posttoday

การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

12 มิถุนายน 2563

โดย...โคทม อารียา

*******************

เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำแนวทางในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (หลักสูตรสิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย และคู่มือจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน)ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างความตระหนัก และส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยต่อไป ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่ชาติ (กสม.) เสนอ ขอขอบคุณคณะรัฐมนตรีและ กสม. ที่เห็นความสำคัญและมีมาตรการส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน เมื่อรัฐบาลมีแนวทางเช่นนี้ ก็หวังว่าจะมีการปฏิบัติที่สอดคล้องอย่างเอาจริงเอาจังตามมา

สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน แต่เรามักได้ยินการอ้างเหตุผลแย้งทำนองว่า “คนคนนี้ถูกละเมิดสิทธิเพราะเขาเป็นอย่างนี้ หรือไปทำอย่างนั้น แต่เราที่เป็นพลเมืองดีจะไม่ถูกละเมิดสิทธิ เพราะเราไม่ทำอย่างเขา แล้วทำไมคุณถึงออกมาเรียกร้องสิทธิให้เขา คุณไปเดือดร้อนแทนเขาทำไม” เรื่องที่เกิดแก่จอร์ช ฟลอยด์ในสหรัฐอเมริกา เป็นชะตากรรมของคนคนหนึ่งก็จริง แต่คนจำนวนมากรู้สึกเดือดร้อนไปด้วย ผมจึงอยากให้ทุกคนคิดว่า ถ้าเรื่องที่ไม่ดีเกิดขึ้นแก่ใครคนหนึ่ง แล้วเราทำไม่รู้ไม่ชี้ พอถึงวันหนึ่งเมื่อเรื่องที่ไม่ดีเกิดขึ้นแก่เรา หรือแก่คนที่เรารัก เราจะมีหน้าไปขอให้ใครช่วยเล่า สิทธิมนุษยชนเป็นหลักความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ มนุษย์มีธรรมชาติที่รักความเป็นธรรม ไม่ชอบให้ใครถูกรังแก ถูกทรมาน ถูกลักพาตัว ฯลฯ ทั้งนี้โดยไม่ควรเลือกที่รักมักที่ชัง

เราอาจตั้งคำถามต่อไปว่า “แล้วความเป็นธรรมนั้นคืออะไร” ในที่นี้ขออ้างถึงนักคิดคนหนึ่งชื่อ John Rawls ที่ศึกษาเรื่องนี้จากแง่มุมตะวันตก เขาเสนอหลักการเพื่อความเป็นธรรมในสังคมไว้ 2 หลักการดังนี้ (1) หลักเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน (Equal Liberty Principle) กล่าวคือ บุคคลทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการมีเสรีภาพมากที่สุด เท่าที่ไม่ขัดกับเสรีภาพในทำนองเดียวกันที่ทุกคนพึงมี (2) หลักความแตกต่าง (Difference Principle) กล่าวคือ ความไม่เสมอภาคกันในทางเศรษฐกิจและสังคมพึงได้รับการจัดการเพื่อให้ (ก) เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ที่ด้อยโอกาสมากที่สุด และ (ข) ทุกคนสามารถเข้าถึงหน้าที่และตำแหน่งการงานภายใต้ความเสมอภาคทางโอกาส ในแง่นี้ อาจมองได้ว่าความเป็นธรรมในสังคมจะเกิดขึ้นถ้าสังคมให้โอกาสหรือส่งเสริมให้ผู้ด้อยสิทธิได้พัฒนาตนเองตามศักยภาพที่มี

ในอีกมุมมองหนึ่ง การมีเสรีภาพมากที่สุดตามข้อเสนอของ Rawls นั้น แม้อาจช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่อาจสร้างสังคมปรองดองได้ดีนัก การอ้างสิทธิเสรีภาพเหมือนเป็นการเรียกร้องต่อผู้อื่น ต่อสังคม ต่อรัฐ มากกว่าจะเรียกร้องต่อตนเอง เพราะหมายถึง “อำนาจหรือประโยชน์ที่กฎหมายรับรองหรือคุ้มครอง” เรามักอ้างสิทธิเพื่อแสดงความชอบธรรมในสิ่งที่เราทำ เพื่อแสดงถึงความชอบธรรมในสิ่งที่เราเห็นควรได้รับจากผู้อื่นและจากสังคม ... เรามีสิทธิเรียกร้องและปกป้องสิทธิของเราได้ ... จึงอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับผู้อื่น จึงควรเสริมหลักของสิทธิในความหมายของอิทธิ(ฤทธิ์) ด้วยหลักของสิกขา (เรียนรู้และปรับปรุง) และหลักของไมตรีและความอ่อนโยนต่อผู้อื่นด้วย

ข้อคิดเกี่ยวกับสิทธิและความเป็นธรรมมีมานาน และคงจะมีการโต้เถียงกันต่อไป การโต้เถียงในเชิงหลักการมักเป็นนามธรรม ต่อเมื่อมีเหตุการณ์มากระตุ้นจึงทำให้เกิดการขยับเลื่อนในทางปฏิบัติ เช่น กรณีการลอบสังหารมาร์ติน ลูเธอร์ คิง หรือการกดคอจอร์ช ฟลอยด์จนถึงแก่ชีวิต ได้มากระตุ้นจิตสำนึกของเราในเรื่องสิทธิของคนผิวดำ และความโหดร้ายของการเหยียดผิว แล้วโลกจะไม่เหมือนเดิม มีการเปลี่ยนแปลงก้าวหนึ่งที่ยกระดับจิตสำนึกและการปฏิบัติของเรา ในเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้น เหตุการณ์ที่มากระตุ้นยิ่งใหญ่และทารุณมาก นั่นคือสงครามโลกครั้งที่สอง

องค์การสหประชาชาติได้ก่อตั้งหลังสงครามโลก โดยมี “เจตจำนงที่จะช่วยชนรุ่นหลังให้พ้นจาก ภัยพิบัติแห่งสงคราม ... และที่จะยืนยันความเชื่อมั่นในสิทธิมนุษยชนอันเป็นหลักมูล ในเกียรติศักดิ์และคุณค่าของมนุษย์ ในสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรี และของประชาชาติใหญ่น้อย ... และความเคารพต่อข้อผูกพันทั้งหลายอันเกิดจากสนธิสัญญาและที่มาอื่น ๆ ของกฎหมายระหว่างประเทศ” กล่าวอีกนัยหนึ่ง สิทธิมนุษยชนได้กลายมาเป็นกฎหมายระหว่างประเทศหลังสงครามโลกนั่นเอง

ความเป็นกฎหมายเริ่มด้วยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมุษยชนดังที่ประกาศเมื่อปี 2451 ปฏิญญานี้มีอยู่ 30 ข้อที่ถือเป็นหลักการพื้นฐาน ต่อจากนั้น ได้มีการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศที่สำคัญสองฉบับคือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) นอกจากนี้ยังมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหรือเฉพาะด้านอีก 7 ฉบับ ดังนี้

1) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)

2) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) 3) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD)

4) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT)

5) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ

6) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED)

7) อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว (CMW)

สังเกตว่า อนุสัญญา 2 ฉบับ (CEDAW และ CERD) เป็นเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อสตรีและคนต่างเชื้อชาติ แต่การเลือกปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของผู้ด้อยโอกาส ย่อมถือว่าเป็นธรรมตามนัยของ Rawls ดังกล่าวข้างต้น ส่วนอนุสัญญา 3 ฉบับ (ว่าด้วยเด็ก คนพิการ แรงงานข้ามชาติ) จะเน้นในเรื่องการคุ้มครองและการพัฒนาตามหลักของอิทธิ(ฤทธิ์) รวมทั้งหลักของสิกขาดังที่กล่าวมาแล้ว อนุสัญญาอีก 2 ฉบับเน้นในเรื่องต่อต้านการกระทำที่น่ารังเกียจยิ่ง คือการทรมาน (CAT) และการอุ้มหาย (CED)

ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศทั้งสองฉบับ และเป็นภาคีอนุสัญญา 5 ฉบับ และลงนามในอนุสัญญา CED เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แต่ยังไม่ให้สัตยาบัน กระนั้น การลงนามถือเป็นการแสดงเจตนารมณ์และความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาการบังคับให้บุคคลสูญหาย ซึ่งข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2562 ระบุว่า มีคนหายสาบสูญในประเทศไทย 86 คน จากเหตุการณ์ทางการเมือง เหตุการณ์พฤษภา 2535 ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สงครามยาเสพติดช่วงปี 2546-2558 รวมถึงปฏิบัติการทวงผืนป่าในยุค คสช.

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชา ถูกบุคคลพร้อมอาวุธ ใช้รถ 2 คัน บังคับลักพาตัวไปหน้าคอนโดที่กรุงพนมเปญ โดยมีหลักฐานเป็นพยานบุคคลรวมทั้งภาพโทรทัศน์วงจรปิด ที่แสดงการเข้าทำร้าย และลากตัวขึ้นรถไป เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะเข้าไปช่วย แต่คนร้ายแสดงอาวุธปืนจึงไม่สามารถช่วยเหลือได้ (ดู https://today.line.me/TH/article/MjlY5j?utm.source=lineshare)

ในเรื่องนี้ผู้หลักผู้ใหญ่ในทางการเมืองฝ่ายไทยมักจะแสดงความเห็นว่า เรื่องนี้น่าเสียใจ ยืนยันว่าไม่มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยไปดำเนินการ เรื่องนี้เกิดขึ้นในกัมพูชาจึงเป็นเรื่องของเขาที่จะต้องดูแล และผู้นำฝ่ายไทยยังไม่ได้ติดต่อโดยตรงกับผู้นำฝ่ายกัมพูชาเพื่อขอทราบข้อเท็จจริงและขอความร่วมมือให้ดูแลความปลอดภัยแก่วันเฉลิม ผู้ที่เคลื่อนไหวจริงจังกลับเป็นฝ่ายนิติบัญญัติโดยคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ได้นำเรื่องนี้บรรจุเป็นวาระเพื่อพิจารณาในวันที่ 11 มิถุนายน 2563

องค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้ ซึ่งมีเนื้อหาสาระเป็นการแสดงความห่วงใยในความปลอดภัยของวันเฉลิม และเร่งรัดให้เอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชา และผู้นำฝ่ายไทยดำเนินการให้ทันท่วงทีในการคุ้มครองวันเฉลิมจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ ทั้งนี้ ตามนัยของอนุสัญญา CED ซึ่งประเทศกัมพูชาได้ให้สัตยาบันไว้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 ในเรื่องนี้ มีบุคคลหลายคนได้ออกมาแสดงความคิดเห็น และสื่อมวลชนหลายแขนงได้เสนอข่าวและจัดรายการโดยไม่นิ่งดูดาย แม้จะไม่ใช่ข่าวใหญ่อย่างกรณีการเสียชีวิตของจอร์ช ฟลอยด์ แต่ทุกชีวิตมีความหมาย รวมทั้งชีวิตของคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งถูกคุกคามโดยยังไม่รู้ชะตากรรม

มีบุคคลกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มเพื่อนต้าร์” เพื่อติดตามและรณรงค์ โดยมีเป้าหมายคือ “save วันเฉลิม” และให้มีการสืบสวน สอบสวนอย่างจริงจังในกัมพูชา และในประเทศไทย เพื่อหาข้อเท็จจริงและนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี

เราอาจคิดว่า ถึงอย่างไรการถูกอุ้มหายคงไม่เกิดแก่เรา แต่ไม่ควรคิดเช่นนี้ วิกฤตโควิดได้ช่วยให้หลายคนคิดว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ถึงไม่เกิดแก่เราก็ไม่ควรนิ่งดูดายให้คนร้ายลอยนวล การอุ้มหายเป็นอาชญากรรมต่อผู้ถูกอุ้ม และถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อสังคมมนุษย์ด้วย รัฐบาลทุกรัฐบาลมีหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่จะคุ้มครองทุกคนจากอาชญากรรมนี้ และป้องปรามเพื่อลดโอกาสการเกิดอาชญากรรมนี้ เราควรถือว่าการอุ้มหายเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจยิ่ง พอ ๆ กับการทรมาน การเหยียดผิว และการค้ามนุษย์

กรณีวันเฉลิมอาจไม่ใช่กรณีสุดท้าย กระนั้น ถ้าเราร่วมแสดงออกถึงการปฏิเสธการอุ้มหายโดยไม่มีเงื่อนไข กรณีที่ร้ายแรงและอุกอาจเช่นนี้ก็จะลดน้อยถอยลง

*************************