posttoday

เทคนิคการเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (7)

04 กรกฎาคม 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

**********************

เทคนิคที่สาม ถ้าจะสู้กับทหารต้อง “รุก” อย่าตั้งรับ

สมัยที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2518 เป็นช่วงที่ทหารพยายามจะกลับคืนสู่อำนาจ หลังจากที่ถูกนิสิตนักศึกษาและประชาชนไล่ออกไปในเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยสภาพที่รัฐบาลหลังเลือกตั้งชุดนั้น “เปราะบาง” พรรคการเมืองต่างๆ มารวมกันเป็นรัฐบาลด้วยการเรียกร้องสิ่งตอบแทนมากมาย เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการก็เกาะกลุ่มกันเรียกร้อง สร้างปัญหาแก่รัฐบาลทั้งในและนอกสภา ในขณะที่ทหารก็เหมือนจะ “เกียร์ว่าง” คือไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเท่าใดนัก โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับความมั่นคง ที่รัฐบาลต้องให้ทหารช่วย แต่ทหารก็ดู “เก้ๆ กังๆ” ดั่งว่าจงใจแกล้งรัฐบาล

ตอนนั้นสงครามเวียดนามได้เข้าถึงจุดไคลแมกซ์ คือเวียดนามเหนือหรือเวียดกงได้เข้ายึดไซ่ง่อนในเดือนเมษายน 2518 พร้อมกับพวกคอมมิวนิสต์เขมรก็เข้ายึดพนมเปญในเดือนเดียวกันนั้น รัฐบาลของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ได้เรียกประชุมฝ่ายความมั่นคง โดยท่านเล่าให้ฟังว่าทหารดูตื่นเต้นตกใจมาก แต่ก็ไม่มีไอเดียอะไรเสนอแก่รัฐบาล เพียงแต่บอกว่าถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ พวกคอมมิวนิสต์ในเวียดนามและเขมรจะสามารถบุกเข้ามาถึงกรุงเทพฯภายในเวลา 10 วัน

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จึงเรียก พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาปรึกษา ก็ได้แนวทางว่าจะต้องไปพบกับเหมาเจ๋อตุง ผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างพลังต่อรองป้องกันเวียดนาม ครั้นนำเสนอไอเดียนี้ต่อฝ่ายความมั่นคง ทหารก็ไม่เห็นด้วย ทั้งยังมีการปล่อยข่าวว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นคอมมิวนิสต์

แต่ที่สุดรัฐบาลก็สามารถติดต่อประสานงานกับจีนได้ โดยความสามารถของกระทรวงการต่างประเทศที่นำโดย นายอานันท์ ปันยารชุน เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันดีซี ที่ถูกเรียกตัวมาทำภารกิจนี้โดยเฉพาะ จากนั้นในปลายเดือนมิถุนายนปีนั้น คณะรัฐบาลไทยก็ไปเปิดสัมพันธไมตรีกับจีน โดยลงนามกันในวันที่ 1 กรกฎาคม 2518

ต่อมาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็ได้นำคณะตัวแทนประเทศไทยไปประชุมผู้นำอาเซียน ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ท่ามกลางข่าวลือว่าทหารจะทำการปฏิวัติ ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็ได้ทราบข่าวนี้เช่นเดียวกัน และในระหว่างที่ท่านกำลังประชุมอยู่ที่บาหลีนั้น ทหารก็ประกาศใช้กฎอัยการศึก และมีการส่งกำลังทหารไปตรึงไว้ ณ จุดสำคัญๆ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็รีบเลือนการเดินทางกลับในทันที

และทันทีที่มาถึงห้องรับรองพิเศษ ท่ามกลางกำลังทหารอากาศที่อารักขาอย่างแน่นหนา (ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เล่าว่ามีความรู้สึกเหมือนกำลังถูกควบคุมตัวไปกักขังกระนั้น) ผู้สื่อข่าวจำนวนมากก็เข้ามาห้อมล้อมแล้วถามว่า ท่านนายกฯทราบไหมว่าทหารประกาศกฎอัยการศึกแล้ว ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ตอบเหมือนเตรียมมีคำตอบนั้นมาก่อนแล้ว ก็คือตอบว่า“ผมนี่แหละเป็นให้ประกาศกฎอัยการศึก ก็นายกฯไม่อยู่ในประเทศทั้งคน ก็ต้องป้องกันอะไรๆ ให้เรียบร้อยหน่อย”

ซึ่งก็ปรากฏว่าทหารก็ไม่ได้ดำเนินการยึดอำนาจตามแผนการที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ และดูเหมือนจะยิ่งเปิดเผยให้เห็นว่า ทหารของรัฐบาลนั้นเองที่เป็นศัตรูกับรัฐบาลของตัวเอง

อีกกรณีหนึ่งและอาจจะถือได้ว่าเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” ของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับทหารก็คือความวุ่นวายในสภาที่ทหารชักใยอยู่เบื้องหลัง ดังที่ผู้เขียนเคยเล่ามาแล้วว่าตั้งแต่ที่ตั้งรัฐบาลนี้ขึ้นได้ ทหารก็พยายามที่จะเข้าแทรกแซงและบ่อนทำลายความเป็นปึกแผ่นของรัฐบาล โดยการยุแยงตะแคงรั่วให้พรรคการเมืองบางพรรคที่ร่วมรัฐบาลเรียกร้องขอตำแหน่งรัฐมนตรีเพิ่มขึ้น พร้อมกันนั้นก็จัดรวมกลุ่มฝ่ายค้านให้เตรียมพร้อมที่จะเป็นรัฐบาล รวมถึงแผนการสุดท้ายที่จะทำรัฐประหารหากรัฐบาลไม่ยอมตาม

ซึ่งก็มีผู้นำข่าวนี้มาแจ้งแก่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้ทราบมาโดยตลอด โดยจะมีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลให้ได้ก่อนที่จะขึ้นปีใหม่ ซึ่งรัฐบาลก็แก้เกมด้วยการปรับคณะรัฐมนตรีอยู่หลายครั้ง เพื่อเอาคนที่สร้างปัญหาออก แล้วปรับเปลี่ยนคนใหม่ให้เข้ามาแทนที่ พร้อมกับ “กระชับ” ความสัมพันธ์กับทหาร โดยการเพิ่มงบประมาณสำหรับปี 2519 ให้แก่กองทัพมากขึ้น แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความตั้งใจที่จะล้มรัฐบาลของคนกลุ่มนี้

โดยมีการยื่นญัตติที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันที่ 14 มกราคม 2519 เพื่อหวังจะล้มรัฐบาลให้ได้ จนกระทั่งก่อนสิ้นปี 2518 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ให้มีการจัดเลี้ยงปีใหม่แก่พรรคร่วมรัฐบาล เพื่อ “นับยอด” หรือเช็คความมั่นคงของรัฐบาล ปรากฏว่ามีคนมาร่วมไม่มาก โดยเฉพาะแกนนำคนสำคัญของพรรคการเมืองบางพรรค จึงค่อนข้างจะแน่ใจว่า รัฐบาลไม่มีความมั่นคงอีกต่อไปแล้ว

ดังนั้นในวันที่ 12 มกราคม 2519 ก็มีพระบรมราชโองการประกาศยุบสภา ก่อนหน้าที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียง 2 วัน พร้อมกับประกาศให้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไปในวันที่ 4 เมษายน นั้นเลย ถือได้ว่ารัฐบาลได้ “ทิ้งบอมบ์” ทำลายความหวังของฝ่ายที่จ้องทำลายนั้นได้อย่างเจ็บแสบ (เพราะปรากฏว่าทหารได้ “ล้างแค้น” ครั้งนี้ ด้วยการไม่ลงคะแนนเลือกท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ที่ลงเลือกตั้งในเขตดุสิตซึ่งเป็น “เขตทหาร” ในการเลือกตั้งวันที่ 4 เมษายน โดยแพ้แก่ นายสมัคร สุนทรเวช ประมาณ 2,000 คะแนน)

อย่างที่ทราบมาแล้วว่า ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยเป็นทหาร มีความสนิทสนมกับนายทหารหลายคน ท่านจึงทราบถึง “สันดานทหาร” ว่าชอบที่จะก่อสงคราม คืออยู่สงบๆ ไม่เป็น แม้แต่ในเวลาที่บ้านเมืองมีการเลือกตั้ง ทหารก็ยังมองว่านักการเมืองเขาทำสงครามกัน ซึ่งทหารควรจะต้องไปเกี่ยวข้อง แต่จุดอ่อนของทหารนั้นคือตั้งรับไม่ค่อยเป็น ถ้าอยากจะเป็นฝ่ายชนะต้องรุกเข้าไปเท่านั้น ดังนั้นถ้าเราจะสู้กับทหารก็อย่าไปรังแกทหาร ปล่อยให้ทหารได้พักผ่อนสบายๆ แล้วค่อยรุกไล่เอาชัยชนะภายใต้ความเงียบสงบนั้น

รักภรรยาต้องเอาใจ รักทหารใหญ่ต้อง “ยกยอ”

*******************************