posttoday

“VUCA World ระเบียบโลกเก่าเสื่อมสลายและระเบียบโลกใหม่ยังไม่สถาปนาลงตัว” กับ การปลดแอกของกลุ่มอัตลักษณ์ทางการเมือง

19 สิงหาคม 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร                        

*******************

การเมืองเรื่องอัตลักษณ์ (identity politics)  เป็นศัพท์รัฐศาสตร์ที่ใช้อธิบายแนวการศึกษาปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์หรือลักษณะที่บ่งบอกตัวตนบางชนิดร่วมกัน เช่น ศาสนา เชื้อชาติ ภูมิหลังทางสังคม ชนชั้น หรือเพศสภาพ ฯ ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมตามวาระข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของกลุ่ม

การรวมตัวเป็นกลุ่มการเมืองแบบอัตลักษณ์นี้มักมีสาเหตุมาจากการมีประสบการณ์กับความอยุติธรรมทั้งโดยตรงและโดยอ้อมร่วมกันระหว่างสมาชิกร่วมอัตลักษณ์ซึ่งมักเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคม ที่ไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพหรืออำนาจทางการเมืองอย่างเท่าเทียมในลักษณะใดลักษณะหนึ่งกับคนหมู่มากของสังคมที่ไม่ได้มีอัตลักษณ์ร่วมกับพวกเขา จนนำไปสู่การลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองเพื่อได้มาซึ่งอำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตหรืออนาคตของตนเองเพิ่มขึ้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มอัตลักษณ์จึงต้องเป็นการปฏิเสธสภาพการเป็นอยู่แบบเดิมๆ ที่ไม่ให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพที่ควรเท่ากันแต่กลับไม่เท่ากันของพวกเขา

“VUCA World ระเบียบโลกเก่าเสื่อมสลายและระเบียบโลกใหม่ยังไม่สถาปนาลงตัว” กับ การปลดแอกของกลุ่มอัตลักษณ์ทางการเมือง

การใช้กรอบคิดแบบ “การเมืองเรื่องอัตลักษณ์” อาจจะช่วยให้เราเข้าใจการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมของกลุ่มนิสิตนักศึกษาและเยาวชนในขณะนี้ได้ในระดับหนึ่ง  ปัจจัยที่ทำให้เยาวชนเหล่านี้รวมตัวกันได้อย่างเป็นกลุ่มก้อนและดำเนินการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบที่พวกเขาทำได้นั้น ไม่ใช่เรื่องศาสนาหรือเชื้อชาติแบบเดียวกับกลุ่มอัตลักษณ์ชนิดเดิมๆ

ที่เรารู้จักกันดี แต่คือเรื่อง “ช่วงชั้นของวัย” ที่อาจมีปัจจัยภูมิหลังทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นั่นคือ เยาวชนกลุ่มนี้น่าจะต้องอยู่ในสถานะทางเศรษฐกิจสังคมที่ดีพอควร กล่าวคือ มาจากครอบครัวที่สามารถส่งเสียให้เรียนหนังสือได้ ไม่ต้องออกมาใช้แรงงานเพื่อหาเลี้ยงชีวิตตัวเองหรือส่งเสียครอบครัว มีเวลาเหลือพอที่จะใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงอยู่กับการสื่อโซเชียล อย่าง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์หรือ Tik Tok (อันที่จริงผู้เขียนไม่ใคร่รู้เกี่ยวกับเยาวชนและการเล่นสื่อโซเชียลมากนัก แต่ก็เคยฟังมาจากนักศึกษาระดับหัวกระทิจำนวนหนึ่งที่ผู้เขียนเคยสอนว่า พวกเขาไม่เล่นสื่อเหล่านี้เพราะไม่มีเวลา

ดังนั้น ก็อาจเป็นได้ว่าจะมีปัจจัยเรื่องความเป็นเด็กเรียนหรือไม่ใช่เด็กเรียนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเช่นกัน) ซึ่งการที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันและมีโอกาสได้เรียนหนังสืออยู่ในระบบการศึกษาแบบเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ย่อมทำให้เยาวชนเหล่านี้พูดกันรู้เรื่อง พูดภาษาเดียวกัน มีประสบการณ์ร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นพูดคุยยอดฮิตผ่านหน้าจอมือถือหรือจอคอมพิวเตอร์              

“VUCA World ระเบียบโลกเก่าเสื่อมสลายและระเบียบโลกใหม่ยังไม่สถาปนาลงตัว” กับ การปลดแอกของกลุ่มอัตลักษณ์ทางการเมือง

และที่สำคัญที่สุด พวกเขามีประสบการณ์ร่วมกันเกี่ยวกับสิ่งที่คนในกลุ่มอัตลักษณ์อื่นไม่มี หรือถึงเคยมีแต่ก็ผ่านมานานพอสมควรจึงไม่รู้สึกชัดเจนจับต้องได้มากเท่า อันได้แก่ ความอยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำทางอำนาจที่พวกเขาต้องประสบอยู่ทุกวันภายใต้บริบทของวัยและการเป็นนักเรียน นำมาสู่การสามารถมีอารมณ์ร่วม เข้าอกเข้าใจกัน

และความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันชนิดที่กลุ่มอัตลักษณ์ทางการเมืองที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้สำเร็จทุกกลุ่มจำเป็นต้องมี (ถ้านึกภาพไม่ออกขอให้นึกถึงกลุ่ม #MeToo movement เป็นตัวอย่างคนในวัยเรียนโดยเฉพาะวัยมัธยมปลายเป็นช่วงวัยที่อยู่ในสภาวะกดดันมากที่สุด คือ ต้องเตรียมตัวสำหรับการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย  ที่พวกเขาจะต้องพยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ให้ได้เพื่อเป็นหลักประกันถึงความมั่นคงด้านสถานะและรายได้ในอนาคต

แต่ขณะเดียวกันนับวันก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆว่าการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยไม่สามารถให้หลักประกันได้มากกับที่เคยเป็นมาในอดีต และแน่นอนว่าเยาวชนกลุ่มนี้คงไม่มองว่าการมีอาชีพเป็นผู้ใช้แรงงานหรือกรรมการรายได้ต่ำคือทางเลือกสำหรับพวกเขา

“VUCA World ระเบียบโลกเก่าเสื่อมสลายและระเบียบโลกใหม่ยังไม่สถาปนาลงตัว” กับ การปลดแอกของกลุ่มอัตลักษณ์ทางการเมือง

“VUCA World ระเบียบโลกเก่าเสื่อมสลายและระเบียบโลกใหม่ยังไม่สถาปนาลงตัว” กับ การปลดแอกของกลุ่มอัตลักษณ์ทางการเมือง

ดังนั้น จึงเกิดเป็นความกดดันอันใหม่ขึ้นมาว่า จะ “เลือก” เรียนต่อดีหรือ “เลือก” ประกอบอาชีพนอกระบบไปเลย เช่นขายของออนไลน์ ซึ่งดูจะยังพอไปได้ดีอยู่ภายใต้สภาพเศรษฐกิจที่ผันผวนและเอาแน่เอานอนไม่ได้ทั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจการเมืองโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยการเมืองภายในของประเทศไทยที่ส่งผลกระทบต่อคนที่มีคุณสมบัติเลือกงานได้มากกว่าคนเลือกไม่ได้

ความไม่แน่นอนนี้ยิ่งซ้ำเติมความกดดันที่มีอยู่แล้วให้รุนแรงขึ้นอีก และวิธีหนึ่งที่รู้จักกันดีในตำราว่าด้วยการจัดการความเครียดไม่ให้เป็นพิษจนเกินไปก็คือการแย่งชิงอำนาจควบคุมชีวิตของตนกลับคืนมาจากมือใครก็ตามที่กูมมันอยู่แทนที่จะเป็นตัวพวกเขาเอง การออกมาเปล่งเสียงเรียกร้องและแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ต่อการใช้อำนาจในสถาบันการศึกษาที่เราได้เห็นกันบ่อยๆ ในช่วงนี้จึงถูกเข้าใจได้ดีที่สุดว่าคือการเพิ่มพลังอำนาจให้แก่ตนเอง (self-empowerment) ผ่านการแย่งชิงอำนาจควบคุมกลับมาเป็นของตน

ความไม่แน่นอนผันผวนที่ว่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก ดังที่มีคำย่อว่า VUCA ที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ปลายยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน ที่บอกว่าเรากำลังอยู่ใน VUCA world (https://www.sasimasuk.com/16768188/vuca-world)นั่นคือ

V-Volatility  คือ ความผันผวนสูง   อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว สถานการณ์หรือสภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง และรวดเร็ว ไม่สามารถคาดเดาหรือทำนายได้ หรือเป็นสถานการณ์เปลี่ยนฉับพลัน แบบตั้งตัวไม่ทัน หรือรวดเร็วมาก  เช่น ซึ่งในปัจจุบันคือ Disruptive innovation นวัตกรรมที่พลิกผัน  อัตราการเปลี่ยนแปลงสูง (High rate of change)

U-Uncertainty คือ สภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง คาดการณ์ได้ยาก ขาดความชัดเจน ไม่สามารถหาข้อมูลที่ชัดเจน มายืนยันในแต่ละสถานการณ์ได้  ทำให้ยากต่อการตัดสินใจ เพราะโลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนสูง  (Unclear about the present)

C-Complexity คือ ความซับซ้อนที่มากขึ้นเรื่อยๆเชิงระบบ  มีปัจจัยมากมายและซับซ้อนต่อการตัดสินใจ  (Multiple key decision factors)

A-Ambiguity คือ ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่สามารถคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจน   (Lack of clarity about meaning of an event)

โดยสภาวะทั้งหมดที่กล่าวมานี้ของ VUCA ส่งผลกระทบสำคัญคือ การคาดการณ์อะไรไม่ได้ และไม่ใช่อนาคตอันไกล แต่แม้แต่เรื่องใกล้ๆก็ยังหวั่นไหวไม่แน่นอนด้วยเมื่อผนวกเข้ากับปัจจัยวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 และปัญหาความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจตะวันตกกับจีนที่ทำให้ราคาหุ้น ทอง น้ำมัน ฯ ผันผวนแบบวันต่อวันก็ว่าได้  ซึ่งในกรณีความขัดแย้งในการเมืองโลกก็เป็นผลจาก VUCA ด้วยเช่นกัน อันจะได้อธิบายต่อไป

คำย่อ VUCA นี้มีที่มาจากหนังสือของ Warren Bennis และ Burt Nanus ชื่อ Leaders: The Strategies for Taking Charge (1985) ที่เป็นหนังสือที่ว่าด้วยยุทธศาสตร์ของผู้นำองค์กร เข้าใจว่า Bennis และ Nanus ไม่ได้บัญญัติคำย่อนี้ เพียงแต่เขาทั้งสองได้กล่าวถึงเงื่อนไขต่างๆที่ผู้นำองค์กรต้องเผชิญ

ต่อมา ในปี ค.ศ.1987 (พ.ศ. 2530) หลังจากที่หนังสือของ Bennis และ Nanus ได้ออกมาสองปี เริ่มมีการใช้คำย่อ VUCA วิทยาลัยการสงครามของทหารสหรัฐอเมริกาได้เริ่มใช้แนวความคิด VUCA ในการอธิบายโลกที่พวกเขาเห็นว่ากำลังอยู่ในสภาวะที่มีความผันผวนสูง ไม่แน่นอนสูง สลับซับซ้อนคลุมเครือ และมีตัวแสดงสำคัญในทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมที่หลากหลาย ซึ่งสภาวะ VUCA ในสายตาของกองทัพสหรัฐฯ นี้เกิดจากการสิ้นสุดสงครามเย็น และหลังจาก ค.ศ.2002 (พ.ศ. 2545) เริ่มมีการใช้และการถกเถียงต่อแนวคิดเรื่อง VUCA นี้มากขึ้น และเริ่มพัฒนาแนวคิดยุทธศาสตร์ในการรับมือกับ VUCA หลังสงครามเย็น

การที่วิทยาลัยการสงคราม กองทัพบก สหรัฐฯเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับ VUCA ก่อนใคร ก็เพราะกองทัพสหรัฐฯได้รับผลกระทบจาก VUCA นี้อย่างรุนแรงมากกว่าองค์กรอื่นๆ  อันเป็นผลมาจากการสิ้นสุดสงครามเย็นในปี ค.ศ. 1989

การสิ้นสุดสงครามเย็นคือ การสิ้นสุดของระเบียบโลกชุดหนึ่ง (world order) ที่ดำรงอยู่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเป็นเวลา 44 ปี นั่นคือ ระเบียบโลกสงครามเย็นอุบัติขึ้นทันทีหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1945

ส่วนระเบียบโลกก่อนหน้าระเบียบโลกสงครามเย็น เริ่มต้นจากการขยายตัวจากระเบียบยุโรปไปสู่การเป็นระเบียบโลก  อาทิ ระเบียบยุโรปภายใต้สนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย ค.ศ 1648, ข้อตกลงจากที่ประชุมใหญ่ที่เวียนนา (Congress of Vienna 1815) การล่มสลายของระเบียบยุโรป-โลกบางส่วนในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งลงเอยด้วยความพยายามสถาปนาระเบียบยุโรป-โลกขึ้นใหม่ภายใต้ข้อตกลงสันนิบาตแห่งชาติ (the League of Nations 1919) ที่มีอายุขัยเพียง 20 ปีก็ต้องพังทลายลงจากสงครามโลกครั้งที่สองตั้งแต่ ค.ศ.1939-1945

และเมื่อสิ้นสุดสงครามโลก ก็มีความพยายามสถาปนาระเบียบโลกใหม่ (new world order) ขึ้นอีกครั้งจากกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศภายใต้องค์การสหประชาชาติ ค.ศ.1945  แต่ในความเป็นจริง ระเบียบโลกใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สองคือ ระเบียบโลกสงครามเย็นมากกว่าที่จะดำเนินไปภายใต้สหประชาชาติ

แม้ว่าระเบียบโลกสงครามเย็นจะมีอายุไม่นาน นั่นคือระหว่าง ค.ศ. 1945-1989/1990   แต่กล่าวได้ว่า ระเบียบโลกยุคสงครามเย็นเป็นช่วงเวลาของการต่อสู้ที่เข้มข้นและแผ่กระจายไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามอุดมการณ์ สงครามตัวแทน การปฏิวัติเปลี่ยนแปลง การต่อสู้เชิงวัฒนธรรมผ่านสื่อภาพยนตร์ สินค้า กีฬา ศิลปะ ดนตรี ฯลฯ และกล่าวได้ว่า ไม่มีใครคาดคิดว่า สงครามเย็นจะสิ้นสุดลงได้ใน ค.ศ.1989

คำถามคือ การสิ้นสุดหรือเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกในแต่ละครั้งส่งผลให้เกิด VUCA  หรือไม่ ? หรือ VUCA ส่งผลให้ระเบียบโลกชุดหนึ่งๆต้องสิ้นสุดลง ? ถ้าจะตอบจริงๆ ต้องตอบยาวมาก ผู้เขียนเลยขอตอบสั้นๆว่า  ถูกต้องทั้งสอง การเปลี่ยนแปลงหรือความเสื่อมของระเบียบโลกส่งผลให้เกิด VUCA ต่อเศรษฐกิจการเมืองทั่วโลกขณะเดียวกัน VUCA ที่เกิดจากระเบียบโลกอีกชุดหนึ่งที่ไม่ใช่ระเบียบทางการเมือง แต่เป็นระเบียบทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่แพร่ไปและพัฒนาเศรษฐกิจทั่วโลกตั้งแต่ยุคอาณานิคมก็ส่งผลกระทบกลับไปที่กติกาการเมืองการปกครองของแต่ละประเทศและต่อไปยังระเบียบโลกด้วย

และหนึ่งในตัวอย่างของปฏิสัมพันธ์ระหว่างระเบียบโลก-VUCA-ระเบียบเทคโนโลยี/พัฒนาการเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อประเทศไทยก็คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ที่เป็นเรื่อง VUCA อย่างหนึ่ง ตั้งแต่สิ้นสุดระเบียบโลกสงครามเย็นที่อยู่ภายใต้มหาอำนาจสองขั้ว (bipolar world) กล่าวได้ว่า ยังไม่มีระเบียบโลกชุดใหม่ (new world order) และดูเหมือนจะเกิดภาวะอำนาจกระจายภายใต้ขั้วที่หลากหลาย (multipolar)

แต่สหรัฐอมริกาไม่ได้ต้องการให้โลกอยู่ภายใต้ภาวะขั้วหลากหลาย เพราะหลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น (1990) ไม่กี่ปี ในสมัยของประธานาธิบดีคลินตัน (1993-2001) แทนที่สหรัฐอเมริกาจะใช้ประโยชน์จากการแข่งขันสะสมอาวุธที่เคยทำมาภายใต้ระเบียบโลกสงครามเย็นในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่กลับทุ่มงบประมาณมหาศาลลงไปในการทหารสองเท่าของที่เคยลงไปในยุคสงครามเย็นเพื่อหวังจะเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก และเพื่อให้โลกอยู่ภายใต้ระเบียบโลกใหม่ที่มีสหรัฐเป็นเจ้าหนึ่งเดียว (hegemony) นั่นคือ ไม่มีประเทศใดจะมีแสนยานุภาพทางกำลังทหารเทียบได้กับสหรัฐอมริกา (Tzvetan Todorov, The New World Disorder: Reflections of a European, 2005)

“VUCA World ระเบียบโลกเก่าเสื่อมสลายและระเบียบโลกใหม่ยังไม่สถาปนาลงตัว” กับ การปลดแอกของกลุ่มอัตลักษณ์ทางการเมือง

“VUCA World ระเบียบโลกเก่าเสื่อมสลายและระเบียบโลกใหม่ยังไม่สถาปนาลงตัว” กับ การปลดแอกของกลุ่มอัตลักษณ์ทางการเมือง

นโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯที่มุ่งจะเป็นผู้สร้างและคุมระเบียบโลกใหม่ที่เห็นได้ในนโยบายของประธานาธิบดีคลินตันจากพรรคเดโมแครตก็ได้รับการสืบสานโดยประธานาธิบดีบุช (ผู้ลูก: ที่เป็นประธานาธิบดีต่อจากคลินตัน ค.ศ. 2001-2009) โดยในเอกสารทางการของทำเนียบขาวที่เผยแพร่ในวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 2002 ภายใต้หัวข้อ The National Security Strategy (ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ)

ประธานาธิบดีบุชได้กล่าวว่า “ปัจจุบัน มนุษยชาติจับถือกันในโอกาสที่จะขยายชัยชนะของเสรีภาพเหนือศัตรูทั้งหลาย สหรัฐฯยินดีที่จะให้เป็นความรับผิดชอบของเราที่จะเป็นผู้นำภารกิจนี้” และข้อสรุปในคำกล่าวของเขาได้เปิดศักราชใหม่ของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ นั่นคือ สหรัฐฯจะต้องเปลี่ยนจากการตั้งรับเป็นฝ่ายรุก (from defense to attack) “เรา (สหรัฐฯ) จะส่งเสริม....ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์....เสรีภาพในความคิดและศาสนา”

ซึ่ง “เป้าหมาย” ดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่กว้างขวางครอบคลุมไม่มีขอบเขต และสร้างความชอบธรรมในการใช้วิธีการใดๆก็ตามในการทำสงครามอะไรก็ตาม ภายใต้แนวทางใหม่ที่เรียกว่า “สงครามป้องกัน”(preventive war)  นั่นคือ ทำสงครามป้องกันไม่ให้เกิดการก่อการร้าย การกดขี่เสรีภาพทางศาสนา-ความคิด การขยายตัวของเผด็จการทรราช (แน่นอนว่า ความเคร่งครัดในการปฏิเสธการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันสูงสุดของประเทศไทยก็ย่อมเข้าข่ายศัตรูของประชาธิปไตยไปด้วย)  ฯ

มาตรการ“สงครามป้องกัน” (preventive war)ถือเป็นการปฏิวัตินโยบายต่างประเทศสหรัฐฯเลยทีเดียว นั่นคือ จากการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศตัวเองมาเป็นนโยบายการทำสงครามป้องปรามการกดขี่ปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดและศาสนาในประเทศต่างๆ อันนำมาซึ่งการทำสงครามเพื่อรุกทำลายการก่อการร้าย เผด็จการทรราช และสถาปนาเสรีภาพความเสมอภาคภายใต้แนวทางประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา (Tzvetan Todorov, The New World Disorder: Reflections of a European, 2005)

และภายใต้ “เป้าหมาย” อันกว้างขวางนี้เองที่ทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆสามารถเป็น “ศัตรูต่อเสรีภาพความเสมอภาคภายใต้ประชาธิปไตยของสหรัฐฯ” ได้ ในขณะที่ภายใต้ระเบียบโลกยุคสงครามเย็น เผด็จการในประเทศหนึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นศัตรูของสหรัฐฯตราบเท่าที่ยังเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ (นั่นคือ ยังเอื้อต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ) และเป็นปฏิปักษ์กับโซเวียต-จีน

ดังนั้น ภายใต้ความพยายามสร้างระเบียบโลกใหม่ของสหรัฐฯนี้เอง จึงทำให้การกล่าวอ้างความชอบธรรมในการส่งเสริมประชาธิปไตยในการทำสงครามหรือแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศต่างๆของสหรัฐฯหลังระเบียบโลกสงครามเย็นจึงสร้าความเคลือบแคลง และยังมองไม่เห็นเป็นอื่นได้นอกจากเป็นเรื่อง “ผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ” เท่านั้น (Tzvetan Todorov, The New World Disorder: Reflections of a European, 2005)

“VUCA World ระเบียบโลกเก่าเสื่อมสลายและระเบียบโลกใหม่ยังไม่สถาปนาลงตัว” กับ การปลดแอกของกลุ่มอัตลักษณ์ทางการเมือง

“VUCA World ระเบียบโลกเก่าเสื่อมสลายและระเบียบโลกใหม่ยังไม่สถาปนาลงตัว” กับ การปลดแอกของกลุ่มอัตลักษณ์ทางการเมือง

แน่นอนว่า ประเทศไทยย่อมตกอยู่ภายใต้สภาวะที่หลังระเบียบโลกเก่ายุคสงครามเย็นสิ้นสุดลง และระเบียบโลกใหม่ยังไม่ลงตัว ในขณะที่สหรัฐฯมีจุดยืนชัดเจนหลังสงครามเย็นว่า จะสถาปนาตัวเองให้เป็นผู้กำหนดระเบียบโลกใหม่  แต่พร้อมกันนั้น ก็มีตัวแสดงที่เป็นมหาอำนาจสำคัญในเวทีการเมืองโลกที่ผงาดขึ้นมาอย่างจีน ประเทศไทยย่อมตกอยู่ภายใต้สภาวะ VUCA ในสภาวะที่โลกยังไร้ระเบียบ อีกทั้งประเทศไทยยังตกอยู่ภายใต้พัฒนาการของระเบียบโลกของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระเบียบทางเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างรุนแรงด้วย

และที่สำคัญที่สุดคือ การเมืองภายในบ้านเรานั้นเข้าข่าย VUCA อย่างชัดเจน นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเมือง พ.ศ. 2549 จนถึงขณะนี้  การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน การชุมนุมประท้วง รัฐบาลอยู่ยาก การเลือกตั้งไม่เป็นทางออก มีรัฐประหารสองครั้งในรอบแปดปี คือ ระหว่าง พ.ศ. 2549-2557 ที่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองให้หมดไปได้ และเมื่อการเมืองไม่นิ่ง เศรษฐกิจก็พลอยระส่ำ ยิ่งถูกผลกระทบจากสิ่งที่เหนือความคาดเดาอย่างการระบาดของ Covid-19 ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตทางสังคมที่ไม่รู้ว่าอนาคตตัวเองจะเป็นอย่างไร ในสภาพที่โลกข้างนอกก็เป็น VUCA และโลกข้างในก็ยังเป็น VUCA อีก

โดยปกติ การเมืองจะเป็นอะไรที่สามารถบอกเราได้ว่า อนาคตเราจะเป็นอย่างไร เช่น นโยบายต่างๆที่จะออกมา หรือพรรคการเมืองที่เราเลือกไปจะผลักดันอะไรตามที่สัญญาไว้ แต่ตลอดระยะเวลาสิบสี่ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าการเมืองของเราผันผวนไม่แน่นอนและคลุมเครือจนทำให้คนในวัยที่ยังไม่ทำงาน แต่เรียนหนังสือ และต้องตัดสินใจว่าจะเรียนหรือไม่เรียนต่อ ถ้าต่อ จะเรียนอะไร ถ้าไม่ต่อ จะไปทำงานอะไร แล้วจะมั่นคงยั่งยืนได้แค่ไหน? ต่างจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เขาใช้ที่ให้ความชัดเจนแน่นอนได้และดูเหมือนจะเป็นที่พึ่งได้มากกว่า จึงไม่แปลกที่เยาวชนยุคปัจจุบันจะมีความคับข้องใจ

แต่นอกจากนี้แล้วพวกเขายังรู้สึกว่าตนกำลังเผชิญกับความอยุติธรรมที่ร้ายแรงอันหนึ่งอยู่ด้วย เพราะตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีมานี้ คนรุ่นก่อนหน้านี้ที่ต่อสู้ทางการเมืองกันคือคนที่ทำให้พวกเขาต้องรับเคราะห์อยู่ในสภาพ VUCA และถ้าพวกเขาได้รับข้อมูลว่า ในสมัยรัฐบาลทักษิณ เศรษฐกิจดี แต่ถูกรัฐประหารยึดอำนาจโดยมีการให้เหตุผลส่วนหนึ่งว่าเพื่อพิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์

และต่อมาการเมืองก็ยังสับสนวุ่นวายมีการกระชับพื้นที่ผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ตกอยู่ภายใต้วาทกรรม “จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” ยุบสภา และแม้นว่า การชุมนุมต่อต้าน พรบ นิรโทษกรรมเหมาเข่งจะชอบธรรม แต่ก็ไม่เห็นจะต้องบานปลายไปถึงการปฏิเสธการเลือกตั้ง จนทำให้ต้องเกิดรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ก็มีการอ้างการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องอีก และจะสังเกตได้ว่ามีคนรุ่นใหม่เริ่มออกมาแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารที่ให้สัญญาว่า “จะคืนความสุข”

ดังนั้น นอกจากเยาวชนจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนผันผวนกับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว พวกเขายังถูกลิดรอนความสุขที่รัฐบาลสัญญาว่าจะคืนให้ไปอีก ซ้ำร้ายความหวังที่จะได้ความยุติธรรมกลับคืนมาก็ถูกทำให้กลายเป็นฝันสลาย เมื่อหลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจผ่านวุฒิสภา และเมื่อพรรคอนาคตใหม่ที่ส่วนใหญ่ของคนช่วงวัยนี้เลือก เกิดถูกตัดสินยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองสิบปี จากการที่พรรคกู้เงินหัวหน้าพรรคตัวเอง และเมื่อเชื่อมโยงกับวาทกรรมว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลังคำตัดสินของศาลและรวมทั้งเรื่องราวอื่นๆที่ พาดพิงสถาบันสูงสุด  คำตอบสั้นๆ ในความเข้าใจของพวกเขาที่ก่อให้เกิด VUCA ในการรับรู้ของพวกเขาก็คือ มรดกเผด็จการของคนรุ่นก่อนที่ทิ้งไว้ให้พวกเขา และพวกเขาจะไม่ทนอีกต่อไป

นอกจากนี้ โดยธรรมชาติของกลุ่มอัตลักษณ์เยาวชนนี้ ถือเป็นกลุ่มที่โดยวัยและสถานะทางเศรษฐกิจสังคมแล้ว จะโหยหาใฝ่ฝันถึงเสรีภาพมากที่สุดเสมอในทุกยุคทุกสมัยทุกประเทศแล้ว  นอกจากจะสามารถเป็นกลุ่มเป้าหมายของการขับเคลื่อนทางการเมืองของกลุ่มการเมืองภายในประเทศแล้ว ยังอาจจะสอดคล้องกับนโยบายการสร้างระเบียบโลกใหม่ของสหรัฐฯได้อย่างเหมาะเจาะ โดยเฉพาะไม่เหลือคนกลุ่มอื่นให้ขับเคลื่อนได้ ดังนั้น เงื่อนไขความไม่แน่นอน (VUCA) ทั้งของการเมืองภายในและของโลก และภายใต้ธรรมชาติของคนวัยเรียนนี้ กลุ่มอัตลักษณ์เยาวชนทางการเมืองภายใต้จึงเป็นกลุ่มที่เปราะบางและเป็นกลุ่มพลังในเวลาเดียวกัน

การรวมกลุ่มอัตลักษณ์เพื่อเคลื่อนไหวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นก็เรื่องหนึ่ง ส่วนการกำกับควบคุมการเคลื่อนไหวให้ดำเนินไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งในที่นี้คือการโค่นล้มเผด็จการลงและสถาปนารัฐบาลประชาธิปไตยขึ้นนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การเมืองแบบอัตลักษณ์มีลักษณะย้อนแย้งในตนเองอยู่ประการหนึ่งคือ ยิ่งอนุญาตให้คนอื่นเข้าร่วมด้วย แทนที่กลุ่มจะเข้มแข็งขึ้น กลับจะอ่อนแอลง เนื่องจากเกิดการละลายหรือเจือจางของอัตลักษณ์ขึ้น

สิ่งที่เป็นความท้าทายสำหรับกลุ่มเยาวชนในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดหมายที่ตั้งใจไว้จึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรเมื่อไปถึงจุดหนึ่งแล้ว จะสามารถขยายขอบเขตอัตลักษณ์ของตนให้ไปแตะกับกลุ่มอื่นๆ เพื่อที่จะระดมความร่วมมือจากกลุ่มอัตลักษณ์กลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มคนสูงวัยจำนวนมาก ข้าราชการ ครูบาอาจารย์ ปัญญาชนรุ่นเก่าที่พวกเขาอาจมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจนิยมมาใช้ในการร่วมการสถาปานารัฐบาลประชาธิปไตยขึ้นได้ หากทำเช่นนี้ไม่สำเร็จ และจุดจบของการเมืองแบบอัตลักษณ์ครั้งนี้กลับกลายเป็นความขัดแย้งที่แหลมคมระหว่างคนต่างกลุ่มอัตลักษณ์ขึ้นแทน

ผู้เขียนเชื่อว่าสภาวะใหม่ที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่ช่วยให้ VUCA ลดลงหรือเป็นสิ่งที่จัดการได้ แต่กลับจะยิ่งทำให้ VUCA ที่คนทั้งสังคมไทยต้องเผชิญจากภายในและภายนอกกลับจะยิ่งกลายมาเป็นห่วงที่รัดคอเราให้หายใจไม่ออกมากยิ่งขึ้น

การขับเคลื่อนทางการเมืองในบ้านเราขณะนี้ อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ ไม่เฉพาะแต่เป็นเรื่องการเมืองภายในเท่านั้น แต่จะต้องคำนึงถึงการมีสิทธิ์เสรีภาพในการกำหนดทิศทางสำหรับเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศของตัวเองเพื่อรับมือกับปัญหาการต่อสู้ของมหาอำนาจในโลกภายใต้เงื่อนไขของ VUCA world ที่ “ระเบียบโลกเก่าเสื่อมสลาย และระเบียบโลกใหม่ก็ยังไม่สถาปนาลงตัว”( ผู้เขียนขอขอบพระคุณ คณาจารย์รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีที่แนะนำให้ผู้เขียนรู้จัก VUCA และทำให้ผู้เขียนศึกษาต่อยอดจนออกมาเป็นบทความนี้)

“VUCA World ระเบียบโลกเก่าเสื่อมสลายและระเบียบโลกใหม่ยังไม่สถาปนาลงตัว” กับ การปลดแอกของกลุ่มอัตลักษณ์ทางการเมือง