posttoday

ความในใจของนายทหารรุ่นใหม่

25 กรกฎาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*****************

“ผมอยากเป็นทหารในหัวใจประชาชน”

ผู้เขียนมีลูกศิษย์เป็นทหารอยู่หลายคน ตั้งแต่พลทหารจนถึงนายพล แต่นายทหารที่กำลังจะเขียนถึงนี้มียศแค่พันตรี ทว่าความคิดของเขาน่าจะถึงขั้นจอมพล เพราะช่างมีความคิดเพื่อชาติบ้านเมืองที่ยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน ซึ่งจะขออนุญาตเรียกชื่อเขาว่า “ผู้พันวิวัฒน์” เพื่อให้รู้ว่าเป็นนายทหารที่มีตัวตนอยู่จริงๆ

ครอบครัวของผู้พันวิวัฒน์เป็นทหารมาตั้งแต่รุ่นคุณทวด คุณทวดเป็นทหารรุ่นท้ายๆ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เช่นเดียวกันกับทหารในยุคนั้นที่ถูกอบรมสั่งสอนให้จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และต้องปกป้องประเทศชาติราชบัลลังก์ด้วยชีวิต พอมาถึงสมัยคุณปู่ก็เกิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งตอนนั้นคุณปู่ยังเป็นแค่นักเรียนนายร้อยฝึกหัด ผู้พันวิวัฒน์ได้ยินจากคุณพ่อว่า คุณปู่ถูกเกณฑ์ให้ไปฝึกทหารในตอนเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่พระบรมรูปทรงม้า แต่กลับเป็นว่าต้องไปฟังการอ่านประกาศแถลงการณ์ของคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง จนถึงรุ่นคุณพ่อก็ต้องไปร่วมกับคณะรัฐประหารในยุคกึ่งพุทธกาล ที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม

เขาเป็นลูกคนสุดท้องและเป็นลูกผู้ชายเพียงคนเดียว พอเขาอายุได้ 4-5 คุณพ่อก็เกษียณ แต่ก็ถูกปลูกฝังให้รักในอาชีพทหาร โดยได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อย จปร. จนจบออกมาในปีมีความวุ่นวายทางการเมืองใน พ.ศ. 2552 โดยได้ถูกส่งไปประจำค่ายทหารที่จังหวัดหนึ่งในภาคกลาง แล้วเพิ่งกลับมาประจำที่ส่วนกลางภายหลังจากที่ติดยศพันตรีเมื่อปีกลาย จนมาพบกับผู้เขียนในการสมัครเข้ามาเรียนในหลักสูตรหนึ่งที่ผู้เขียนเป็นกรรมการประจำหลักสูตรนั้น

ผู้เขียนสนใจความคิดของเขาเวลาที่ให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมืองไทย จึงถือโอกาส “แอบสนทนา” กับเขาเป็นการส่วนตัว จึงได้ทราบว่าเขามีสายเลือดของทหารอย่างเข้มข้น แต่กระนั้นเขาก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการปกครองโดยทหารอย่างที่เป็นมาอย่างต่อเนื่องในระบบการเมืองไทย เขาบอกว่าทหารอาจจะถูกลดบทบาททางการเมืองลงไปได้ โดยทหารอาจจะไม่เต็มใจ แต่จะถูกสังคม “บีบ” ให้เป็นไปเช่นนั้น

เขาบอกว่า ทหารอยู่ในภาวะ “เป็นที่สงสัยของสังคม” ว่าทหารกำลังทำอะไรอยู่ ทำไมจึงเข้ามาครอบงำการเมืองไทยมาถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะในขณะนี้ที่ทหารพยายามจะสืบทอดอำนาจและปกครองประเทศไปอีกนานเท่านาน

เขามีเพื่อนอยู่ในหลายแวดวงอาชีพ บางคนเป็น ส.ส.อยู่ในสภาผู้แทนราษฎร เขาทราบจากเพื่อน ส.ส.คนนี้ว่า คนรุ่นใหม่ตีความว่าทหารมี “ภารกิจพิเศษ” หรือ “เป้าหมายลับเฉพาะ” บางอย่าง เหมือนมีการสมคบคิดกันที่จะรักษาอำนาจนี้ไว้เพื่อความมั่นคงหรือ “ความอยู่รอดร่วมกัน” เพราะถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกกระหน่ำจนพังลงไป อีกฝ่ายหนึ่งก็จะพังทลายตามไปด้วย

ผู้พันวิวัฒน์จึงเชื่อว่า “การเขย่ากองทัพ” น่าจะเป็นกิจกรรมที่คนรุ่นใหม่เหล่านี้จะกระทำไปเรื่อยๆ เพื่อรอให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในกลุ่มคนที่ “สมคบคิด” กันนี้ “มีอันเป็นไป” ซึ่งก็แน่นอนว่า ทหารเป็นเป้าหมายเดียวในเวลานี้ ที่สามารถโจมตีได้อย่างเปิดเผย ด้วยทหารนี้มี “ชนักทางสังคม” ที่ชัดเจนที่สุด คือเป็นผู้ทำปฏิวัติโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยมาหลายครั้ง รวมถึงความล้มเหลวในการสร้างประชาธิปไตยตามที่ทหารชอบอ้างภายหลังการรัฐประหารในทุกครั้งนั้นด้วย

ผู้พันวิวัฒน์มีเพื่อนรักคนหนึ่งเป็นหมออยู่ที่จังหวัดที่เขาออกไปรับราชการเมื่อ7-8 ปีที่ผ่านมา เพื่อนของเขาเป็นหมอที่เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อต่อ โดยเฉพาะข้อเข่า คุณหมอเล่าปัญหาของคุณหมอให้ฟังว่า คุณหมอมีคนไข้ที่รอเปลี่ยนข้อเข่าอยู่หลายร้อยคน เพราะในจังหวัดนั้นประชาชนมีอาชีพทำนาและทำสวนกันเกือบทั้งหมด พออายุมากก็จะมีปัญหาเรื่องข้อเข่า วิธีการรักษาที่ทำกันอยู่ในอดีตคือให้ยาแก้ปวดบรรเทาความทรมานนั้นไป

แต่พอรัฐบาลประกาศให้การเปลี่ยนข้อเข่าสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ก็มีชาวบ้านมาขอใช้สิทธินั้นกันล้นหลาม แต่รัฐบาลก็จัดงบประมาณให้จำกัด โดยสามารถเปลี่ยนข้อเข่าได้ปีละหลักพันข้อเข่าในแต่ละโรงพยาบาลศูนย์ ถ้าเกินจากนั้นต้องรองบประมาณปีต่อไป เพราะค่าข้อเข่าที่เป็นวัสดุพิเศษนั้นมีราคาถึงข้อละ50,000–70,000 บาท ถ้า 1,000 ข้อ ก็เป็นเงินถึง 50–70 ล้านบาท

ไม่กี่วันมานี้มีข่าวว่าทหารจะซื้อเครื่องบินเพื่อไว้รับรองนายทหารระดับวีไอพี มูลค่าลำละ 1,300 ล้านบาท เพื่อนที่เป็นหมอได้โทรศัพท์มาแซวว่า ขอแบ่งสักปีกสักล้อได้ไหม น่าจะได้เงินอีกร้อยสองร้อยล้าน เอามาซื้อข้อเข่าได้อีกหลายพันข้อ ช่วยชาวนาชาวไร่ชาวสวนได้อีกหลายพันคน ดีกว่าที่จะเอาไป “รองก้น” นายทหารเพียงไม่กี่คน เขาเองพอได้ฟังอย่างนี้แม้จะเผลอหัวเราะออกมา แต่มันก็เจ็บแปล๊บเข้าไปถึงกลางอก เพราะถ้ามองให้ลึกๆ นี่คือ “การกระทืบ” เข้าที่กลางอกของเขาที่เป็นนายทหารด้วยคนหนึ่ง

ผู้เขียนถามคำถามเล่นๆ ขึ้นว่า “ถ้ามีปฏิวัติ ผู้พันจะเข้าร่วมทำการปฏิวัติด้วยไหม”

ผู้พันวิวัฒน์ตอบในทันทีเหมือนเตรียมคำตอบนี้ไว้มาโดยตลอดว่า “ผมคงไม่รู้หรอกว่าจะมีการปฏิวัติเมื่อใด เพราะในการปฏิวัติทุกครั้งทหารระดับผมก็แค่ทำตามที่นายสั่ง ผมคุยกับนายทหารรุ่นพี่ๆ เขาบอกว่า พอเคลื่อนกำลังพลออกไปแล้วจึงมารู้ว่า ฉิ... นี่ปฏิวัตินี่หว่า เหมือนเมื่อปี 57 ผมก็โดนอย่างนั้น”

เขาพูดต่อไปว่า “แต่ถ้าปฏิวัติแล้วทหารทำไม่ได้อย่างที่รับปาก ก็ควรที่จะต้องรับผิดชอบ และถ้าทหารพาบ้านเมืองเสียหาย ทหารก็ต้องรับกรรม”

มิน่าคนรุ่นใหม่จึงพยายาม “ตัดกรรม” นั้นกับทหารอย่างเอาเป็นเอาตาย

*******************************