posttoday

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (6): “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ?

04 มิถุนายน 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร

****************************

สำนวนที่ว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” หมายถึง ในยามที่มีวิกฤต คนบางคนสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสที่ตัวเขาจะพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถ ความกล้าหาญ ตลอดจนคุณธรรมความดีอะไรสารพัดที่ยากที่คนอื่นจะสามารถทำได้เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์คับขัน เช่น ในยามขาดแคลน คนที่เคยมีน้ำใจแบ่งปันข้าวของ ก็อาจจะคิดถึงตัวเองมากขึ้น แต่คนบางคนยังยืนหยัดที่จะเสียสละอย่างที่เคยทำมา หรือเสียสละมากขึ้นอีก เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีวิกฤต ผู้คนไม่ได้อดอยากมาก แต่เมื่อมีวิกฤต ความต้องการ-ความทุกข์ยากของผู้อื่นทวีมากขึ้น แต่คนบางคนก็ยิ่งเสียสละมากขึ้นในสถานการณ์พิเศษ

หรือในยามทำศึกสงคราม ที่มีข้าศึกยกทัพมาเป็นจำนวนมาก จนทหารฝ่ายตัวเองจิตตก แต่แม่ทัพกลับมีจิตใจที่เข้มแข็ง มั่นคงฮึกเหิมสามารถปลุกขวัญกำลังใจให้กลับคืนมา และขี่ม้านำทัพออกไป อย่างนี้ จึงเรียกได้ว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” เพราะถ้าไม่มีสถานการณ์พิเศษ ต่อให้เขาแบ่งปันหรือเสียสละมากขึ้น ก็ไม่ได้มีค่ามากมายอะไรในความรู้สึกของผู้คน เพราะในสถานการณ์ปกติ คนจะไม่ค่อยให้คุณค่าอะไรมากเป็นพิเศษกับการกระทำอย่างนั้น

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (6): “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ?

แต่สำหรับธูซิดิดีส (Thuucydides) ผู้บันทึกมหาสงครามระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตาและรวมถึงเหตุการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นที่เอเธนส์ในช่วงที่เกิดสงคราม เขาจะเห็นว่า สำนวน “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” นั้นเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว ที่ครึ่งเดียวก็เพราะ นอกจากสถานการณ์จะสร้างวีรบุรุษแล้ว สถานการณ์หรือวิกฤตยังสร้างผู้ร้ายด้วย !

ในส่วนที่เป็นบันทึกเรื่องโรคระบาดที่เอเธนส์ ธูซิดิดีสได้สังเกตว่า สถานการณ์หรือวิกฤตสร้างทั้งพระเอกและผู้ร้าย เขากล่าว่า วิกฤตโรคระบาดไม่ได้มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของผู้คนเท่านั้น แต่มันยังกระทบต่อต่อมจริยธรรมคุณธรรมของผู้คนด้วย วิกฤตโรคระบาดได้สร้างคนสองแบบขึ้นมา นั่นคือ คนที่ดีสุดและเลวที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งคือ คนที่เสียสละเพื่อคนอื่น กับ คนที่เห็นแก่ตัวสุดขีด

ในวิกฤตโรคระบาด คนส่วนใหญ่จะยิ่งเห็นแก่ตัวกลัวตาย ไม่มีน้ำใจจะไปช่วยเหลือดูแลคนอื่น คนอื่นที่ว่านี้มีทั้งที่ยังไม่ป่วยและป่วยไปแล้ว คนที่ป่วยไปแล้ว แน่นอนว่า คนจะรังเกียจและพยายามอยู่ห่างๆ พูดง่ายๆก็คือ ทอดทิ้งไปเลย แม้ว่าจะเป็นญาติพี่น้องแท้ๆคนในครอบครัวก็ตาม มิพักต้องพูดถึงคนที่ไม่ใช่ญาติ ส่วนคนที่ยังไม่ป่วย ก็ไม่รู้แน่ว่าจริงๆแล้ว อาจจะป่วยไปแล้วก็ได้ แต่อาการไม่ออก

แต่คนบางคนกลับคิดว่า “โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่ ถ้าไม่ยอมแพ้ต่อสถานการณ์อันคับขัน” คนแบบนี้กล้าหาญและมีน้ำใจออกไปช่วยดูแลคนป่วย

ดังนั้น จากข้อเขียนของธูซิดิดีส ทำให้เราต้องตระหนักว่า ในยามวิกฤต สถานการณ์จะสร้างทั้งวีรบุรุษวีรสตรีและสร้างทั้งคนไม่ดี

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (6): “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ?

                                                                    โทมัส ฮอบส์

แต่สำหรับนักคิดนักทฤษฎีการเมืองบางคน เช่น โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes: 1588-1679: ผู้เป็นคนแรกที่แปลข้อเขียนของธูซิดิดีสเป็นภาษาอังกฤษ) กลับเห็นว่า หากเกิดวิกฤตสถานการณ์เลวร้ายย่ำแย่ คนที่สถานการณ์จะสร้างขึ้นนั้น มีแบบเดียวเท่านั้น คือ ผู้ร้ายหรือคนไม่ดี !

แต่ฮอบส์ไม่ได้คิดหรือเรียกพฤติกรรมของคนที่เผยออกมาในยามวิกฤตว่าเป็น ผู้ร้ายหรือคนไม่ดี แต่เขาเห็นว่า มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่จะต้องทำอะไรเพื่อเอาตัวรอด มันไม่ใช่เรื่องดีเลว หรือเป็นเรื่องมีหรือไม่มีจริยธรรมคุณธรรม แต่มันเป็นเรื่องของสัจธรรมแห่งชีวิต สัจธรรมของธรรมชาติ การไม่พยายามเอาตัวรอดต่างหากที่เป็นเรื่องผิดแผกธรรมชาติ การทำอะไรเพื่อคนอื่นน่าจะเป็นเรื่องของคุณค่าที่มนุษย์สร้างขึ้นมาทีหลัง มากกว่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้น ยามที่เกิดวิกฤตร้ายแรง คุณค่าที่ถูกสร้างขึ้นมาก็จะพ่ายแพ้ต่อพลังตามธรรมชาติ

ในวิกฤตโควิด-19 ในบ้านเรา ก็คงจะมีปรากฏการณ์ “คนดี-คนไม่ดี” ให้เห็น โดยไม่จำเป็นต้องมายกตัวอย่างไล่เรียง เพียงแต่ว่า เมื่อพ้นสถานการณ์อันวิกฤตไปแล้ว สังคมจะคิดอย่างไรกับคนที่เห็นแก่ตัว !? จะพยายามทำความเข้าใจตามทฤษฎีธรรมชาติมนุษย์ของโทมัส ฮอบส์ หรือจะคิดแบบธูซิดิดิสที่ว่า สถานการณ์อันวิกฤตจะเผยให้เห็น “คนสองประเภท” ?

แต่ไม่ว่าจะคิดแบบฮอบส์หรือธูซิดิดีส คนที่เสียสละเพื่อคนอื่นในยามวิกฤต ก็ยังจะเป็นคนที่มีความพิเศษเหนือคนที่ไม่เสียสละอยู่ดี

ยิ่งสำหรับฮอบส์ด้วยแล้ว คนที่ยังสามารถเสียสละเพื่อคนอื่นในยามวิกฤตสุดๆ คือคนที่สามารถสวนกระแสสัจธรรมธรรมชาติความเป็นคน ถือว่าผิดมนุษย์มนา

แต่สำหรับธูซิดิดีส เขาไม่ได้มีทฤษฎีอะไรมากมายแบบของฮอบส์ เขาแค่บันทึกเรื่องราวตามความเป็นจริงจากที่เขาสังเกตเห็น และจากที่เขาสังเกตเห็น ในสถานการณ์วิกฤตใดๆก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดหรือสงคราม จะเผยให้เห็นคนสองประเภทที่แตกต่างกันอย่างยิ่ง นั่นคือ วีรชน กับ ทุรชน

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (6): “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” ?

                                                                        ธูซิดิดีส

แต่กระนั้น จะกล่าวว่า เขาไม่ได้มีแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับธรรมชาติมนุษย์เสียเลยก็ดูจะมองข้ามอะไรในหนังสือของเขาไป เพราะตั้งแต่ตอนต้นของหนังสือของเขา ที่ดูเหมือนจะทำหน้าที่คล้ายกับบทที่ว่าด้วย “กรอบแนวคิดทฤษฎีและระเบียบวิธีวิจัย” ของงานวิชาการสมัยใหม่ เขาได้กล่าวข้อความหนึ่งไว้ดังนี้

“ถ้าข้อเขียนของข้าพเจ้าจะถูกตัดสินว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตและจากที่ธรรมชาติมนุษย์เป็นอย่างที่มันเป็นจะซ้ำรอยอีกในอนาคต งานของข้าพเจ้าไม่ใช่งานเขียนที่เขียนขึ้นเพื่อกระแสนิยมขณะนี้ แต่เขียนเพื่อความเป็นนิรันดร์”

ดังนั้น ตราบเท่าที่ ธรรมชาติมนุษย์ยังเป็นอย่างที่เป็น เมื่อเกิดวิกฤต สถานการณ์ก็จะสร้างทั้ง “วีระ” และ “ทุระ” ชนขึ้นมา

คิดตามฮอบส์ ก็ไม่ต้องคิดมาก ทุกคนหนีไม่พ้นจะต้องเห็นแก่ตัว ดังนั้น เห็นแก่ตัวไม่ใช่เรื่องผิด มันไม่มีหรอก วีรชน ทุรชน มีแต่ “คน” เท่านั้น

แต่ถ้าอ่านบันทึกตามจริงของธูซิดิดีส ก็ต้องคิดหนัก เพราะเราจะต้องเลือกระหว่างเป็นคน “เสียสละ” หรือ “เห็นแก่ตัว”

ที่ต้องคิดหนัก เพราะธูซิดิดีสเปิดช่องให้... “เราเลือกได้”

****************************