posttoday

ประชาชนได้อะไรจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

06 สิงหาคม 2563

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

******************************

ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจอะไรเมื่อมีการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งผ่านการลงประชามติมาแล้วโดยมีประชาชนเห็นชอบและไม่เห็นชอบในอัตราส่วนประมาณ 60 ต่อ 40 แน่นอน การร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะให้ถูกใจคนทุกคนไม่ได้ รัฐธรรมนูญของทุกประเทศก็คงไม่ถูกใจประชาชนของประเทศนั้นทั้งหมด แต่ต้องใช้เสียงของประชาชนว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่

คนที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ว่าไม่ว่าจะเป็นคณะใดก็ตาม ต้องร่างตามสภาพแวดล้อมของสังคมและความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ต้องศึกษารัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ และต้องมองไปข้างหน้าว่าบ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างใด จะร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของประเทศและประชาชนอย่างไรบ้าง

โดยเฉพาะภายใต้สภาพแวดล้อมท่างเทคโนโลยีด้านการสื่อสารมีส่วนสำคัญในกำหนดวิถีชีวิตของคน ความรู้สึกนึกคิดของคนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วภายใต้ข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลเข้ามาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ จนประชาชนแทบไม่มีเวลาตั้งสติว่าอะไรจริง อะไรเท็จ วิถีชีวิตของคนก็เปลี่ยนไป วิธีคิดของคนก็เปลี่ยนไป

แต่ที่รัฐธรรมนูญต้องมีและกำหนดไว้ในมาตราต้น ๆ คือ การกำหนดรูปแบบของรัฐและรูปแบบการปกครอง สิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของประชาชน องค์กรและวิธีการใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ องค์กรอิสระ เป็นต้น

รูปแบบของรัฐและรูปแบบการปกครองเป็นสิ่งที่จะทำให้โลกเข้าใจว่า ไทยมีรูปแบบของรัฐเป็น “รัฐเดี่ยว” ไม่ใช่สาธารณะรัฐ สหพันธ์รัฐ หรือหลายรัฐมารวมกันแล้วเรียกชื่ออื่น ๆ ไทยมีรูปแบบการปกครอง เป็นแบบประชาธิปไตย ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า “ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ที่เอารูปแบบของรัฐและรูปแบบของรัฐบาลมาเล่าให้ฟังแบบสั้น ๆ ก็เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีขึ้น พรรคการเมืองใด นักการเมืองคนใดที่เตรียมจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้ทราบไว้ก่อน

รัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ฉบับ 2475 จนถึงฉบับ 2560 ไม่เคยเปลี่ยนรูปแบบของรัฐและรูปแบบการปกครองเลย เพราะเห็นว่าเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดของประเทศ สอดคล้องกับประวัตศาสตร์และสังคมไทย

ทั้งนี้ ได้กำหนดไว้ในมาตรา 1 “ ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ “ และ มาตรา 2 “ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข “

ที่ต้องทำความเข้าใจในเร่องนี้ก่อน เพราะจะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้น ตามด้วยข้อเรียกร้องของฝ่ายค้าน ฝ่ายนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า “ เยาวชนปลดแอก” ต่อมามีคนช่วยยกระดับให้เป็น “ประชาชนปลดแอก” ล่าสุด รัฐบาลประกาศที่จะเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐบาลฉบับนี้ ส่วนจะแก้ประเด็นไหนบ้างก็ไปตกลงกันอีกที

รัฐธรรมนูญทุกฉบับนั้นสามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ เมื่อสภาพแวดล้อมของประเทศเปลี่ยนไป คนที่ร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับแรกก็ไม่สามารถทำนายได้ว่าประเทศในเวลาข้างหน้าจะเป็นอย่างไร นอกจากประเมินเอาจากสภาพแวดล้อม ซึ่งอาจตรงบ้างไม่ตรงบ้าง นอกจากนั้น คนร่างไม่สามารถที่จะร่างให้ถูกใจทุกคนได้ ต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่ ในเวลาต่อมา หากพบว่า รัฐธรรมนูญที่ร่างไว้เป็นอุปสรรคในการบริหารประเทศ ก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงและตามความต้องการของประชาชนได้

และต้องเข้าใจด้วยเช่นกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ก็ต้องทำยากกว่าการแก้ไขกฎหมายธรรมดา ไม่ใช่ว่านึกอยากจะแก้ก็แก้ได้ง่าย ๆ ถ้าเป็นอย่างนั้นบ้านเมืองคงวุ่นวาย

รัฐธรรมนูญทุกฉบับมีบทและมาตราที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยกันทั้งนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ก็เช่นเดียวกัน กำหนดไว้ในหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 และ 256 แม้มีเพียงสองมาตรา แต่ก็มีข้อย่อยอีกมาก ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ของง่ายอย่างที่หลายคนคิด การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามฉบับปี 2560 นั้น ให้ดูที่มาตรา 255 “การแก้ไขเพิ่มเติมที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จะกระทำมิได้”

คนที่จะเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องอ่านมาตรานี้ก่อน อย่างไรก็ดี เชื่อว่า คงไม่มีใครคิดแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1 และ 2

ส่วนมาตรา 256 (1-9 )เป็นการกำหนดหลักเกณท์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างใหม่ทูลเกล้าฯ นั้น ให้ดู (8) ดี ๆ หากมีคนสงสัยว่ามีการแก้ไขเพิ่มเติม (1) หมวด 1 (รูปแบบของรัฐ) (2) หมวด 2 (รูปแบบการปกครอง) หมวด 15 (การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) รวมทั้งสงสัยว่าจะมีการแก้ไขเพิ่มเติม (4) คุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ (5) หน้าที่หรืออำนาจของศาลหรือขององค์กรอิสระ หรือ เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ “ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ” ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้า

สรุปว่า ก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องทำประชามติ แต่เมื่อแก้ไขแล้วและมีคนสงสัยยื่นเรื่องเสนอขึ้นมา ต้องทำประชามติ

นอกจากนั้น กอนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างแก้ไขขึ้นทูลเกล้า ฯ ยังมีช่องทางอื่นด้วยที่คนขี้สงสัยสามารถทำได้ คือ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกของสองสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดที่อยู่ของแต่ละสภา หรือของสองสภารวมกัน เสนอต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามวิธีการที่กำหนดไว้ใน (9) โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้เสร็จภายใน 30 วัน

เชื่อว่า มีคนขี้สงสัยไม่น้อยในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา สรุปได้ว่า คนขี้สงสัยมีเครื่องมือสองอย่างที่จะใช้แก้ความสงสัยของตนได้ คือ (1) การทำประชามติ (2) ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ทั้งหมดเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องปลุกระดมคนหนุ่มสาวลงถนนอีก

ตบท้ายบทความวันนี้ ขอนำเสนอข้อสังเกตของ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.วิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณท์ และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร ที่ว่า “ ตนกังวลอยู่เรื่องเดียว คือ ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ประชาชนจะได้อะไรจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และประเทศจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหรือไม่ เพราะต้องไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพื่อให้พรรคการเมืองหรือนักการเมืองได้ประโยชน์ ซึ่งการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องให้น้ำหนักในสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง .......”

ขอบคุณที่ตั้งคำถามแทนประชาชน สมกับเป็นผู้แทนของประชาชนจริง ๆ 

*****************************