posttoday

ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์โนซิค (ตอนที่สิบเอ็ด)

29 มิถุนายน 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร               

*******************

หลังจากที่ผู้ใหญ่ลีรับฟังข้อเสนอของทั้งอาจารย์รอลส์ (John Rawls แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เจ้าของหนังสือ A Theory of Justice) และอาจารย์โนซิค (Robert Nozick เจ้าของหนังสือ Anarchy, State, and Utopia จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน) ก็ต้องร้องเรียกให้ลูกสาวเอายาแก้ปวดหัวมาให้กิน เพราะตอนแรกที่ได้ยินข้อเสนอของอาจารย์รอลส์ แกก็ว่ามันดีอยู่หรอกที่ให้ผู้คนในหมู่บ้านลองสมมุติว่าตัวเองยังไม่รู้ว่าจะเกิดมา จน รวย ฉลาด โง่ เก่งหรือไม่เก่งอะไร ฯลฯ และหลังจากที่สมมุติและลองคิดหากฎเกณฑ์กติกาที่เป็นธรรมในหมู่บ้านแล้ว ก็พบว่าทุกคนต่างเห็นพ้องกันว่า ยังไงๆ เมื่อตนเกิดมาจะต้องมีสิทธิเสรีภาพและโอกาสต่างๆเท่าเทียมกันเป็นพื้นฐานเสียก่อน เพื่อว่าหลังจากนั้น จะได้แข่งขันกันได้อย่างไม่เหลื่อมล้ำ เหมือนคนที่ออกวิ่งจากเส้นสตาร์ทเดียวกัน และหลังจากนั้น หากใครวิ่งเร็วกว่า ก็ต้องได้รางวัล จะให้คนเสมอภาคกันไปตลอดนั้น คงไม่มีใครคิดจะวิ่งแข่งหรอก เพราะชนะไปก็เท่านั้น รางวัลก็ต้องมาหารแบ่งให้เท่าๆกัน ขณะเดียวกันใครที่เกิดโชคร้ายต้องทุกข์ยากลำบาก กฎที่ทุกคนเห็นพ้องกันก็คือ หมู่บ้านควรจะต้องช่วยเหลือเยียวยา และเงินหรือทรัพยากรที่จะนำมาช่วยก็มาจากการเก็บภาษีจากทุกคน พูดง่ายๆก็คือ กติกาตามทฤษฎีความยุติธรรมของอาจารย์รอลส์คือ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และ “ใคร” ที่ว่านี้ก็คือ คนที่ด้อยโอกาสลำบากที่สุด ที่เขาใช้คำว่า “the least advantage”

แต่อาจารย์โนซิคไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีของอาจารย์รอลส์ โดยเขาชี้ให้เห็นจุดอ่อนในทฤษฎีของอาจารย์รอลส์ว่า การช่วยเหลือเยียวยาผู้ตกทุกข์ได้ยากของอาจารย์รอลส์นั้นเป็นการช่วยแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ นั่นคือ พอใครจนลำบากเข้าเกณฑ์ก็สามารถรับความช่วยเหลือจากหมู่บ้านหรือรัฐบาลได้เลย โดยอาจารย์โนซิคกล่าวว่า ในความเป็นจริง ไม่ใช่คนตกทุกข์ได้ยากทุกคนสมควรจะได้รับการช่วยเหลือ เพราะบางคนเล่นการพนัน กินเหล้าจนไม่ทำงาน ขี้เกียจ รักสบาย ฯลฯ คนที่ถูกเก็บภาษีไป ไม่อยากจะช่วยหรอก ซึ่งประเด็นนี้ แทบจะไม่มีใครปฏิเสธเลย คนส่วนใหญ่ยินดีจะให้เก็บภาษีไปช่วยเหลือคนที่สมควรจะได้รับความช่วยเหลือ แต่ถ้าช่วยแบบเหมาเข่งและไม่ดูประวัติภูมิหลังเขาเลย กติกาแบบนี้ที่ฟังเผินๆดูจะเที่ยงธรรม ก็กลับมีปัญหาขึ้นมาทันที อาจารย์โนซิคเลยเสนอทฤษฎีความยุติธรรมของเขาที่ฟังดูคล้ายจะใจร้ายใจหิน นั่นคือ รัฐบาลไม่ต้องช่วยใครเลย และประชาชนก็ไม่ต้องเสียภาษีให้รัฐบาลเพื่อจะไปช่วยใคร ทุกคนจะต้องรับผิดชอบตัวเอง ถ้าขี้เกียจ อยากกินเหล้ามากกว่าทำงาน ก็เอาเลย แต่เมื่อถึงเวลาจะไปร้องขอให้รัฐบาลช่วยไม่ได้  วิธีคิดแบบอาจารย์โนซิคจะเห็นได้จากคนที่ไม่ต้องการแบมือของเงินรัฐ ขอให้รัฐอย่ามาปิดกั้นเสรีภาพในการทำมาหากินของเขาก็พอ  พวกนี้จะเน้นสิทธิเสรีภาพในชีวิต อย่ามาบังคับให้ใส่หน้ากากโน่นนี่ รัฐไม่มีสิทธิ์มาปิดโน่นนี่

แต่แน่นอนว่า คนที่ลำบากและสมควรได้รับการช่วยเหลือก็มี ซึ่งอาจารย์โนซิคก็บอกว่า เขาไม่ได้ห้ามไม่ให้ช่วย สิ่งที่เขาห้ามคือ ห้ามรัฐบาลช่วย แต่เขาไม่ได้ห้ามไม่ให้คนมีเมตตาสงสาร การช่วยเหลือคนยากคนจนหรือใครก็ตามที่มีปัญหา สามารถทำได้ในแบบที่ให้ประชาชนสมัครใจช่วย เป็นเสรีภาพของแต่ละคน  ดังนั้น ในทฤษฎีของเขา จึงเปิดพื้นที่ให้ประชาชนตั้งองค์กรมูลนิธิการกุศลขึ้นมาได้ และอยากจะช่วยยังไงแค่ไหนก็ตามสบาย อยากจะช่วยโดยไม่ดูประวัติภูมิหลังเลยก็ได้ หรือจะตั้งเกณฑ์ไว้ว่า คนที่อุตสาหะทำมาหากินแล้วยังลำบากอยู่จะได้รับการช่วยเหลือ ส่วนใครขี้เกียจขี้แหล้า ไม่เข้าเกณฑ์ ก็ทำได้ทั้งนั้น ซึ่งเวลาองค์กรมูลนิธิตั้งเกณฑ์อะไรไว้แบบนี้ ไม่ถือว่าผิดอะไร แต่ถ้ารัฐบาลตั้งเกณฑ์แบบนี้ขึ้นมา คงมีคนโวยวายต่อล้อต่อเถียงกันมาก

อย่างเช่น ในช่วงวิกฤตโควิด-19  สมมุติว่า รัฐบาลตั้งเกณฑ์ว่า คนขายผลไม้รถเข็นที่ประสบปัญหาขายผลไม้ไม่ได้ ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง ค่าอะไรจิปาถะ ให้มารับเงินเยียวยาได้   แต่ในบรรดาคนขายผลไม้รถเข็นแบ่งออกได้เป็นสองพวก พวกแรกเป็นพวกประหยัดเก็บหอมรอมริบ กับอีกพวกหนึ่งคือ สุรุ่ยสุร่ายใช้จ่ายเกินตัวเป็นหนี้เป็นสิน ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19  ทั้งสองพวกนี้ขายผลไม้ไม่ได้ แต่พวกแรกยังมีเงินจ่ายค่าเช่าห้องและจ่ายค่าอะไรต่างๆได้อยู่ ส่วนอีกพวกหนึ่งลำบากยากแค้น  ถ้ารัฐบาลตั้งเกณฑ์ว่า คนขายผลไม้รถเข็นที่ “ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าห้อง ฯลฯ” ให้มารับเงินเยียวยาได้ คนขายผลไม้พวกแรกก็จะไม่เข้าเกณฑ์ แต่พวกหลังได้ แล้วมันเป็นธรรมกับพวกแรกหรือเปล่า ที่เขาไม่ได้เพราะเขาประหยัดมีเงินเก็บ ? แต่ถ้าให้คนขายผลไม้รถเข็นโดยไม่ตั้งเกณฑ์เรื่องเงินค่าเช่า ฯ ก็จะมีคนโวยวายว่า คนขายผลไม้รถเข็นบางคนยังอยู่ดีกินดีอยู่  ทำไมต้องช่วย ? คือ รัฐบาลโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ครั้นจะบอกว่า เยียวยาทุกคน หากใครไม่ลำบากก็ให้สละสิทธิ์ หรือโอนสิทธิ์  ก็น่าคิดว่า จะมีใครสักกี่คนสละสิทธิ์ แต่ถ้าเป็นองค์กรมูลนิธิจะทำยังไงก็ทำได้ แต่สำหรับรัฐบาล มันเป็นเรื่อง “นโยบายสาธารณะ” และคำว่า “สาธารณะ” นี้มันค้ำคออยู่ และเงินที่จะเอาไปช่วยก็ไม่ใช่เงินของรัฐบาล แต่เป็นเงินภาษีประชาชน ส่วนองค์กรมูลนิธิ คนที่บริจาคย่อมรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า องค์กรมูลนิธินี้ตั้งกฎเกณฑ์ในการช่วยเหลือเอาไว้อย่างไร

ผู้ใหญ่ลีมานั่งคิดๆๆๆๆๆ แล้วก็พึมพำว่า “เอ ! ข้าว่าเอาสองทฤษฎีมาผสมกันได้ไหมหวะ ? จะได้เอาข้อดีของทั้งสองมาอุดข้อเสียของกันและกัน มันน่าจะลงตัวนะ ?” 

ผสมกันได้ไหม ?

ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์โนซิค (ตอนที่สิบเอ็ด)

มีนักวิชาการที่ศึกษาพฤติกรรมของคนในสังคมที่เก็บภาษีมาก และมีระบบสวัสดิการต่างๆที่มาจากการใช้เงินภาษีประชาชนที่เก็บไป พบว่า คนในสังคมแบบนี้ จะมีแนวโน้มที่จะบริจาคเงินการกุศลหรือให้เงินช่วยเหลือน้อยหรือไม่ให้เลย เพราะคนในสังคมแบบนี้จะคิดว่า รัฐเก็บภาษีฉันไปมากมาย และบอกว่าจะเอาไปจัดสวัสดิการต่างๆ  หากมีคนที่ตกทุกข์ได้ยากลำบาก  ก็ควรเป็นความผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องมาช่วยเหลือคนเหล่านั้น ไม่ใช่ฉัน เหมือนกับที่คนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการวิ่งการกุศลรับเงินบริจาคไปให้โรงพยาบาลซื้ออุปกรณ์การแพทย์ของ “ตูน บอดี้สแลม” เพราะคนเหล่านี้เห็นว่า การซื้ออุปกรณ์การแพทย์ควรเป็นหน้าที่ของรัฐที่เก็บภาษีผู้คนไปแล้ว การที่ “ตูน” มาทำแบบนี้ กลับทำให้รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบ อีกทั้งคนเหล่านี้เห็นว่า หากโรงพยาบาลขาดแคลนอุปกรณ์เพราะงบประมาณด้านสาธารณสุขไม่เพียงพอ รัฐบาลก็ควรจะจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเสียใหม่ เช่น ซื้ออาวุธให้น้อยลงเพื่อเอาไปทุ่มทางสาธารณสุขมากขึ้น

ขณะเดียวกัน พฤติกรรมของคนในสังคมที่ยังไม่ได้เก็บภาษีสูงมาก และยังไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการเต็มตัวเท่าไร (มีคุณภาพที่ดีและเท่าเทียมกัน) คนเหล่านี้จะมีแนวโน้มที่จะบริจาคเงินช่วยเหลือมากกว่าคนในสังคมแบบแรก

ดังนั้น ในสังคมแบบที่ไม่เก็บภาษีสูงและยังไม่มีสวัสดิการเต็มรูปแบบ  และคนชอบที่จะบริจาค ก็ถือว่าเป็นการผสมทฤษฎีของอาจารย์รอลส์และของอาจารย์โนซิคได้ แต่ต้องขอย้ำไว้ว่าเป็น “การผสมแบบหยาบๆมาก” เพราะจริงๆแล้ว อาจารย์โนซิคจะรับไม่ได้ที่จะให้มีการเก็บภาษี แต่ของอาจารย์รอลส์แกไม่ว่า และจริงๆแล้ว แกก็อยากจะให้เก็บภาษีมากขึ้น เพื่อที่ผู้คนจะไม่ต้องมาบริจาคอะไรอีก เพราะแกเห็นว่า การบริจาคมันไม่มีความแน่นอน คนลำบากต้องรอคอยเมตตาจิตแบบเสรีสมัครใจ  และวันดีคืนดี คนอาจจะหยุดบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลได้ หรือถ้าเศรษฐกิจฝืดเคือง คนก็จะบริจาคน้อยลง หรือไม่บริจาคเลย จะปล่อยให้คนลำบากใช้ชีวิตบนความไม่แน่นอนแบบนี้ไม่ได้

แต่ก็มีนักทฤษฎีการเมืองที่เอาข้อดีข้อเสียของสองทฤษฎีมาผสมผสานอย่างเป็นระบบและเป็นเหตุเป็นผลดูดี  นักวิชาการที่ว่านี้เขาชอบทฤษฎีของรอลส์เป็นทุนอยู่ แต่ก็ยอมรับจุดอ่อนที่อาจารย์โนซิค เขาจึงพัฒนาทฤษฎีความยุติธรรมของเขาต่อยอดจากทั้งของอาจารย์รอลส์และอาจารย์โนซิค  นักวิชาการท่านนี้คือ ศาสตราจารย์ โรนัล ดอกิน (Ronald Dworkin)  ซึ่งจะได้เปิดตัวในตอนต่อไป

ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์โนซิค (ตอนที่สิบเอ็ด)

สุดท้ายจะขอนำข้อมูลประเทศที่เสียภาษีมากที่สุดในโลกมาให้ลองจินตนาการต่อยอดกันดู

-ไอร์แลนด์ 48%, 9-ฟินแลนด์ 49.2%, 8- อังกฤษ 50%, ญี่ปุ่น 50%, ออสเตรีย 50%, เบลเยี่ยม 50%, เนเธอร์แลนด์ 52%, เดนมาร์ค 55.38%, สวีเดน 56.6%, อารูบา (แคว้นหนึ่งในสี่ของเนเธอร์แลนด์) 58.95%, (ขอขอบคุณข้อมูลจาก LINETODAY เป็นอย่างยิ่งครับ) (ของบ้านเรา บางคนมีเหตุผลไม่อยากเสียภาษีมาก เพราะกลัวเงินไปไม่ถึงสวัสดิการครบทุกบางทุกสตางค์ !)

ส่วนประเทศที่ผู้คนชอบบริจาคการกุศลมาก มีหลายสำนักจัดอันดับ ได้ผลออกมาไม่ตรงกัน แต่มีตรงอยูแค่ว่า พม่าเป็นอันดับหนึ่งหรือสอง ไว้มีโอกาสจะแจกแจงให้เห็นเกณฑ์การจัดอันดับของแต่ละสำนัก และแถมยังมีประเทศที่เก็บภาษีแพงๆอย่างไอร์แลนด์ก็ยังติดอันดับชอบบริจาคด้วย ซึ่งขัดกับผลวิจัยก่อนหน้านี้ แต่ที่แน่ๆคือ ญี่ปุ่นติดอันดับล่างๆในการบริจาค และผมได้ลองถามไถ่ รศ. ดร. ศุภชัย ศุภผล (ผู้เขียนหนังสือทฤษฎีและชีวิตของจอห์น รอลส์) ว่า คนญี่ปุ่นเขาบริจาคเงินกันไหม ? (ที่ถามเพราะอาจารย์ศุภชัยแกเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่นและกลับไปเยี่ยมแม่และยายอยู่ทุกปี) อาจารย์ศุภชัยบอกว่า ไม่ค่อยจะเห็น ! แต่ก็มีบางกลุ่มที่ชอบมาเรี่ยไรผู้คนตามบ้าน ไว้คราวหน้าค่อยเฉลยครับ

ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์โนซิค (ตอนที่สิบเอ็ด)