posttoday

การเมืองสวีเดนหลังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่เจ็ด)

06 สิงหาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

****************************

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองที่รัฐสภามีอำนาจสูงสุด ทำให้สมเด็จพระราชินี Urika Eleonora ทรงมีปัญหาในการครองราชย์เพราะไม่สามารถปรับพระองค์ได้กับกติกาการปกครองใหม่ที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือจริงๆแล้วพระมหากษัตริย์อยู่ใต้เจตจำนงค์ของรัฐสภา พระองค์จึงทรงสละราชสมบัติ หลังจากนั้น ที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติเลือก Fredrick of Hesse พระสวามีของสมเด็จพระราชินี ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สวีเดน ในพระนามของ พระเจ้าเฟดริกที่หนึ่ง (Frederick I: ครองราชย์ ๑๗๒๐-๑๗๕๑) แห่งราชวงศ์เฮสเซอะ-คาสเซล (Hesse-Kassel)

คำถามคือ ทำไมรัฐสภาสวีเดนจึงลงมติให้ Frederick เจ้าชายจากต่างแดนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์สวีเดนแทนสมเด็จพระราชินีที่เป็นชาวสวีเดนและเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขแท้ๆของราชวงศ์สวีเดน ?

ผู้เขียนเห็นว่า การขึ้นครองราชย์ของ Frederick มีสาเหตุที่น่าสนใจดังต่อไปนี้คือ

หนึ่ง เกิดจากความขัดแย้งระหว่างสภาบริหารกับสมเด็จพระราชินี สภาบริหารไม่พอใจกับการที่สมเด็จพระราชินีพยายามที่จะใช้พระราชอำนาจตามแบบแผนเดิมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

สอง ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว สภาบริหารได้ใช้อุบายโน้มน้าวให้สมเด็จพระราชินีทรงสละราชสมบัติให้พระสวามี Frederick of Hesse เพราะสภาบริหารรู้ดีว่า สมเด็จพระราชินีทรงฟังคำแนะนำจากพระสวามีของพระองค์ และทรงอุทิศพระองค์ให้กับพระสวามี

สาม การที่สภาบริหารเสนอให้สมเด็จพระราชินีทรงสละราชสมบัติให้พระสวามี Frederick of Hesse เพราะถ้าหาก Frederick ขึ้นครองราชย์แล้ว เนื่องจากพระองค์เป็นเจ้าชายจากต่างแดน จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สวีเดนไม่เข้มแข็งและไม่เป็นที่คาดหวังจากประชาชนได้มากเหมือนกับพระมหากษัตริย์ที่เป็นชาวสวีเดนโดยกำเนิด ก็จะทำให้สภาบริหารสามารถ “ควบคุม” พระมหากษัตริย์ให้ทรงใช้พระราชอำนาจตามคำแนะนำของสภาบริหารตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญได้

สี่ ทางฝ่ายสมเด็จพระราชินีเห็นว่า อาจจะเป็นโอกาสสำหรับพระสวามีของพระองค์ที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สวีเดนเข้มแข็งขึ้นมาอีกได้เพราะ “Fredrik ได้ทรงทำให้พระองค์เองเป็นที่นิยมของประชาชนชาวสวีเดน จากการที่พระองค์ทรงจริยวัตรที่เปิดเผยและสง่างาม มีบุคลิกภาพที่สดใสและเข้ากับผู้คนได้ง่าย และยังทรงมีชื่อเสียงในความกล้าหาญ”

หลังจากเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1720 ที่สวีเดนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 และ Frederick I ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สวีเดนและได้แต่งตั้งให้ Arvid Horn (ดูความเป็นมาของ Horn ได้ในตอนที่ห้าและหก) เป็นประธานสภาบริหารอีกครั้ง Horn ได้เข้าทำหน้าที่ดูแลกิจการด้านต่างประเทศ

แม้ว่าเขาจะเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์และมีความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เขาก็ไม่สามารถที่จะหยุดยั้งความสูญเสียของสวีเดนได้ ในการที่จะหาทุกวิถีทางที่จะทัดทานรัสเซีย สวีเดนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบทำสนธิสัญญาสันติภาพกับเดนมาร์ก อังกฤษได้เข้าเป็นตัวกลางที่ทำให้เดนมาร์กและสวีเดนทำสนธิสัญญากัน Horn สามารถต่อรองให้เดนมาร์กลดข้อเรียกร้องลง

โดยสวีเดนยอมยกเลิกการเก็บภาษีค่าด่านผ่านแม่น้ำ (the Sound tolls) และต้องจ่ายค่าชดเชยสงครามเป็นจำนวน 6,000,000 (เงินที่ทำจากแร่เงิน) และสวีเดนจะต้องถอนการสนับสนุนแคว้น Holstein-Gottorp ที่มีมาแต่เดิมไป และสัญญาว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซงสนับสนุน Duke of Holstein-Gottorp อีกต่อไป และจากเงื่อนไขดังกล่าวนี้เองที่เดนมาร์กยอมทำสนธิสัญญาสันติภาพที่ Fredriksburg ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1720

การยินยอมดังกล่าวนี้ถือว่าไม่ได้ทำให้สวีเดนเสียหายมากนัก เพราะ Frederick I เองก็ไม่ได้ทรงปรารถนาที่จะให้การช่วยเหลืออะไรมากมายต่อ Charles Frederick Duke of Holstein-Gottorp ที่เป็นคู่แข่งชิงบัลลังก์กับพระองค์อยู่แล้ว และสวีเดนที่ตกอยู่ในสภาวะที่ตกต่ำขณะนั้น จำเป็นต้องแสวงหาการสนับสนุนที่จากมหาอำนาจอย่างอังกฤษในความพยายามที่จะได้ดินแดนบริเวณบอลติกที่เป็นกรณีพิพาทกับรัสเซียคืนมา

แต่อังกฤษไม่มีทีท่าชัดเจนที่จะสนับสนุนสวีเดนในการต่อรองกับรัสเซีย และเมื่อรัสเซียเข้าโจมตีสวีเดนอีกครั้งในปี ค.ศ. 1721 สวีเดนพบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ สวีเดนกลับไม่มีชาติใดอยู่ข้างสวีเดน เพราะอังกฤษเองในขณะนั้นมีความต้องการที่จะคลี่คลายตัวเองอย่างเร็วที่สุดจากวิกฤตการณ์ความขัดแย้งในสแกนดิเนเวีย เพราะไม่ต้องการจะขัดแย้งกับรัสเซียอย่างเปิดเผย

การเมืองสวีเดนหลังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่เจ็ด)

ดังนั้น ในสนธิสัญญา the Treaty of Nystad ค.ศ. 1721 สวีเดนจึงถูกบังคับให้เสียเอสโทเนีย ลัตเวียและดินแดนบริเวณบอลติกให้รัสเซีย ทำให้สถานะของสวีเดนย่ำแย่มากจากข้อตกลงดังกล่าวนี้ ทั้งทางยุทธศาสตร์ที่สวีเดนไม่สามารถใช้ฟินแลนด์ในฐานะที่เป็นดินแดนกันชน และในทางเศรษฐกิจ ก็ต้องสูญเสียเอสโทเนียที่อุดมสมบูรณ์ไป

อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกัน สวีเดนก็ได้รับหลักประกันในสิทธิ์ที่จะนำเข้าข้าวปลอดภาษีจำนวนมากจากรีกาเมืองหลวงของลัตเวียได้ และจากสนธิสัญญา the Treaty of Nystad ค.ศ. 1721 สวีเดนได้บรรลุสันติภาพที่ต้องการมาเป็นเวลาอันยาวนาน อันเป็นสันติภาพที่สวีเดนต้องแลกกับการสูญเสียอย่างมากมาย และผลพวงของการต่อสู้อันยาวนานของสวีเดนนับศตวรรษในสงครามหลายครั้งรวมทั้ง “มหาสงครามตอนเหนือ” ได้มาจบสิ้นลงเพียงการสนธิสัญญาดังกล่าว ทำให้สวีดนจากที่เคยเป็นมหาอำนาจอันยิ่งใหญ่ในยุโรปลงเอยกลายเป็นประเทศที่ยากจนสุดขีด อ่อนแอและไม่สามารถปกป้องตัวเองโดยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมหาอำนาจต่างชาติได้

ในช่วงที่ Frederick I ทรงขึ้นครองราชย์ใหม่ๆด้วยพระชันษา 31 พรรษา พระองค์ยังทรงแข็งขันและกระตือรือร้นและทรงพยายามที่จะหาทางทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากขึ้น โดยพระองค์ทรงคาหวังว่าในการประชุมสภาฐานันดรในปี ค.ศ. 1723 พระองค์จะได้รับการสนับสนุนจากฐานันดรชาวนาและบรรดาผู้จงรักภักดี (the royalists) เพราะฐานันดรชาวนาเป็นกลุ่มที่มีความเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด และไม่ใช่เคารพเทิดทูนโดยไม่มีเหตุผล แต่เป็นเพราะในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ในปฏิสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์ พวกอภิชนและชาวนา สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ต่อสู้กับพวกอภิชนโดยสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับฐานันดรชาวนา โดยพยายามปกป้องรักษาความเป็นธรรมให้แก่ชาวนาและทัดทานการกดขี่จากพวกอภิชน

นอกจากที่พระองค์ทรงมีความหวังในกลุ่มชาวนาแล้ว ในช่วงที่พระองค์ทรงพยายามจะรื้อฟื้นพระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้มีกลุ่มผู้จงรักภักดีสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีชื่อในภาษาสวีเดิชว่า Hovpartiet หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า court party และผู้เขียนจะขอเรียกว่า “กลุ่มเจ้า” กลุ่มเจ้านี้ได้ก่อตัวขึ้นครั้งแรกระหว่างสมัยประชุมสภา ค.ศ. 1723 เพื่อทำการสนับสนุนความพยายามของ Frederick I จะรื้อฟื้นพระราชอำนาจให้กลับคืนมา

ชาวนาและกลุ่มเจ้าจะสามารถช่วยกู้พระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์สวีเดนให้ฟื้นคืนกลับมาได้มากน้อยเพียงใด เป้าหมายของทั้งสองกลุ่มนี้ คือ ต้องการสถาปนาสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้กลับคืนมา หรือ เพียงแค่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากขึ้นกว่าที่อยู่ในสภาพที่แทบจะไม่มีหรือไม่มีเลยดังที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 ?

คงต้องติดตาม “การเมืองในการประชุมรัฐสภา ค.ศ. 1723” กันในตอนต่อไป