posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรน่าอู่ฮั่น (31)

29 กันยายน 2563

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

*********************

เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ที่กลายเป็นปัญหาใหญ่โตเกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก คือ เรื่องหน้ากากอนามัย

หน้ากากอนามัยกลายเป็นเรื่องวิวาทะ ที่มีลักษณะยิ่งกว่า “วิวาทะ” ซึ่งควรเป็นเรื่องการโต้เถียงเท่านั้น แต่บานปลายกลายเป็นเรื่อง “วิวาท” รุนแรง ถึงขั้นทำร้าย เข่นฆ่ากันในบางที่บางแห่ง และกลายเป็นประเด็นขัดแย้งแบ่งขั้วการเมืองระดับประเทศและระดับโลก

ทั้งนี้ เพราะองค์กรหรือสถาบันที่เป็นหลักทางวิชาการมีการนำเสนอข้อมูลที่คลุมเครือเข้าใจยาก และผู้นำประเทศบางประเทศอาจ “ฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด” แปลงเป็นนโยบายซึ่งมีผลอย่างกว้างขวางต่อประชาชนที่กำลังวิตกและตื่นกลัว (panic) โรคโควิด-19 อย่างรุนแรง จนทำให้เกิดปัญหาถึงขั้นวิกฤต

เช่น ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ถือว่ามีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการสูงสุดในโลก ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ไม่เชื่อในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยและได้ใช้อำนาจ “ปลุกปั่น” กระแสนี้ ซึ่ง “โดนใจ” ประชาชนบางส่วนที่ยึดมั่นหรือถึงขั้น “บูชา” เรื่องสิทธิเสรีภาพ จึงทำให้เกิดการโต้แย้งนโยบาย “บังคับ” การสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะและบางรายถึงขั้นทำร้ายชาวเอเชียที่สวมหน้ากากอนามัย

ในประเทศไทยเอง มีปัญหาที่แตกต่างออกไปโดยทางราชการเริ่มต้นแนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยคุณภาพสูงที่สามารถกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มากที่สุด คือ หน้ากากเอ็น-95 (N-95) ทำให้เกิดกระแสความต้องการหน้ากากอนามัยคุณภาพสูงอย่างมากจนเกิดปัญหาขาดแคลน ประกอบกับมีข่าวการทุจริตหาประโยชน์จากการกักตุนหน้ากากอนามัย โก่งราคา และส่งออกทำกำไร ผลคือความไม่พอใจว่ารัฐบาลไร้ความสามารถในการจัดการแก้ปัญหา จนรัฐบาลถึงขั้น “เสียศูนย์” ไประยะหนึ่ง

ตรงกันข้ามกับไต้หวัน ที่มีรัฐมนตรีกระทรวงไอซีที ที่เป็นคนรักร่วมเพศ แต่สามารถบริหารจัดการเรื่องหน้ากากอนามัยได้ดี รวมทั้งใช้ระบบไอซีทีในการแก้ปัญหาการกระจายหน้ากากอนามัยได้ดี จึงทำให้ได้รับความ ชื่นชมอย่างสูง จนแม้เมื่อรัฐมนตรีผู้นี้ให้คำแนะนำการฆ่าเชื้อโรคในหน้ากากอนามัยโดยแนะนำให้นำมาอบ ความร้อนในหม้อหุงข้าว ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ “เพี้ยน” แต่สื่อไทยบางสื่อก็ยัง “หลับหูหลับตา” ชื่นชม ทั้งๆ ที่ใช้วิธีง่ายๆ ก็ได้ เช่น การซัก-ตากแห้ง หรือรีดด้วยเตารีด เป็นต้น

ปัญหาหน้ากากอนามัย มีประเด็นสำคัญที่ต้องตอบคำถามให้ชัดเจน ได้แก่ (1) หน้ากากอนามัยป้องกัน โควิด-19 ได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด (2) หน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่โรค หรือ ช่วยป้องกันมิให้ติดโรค (3) หน้ากากอนามัยแต่ละชนิดมีที่ใช้อย่างไร (4) มีข้อห้าม หรือข้อควรระวังในการใช้หน้ากากอนามัยอย่างไร (5) วิธีการใช้หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องอย่างไร เป็นต้น

ความเห็นต่อคำถามเหล่านี้ มีแง่มุมที่หลากหลาย และมีทั้งเห็นด้วย-เห็นต่างมากมาย โดยเฉพาะใน สื่อสังคมออนไลน์ ที่มีข่าวลวงข่าวเท็จ (Fake News) แพร่ระบาดมากมาย จึงจำเป็นต้องเลือกแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

แหล่งข้อมูลที่ควรเลือกเป็นอันดับต้นๆ คือ องค์การอนามัยโลก ซึ่งก็กลายเป็นปัญหา เพราะถูกทำลายความน่าเชื่อถือ (discredit) อย่างรุนแรง จากประธานาธิบดีสหรัฐ ถึงขั้นประกาศงดส่งเงินสนับสนุน และขอลาออกจากการเป็นสมาชิก รวมทั้งมีการออกข่าวโจมตีเป็นระยะๆ ด้วย

เรื่องหน้ากากอนามัยนี้องค์การอนามัยโลกได้ออก “คำแนะนำ” (guidance) แก่ประเทศสมาชิก โดยมีการปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยเป็นระยะๆ เช่น ฉบับที่ออกมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2563 ได้มีการปรับแก้ใหม่ เป็นฉบับวันที่ 6 มิถุนายน 2563 โดยยังถือเป็นคำแนะนำระหว่างทาง (Interim Guidance) ชื่อเป็นทางการคือ “คำแนะนำการใช้หน้ากากอนามัยในบริบทของโควิด-19” (Advice on the use of masks in the context of COVID-19)

คำแนะนำนี้ เขียนขึ้นตามการแนะนำ (Advice) ของกลุ่มที่ปรึกษาทางยุทธศาสตร์และวิชาการด้านอันตรายจากโรคติดเชื้อ [Strategic and Technical Advisory Group for Infections Hazards (STAG-IH)] โดยมีการปรึกษาหารือกับสมาชิกในคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกอีก 2 ชุด ได้แก่

(1) กลุ่มพัฒนาคำแนะนำในแผนงานฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก [WHO Health Emergency Programme (WHE)]คณะทำงานกลุ่มนี้ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ เช่น ยูนิเซฟ โดยส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย รวม 35 รายชื่อ มาจากสหรัฐ 6 คน หนึ่งในนั้นมาจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) จากจีนมีเพียง 1 คน จากฮ่องกง มีคนไทย 1 คน คือ อาจารย์อนุชา อภิสารธนารักษ์ จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ

(2) คณะผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาเฉพาะกิจเพื่อการเตรียมพร้อม, ตอบสนองต่อการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อโรคโควิด-19 [Ad-hoc Experts Advisory Panel for Infection Prevention and Control (IDC) Preparedness, Readiness and Response to COVID-19] ของแผนงานสุขภาพฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (WHE) ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญรวม 27 คน จากสถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก เช่น จากสถาบัน โรเบิร์ตโค้ค ของเยอรมนี คณะนี้มีมาจากสหรัฐถึง 8 คน โดย 3 คน มาจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐ ทั้งนี้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญจากจีนเลย ขณะเดียวกันมี 2 คน มาจากไต้หวัน

ดูจากรายชื่อผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกในคณะกรรมการที่ปรึกษา 2 คณะนี้ มีจากจีนเพียงคนเดียว โดยมาจากฮ่องกงด้วย ไม่ได้มาจากแผ่นดินใหญ่ของจีน ขณะที่มาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันสำคัญของสหรัฐ รวมถึง 14 คน ข้อมูลนี้จึงตรงข้ามกับข้อกล่าวหาของประธานาธิบดีทรัมป์ที่บอกว่าองค์การอนามัยโลกถูกครอบงำโดยจีน

เอกสารคำแนะนำฉบับนี้ มีเอกสารวิชาการอ้างอิงถึง 80 รายการ ซึ่งล้วนเป็นเอกสารวิชาการที่น่าเชื่อถือทั้งสิ้น คำแนะนำในเอกสารฉบับนี้จึงอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิชาการที่มีการตรวจสอบคุณภาพ และโดยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ฉะนั้น จึงเป็นคำแนะนำที่มีคุณค่าสูง สมควรจะศึกษาและตรวจสอบเพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมกับประเทศของเราต่อไป

*************************