posttoday

66/2523 - 2563

28 สิงหาคม 2563

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์

*****************

ในวาระครบ 100 ปีชาตกาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นเวลาเหมาะสำหรับระลึกถึงรัฐบุรุษผู้นี้ได้ในหลายทางด้วยกัน ผมขอเลือกพิจารณานโยบายด้านการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์สมัยที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรี หรือตามที่รู้จักกันทั่วไปว่า คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ซึ่งนับถึงตอนนี้ ก็ผ่านมา 40 ปีแล้ว

นัยสำคัญของคำสั่ง 66/2523 อันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแนวทางของรัฐไทยในการจัดการปัญหาความมั่นคงภายในสมัยนั้น มีทางพิจารณาได้เป็นหลายแบบ หนังสือด้านรัฐศาสตร์ที่ศึกษาการเมืองไทยสมัย พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรีเล่มล่าสุด คืองาน “เปรมาธิปไตย : การเมืองไทยระบอบไฮบริด” ของ อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ เลือกพิจารณายุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ในคำสั่งดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของ “การบริหารจัดการเพื่อสร้างสมดุลอำนาจในกองทัพ” และ “การปรับบทบาททหาร โดยหันไปเน้นการสร้างฐานมวลชน …สร้างระเบียบปฏิบัติทางการเมืองที่มีความชอบธรรมและมีความเป็นสถาบันมากขึ้น”

ในยุทธศาสตร์สร้างความมั่นคงตามแนวทางนี้ “การต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของทหารแต่เพียงลำพังอีกต่อไป” พล.อ.เปรม มีความคิดว่ารัฐไทยจำเป็นต้องบูรณาการพลังสนับสนุนความมั่นคงของรัฐจาก “พลังทางการเมือง พลังทางเศรษฐกิจ พลังทางสังคมจิตวิทยา และพลังทางทหาร” เพื่อ “ลดเงื่อนไขของสงคราม” ทั้งทางในทางวัตถุและความคิดจิตใจ ในทางวัตถุคือการพัฒนาให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ในทางความคิดจิตใจคือ “การสร้างศรัทธา [เพื่อ] ให้ประชาชนไว้วางใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐบาล”

สำหรับท่านผู้สนใจการเมืองไทยและบทบาททางการเมืองของ พล.อ.เปรม หนังสือเล่มนี้ของ อดินันท์ ยังอ่านหาการบวกลบคูณหารของเหตุปัจจัยในพัฒนาการ และจากการพัฒนาการเมืองไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน ของ “ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ” ภายใต้การบริหารอำนาจของพลเอกเปรมได้เป็นอย่างดี ในคำนำที่ สุรชาติ บำรุงสุข เขียนให้หนังสือของอดินันท์ อาจารย์ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจว่า “ระบอบนี้เป็นการเมืองที่เชื่อมโยงระหว่างสงคราม ประชาธิปไตย และความเป็นผู้นำของตัว ‘ป๋า’ เองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย”

ผมเห็นว่าโดยข้อสังเกตข้างต้น อาจารย์สุรชาติ กำลังชวนเราให้ลองตีความคำสั่ง 66/2523 เพื่อถอดหาความเข้าใจว่า “การเมืองที่เชื่อมโยงระหว่างสงครามกับประชาธิปไตย” ในความคิดของกลุ่มบุคคลฝ่ายความมั่นคงของรัฐที่มี พล.อ.เปรม เป็นแกนนำ มีความหมายนัยสำคัญอย่างไร ในช่วงทศวรรษ 2520 เมื่อเทียบกับก่อนหน้านั้น และที่จะมีต่อจากนั้น ในเส้นทางความคิดทางการเมืองไทยเกี่ยวกับประชาธิปไตย ที่พัฒนาเป็นลำดับมาตามสภาพปัญหาความมั่นคงและการเมืองภายในของไทยเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เส้นทางความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยของกลุ่มบุคคลในกลไกอำนาจรัฐฝ่ายคุมกำลัง

บทความสั้นๆ นี้ไม่อาจนำเสนอเรื่องใหญ่โตที่ว่ามานั้นได้แน่ ทำได้เพียงแต่บันทึกข้อสังเกตของ ผมเองบางประการที่ผมนึกได้ และจดเตรียมไว้สำหรับการอ่านตีความคำสั่ง 66/2523 ในงานวิจัยที่กำลังจะทำต่อไปตามทางพิจารณาที่อาจารย์สุรชาติให้ไว้ในคำนำหนังสือของ อดินันท์ ข้างต้น

ขอเริ่มด้วยข้อสังเกตพื้นๆ แต่ผมเห็นว่าไม่ควรมองข้าม นั่นคือ นายทหารกลุ่มนี้ไม่ใช่นักคิดทางการเมืองหรือเป็นนักทฤษฎีด้านสังคมศาสตร์ความมั่นคง เราไม่อาจคาดหวังถึงการถกเถียงในเชิงความคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตย หรือการพัฒนาแนวคิดวิเคราะห์ใหม่ๆ สำหรับขยายพรมแดนความรู้ด้านความมั่นคงศึกษา เมื่อศึกษาความคิดของพวกเขา จึงต้องพิจารณาว่าความคิดนั้นเป็นความคิดของผู้ปฏิบัติ ซึ่งเป็นฝ่ายที่ต้องหาทางแก้ไขปัญหาในความรับผิดชอบในสถานการณ์เฉพาะแบบใดแบบหนึ่งที่กำลังเผชิญอยู่ตรงหน้า

ในขณะเดียวกัน ภายใต้แรงกดดันของปัญหาและสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญ พวกเขาก็มีสิ่งที่ต้องรักษาไว้ให้มั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยอาศัยเครื่องมือ วิธีการและทรัพยากรที่มีอยู่ และต้องดำเนินในกรอบของอำนาจหน้าที่ ของภารกิจที่มีกำหนดระยะเวลา และดำเนินไปในกระบวนการที่มีกฎเกณฑ์กติกาบางอย่างกำกับไว้

ความคิดของพวกเขาจึงเป็นความคิดที่ได้มาจากการเรียนผ่านประสบการณ์ของพวกเขาเอง และรับความคิดที่เห็นผลลัพธ์มาแล้วจากการปฏิบัติและลงมือทำด้วยตนเอง มากกว่าจะยึดทฤษฎีจากตำรา จากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญภายนอก หรือจากนักคิดนักปรัชญาสำนักใดสำนักหนึ่ง

พวกเขาถือเอาการมองสภาพปัญหาตามความเป็นจริงที่เขาเห็นว่ามีอยู่เป็นอยู่ในประเทศไทยเป็นสำคัญ และมองหาหลักที่สามารถช่วยพวกเขาแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ตามที่พวกเขาเห็นและเผชิญอยู่นั้นได้ พวกเขาจึงไม่ได้อยู่ในฝ่ายที่ยึดถือตัวแบบประชาธิปไตยอุดมคติ ที่มีเงื่อนไขขั้นสูงขั้นต่ำตามความคิดหรือทฤษฎีการเมืองเป็นตัวตั้ง แล้วหาทางเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม หรือคิดรื้อถอนโครงสร้างอำนาจทางการเมืองเดิมลงไป เพื่อสร้างระเบียบสังคมแบบใหม่ให้เข้ากับหลักการอุดมคติอย่างนั้นตามความคิดของนักคิดนักทฤษฎีสายหนึ่งสายใด หรือจัดให้ได้เป๊ะตรงตามตัวแบบที่ได้มาจากที่หนึ่งที่ใด

โดยหลักสังเกตข้างต้น ผมจึงเห็นว่า การทำความเข้าใจความคิดประชาธิปไตยที่อยู่ในคำสั่ง 66/2523 ควรให้ความสำคัญที่ประสบการณ์ของนายทหารที่ขึ้นมารับผิดชอบความมั่นคงของรัฐในทศวรรษ 2520 ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของพวกเขาจากสงครามภายนอกประเทศ ประสบการณ์จากแนวทางจัดการความมั่นคงแบบเดิมที่รัฐไทยเคยใช้ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ภายในประเทศตามคำแนะนำผู้เชี่ยวชาญภายนอก ที่เน้นการปราบปรามทำลายเป็นหลัก และประสบการณ์ใหม่จากแนวทางมวลชนสัมพันธ์ที่พวกเขาทดลองใช้แทนการปราบปราม

และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือความคิดที่พวกเขาได้มาจากการพิจารณาปัญหาความมั่นคงภายในที่มาในรูปของ “สงครามปฏิวัติ” และ “สงครามประชาชาติ” ในบริบทเฉพาะทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และความคิดค่านิยมของประชาชนในประเทศไทยเอง ประกอบกับแนวทางการเมืองที่ฝ่ายตรงข้ามคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้ในการต่อสู้เพื่อช่วงชิงมวลชน ทั้งในด้านที่พคท.ใช้เป็นจุดรณรงค์โจมตีความชอบธรรมของรัฐไทยและการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และด้านที่เป็นตัวแบบ “ประชาธิปไตยประชาชน” ที่พคท. และอำนาจภายนอกที่สนับสนุนพคท. เสนอเป็นเป้าหมายอุดมคติสำหรับการปฏิวัติเปลี่ยนอำนาจรัฐไทย

ทั้งสองส่วนนี้คือประสบการณ์จากภาคสนามที่ส่งผลต่อการก่อรูปเป็นความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตย” ที่นายทหารกลุ่มนี้จะใช้ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร แน่นอนว่าประสบการณ์ร่วมกันในสายงานความมั่นคงและราชการสงครามที่คนรุ่นพวกเขาผ่านมามิใช่ว่าจะจัดสูตรสำเร็จความคิดเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตย” ที่จะต้องมีการ “พัฒนา” ออกมาอย่างชนิดที่ทำให้ทุกกลุ่มเห็นและเข้าใจแนวทางนั้นตรงกัน

ผมคิดว่าคงมีข้อถกเถียงเกิดขึ้นหมู่พวกเขาเอง หรือที่อยู่ต่างกลุ่มแต่อยู่ในฝ่ายความมั่นคงอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาปัญหาในสภาพแวดล้อม การเห็นสิ่งที่เป็นมูลเหตุของปัญหา ความเข้าใจเกี่ยวกับฝ่ายตรงกันข้าม ทางเลือกสำหรับการแก้ปัญหา และแนวทางที่จะทำให้ทางเลือกนั้นได้รับการยอมรับและเกิดผลในทางนโยบาย มิพักต้องพูดถึงสภาวะภายในกองทัพที่ยังมิได้เกิดเอกภาพและการแข่งขันระหว่างผู้นำทหารด้วยกันเอง

ดังนั้น เอกสาร 66/ 2523 จึงเป็นผลลัพธ์ที่ผ่านการประนอมความแตกต่างกันทางความคิดในฝ่ายความมั่นคงมาแล้วระดับหนึ่งเกี่ยวกับทางเลือกยุทธศาสตร์ที่จะใช้การเมืองนำการทหารในการจัด “การเมืองที่เชื่อมโยงสงครามกับประชาธิปไตย” แม้ว่าการเกิดกบฏยังเติร์กในเดือนเมษายนปีถัดมาจะบ่งชี้อยู่ในตัวถึงการยังไม่ลงตัวทางความคิดเกี่ยวกับการเมืองประชาธิปไตยเพื่อความมั่นคงของรัฐที่ว่านี้ รวมทั้งการยังไม่ลงรอยกันระหว่างการจัดอำนาจกองทัพและอำนาจของรัฐบาล กว่าจะได้แนวปฏิบัติที่เป็น “แผนรุกทางการเมือง” ออกมา ก็ต้องรอถึงเดือนพฤษภาคม ปีถัดมาจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 65/2525

ถ้าความเข้าใจที่เสนอมาข้างต้นไม่ผิดว่า วิธีคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยของผู้นำทหารที่รับผิดชอบความมั่นคงของรัฐในทศวรรษ 2520 มาจากปัญหาที่พวกเขาเผชิญและต้องหาทางแก้ในสถานการณ์ที่พวกเขาประสบอยู่จริง ๆ

ผมคิดว่าการสะดุดทางการเมืองที่เกิดขึ้นระหว่างเมษายน 2523 ถึงพฤษภาคม 2525 ก็มีผลอีกเช่นกันต่อเนื้อหาการเมืองและ “แผนรุกทางการเมือง” ที่ออกมา ถ้าสงครามปฏิวัติจะสอนอะไรสักเรื่องหนึ่งให้พวกเขาซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบความมั่นคงของรัฐขณะนั้นเห็นตรงกัน เรื่องนั้นคงไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตยโดยตรง แต่เป็นการรู้แยกมวลชนออกจากศัตรูที่แท้จริง และความรู้ในเรื่องนี้ส่งผลต่อความคิดพวกเขาเกี่ยวกับการเมือง “ที่เชื่อมโยงสงครามกับประชาธิปไตย”