้จากคนที่ให้ ต้องไปขอคืนจากคนที่ชอบแจกเอาเอง

คิดแล้วก็เหนื่อยกับคุณสมบัติขององค์อธิปัตย์ที่จะให้ความเห็นชอบหรือลงประชามติว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร เพราะฉะนั้น ก่อนจะสอบถามความเห็น ควรมีเวลาชี้แจงให้ประชาชนทราบและเข้าใจเสียก่อนเหมือนกับเมื่อครั้งที่ได้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560