posttoday

ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์ดอกิน  (ตอนที่สิบสอง)

06 กรกฎาคม 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร                

*******************

คราวที่แล้ว ได้ชี้ให้เห็นว่า ทฤษฎีความยุติธรรมของศาสตราจารย์โรเบิร์ต โนซิค (Robert Nozick) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วารด์ ไม่เห็นด้วยกับการให้รัฐบาลมีอำนาจและความรับผิดชอบมาก (extensive state) เพราะจะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้คน เขาเห็นว่า ควรปล่อยให้ผู้คนมีเสรีภาพในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไร แต่ก็ต้องรับผิดชอบกับผลพวงของการกระทำที่ตนเลือกทำลงไป ดังนั้น รัฐของโนซิคจึงเป็นรัฐที่มีอำนาจน้อยมากเข้าข่ายเป็นรัฐตะมุตะมิ (minimal state) และหากมีปัญหาอะไร ก็ปล่อยให้ผู้คนในสังคมช่วยเหลือกันเองตามความพอใจ เช่น บริจาคเงินและข้าวของให้กับผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก  ซึ่งคราวที่แล้ว ผมได้ลองนำเสนอข้อมูลสถิติของสังคมที่คนชอบบริจาคโดยเปรียบเทียบกับสังคมที่เก็บภาษีสูงมากเพื่อไปจัดสรรสวัสดิการให้กับผู้คน

โดยมีสมมุติฐานว่า สังคมใดเก็บภาษีมากและมีสวัสดิการมาก คนก็จะบริจาคน้อย และตัวอย่างหนึ่งก็คือ ประเทศญี่ปุ่นที่เก็บภาษีสูงถึงร้อยละ 50 และผู้คนก็ไม่ค่อยจะชอบบริจาคเงินมากนัก แต่ รศ ดร.ศุภชัย ศุภผล หัวหน้าสาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแห่ง ซึ่งเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น (ทางคุณแม่) เล่าให้ฟังว่า ที่ญี่ปุ่น ผู้คนไม่ค่อยจะบริจาคเงินกันเหมือนบ้านเรา แต่จะมีแบบแปลกๆคือวันดีคืนดี จะมีคนไม่บอกชื่อ เอาเงินไปให้ทางการ ดังที่มีข่าวปีกลายว่า “พบกล่องกระดาษใบหนึ่งถูกส่งไปยังที่ว่าการจังหวัดเอฮิเมะ โดยระบุชื่อผู้รับคือ นายโทกิฮิโระ นากามูระ ผู้ว่าการจังหวัดเอฮิเมะเมื่อวันที่ 29 มกราคม เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดกล่องออกต้องตกตะลึงเมื่อพบเงินสดจำนวนมากถึง 100 ล้านเยน หรือราว 30 ล้านบาท มีจดหมายฉบับหนึ่งอยู่ในกล่องระบุว่า ชื่อและที่อยู่ผู้ส่งที่ระบุว่าจ่าหน้าเป็นของปลอม และผู้มอบเงินนี้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยตัว เพียงแต่ต้องการให้ทางการนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ” แต่มีกลุ่มที่ชอบไปเรี่ยไรผู้คน กลุ่มที่ว่านี้เป็นกลุ่มขวาจัดที่เชิดชูจักรพรรดิและต้องการให้ญี่ปุ่นย้อนยุคกลับไปอยู่ในระบอบที่ให้จักรพรรดิมีพระราชอำนาจมาก ออกแนว “ฟื้นฟูจักรพรรดิ์ จักรพรรดิ์จงเจริญ บันไซๆๆๆๆ”

และคราวที่แล้ว ผมได้สัญญาว่า คราวนี้จะกล่าวถึง ศาสตราจารย์โรนัล ดอกิน (Ronald Dworkin) ที่เป็นนักวิชาการที่ยึดมั่นในแนวทฤษฎีความยุติธรรมของศาสตราจารย์จอห์น รอลส์ แต่ก็ยอมรับคำวิจารณ์ของอาจารย์โนซิคที่มีต่อข้อเสนอของอาจารย์รอลส์ และดอกินได้นำมาปรับปรุงพัฒนาออกมาเป็นทฤษฎีความยุติธรรมของเขาที่ยังออกแนวของอาจารย์รอลส์อยู่นั่นคือ เป็นแนวคิดแบบเสรีนิยมที่พยายามจะให้เกิดความเสมอภาค เพราะเสรีนิยมรุ่นเก่านั้นมักจะเน้นไปที่จุดเริ่มต้นที่มนุษย์เกิดมาเท่ากัน ไม่ยอมรับระบบชนชั้นวรรณะอภิชนทางสังคมใดๆ พูดง่ายๆก็คือ เสรีนิยมรุ่นเก่าเกิดมาเพื่อล้มโครงสร้างแบบชนชั้นวรรณะที่สืบสายโลหิต แต่เมื่อล้มแล้ว ใครมือยาว สาวได้ก็สาวเอา ถือเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของแต่ละคน แต่เมื่อเวลาผ่านไป เสรีนิยมรุ่นเก่ากลับเป็นเหตุให้เกิดชนชั้นวรรณะใหม่ขึ้นมา ที่ไม่ได้เป็นเรื่องสายโลหิตและชาติกำเนิด แต่เป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางความสามารถและโอกาสและการสะสมความมั่งคั่งอย่างไม่มีข้อจำกัด เกิดชนชั้นนายทุน คนรวยและชนชั้นคนจนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ภายใต้โครงสร้างที่สืบสานความร่ำรวยมั่งคั่งจนทำให้สังคมเหลื่อมล้ำหนักไม่ต่างจากสมัยก่อนโน้น ดีไม่ดีอาจจะย่ำแย่กว่าด้วย เพราะสังคมสมัยใหม่นี้ไม่ได้ร่ำรวยจากเพียงการทำไร่ไถนาเท่านั้น ยังมีเทคโนโลยี อุตสาหกรรม ฯลฯ และที่สำคัญคือตลาดมันใหญ่กว่าเดิมมาก และแถมการซื้อขายก็ทำได้ง่าย เพียงแค่ “คลิก” เท่านั้น

ดังนั้น รอลส์และดอกินผู้เป็นนักวิชาการที่เห็นว่า ยังไงๆ ความเที่ยงธรรมก็ยังต้องอยู่บนฐานของเสรีนิยมแต่เขาพยายามที่จะให้ เสรีภาพไปกันได้พร้อมๆกับความเสมอภาคด้วย เพราะที่ผ่านมา มันเข้าข่าย ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง แต่รอลส์และดอกินจะ “เอาทั้งสองอย่าง two in one” ลองดูว่า จะเป็นได้จริงแค่ไหน เพราะมีท่านผู้อ่านที่รู้จักและกำลังใช้ทฤษฎีของดอกินในการวิเคราะห์งานวิจัยของเขา ได้กรุณาส่งสรุปทฤษฎีดอกินที่ต่อยอดจากรอลส์และโนซิคมาเป็นความรู้แบ่งปันกัน

“โชคชะตากับความยุ่งยากในการเยียวยา"

หลักจากที่ได้ประยุกต์แนวคิดเรื่องความยุติธรรมของรอลส์ ในสถานการณ์โรคระบาดกันไปพอสมควรแล้ว สิ่งที่ฝังใจผู้อ่านอย่างผมและอีกหลายๆคนน่าจะเป็นข้อเสนอเรื่องม่านแห่งความไม่รู้ของเขา เพราะม่านแห่งความไม่รู้ทำให้ผู้อ่านต้องใช้เหตุผลจินตนาการอย่างไม่หลอกตัวเองว่าอะไรคือนโยบายสาธารณะที่ดี สัปดาห์นี้อาจารย์ไชยันต์เสนอให้ผู้อ่านใช้แนวคิดของนักวิชาการอีกคนหนึ่งนั่นก็คือโรนัล ดอกิน การเปลี่ยนจากรอลส์ไปสู่ดอกิน นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความต่อเนื่องอย่างดีเพราะนักวิชาการสองคนนี้มีจุดร่วมกันคือการที่พวกเขาพยายามลดทอนบทบาทของโชคชะตา (luck) เพื่อให้เกิดความยุติธรรม และในสัปดาห์นี้ผมจะกล่าวถึงแนวคิดเรื่อง option luck (โชคชะตาที่เราเลือกเองได้) กับ brute luck (โชคชะตาที่เราไม่ได้เลือกและเลือกไม่ได้) ของดอกิน การทำความเข้าใจโชคสองประเภทนี้จะทำให้เราเห็นถึงความยุ่งยากของการเยียวยาผู้เดือดร้อนในสถานการณ์โรคระบาด

ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์ดอกิน  (ตอนที่สิบสอง)

Option luck หมายถึงโชคชะตา ที่เราเลือกได้ว่าจะเข้าไปเสี่ยงหรือไม่ เช่น ไปเล่นการพนัน เพราะเราย่อมรู้ดีว่าการพนันมีความเสี่ยง และไม่มีใครบังคับให้เราไปเสี่ยง ดังนั้นการแพ้พนันจนหมดตัวคือโชคร้ายที่ผู้พนันต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ผู้แพ้พนันจึงไม่สมควรได้รับการเยียวยาจากสังคมแต่อย่างใด (จริงๆแล้วมีการตั้งคำถามว่าเราเลือกที่จะไม่เสี่ยงได้จริงหรือไม่ แต่จะขอกล่าวถึงในครั้งอื่น) option luck อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของการพนันก็ได้ มันอาจหมายถึงการที่เราเสี่ยงทำธุรกิจหรือกิจกรรมใดๆก็ตามที่ผลลัพธ์อาจจะออกหัวหรือออกก้อยก็ได้  แต่เราก็ตัดสินใจเสี่ยงโดยไม่มีใครบังคับ หากนำ option luck มาประยุกต์กับกรณีของการเยียวยาผู้เดือดร้อนในสถานการณ์โรคระบาด คำถามแรกที่ต้องตอบให้ได้ก่อนเลยก็คือ  ผู้เดือดร้อนทุกคนรู้หรือไม่ว่าวันดีคืนดีโรคระบาดอย่างโควิดจะเกิดขึ้นกับตัวเอง ? ผมเชื่อว่าทุกคนที่ไม่ใช่ผู้สร้างหรือผู้ปล่อยเชื้อโควิดย่อมไม่มีทางรู้ว่าการทำธุรกิจหรือกิจการใดๆของตนเองจะต้องเจอโรคระบาดนี้เล่นงาน เช่น เราคงไม่สามารถไปโทษเจ้าของร้านเหล้าที่เพิ่งเปิดกิจการเมื่อต้นปีได้ว่าเขารู้ทั้งรู้ว่าโควิดอาจจะทำให้กิจการของเขาต้องพังลงแต่ก็เลือกที่จะเสี่ยงเปิดกิจการ  ดังนั้นหากใช้เกณฑ์ option luck พิจารณาผู้เดือดร้อน ผมเห็นว่าทุกคน (ยกเว้นผู้สร้าง/ปล่อยเชื้อ) ไม่ใช่ผู้ที่มีความประมาท ทุกคนจึงอาจจะยังเข้าข่ายสมควรได้รับการเยียวยาอยู่ แต่ความยุ่งยากในการพิจารณาจะอยู่ที่ประเด็นถัดไปคือประเด็นเรื่อง brute luck

Brute luck คือ โชคชะตาที่เราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง เป็นโชคชะตาที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ คนพิการมาตั้งแต่เกิด คือเขาไม่ได้ทำตัวเองให้พิการ และพ่อแม่ก็ไม่ได้ตั้งใจทำให้ลูกในท้องต้องพิการ รวมถึงไม่ใช่ความผิดของหมอด้วย จึงถือว่าเป็นโชคชะตาที่อยู่เหนือการควบคุมของเราอย่างสิ้นเชิง หากโชคดีเกิดมาสมบูรณ์แบบทุกอย่างก็แล้วไป แต่หากโชคร้ายขึ้นมาเป็นความผิดของใคร ? มันไม่ใช่ความผิดของใคร เพียงแต่คนที่โชคร้ายจาก brute luck สมควรได้รับการเยียวยาหรือการช่วยเหลือบางประการ อย่างน้อยๆที่สุดก็สมควรได้รับการเยียวยามากกว่าผู้โชคร้ายจาก option luck แน่นอน คำถามก็คือหากนำประเด็นเรื่อง brute luck มาประยุกต์ใช้กับกรณีการเยียวยาผู้เดือดร้อนในสถานการณ์โรคระบาด ใครจะเข้าข่ายนั้นบ้าง ? ผมได้เขียนไว้แล้วว่าทุกคนไม่น่าจะเข้าข่ายเป็นผู้โชคร้ายจาก option luck นั่นหมายความว่าทุกคนจะกลายเป็นผู้โชคร้ายจาก brute luck โดยปริยาย ซึ่งจะนำกลับมาสู่คำถามใหญ่คือคำถามที่ว่าทุกคนก็ควรจะได้รับการเยียวยาหรือไม่ ?

ดอกินมีคำตอบที่น่าสนใจต่อประเด็นนี้ กล่าวคือเราสามารถเปลี่ยน brute luck ให้กลับไปเป็น option luck ได้ด้วยการทำประกัน เช่น การให้ทำประกันสำหรับการติดเชื้อโควิด หากติดเชื้อขึ้นมาก็จะได้รับเงินประกัน (กี่บาทก็ว่าไป) เพราะการทำประกันโควิดเป็นสิ่งที่เราสามารถเลือกได้ว่าจะทำหรือไม่ทำ หากเราไม่เลือกทำประกันแล้วเราติดเชื้อโควิดเราก็จะไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ เพราะเป็นสิ่งที่เราเลือกเองที่จะไม่ทำถือเป็น option luck ของเราเอง อย่างไรก็ตามการทำประกันโควิดเป็นเพียงการแก้ปัญหาของการติดหรือไม่ติดเชื้อเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้เดือดร้อน กล่าวคือไม่ว่าเราจะติดหรือไม่ติดเชื้อโควิด เราก็เป็นผู้เดือดร้อนทางเศรษฐกิจแบบ brute luck กันทุกคน นอกจากนั้นแล้วโควิดยังเป็นโรคระบาดร้ายแรงที่ใครๆก็ติดกันได้ การประกันโควิดจึงอาจส่งผลให้ระบบประกันเสียหายย่อยยับได้ จึงกล่าวได้ว่า สถานการณ์โรคระบาดโควิดนี้เป็นโจทย์ที่น่าปวดหัวสำหรับทฤษฎีความยุติธรรมมาก สัปดาห์หน้าคงมีผู้อ่านท่านอื่นหรืออาจารย์ไชยันต์เองมาไขข้อข้องใจท่านผู้อ่าน หรือแม้แต่ตัวผมเองที่คิดคำตอบออกแล้ว”            

ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์ดอกิน  (ตอนที่สิบสอง)

จากข้อเขียนของท่านผู้อ่านท่านนี้ จะสังเกตได้ว่าทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์ดอกินแห่งมหา วิทยาลัยเยลจะให้ความสำคัญกับเรื่องโชคชะตา (luck) และการเพิ่มประเด็นเรื่องโชคชะตานี้ คือความพยายามในการแก้จุดอ่อนที่อาจารย์โนซิคชี้ให้เห็นในทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์

แต่ผมคงต้องขออธิบายเพิ่มเติมแนวคิดเรื่อง “luck” ที่ว่านี้สักหน่อย เดี๋ยวจะเข้าใจผิดกันไปว่า อาจารย์ดอกินแกเชื่อเรื่องดวงชะตาราศรี     คือ คำว่า luck ในทีนี้ หมายถึง โชค ซึ่งแน่นอนว่า คนเรามีทั้งโชคดีและโชคร้าย แต่จะโชคดีหรือร้าย มันก็มีทั้งที่เป็นผลจากที่เราเลือกเองกับที่ไม่สามารถเลือกได้ ที่ไม่มีทางเลือกได้ ก็อย่างที่ผู้เขียนข้างต้นยกตัวอย่างไปแล้ว เช่น พิการตั้งแต่กำเนิด อันนี้ถือว่าเป็น “โชคร้าย” หรือถ้าฉลาดมาตั้งแต่เกิด หรือมีพรสวรรค์ความสามารถตั้งแต่กำเนิดหรือ “มันอยู่ในยีนส์” อันนี้ก็ถือว่าเป็น “โชคดี” ที่ไม่ได้เลือก เพราะคนเราเลือกเกิดไม่ได้

แต่โชคประเภทที่พอเลือกได้อยู่ ก็ได้แก่ เลือกเรียนอะไร เลือกอาชีพอะไร เลือกคนรักแบบไหน อันนี้ ไม่ได้มีใครบังคับ แต่ถ้าเถียงว่า ที่เลือกเรียนอะไร อาชีพอะไร คนรักแบบไหน เราไม่สามารถเลือกได้หรอก แต่เป็นเรื่องของบุพเพสันนิวาสหรือพรหมลิขิต ดวงชะตาดินฟ้าราศีตกฝากอะไรแบบนี้ ถ้าคิดแบบนั้น ก็ไม่ใช่เสรีนิยมอะไรกันแล้วหละครับ !!!

ทีนี้ อาจารย์ดอกินเขาเห็นว่า การเกิดมาโง่หรือฉลาด ไม่ควรจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ชีวิตคนๆนั้นต้องแแย่หรือดี เพราะเราเลือกไม่ได้ ดังนั้น ใครที่อยู่ในสภาพแบบนี้ (brute luck) ต้องได้รับการเยียวยาช่วยเหลือ  ไม่งั้นคนเก่งก็จะอ้างความชอบธรรมในความสามารถ (talent) ของตนในการทำมาหากินจนร่ำรวย และคนไม่เก่งเพราะสติปัญญาไม่ดีแต่กำเนิด (พูดง่ายๆก็คือ กูหัวทึบ !) ก็จะต้องรับสภาพ สังคมก็จะเหลื่อมล้ำภายใต้ความโชคดีโชคร้ายที่ไม่ได้เลือก แต่มันเกิดขึ้นมาอย่างไม่มีแบบแผนตายตัว เพราะพ่อแม่ฉลาด ลูกโง่ก็เยอะ ดังนั้น ความโชคดีโชคร้ายที่เลือกไม่ได้นี้ ดูจะเกิดขึ้นแบบตามอำเภอใจ ซึ่งถ้าเชื่อพระเจ้า ก็คงตามอำเภอใจของพระเจ้าที่พระองค์คงมีเหตุผลอะไรของพระองค์อยู่ แต่ถ้าไม่เชื่อในพระเจ้า เราก็คงพูดได้แค่ว่า มันไม่แน่นอนหรืออย่างที่ดอกินใช้คำว่า arbitrary ที่แปลว่า ตามอำเภอใจ ไม่แน่นอนและปราศจากเหตุผล ดังนั้น ดอกินเห็นว่า เราจะต้องทำให้เรื่องโชคชะตาที่เลือกไม่ได้นี้ไม่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ (luck egalitarianism)

ก่อนจะจบตอนนี้ ขอทิ้งคำถามไว้ว่า ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะปล่อยให้ความโชคดีโชคร้ายที่เลือกไม่ได้ในชีวิตคนๆ หนึ่ง ส่งผลต่อชีวิตของเขา ?  และถ้าเชื่อมโยงกับตัวอย่างที่ผมสมมุติไว้คราวที่แล้วว่า มีพ่อค้าผลไม้รถเข็นสองคนที่ประสบปัญหาทุกข์ยากในช่วงวิกฤตโควิด-19 คือเข้าข่ายตกอยู่ภายใต้ brute luck ทั้งคู่  โดยพ่อค้าคนแรกเลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมัธยัสถ์เก็บหอมรอมริบมีชีวิตพอเพียง เมื่อขายผลไม้ไม่ได้ในช่วงวิกฤต จึงยังพอเอาเงินที่เก็บสะสมมาจ่ายค่าเช่าห้องและกินใช้ไปได้ ไม่เดือดร้อนมาก (เลือกวิถีชีวิตพอเพียงถือเป็น option luck)  แต่พ่อค้าผลไม้อีกคนหนึ่งเลือกใช้ชีวิตแบบ “ชีวิตมีไว้พุ่งชน” หาได้เท่าไรก็เอามาซื้อความสุขทุกอย่าง เมื่อเกิดวิกฤต ก็เดือดร้อนหนัก (เข้าข่าย option luck เช่นกัน)  ตามทฤษฎีความยุติธรรมของดอกิน  รัฐบาลควรช่วยพ่อค้าทั้งสองคน หรือช่วยคนเดียว คนที่ลำบากมากๆหรือคนที่มัธยัสถ์ ??

ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์ดอกิน  (ตอนที่สิบสอง)

ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์ดอกิน  (ตอนที่สิบสอง)