posttoday

ขอม็อบโชว์“พิมพ์เขียว”ประเทศไทย

26 กันยายน 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

************

ถ้าจะทวงคืนอำนาจให้ราษฎร ขอราษฎรได้ทราบทิศทางที่จะไปด้วยกันต่อไปได้หรือไม่

สมัยที่คณะราษฎร พ.ศ. 2475 ทำการยึดอำนาจได้สำเร็จ ตอนนั้นระบบการสื่อสารที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนยัง “คับแคบ” และ “ขาดแคลน” กล่าวคือ ยังไม่มีวิทยุและโทรทัศน์ จะมีก็แต่หนังสือพิมพ์ที่ก็มีอ่านกันอยู่ในหมู่ชนชั้นสูงบางกลุ่มเท่านั้น การที่ทางการหรือผู้ปกครองจะแจ้งข่าวสารกับประชาชนก็มีเพียงทางเดียว คือแจ้งข่าวไปตามหัวเมือง ให้เจ้าเมืองได้แจ้งแก่ราษฎรเป็นทอดๆ ต่อไป

ซึ่งก็ต้องใช้เวลามากและการสื่อสารก็มักจะผิดเพี้ยนได้บ่อยๆ รวมถึงเต็มไปด้วยความล่าช้า ใช้เวลาหลายวัน บางพื้นที่ก็เป็นเดือนๆ ที่สำคัญนั้น “ผู้รับสาร” คือคนไทยก็ไม่ค่อยสนใจในข่าวสารของบ้านเมืองมากนัก เพราะถูกปกครองให้มีวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไพร่ฟ้ามานาน ดังนั้นพอเกิดการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 24มิถุนายน 2475จึงไม่ได้กระทบกระเทือนต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนให้เปลี่ยนไปแต่อย่างใด

ผู้คนในยุคนั้นไม่สนใจว่าผู้ปกครองจะทำอะไร หรือเป็นใคร ขอเพียงแต่ให้เขามีกินมีอยู่ มีที่ซุกหัวนอน เพราะโลกยังไม่เป็น “บริโภคนิยม” สินค้าฟุ่มเฟือยหรือข้าวของที่มีราคาแพงยังไม่ค่อยมีความจำเป็น คนไทยจึงอยู่กันแบบสบายๆ เรื่อยมา

แต่พอคณะราษฎรมาปกครอง ผู้คนจำนวนมากก็มีความตื่นตัว เพราะถือว่าเป็นการ “พลิกฟ้า พลิกดิน” เปลี่ยนตัวผู้ปกครองจากพระมหากษัตริย์มาเป็นคนธรรมดา

หลายคนบอกว่าคณะราษฎรนี้จะมี “น้ำหน้า” พาประเทศไปรอดได้แค่ไหนและอย่างไร เพราะในคำแถลงการณ์ของคณะราษฎรนั้นได้ติเตียนพระมหากษัตริย์ไว้อย่าง “สาดเสียเทเสีย” พร้อมกับอวดอ้างไว้ในตอนท้ายด้วยว่าจะนำ “โลกพระศรีอาริย์” มาให้แก่คนไทย ซึ่งตามความเข้าใจของคนไทยที่ส่วนใหญ่เป็นศาสนิกชนนั้น โลกพระศรีอาริย์ก็คือ “โลกแห่งความฝัน” ที่มีแต่ความสุข อิ่มทิพย์(ไม่รู้หิวไม่รู้อยาก) และไม่มีการเบียดเบียนกันและกัน ทว่าพอเวลาเนิ่นนานไปผู้คนก็ลืมคำพูดเหล่านั้นเสียสิ้น โดยที่คณะราษฎรก็ไม่ได่ทำให้ “โลกพระศรีอาริย์” เกิดขึ้นได้ดังที่พูด

ที่สาธยายเรื่องการสื่อสารในสมัยคณะราษฎร พ.ศ.2475 มาข้างต้น ก็เพียงเพื่อจะเป็นอุทาหรณ์ถึงคณะมวลชนที่กำลังก่อการในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุคปัจจุบัน ที่ล่าสุดได้ใช้ชื่อกลุ่มว่า “คณะราษฎร พ.ศ.2563 – ทวงคืนอำนาจให้ราษฎร” (แล้วบางสื่อไปเรียกว่า “คณะราษฎร 2”) ว่ากำลังสื่อสารกับคนไทยในเรื่องอะไร และกำลังจะพาประเทศไทยไปสู่อนาคตแบบไหนกันแน่ เพราะถ้าจะทำให้มวลชนเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นในความจริงใจของคณะม็อบต่างๆ นี้แล้ว ก็จำเป็นจะต้องชี้แจง “ความประสงค์” ต่างๆ ออกมาชัดเจน อย่างที่คณะราษฎรใน พ.ศ. 2475 ได้แสดงจุดยืนนั้นอย่างเด่นชัด (ไม่เอากษัตริย์ สร้างสังคมที่เท่าเทียม และทุกคนมีกินมีใช้)

ในเวลานี้สังคมไทยมีความสับสนอย่างมากใน “ท่าทีและความต้องการ” ของกลุ่มม็อบ โดยเฉพาะการมุ่งแต่จะสร้างสีสันด้วยพิธีกรรมและการเคลื่อนไหวแบบ “หักมุม” (จากที่บอกว่า “เบิ้มๆ” กลายเป็น “จิ๋วๆ” และที่บอกว่าจะบุกไปถึงทำเนียบ ก็วนเวียนอยู่รอบๆ ถนนราชดำเนินใน) ที่เกิดขึ้นในตอนสายๆ ของวันที่19 ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้คิดไปในแง่ร้าย เช่น เป็นแค่การสร้างกระแสเพื่อเลี้ยงดูตนเองของแกนนำการก่อม็อบเหล่านี้หรือไม่ หรือเป็นแค่การสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายให้ตัวเองเด่นดังตามประสาวัยรุ่น หรือเป็นแค่การแหย่รังแตนให้บ้านเมืองวุ่นวายเพื่อให้ผู้คนแตกแยก ฯลฯ

รวมถึงที่หลายคนมีความเห็นว่าการ “ยุยั่ว” แบบนี้จะทำให้พลังของมวลชนลดลง และไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง โดยเฉพาะในหมู่คนที่เบื่อทหารและระบอบ คสช.ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และกำลังจะเข้ามาร่วมสนับสนุน พร้อมกับเพิ่มเป็นพลังให้กับกลุ่มม็อบ

คนไทยจำนวนหนึ่งมองว่า “พิมพ์เขียว” ของ คสช. ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560และแผนยุทธศาสตร์ชาติ เป็นความล้มเหลวของ คสช. และสร้างความผิดหวังให้กับคนที่ “เชียร์ลุง” เป็นอย่างมาก ครั้นได้มาเห็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบปลดแอก ก็พยายามที่จะเอาใจช่วย เพราะส่วนหนึ่งเยาวชนเหล่านี้ก็เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่จะมาปกครองประเทศในอนาคต แต่ว่าก็ต้องพบกับความผิดหวังอีกเช่นกัน เมื่อเห็น “ความกำกวม” ของกระบวนการที่กำลังต่อสู้ และ “ไม่เห็นอนาคต” ว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

จึงมีข้อแนะนำเล็กๆ น้อยๆ สำหรับกลุ่มม็อบที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ว่า อย่าได้เอาแต่สร้างความวุ่นวาย และสร้างภาพแต่ว่าจะล้มล้างรัฐบาลนี้และระบอบนี้ให้ได้ แต่ควรจะสร้างความหวัง ความชัดเจน เพื่อความมั่นใจแก่คนไทย สังคมไทยด้วยว่า เราจะปกครองประเทศไทยนี้ต่อไปอย่างไร เช่น ถ้าจะมีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว จะออกมาในรูปแบบไหน จะให้พระองค์ท่านอยู่ในฐานะอะไร จนถึงรูปแบบของรัฐบาล และโครงสร้างใหม่ทางการเมืองการปกครอง ระบบการเลือกตั้ง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องนำมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ถือได้ว่าเป็น “พิมพ์เขียวประเทศไทย” ที่จะกำหนดรูปแบบและทิศทางทางการเมืองการปกครองของประเทศไทยนี้ต่อไป

บางทีคณะราษฎร 2563 อาจจะเลียนแบบคณะราษฎร 2475ก็ได้ คือ “อุบ” ตัวพิมพ์เขียวนั้นไว้จนกว่าจะได้เวลา โดยที่คณะราษฎร 2475 ก็ให้มี “รัฐธรรมนูญพระราชทาน” ไปก่อน จากนั้นก็ค่อยเผย “เค้าโครงเศรษฐกิจ” ที่มีแนวคิดแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ออกมาภายหลัง หรือถ้าคิดตื้นๆ แบบคนที่พอรู้ประวัติศาสตร์ ก็อาจจะมองไปว่านี่คือสิ่งที่จะใช้ “บีบคั้น” องค์พระประมุขให้ออกมาต่อสู้กับคณะผู้ปกครอง แล้วก็ต้องทรงท้อแท้สละราชสมบัติออกไป ดังเช่นที่พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้อง “จำพระทัย” ทำ

ออกมาสู้กัน “ในที่สว่าง” เถิดเยาวชน เพื่ออนาคตที่สว่างไสวของทั้งสังคมไทยนี้

*******************************