posttoday

คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของพลังประชารัฐ: อาการน่าเป็นห่วง

03 มิถุนายน 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร           

*******************

การได้มาซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองภายใต้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐  มีสองลักษณะ  นั่นคือ ตอนเริ่มตั้งพรรค กับ หลังจากตั้งพรรคไปแล้ว ในตอนเริ่มตั้งพรรค ก่อนจะไปยื่นขอจดทะเบียนตั้งพรรคกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง สิ่งที่คนที่อยากตั้งพรรคจะต้องทำให้เสร็จเรียบร้อยก่อน ถึงจะมายื่นขอจดทะเบียนได้ คือ หนึ่ง ต้องไปรวบรวมคนที่ “มีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน” ให้ได้อย่างน้อย 500 คน (แน่นอนว่า จะต้องมีคุณสมบัติต่างๆที่ไม่ขัดกับที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย)

พูดถึงตัวเลข 500 นี่ก็มีเรื่องที่เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจอยู่ นั่นคือ ในตอนที่หลวงอรรถพรพิศาลอภิปรายเรื่องการกำหนดจำนวนคนในการตั้งพรรคการเมือง ท่านกล่าวว่า “คำว่า 500 นี่ภาษาไทยดูเหมือนจะไม่ค่อยนิยม คำด่าของประชาชนว่า ไอ้ 500 ละลายอย่างนี้ มันไม่ดี เพราะฉะนั้นคณะกรรมาธิการจึงไม่อยากจะให้มีคำว่า 500 อยู่ในพระราชบัญญัตินี้ เพราะเป็นคำที่ไม่เป็นมงคลอยู่” ฟังดูแล้วก็ให้น่าสงสัยว่า ท่านคิดอย่างนั้นจริงๆหรือเป็นเพียงลีลาที่ท่านไม่ต้องการให้มีจำนวนมากถึง 500 เพราะท่านอยากให้กำหนดไว้เพียง 100 คนเท่านั้น [ดู หลวงอรรถพรพิศาล (กรรมาธิการ) รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16/2498 (สามัญ) ชุดที่ 1 วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2498]

กลับมาที่การตั้งพรรคภายใต้กฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ. 2560  คนที่อยากตั้งพรรคจะต้องจัดประชุมบรรดาผู้ที่ “มีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน”แต่ไม่ต้องให้มาประชุมกันทั้ง 500 เอาแค่ 250 ก็พอ และเลือกหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคมาให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วค่อยไปยื่นขอจดทะเบียนกับ กกต. โดยในการจดทะเบียน พรรคพลังประชารัฐได้ยื่นจดจองชื่อพรรคต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2561 โดยนายชวน ชูจันทร์ ประธานประชาคมตลาดน้ำคลองลัดมะยม และพันเอก สุชาติ จันทรโชติกุล อดีต ส.ส. สงขลา พรรคความหวังใหม่ และอดีตสมาชิก สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นผู้จดจองชื่อพรรค

จากนั้นพรรคพลังประชารัฐได้จัดประชุมสามัญใหญ่ของพรรคเป็นครั้งแรกเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อิมแพคเมืองทองธานี วันเสาร์ 29 กันยายน พ.ศ. 2561 ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติเลือกนายอุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ เป็นหัวหน้าพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เป็นเลขาธิการพรรค โดยผู้ที่ไปร่วมประชุมในวันนี้มีประมาณ 350 คน

พูดถึงเงื่อนไข “มีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน” ที่ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรกในกฎหมายพรรคการเมืองฉบับนี้ ฟังๆก็ดูดี แต่ในความเป็นจริง จะพิสูจน์ยังไงว่ามีอุดมการณ์การเมืองในแนวเดียวกัน หรือถ้าจะตีความอุดมการณ์ที่ว่านี้ว่าคือ “ยึดมั่นในระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ก็พบว่า อุดมการณ์นี้เป็นอุดมการณ์ภาคบังคับกับทุกพรรคการเมืองอยู่แล้ว แล้วอุดมการณ์ทางการเมืองของพลังประชารัฐเองเป็นอย่างไร ? อาจตีความได้ว่าเป็นอุดมการณ์นิยม “ลุงตู่และสนับสนันการสืบทอดอำนาจผ่านกลไกการเลือกตั้ง ส.ส. และยอมรับที่มาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของ ส.ว. ในการสนับสนุนลุงตู่” ดังนั้น นักการเมืองที่แม้นจะมาจากก๊วนก๊กมุ้งต่างๆแต่ก็น่าจะมีอุดมการณ์ดังกล่าวนี้ร่วมกัน

แต่ขณะนี้ การที่พรรคพลังประชารัฐจะได้มาซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จะต้องจัดประชุมใหญ่ ซึ่งจะต้องมีคณะกรรมการบริหารพรรคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเข้าประชุม  แต่เนื่องจากคณะกรรมการบริหารพรรคได้สิ้นสภาพไปตามกฎข้อบังคับของพรรค และตามกฎข้อบังคับของพรรคให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่สิ้นสภาพไปนั้นทำหน้าที่รักษาการไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่  ดังนั้น เงื่อนไขแรกขององค์ประชุมคือ จะต้องมีคณะกรรมการบริหารพรรคเข้าร่วมประชุมอย่างน้อย 17 คน (คณะกรรมการฯมีทั้งสิ้น 34 คน) นอกนั้น องค์ประชุมที่เหลือคือ

ประการที่หนึ่ง ผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสาขาพรรคการเมือง ซึ่งในจํานวนนี้จะต้องประกอบด้วยผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสองสาขาซึ่งมาจากภาคต่างกันที่คณะกรรมการกําหนดตามมาตรา ๓๓  ซึ่งมาตรา ๓๓ กำหนดไว้ว่า ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน พรรคการเมือง ต้องดําเนินการ ดังต่อไปนี้                                                                                 

(๑) ดําเนินการให้มีจํานวนสมาชิกไม่น้อยกว่าห้าพันคน และต้องเพิ่มจํานวนสมาชิกให้มีจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนภายในสี่ปีนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียน

(๒) จัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการกําหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ห้าร้อยคนขึ้นไป

ประการที่สอง  มีตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด

ประการที่สาม สมาชิกพรรค และจากเงื่อนไขสามประการนี้ จะต้องมีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่าสองร้อยห้าสิบคน                       และในการลงมติเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่ “หัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง” จะต้องเป็นการลงคะแนนลับ

จากเงื่อนไขข้างต้น จะพบว่า เงื่อนไข ข้อ (๑) ไม่มีปัญหา เพราะขณะนี้ พลังประชารัฐมีสมาชิกเกินห้าพันคนทั่วประเทศ

แต่ข้อ (๒) ที่ว่า “สาขาพรรคแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ห้าร้อยคนขึ้นไป” อันนี้ ผมไม่ทราบว่า พลังประชารัฐได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้วหรือยัง? แต่ถึงแม้ว่ายังไม่เรียบร้อย ก็สามารถดำเนินการประชุมใหญ่ได้ เพราะในบทเฉพาะกาลในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๖๐  มาตรา ๑๔๑ (๗) วรรคสอง ได้กำหนดไว้ว่า “ระยะเวลาที่กําหนดให้พรรคการเมืองต้องดําเนินการให้แล้วเสร็จตามวรรคหนึ่ง [นั่นคือ (๒) จัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่คณะกรรมการกําหนดอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ห้าร้อยคนขึ้นไป] พรรคการเมืองอาจทําหนังสือขอขยายเวลาออกไปตามที่จําเป็นก็ได้ แต่เมื่อรวมแล้วต้องไม่เกินสามปีนับแต่วันสิ้นกําหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง เมื่อครบระยะเวลาตามวรรคหนึ่งหรือครบระยะเวลาที่ได้รับการขยายแล้วพรรคการเมืองใดยังมิได้ดําเนินการให้แล้วเสร็จ ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป

ดังนั้น หากพลังประชารัฐยังไม่สามารถดำเนินการให้มีสาขาพรรคในแต่ละภาค และแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกตั้งแต่ห้าร้อยคนขึ้นไป แต่ได้ดำเนินการทำหนังสือขอขยายเวลาออกไปแล้ว ก็ไม่เป็นปัญหา ก็สามารถจัดการประชุมใหญ่ได้ แม้ว่าจะไม่มีสมาชิกห้าร้อยในแต่ละสาขา แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องมีสมาชิกพรรคไม่ต่ำ 250 คนเป็นองค์ประชุมอยู่ดี แต่ถ้าไม่ได้ทำหนังสือขอขยายเวลา และเดินหน้าจัดประชุมไปทั้งๆที่ผิดข้อบังคับตามกฎหมายพรรคการเมือง  อันนี้ก็มีสิทธิ์ถูกยุบพรรคได้แน่นอน

การที่กฎหมายพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดให้การได้มาซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคจะต้องมาจากการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมใหญ่ที่มีองค์ประชุมหลักประกอบไปด้วยสมาชิกพรรคที่เป็น “ผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสาขาพรรคการเมือง” ซึ่งประกอบไปด้วย “ผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสองสาขาซึ่งมาจากภาคต่างๆ และ “ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด” และ “สมาชิก” รวมแล้วไม่น้อยกว่า 250 คน  ถือเป็นการให้อำนาจในการกำหนดความเป็นไปของพรรคขยายไปสู่สมาชิกพรรคในวงกว้างมากขึ้น ไม่ได้ให้กระจุกตัวอยู่ที่การตัดสินใจของเอกบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีอำนาจอิทธิพลในพรรค หากผู้แทนสาขาพรรคและตัวแทนพรรคมีความเป็นอิสระที่จะตัดสินใจเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่น่าจะทำให้พรรคสามารถทำงานร่วมกันในการบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ ก็จะถือเป็นเรื่องดีที่ให้ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนในพรรคตัดสินโดยคนส่วนใหญ่ของพรรค

ขณะเดียวกัน ต้องอย่าลืมว่า แม้พลังประชารัฐจะสามารถจัดประชุมใหญ่ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองที่กำหนดไว้ว่าจะต้องมีคนเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 250 คน นั่นคือ สามารถเกินได้  และหากสมาชิกพรรคกระตือรือร้นที่จะเข้าไปร่วมกำหนดทิศทางของพรรค การระดมภายใต้กลุ่มก๊วนในพรรคอาจจะมีอิทธิพลเบาบางลง  แต่ถ้า 250 หรือมากกว่านั้นเป็นเรื่องของการระดมคนในสังกัดไปสู้กันในที่ประชุมใหญ่  ก็เป็นไปได้ว่า สังคมจะได้เห็นศึกใหญ่เกิดขึ้นภายในพลังประชารัฐ ยกเว้นว่า จะหาทางตกลงกันได้ก่อนการประชุมใหญ่ที่จะต้องมีขึ้นภายใน 45 วันนับจากที่มีกรรมการบริหารพรรคจำนวนหนึ่งลาออก

หากไม่สามารถตกลงกันได้ก่อน แล้วไปรอการลงมติในวันประชุมใหญ่ นอกจากจะสู้กันยิบตาแล้ววัฒนธรรมไทยเรายังมีเรื่องหน้าตาที่เสียกันไม่ได้ ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งการโหวตสวนในสภา ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงว่า การลงมติเรื่องต่างๆในสภาผู้แทนราษฎร พลังประชารัฐจะกลับไปมีปัญหาปริ่มน้ำหรือเริ่มเป็นบัวใต้น้ำให้เสียวไส้มากขึ้นจนอาจนำไปสู่การลาออกของนายกรัฐมนตรีหรือการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ได้ และสำหรับ ส.ส. พลังประชารัฐที่โหวตสวน ก็อาจจะนำมาซึ่งการถูกขับออกจากพรรค ถ้ามี ส.ส.ถูกขับออกไป ซึ่งคาดว่า ไม่น่าต่ำกว่าสิบคนเป็นอย่างน้อย ก็มีโอกาสที่นายกรัฐมนตรีต้องลาออกหรือประกาศยุบสภาตามมาได้  ถ้าเล่นกันแบบนี้ ก็เรียกว่า สู้ยิบตา เจ๊งเป็นเจ๊ง เท่าไรเท่ากัน ทุบหม้อข้าวตัวเองเลย ซึ่งไม่รู้ว่า ตกลงแล้ว หม้อที่ว่านี้มันหม้อของทุกคนหรือหม้อของคนจำนวนหนึ่งหรือหม้อของทุกคนที่สนับสนุนพรรคนี้

เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้สอนให้รู้ว่า จะตั้งพรรค ต้องมีหัวหน้าพรรคตัวจริงที่พรรคต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่แคนดิเดทขาลอย เพราะหัวหน้าพรรคตัวจริงที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะช่วยไม่ให้เกิดปัญหาอย่างที่พลังประชารัฐกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ เพราะถ้าเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค บุคคลผู้นั้นจะมีอำนาจโดยตรงในพรรค แต่พลเอกประยุทธ์ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคและอาจจะไม่ได้เป็นแม้แต่สมาชิกพรรคด้วย แต่เป็นถึงนายกรัฐมนตรีภายใต้การเสนอชื่อและสนับสนุนของพลังประชารัฐและคนที่ได้เลือกพลังประชารัฐ ก็คงตระหนักถึง ความพะรุงพะรังที่ตนแบกมาตั้งแต่สมัยเป็นหัวหน้า คสช.นั่นคือ การยึดมั่นในหลักการ “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายพี่” จนมาถึง “ความพะรุงพะรังใหม่” ของกลุ่มก๊วนก๊กมุ้งต่างๆที่ผสมพันธุ์กันต่อแขนต่อขาต่อลำตัวหัวหูออกมาเป็น “นายกรัฐมนตรีที่ชื่อพลเอกประยุทธ์”

มันเป็นอย่างนี้ และจะเป็นไปเรื่อยๆ อาการหนักกว่าพรรคเพื่อไทยมากมาย !

คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ของพลังประชารัฐ: อาการน่าเป็นห่วง