posttoday

ถาม-ตอบกรณีคุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (ตอนที่สอง)

09 มิถุนายน 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร             

*******************

หลังจากที่ “ถาม-ตอบกรณีคุณวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (ตอนที่หนึ่ง)” ได้เผยแพร่ไป (https://www.posttoday.com/politic/columnist/625508)  มีลูกศิษย์ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯอีกคนหนึ่ง ได้ติดต่อสอบถามผมมา (ในตอนที่หนึ่ง เป็นลูกศิษย์ปริญญาตรีชั้นปีที่สาม คณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนคราวนี้เป็นปริญญาโท ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครับ)

การถาม-ตอบเป็นบทสนทนานี้อาจจะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะไม่มากก็น้อย ผมเลยขออนุญาตเธอว่าจะนำมาลงเป็นบทความพิเศษเผยแพร่ออกไป โดยตัดข้อความบางส่วนออกไป ซึ่งเธอก็ยินดี ผมขอบคุณเธอมา ณ ที่นี้ด้วย

นิสิตปริญญาโท---สวัสดีค่ะ อจ. สบายดีเช่นเคยใช่หรือเปล่าคะ อจ. พอดีว่ามีโอกาสได้อ่านบทความล่าสุดของอจ. เลยอยากจะขอความรู้จากอจ.เพิ่มเติมค่ะ เรื่องวันเฉลิมหน่ะค่ะ อจ.

ผม----ครับ

นิสิตปริญญาโท---จากบทความหนูเข้าใจว่า อจ.ให้ข้อมูลเชิงเสนอแนะว่าให้ญาติยื่นเรื่องต่อหน่วยงานของรัฐ หนูเข้าใจถูกไหมคะ *ในทางทฤษฎี

ผม---หรือองค์กรระหว่างประเทศก็ได้

นิสิตปริญญาโท---คำถามของหนูคือ ในทางปฏิบัติจะทำอะไรได้บ้างเหรอคะ ? ในเมื่อในระดับภายใน ประเทศ ร่าง พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายยังไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย ส่วนระดับระหว่างประเทศที่ อจ. เสนอไทยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหาย ICPPED แต่ไม่ได้ให้สัตยาบัน ฉะนั้น การจับกุม กักขัง ลักพาตัวหรือการกระทำในรูปแบบใดใดก็ตามที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะไม่มีทางกลายเป็นความผิดอาญา  สรุปก็คือ หนูว่าทำอะไรไม่ได้ด้วยเงื่อนไขทางกฎหมายในสองระดับที่กล่าวไปข้างต้นค่ะ

ผม---http://www.consular.go.th/main/th/services/1308/19863 (ผมได้โพสต์ลิงค์ของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ที่มีใจความที่เกี่ยวข้องกรณีของคุณวันเฉลิม ดังนี้

ร้องทุกข์

ผู้ตกทุกข์หรือญาติของผู้ตกทุกข์สามารถยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือได้โดยผู้ตกทุกข์ที่อยู่ในต่างประเทศสามารถยื่นคำร้อง ขอความช่วยเหลือได้โดยตรงที่ สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ ในประเทศที่ตนตกทุกข์อยู่ สำหรับญาติของผู้ตกทุกข์ สามารถยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือได้ที่ กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ หรือยื่นคำร้อง Online ผ่านทางเว็ปไซต์นี้

ยื่นคำร้อง Online [กรอกแบบฟอร์มทางอินเตอร์เน็ต]

ขั้นตอนการยื่นเรื่องร้องทุกข์

1. ผู้ร้องทุกข์ยื่น ใบคำร้อง และ เอกสารประกอบการร้องเรียนให้ครบถ้วน

2. ผู้ร้องทุกข์อธิบายเรื่องที่ตนตกทุกข์ และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยละเอียด พร้อมเรื่องที่จะขอให้ช่วยดำเนินการกับเจ้าหน้าที่

3. กองคุ้มครองฯ รับเรื่องและพิจารณาในเบื้องต้นถึงความเป็นไปได้ และอธิบายขั้นตอนให้ผู้ร้องทราบ

4. กองคุ้มครองฯ แจ้งเรื่องที่ผู้ร้องทุกข์มาร้องขอความช่วยเหลือ ให้สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ในประเทศ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

5. เมื่อสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแล้ว หรือมีความคืบหน้าอย่างใด กองคุ้มครอง ฯ จะแจ้งให้ผู้ร้องทุกข์ทราบ

หมายเหตุ หากพ้นกำหนด 1 เดือน นับจากวันที่ยื่นคำร้องแล้ว และยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ ผู้ร้องทุกข์สามารถสอบถามความคืบหน้าได้ที่ กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล ถ. แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โทร. 0-2575-1047 ถึง 49

เอกสารประกอบการร้องเรียน

1. ขอใช้ช่วยติดต่อหรือติดตามหาญาติที่สูญหาย ถูกหลอก หรือ ถูกจับกุมในต่างประเทศ (เน้นโดยผู้เขียน)

สำหรับผู้มาร้องขอความช่วยเหลือ

ก. สำเนาทะเบียนบ้าน ข. สำเนาบัตรประชาชน

สำหรับผู้มาร้องเรียน

ก. สำเนาทะเบียนบ้าน ข. สำเนาบัตรประชาชน ค. สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้าเป็นสามี หรือภรรยา) ง. สูติบัตร (ถ้าเป็นบุตร)

* ในบางกรณีต้องมีเอกสารประกอบการร้องเรียนเพิ่มเติม

ตัวอย่าง Download

1. หนังสือมอบอำนาจ

2. หนังสือรับรองการเป็นทายาทโดยชอบธรรม

3. หนังสือให้ความยินยอม

หมายเหตุ

1. การมีเอกสารและรายละเอียดครบถ้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ การขาดเอกสารหรือข้อมูลที่จำเป็นจะส่งผลต่อการช่วยเหลือและระยะเวลาในการดำเนินการ

2. การดำเนินการช่วยเหลือต้องอยู่ในขอบข่ายที่สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย กฎระเบียบของประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งลักษณะเฉพาะหรือบุคคล/นิติบุคคลที่เกี่ยวข้องของแต่ละกรณี

3. การดำเนินการจะให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นแก่กรณีที่เกี่ยวข้อง กับสวัสดิภาพและชีวิตของผู้ตกทุกข์ได้ยาก (สำหรับกรณีอื่น ๆ จะมีการจัดลำดับความสำคัญตามลักษณะและผลกระทบของความเดือดร้อน)

นิสิตปริญญาโท---ขอบพระคุณค่ะ หนูสืบค้นมา พบว่าทางญาติไม่ได้แจ้งต่อหน่วยงานรัฐไปค่ะ

ผม---ให้กำลังใจเขา

นิสิตปริญญาโท---เพราะเขามองว่ารัฐจะบอกปัด

ผม---เขาอาจจะกลัวอะไรหลายๆอย่าง ให้รัฐปัดสิครับ ดี จะได้เห็นกันไปเลย

นิสิตปริญญาโท---จากสถิติแล้วเนี่ย ก็ได้แต่ให้กำลังใจเพียงเท่านั้นค่ะ

---------------------

นิสิตปริญญาโท---เข้าใจแล้วค่ะ อจ. ชี้แนะข้อควรระวังดีน่าสนใจมากค่ะ ขอบพระคุณค่ะอจ.

ผม---ยินดีครับ

นิสิตปริญญาโท---ขอบพระคุณค่ะ อจ.

ผม---วิทยานิพนธ์ไปถึงไหนแล้ว ?

นิสิตปริญญาโท---หากหนูสามารถใส่ความกระตือรือร้นเช่นนี้ลงไปในงานคงจะดีมากค่ะ พิพักพิพ่วนพอสมควรค่ะ อจ. ขอบคุณค่ะ อจ. ที่กรุณาถามไถ่

ผม---Concentrate หน่อย เรามี deadline ส่วนกิจกรรมอื่นไปได้เรื่อยๆนะ

นิสิตปริญญาโท---ครั้งนี้มันค่อนข้างส่งผลกระทบต่อจิตใจมากเป็นพิเศษค่ะ หนูรู้จักวันเฉลิมเป็นการส่วนตัวตั้งแต่มัธยม

ผม---ตั้งสติ แบ่งเวลา (ผมตอบตรงนี้ไปโดยยังไม่เห็นข้อความที่เธอบอกว่ารู้จักวันเฉลิมเป็นการส่วนตัวตั้งแต่มัธยม)

ผม---โอ้ งั้นขออภัย

นิสิตปริญญาโท---รับทราบและจะนำไปปฏิบัติค่ะ อจ.

ผม---ดีครับ

นิสิตปริญญาโท---(กล่าวถึงข้อความที่ผมเขียนว่า “โอ้ ขออภัย”)  หนูทราบดีในเจตนารมณ์ที่ดีของ อจ. ค่ะ

ผม---ขอบคุณครับ

นิสิตปริญญาโท---ขอบคุณสำหรับความอนุเคราะห์และเมตตาจิตที่มีให้หนูเสมอมานะคะ

ผม---ยินดีครับ มีอะไรให้ช่วยเรื่องนัดสัมภาษณ์ ก็บอกมานะครับ

นิสิตปริญญาโท---หนูไปอยู่ในที่เสียงดังต่อก่อนค่ะ อจ. 55 ขอบพระคุณอีกครั้งสำหรับบทสนทนาวันนี้ค่ะ ขอให้เป็นวันที่ดีค่ะ

ผม---เช่นกัน ระวัง หูตึง !

นิสิตปริญญาโท---อจ. มีอารมณ์ขันนะคะเนี่ย

ผม---หึๆ