posttoday

การเมืองสวีเดนหลังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่ห้า)

23 กรกฎาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

****************************

หนึ่งปีหลังจาก Charles XII เสด็จสวรรคต สภาฐานันดรได้ลงมติประกาศใช้ “บทบัญญัติแห่งสภาฐานันดรแห่งราชอาณาจักรสวีเดน” ในปี ค.ศ. 1719 ซึ่งถือเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงจากระบอบที่อำนาจอยู่ในมือของคนๆเดียวเข้าสู่จุดเริ่มต้นของอำนาจของสภาในนฐานะที่เป็นฐานอำนาจของพวกอภิชนชนชั้นสูงในการลดทอนพระราชอำนาจสถาบันพระมหากษัตริย์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และหลังการสิ้นสุดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สวีเดนก็ได้เริ่มก้าวเข้าสู่ระบอบการปกครองที่ในศัพท์ทางรัฐศาสตร์สมัยใหม่เรียกว่า อำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภา (parliamentary supremacy)

หลังจาก Urika Eleonora เสด็จขึ้นครองราชย์ภายใต้ “บทบัญญัติแห่งสภาฐานันดรแห่งราชอาณาจักรสวีเดน ค.ศ. 1719” สมเด็จพระราชินี Urika Eleonora ทรงประสบกับความยุ่งยากอย่างยิ่งในการที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของระบอบการปกครองใหม่ที่พระราชอำนาจที่จำกัดอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระองค์ทรงพยายามที่จะปกครองในแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเดิมตามแบบ Charles XII

ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่า พระองค์ทรงเติบโตมาภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อีกทั้งก่อนหน้าที่สวีเดนจะเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชสมัยของ Charles XI พระราชบิดาของพระองค์ การเมืองการปกครองของสวีเดนก็อยู่ภายใต้ระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจมากมาตลอดนับขณะเดียวกัน จารีตประเพณีการปกครองของสวีเดนที่สภาฐานันดรมีอำนาจมากนั้นก็เกิดขึ้นมาในศตวรรษที่สิบสี่ และไม่ได้ดำเนินต่อเนื่องอย่างราบรื่นมาตลอด จึงเป็นเรื่องยากที่พระองค์จะคุ้นเคยและปฏิบัติตามจารีตประเพณีดังกล่าว

ต่อสภาวะดังกล่าวนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวนี้น่าจะเกิดขึ้นกับทุกประเทศที่เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆที่เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบที่พระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ถูกจำกัดหรือที่เรียกว่า ปรมิตตาญาสิทธิราชย์ (Limited Monarchy) หรือ พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) และระดับความเข้มข้นของปัญหาในการปรับตัวของพระมหากษัตริย์ต่อรูปแบบการปกรองใหม่จะยิ่งมีมาก หากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้คือ

“ไม่มีการใช้กำลังความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลง ทำให้ตัวแสดงทางการเมืองที่เคยมีอำนาจอยู่เดิมและยังคงดำรงอยู่ต่อไปในระบอบใหม่ แต่ถูกจำกัดอำนาจ ย่อมจะไม่เกิดความเกรงกลัว และไม่มีแรงขับเพียงพอที่จะให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยชินในการใช้อำนาจของตน และจะยังคงพยายามที่จะใช้อำนาจในแบบที่เคยใช้อยู่ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นการเปลี่ยนแปลงขอบเขตของการใช้อำนาจอย่างสุดโต่งกะทันหันฉับพลัน เช่น ในระบอบการปกครองเก่าตัวแสดงการเมืองหลักเคยมีอำนาจคิดเป็น 100 แต่ในระบอบการปกครองใหม่ ถูกลดอำนาจลงเหลือ 10 เป็นต้น”

แต่ถ้าในทางปฏิบัติ อำนาจของตัวแสดงหลักในทางการเมืองได้ค่อยๆลดทอนมาเรื่อยๆจนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้ว่าตามรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมายจะกำหนดไว้ให้ตัวแสดงหลักนั้นมีอำนาจมากเพียงไร ระดับความเข้มข้นของปัญหาในการปรับตัวของตัวแสดงทางการเมืองเดิมต่อรูปแบบการปกรองใหม่จะยิ่งมีไม่มาก การเปลี่ยนผ่านในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองที่เกิดขึ้นก็จะไม่เกิดปัญหามากนัก

การเมืองสวีเดนหลังระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสวีเดน (ตอนที่ห้า)

แต่ในกรณีที่มีการใช้กำลังความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครอง อย่างเช่น กรณีสงครามกลางเมืองระหว่าง Charles I กับฝ่ายรัฐสภาในอังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1642-1649 และลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่าย Charles I และมีการพิพากษาสำเร็จโทษพระองค์ และหลังจากนั้นเป็นเวลาสิบปี ได้มีการรื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์กลับขึ้นมาใหม่ในระบอบการปกครองของอังกฤษโดยกราบบังคมทูลเชิญให้ Charles II ให้ขึ้นครองราชย์ จะพบว่า Charles II ไม่ได้พยายามที่จะใช้พระราชอำนาจอย่างไม่จำกัดเหมือนในรัชสมัยของ Charles I และต่อจาก Charles II

แม้ว่า James II จะพยายามที่ใช้พระราชอำนาจอย่างกว้างขวางอีก แต่เมื่อฝ่ายรัฐสภายืนยันที่จะทัดทานและถอดถอนพระองค์ James II ก็ไม่ได้พยายามที่จะขัดขืนโดยใช้พระราชอำนาจในการทำสงครามต่อสู้กับฝ่ายรัฐสภาอีก ด้วยพระองค์ได้ทรงเรียนบทเรียนจากกรณีของ Charles I ไปแล้ว และพระองค์ยอมที่จะสละราชสมบัติตามแรงกดดันของฝ่ายรัฐสภา

หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงสมัครใจที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่มีแรงกดดันจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง การปรับตัวต่อขอบเขตพระราชใหม่ที่ถูกจำกัดก็ไม่เป็นปัญหา อย่างในกรณีของ Frederick VII ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของเดนมาร์ก ค.ศ. 1849 ที่เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยทรงยอมรับข้อเรียกร้องให้เดนมาร์กปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญของกลุ่มเสรีชาตินิยม หรือในกรณีของภูฏานที่ Jigme Singye Wangchuck พระมหากษัตริย์ทรงค่อยๆริเริ่มการปฏิรูปทางการเมืองการปกครองจนกระทั่งเข้าสู่ระบอบพระ มหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 2005 ซึ่งทั้งกรณีเดนมาร์กและภูฏานไม่ถือว่ามีการใช้กำลังความรุนแรงใดๆ และไม่ถือว่ามีการทำรัฐประหารเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสวีเดน ค.ศ. 1718 ถือว่าเป็นกรณีพิเศษเนื่องจากไม่ได้มีแรงกดดันใดๆเกิดขึ้นชัดเจนมาก่อน จะมีก็เพียงแต่กระแสที่เป็นข่าวลือในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1713-1714 แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสวีเดน ค.ศ. 1718 มีสาเหตุสำคัญจากการที่ Charles XII เสด็จสวรรคตโดยกะทันหัน และไม่ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา เกิดปัญหาในการสืบราชสันตติวงศ์ และความหน่ายแหนงของผู้คนต่อการสูญเสียชีวิตผู้คนและปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากนโยบายการทำสงครามของ Charles XII และการพ่ายแพ้สงคราม จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ฝ่ายอภิชนในสภาฐานันดรก็ดี

กองทัพและสภาบริหารก็ดีฉวยโอกาสในการต่อรองการปรารถนาที่จะขี้นครองราชย์ของ Urika Eleonora อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองและการเกิดบทบัญญัติฯ ค.ศ. 1719 และรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1720 และจากเงื่อนไขของการไม่สามารถปรับตัวของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ปรมิตตาญาสิทธิราชย์ทำให้สมเด็จพระราชินี Urika Eleonora ทรงสละราชสมบัติ ค.ศ. 1720 หลังจากครองราชย์ในระบอบการปกครองใหม่ที่เรียกว่า ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้เพียงสองปีเท่านั้น