posttoday

นายกฯคนนอก

11 กันยายน 2563

โดย...โคทม อารียา

*****************

มีข่าวลือว่านายกรัฐมนตรีจะลาออก เพื่อเปิดทางให้ผู้มีความรู้ความสามารถมาช่วยแก้วิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง ผมรีบดูใน google พบว่า ข่าวลือนายกฯลาออก เป็นข่าวลือยอดนิยมข่าวหนึ่ง ที่มาพร้อมกับคำปฏิเสธ เช่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 นายกฯกล่าวคำขอโทษคณะรัฐมนตรี พร้อมขอรับผิดชอบเรื่องต่าง ๆ กลางวงมอบนโยบายให้ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งสื่อตีความว่านายกฯเตรียมลาออกนั้น โฆษกประจำสำนักนายกฯออกมาแก้ข่าวว่า ประเด็นใดที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ นายกฯจะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีนัยว่าจะลาออกแต่ประการใด

ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2563 ระหว่างที่มีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี ผู้สื่อข่าวถามนายวิษณุ เครืองามว่า มีข่าวว่านายกฯจะยื่นหนังสือลาออก ข้อเท็จจริงไม่ทราบเป็นอย่างไร นายวิษณุ ยืนยันว่า หากมีการปรับคณะรัฐมนตรี นายกฯก็ยังคงอยู่ เป็นอันจบข่าว

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำโดย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แถลงข่าวที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า การชุมนุมที่ ม. ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 19 กันยายน จะใช้ชื่อว่า “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” จะเริ่มในเวลา 14.00 น. ที่เลือกสถานที่นี้เพราะ ม.ธรรมศาสตร์เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของประชาชน หากผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก จะขยับไปทางท้องสนามหลวง ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่สาธารณะ แต่ถูกล้อมรั้วในยุค คสช.

นอกจากนี้ อาจมีการปิดถนนราชดำเนินกลาง ถึงสะพานผ่านพิภพลีลา มีการปราศรัย การจัดแสดงทางศิลปะ และตลาดของประชาชน การชุมนุมดังกล่าวจะเป็นการปักหลักข้ามคืน จนถึงรุ่งเช้า และจะมีการเดินขบวนต่อต้านเผด็จการไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 20 กันยา โดยจะเริ่มเคลื่อนขบวนตั้งแต่เวลา 8.00 น. ขอให้ประชาชนที่จะร่วมชุมนุม เตรียมสิ่งของเครื่องใช้สำหรับการค้างแรม รวมทั้งอุปกรณ์ป้องกันแดดมาด้วย คนก็เริ่มกังวลคิดไปต่าง ๆ นานา จะลุกลามไปถึงขั้นนายกฯลาออก หรือการรัฐประหารไหม

ผู้สื่อข่าวก็ว่องไว ถามผู้บัญชาการตำรวจนครบาลถึงเรื่องการชุมนุม ก็ได้รับคำตอบว่าตำรวจมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎมหายชุมนุมสาธารณะ การจัดกิจกรรมภายใน ม. ธรรมศาสตร์นั้นขึ้นอยู่กับผู้ชุมนุม ส่วนท้องสนามหลวงถือเป็นโบราณสถาน การจัดกิจกรรมที่นั่นต้องขออนุญาตหน่วยงานที่รับผิดชอบก่อน ส่วนแผนกรกฎ 52 นั้นเป็นแผนดำเนินการตามปกติกรณีมีภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ รวมถึงการชุมนุมด้วย ไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเป็นพิเศษ แปลว่าไม่ต้องตระหนกตกใจ

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ณฐพนธ์ ชี้แจงว่า ในวันที่ 8-9 กันยายน มีการฝึกหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วของกองทัพบก เป็นการฝึกทุกระบบของหน่วยทหารที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงเห็นการเคลื่อนย้ายกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ ขอยืนยันว่าเป็นการฝึกล้วน ๆ แต่มีคนเอาไปลือว่ามีกระแสรัฐประหาร อันที่จริงไม่มี

เมื่อผู้สื่อข่าวถามนายกรัฐมนตรีถึงกระแสข่าวรัฐประหาร นายกฯโบกมือพร้อมกล่าวเสียงดังว่า “กลับบ้านเลย” แล้วหันมาถามนักข่าวว่า “ใครจะรัฐประหาร” นักข่าวตอบว่า “ทหารจากกองทัพบก” นายกฯตอบว่า “เลอะเทอะ อย่าเอาทหารมาถามแบบนี้” แปลความว่าอย่าถามเรื่องรัฐประหาร

นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออก ผู้เสนอเป็นอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร 3 คน อดีตประธานวุฒิสภา 2 คน และอดีตรองประธานวุฒิสภา 1 คน มีบางคนเสนอว่าถ้านายกฯลาออกแล้ว ขอให้ใช้มาตรา 272 เพื่อเลือกนายกฯคนนอก

ปัจจุบันมีคนที่อาจได้รับเลือกเป็นนายกฯจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเคยเสนอไว้ ซึ่งเรียกว่านายกฯคนใน รายชื่อนี้ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ นายอภิสิทธิ์ นายอนุทิน คุณหญิงสุดารัตน์ นายชัชชาติ นายชัยเกษม

นายกฯคนนอกคือคนที่ไม่อยู่ในรายชื่อนี้ ถ้าจะเลือกนายกฯคนนอกก็ไม่ง่ายนัก ขั้นตอนตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญมีดังนี้ (1) ก่อนอื่น ต้องไม่เอานายกฯคนใน ผู้ที่จะเป็นนายกฯต้องการเสียงข้างมากเด็ดขาด (ประมาณ 375 เสียง) ของ ส.ส. + ส.ว. ที่ว่าไม่เอาก็คือ เสียงข้างมากนี้เข้าชื่อกันเสนอให้สามารถเลือกคนนอกเป็นนายกฯได้ (2) เมื่อมีข้อเสนอตาม (1) ก็ต้องให้ 2 ใน 3 ของ ส.ส. + ส.ว. (ประมาณ 500 เสียง) มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอ (3) เมื่อมีมติดังกล่าวแล้ว ส.ส. + ส.ว. ก็มาประชุมกันเลือกบุคคลนอกรายชื่อพรรคเป็นนายกฯ ด้วยเสียงข้างมากเด็ดขาดคือ ประมาณ 375 เสียง

เมื่อมีกระแสเรียกร้องให้นายกฯลาออก น่าแปลกใจที่นักวิชาการ 4 คนที่ให้สัมภาษณ์ในหน้า 2 ของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การลาออกของนายกฯจะทำให้บ้านเมืองดีขึ้นหรือไม่ มองได้ว่าอาจเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว ถ้ากลไกเลือกนายกฯเป็นแบบเดิม เชื่อว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยน แม้จะเลือกคนนอกเข้ามา ก็คาดว่าจะเป็นคนที่อยู่ในเครือข่ายของกลุ่มอำนาจเดิม ทางที่ดีกว่านั้นคือเร่งเลือกตั้ง ส.ส.ร. ให้มาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ และมีการเลือกนายกฯจากฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งต่อไป

มีผู้ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 แสดงการสืบทอดอำนาจของ คสช. ซึ่งเห็นได้จากการที่ ส.ว. ที่ คสช. เป็นคนแต่งตั้ง มีอำนาจมากกว่า ส.ว. ที่จะมาจากการเลือกกันเองเมื่อพ้นกำหนด 5 ปีของบทเฉพาะกาล ที่สำคัญคือ ส.ว. ปัจจุบันมีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 อีกทั้ง ส.ว. จะคอยควบคุม (โดยอาศัย มาตรา 256) มิให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะขัดใจ ส.ว. แม้จะถูกใจ ส.ส. เกือบทั้งหมดก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ร่างญัตติขอแก้ไขมาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาล ดูไม่เต็มใจแก้ไขมาตรา 256 นักแม้จะยกเลิกการระบุว่าต้องการเสียงอย่างน้อย 84 เสียงของ ส.ว. จึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่กลับไปเพิ่มเงื่อนไขให้ยังแก้ไขยากอยู่ดี กล่าวคือ เดิมการแก้ไขต้องการมติ ส.ส. + ส.ว. ประมาณ 375 เสียง (เสียงข้างมากเด็ดขาด) พรรครัฐบาลขอแก้ไขใหม่ให้เป็นว่าต้องการเสียง 3 ใน 5 หรือประมาณ 450 เสียงของ ส.ส. + ส.ว.

การลดอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ โดยยกเลิกมาตรา 272 นั้น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลได้ออกมาต้านญัตติของพรรคก้าวไกล คล้ายกับจะช่วยปกป้องบทบัญญัติที่ไม่เป็นประชาธิปไตยแต่ “ออกแบบมาเพื่อพวกเรา” นี้ไว้ มีการอ้างว่า การที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลบางคนไปลงนามสนับสนุนญัตติขอให้ยกเลิกมาตรา 272 นั้น ขัดต่อมติของวิปฝ่ายรัฐบาล เป็นการเสียมารยาท มีบางคนบอกว่าเป็นกบฏต่อพรรคที่ตนสังกัดที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลด้วยซ้ำ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลที่กล่าวทำนองนี้ คงไม่ใส่ใจหลักการที่ว่าอธิปไตยเป็นของปวงชน ส่วนมาตรา 114 ที่บัญญัติว่า “ส.ส. และ ส.ว.ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ” ดูจะขาดน้ำหนักเมื่อเทียบกับมติของวิปฝ่ายรัฐบาล

ในการแก้ไขและการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทางเลือกมีระหว่าง ความจริงใจที่จะสร้างสรรค์ประชาธิปไตย กับการปล่อยให้เป็นการยื้อยุดฉุดอำนาจกันต่อไปบทความนี้ตั้งชื่อว่า “นายกฯคนนอก” ผมก็เลยนึกสนุกขอร่วมเสนอชื่อนายกฯคนนอกด้วยคน ขอเสนอชื่อ สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นนายกคนนอกฯ ประวัติของสมบัติ ค้นดูได้ผ่าน google และที่ Wikipedia (https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4_%E0%B8%9A%E0%B8%B8%E0%B8%8D%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C)

สมบัติ อายุ 52 ปี ชื่อเล่น หนูหริ่ง (ไม่ทราบว่าไปพ้องจองกับตัวการ์ตูนแฮมทาโร่หรือเปล่า) มีนามปากกาว่า บ.ก. ลายจุด ซึ่งเขาใช้ตอนเป็นเว็บมาสเตอร์ที่ บ้านนอก.คอม สมบัติส่งเสริมระบอบรัฐสภาและพยายามก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อว่าพรรคเกรียน (แปลว่าสั้น เป็นระเบียบ) แต่ กกต. ไม่อนุมัติชื่อ เลยขอเปลี่ยนเป็นพรรคเกียน (แปลว่า อ่าว หรือทะเล) กกต. ก็อนุมัติแต่ก่อตั้งไม่ทัน

สมบัติมีจิตอาสาเพื่อส่วนรวม เคยอยู่กลุ่มอาสาสมัครมะขามป้อม ทำเรื่องละครชุมชนอยู่ที่นั่น 3 ปี ได้ไปดูแลโครงการอาสาสมัครงานเยาวชน แล้วปี 2534 ก็ลาออกไปต่อต้านรัฐบาล รสช. หลังจากนั้นก็ชวนเพื่อน ๆ ตั้งกลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา ต่อมาคือมูลนิธิกระจกเงา ไปอยู่ดอย ไปลงพื้นที่สึนามิ ไปช่วยน้ำท่วม นี่คืองานที่ทำมา 30 ปีแล้ว

สมบัติ เป็นนักกิจกรรมทางการเมือง และดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างเป็นอิสระ ถูกตั้งคำถามว่าเป็นนอมินีของ “เสื้อแดง” หรือ “เพื่อไทย” แต่ สมบัติ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกัน

สมบัติเป็นนักต่อสู้ เขาโดนคดีไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. ถูก คสช. สั่งควบคุมตัวในพื้นที่พิเศษเพื่อปรับทัศนคติ ในข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบโดยเผยแพร่ข้อมูลผ่านสังคมออนไลน์ เคยถูก คสช.สั่งไม่ให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงิน แต่ก็ผ่านพ้นไป เคยถูกอัยการฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานยุยงปลุกปั่น สร้างความกระด้างกระเดื่อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ม.14 แต่เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2563 ศาลพิพากษายกฟ้องสมบัติ โดยวินิจฉัยว่า การโพสต์รูปชู 3 นิ้วต้าน คสช. เป็นการแสดงออกถึงความรู้สึก ไม่ถึงกับเป็นการปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ

สมบัติเห็นว่าการเมืองคือการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ โดยฟังเสียงประชาชน ผมมีความเห็นว่าสมบัติมีความคิดริเริ่มสูง และเคารพประชาชน จึงมีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ ติดขัดอยู่แต่ว่า สมบัติเรียน ม.6 ที่โรงเรียนปทุมคงคา แต่เรียนไม่จบ ถูกครูเชิญให้ออกก่อน เพราะตอนนั้นเป็นผู้นำการประท้วงอาจารย์ เขาจึงขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) ที่บัญญัติว่า “รัฐมนตรีต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี” ความฝันของผมต้องสลายไปก่อน จนกว่าจะมีการเขียนรัฐธรรมนูญที่เปิดกว้างกว่านี้