posttoday

ความนึกคิดจากการอ่าน

29 พฤษภาคม 2563

โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

****************

หลายปีก่อนระหว่างเก็บข้อมูลวิจัย ผมพบหนังสือเล่มหนึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันตุลาการ เล่าเรื่องราวการเสด็จพระราชดำเนินเหยียบศาลยุติธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่างๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันตุลาการกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนั้น เรื่องราวในหนังสือ “84 พรรษาพระภูมิบาล รอยเสด็จฯ ภูมิสถาน ศาลยุติธรรม” ยังแทรกความทรงจำของบรรพตุลาการบางคนเข้ามาในประวัติศาสตร์ของสถาบันบางตอนเพื่อให้บทเรียนจากอดีตส่งความหมายถึงปัจจุบัน

อ่านแล้วทำให้เกิดนึกอยากอ่านงานวิชาการเกี่ยวกับสถาบันตุลาการสมัยใหม่ของไทยในเชิงประวัติศาสตร์ต่อไปอีก แต่ขณะนี้ห้องสมุดมหาวิทยาลัยยังไม่เปิดให้ค้นได้ถนัด เลยจดประเด็นเท่าที่พอนึกขึ้นได้สำหรับเตรียมตัวหางานเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอ่านต่อไป

[1] ส่วนสำคัญที่เป็นองค์ประกอบของเรื่องในการเล่าประวัติศาสตร์การยุติธรรมสมัยใหม่ของไทยฉบับทางการย่อมต้องมีการกล่าวถึงการเสียเอกราชทางการศาลในรัชกาลที่ 4 การพัฒนาการปกครองตามนิติธรรมด้วยระบบกฎหมายสมัยใหม่ และระบบศาลยุติธรรมที่ได้มาตรฐานสากลในรัชกาลที่ 5 และ 6โดยยังมิได้ให้ความสำคัญกับการมี "ปาลิเมนต์" ทั้งนี้เพื่อมุ่งจะแก้ไขปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและเอกราชทางการศาลกับชาติตะวันตกก่อน

และในบริบทนี้ น่าจะต้องค้นงานที่เขียนถึงบทบาทของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์มาอ่านประกอบ ทั้งในด้านการพัฒนาระบบกฎหมายและการยุติธรรม การพัฒนาบุคลากรด้านกฎหมาย ตลอดจนการปลูกฝังคุณธรรมที่เป็นหลักของการรักษาและอำนวยความยุติธรรมและการดำรงตนในวิชาชีพกฎหมาย ผ่านคำสอนและการอบรมในฐานะของบรรพตุลาการ

[2] คำถามที่น่าสนใจสำหรับงานวิจัยที่ศึกษาการเมืองในกระบวนการยุติธรรมคือเรื่องที่เล่ามาด้วยองค์ประกอบอย่างนี้ คนในวงการกฎหมายและตุลาการมีความทรงจำและเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับทิศทางความเป็นไปในกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นนับแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การศึกษาประวัติศาสตร์ของระบบยุติธรรมและอำนาจตุลาการด้านหนึ่งจึงควรดูการประชุมกันของปัจจัยตามข้อเท็จจริงและผลที่เกิดขึ้น

และอีกด้านหนึ่งพิจารณาการรับรู้เข้าใจและความทรงจำเกี่ยวกับอดีตที่เกิดขึ้นนั้น ว่าสร้างความหมายอย่างไรขึ้นมา ความหมายนั้นทำงานส่งผลอย่างไรในแวดวงวิชาชีพตุลาการและงานยุติธรรม

[3] นึกขึ้นได้อย่างนั้นแล้ว ทำให้ย้อนคิดถึงกรมหลวงราชบุรีฯ กับเหล่านักกฎหมายสมัยใหม่รุ่นแรกผู้เป็นศิษย์ของพระองค์ในคดีพญาระกาอันเป็นเหตุใหญ่ปลายรัชกาลที่ 5 ที่ลุกลามมาถึงการที่ข้าราชการกระทรวงยุติธรรมจำนวนมากขอลาออกตามเสนาบดี ความหมายหนึ่งที่สะท้อนอยู่ในกรณีนี้คือความเคารพผูกพันของนักกฎหมายรุ่นแรกๆ ที่มีต่อผู้ที่เป็นครูอาจารย์ ซึ่งอบรมวิชาความรู้และสอนการทำงานให้แก่ตนมา ผมคิดว่าความเคารพผูกพันระหว่างศิษย์กับอาจารย์ยังเห็นในชั้นหลังลงมา เช่น ระหว่างอาจารย์ปรีดีกับผู้ที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านด้วย

ในแง่นี้ชวนให้คิดต่อว่า ลักษณะทางสังคมวิทยาของการเรียนการสอนและการฝึกฝนวิชาชีพด้านกฎหมายในระยะแรกเริ่ม ทั้งในมหาวิทยาลัยเปิดแบบธรรมศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยปิดแบบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในสำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา อาศัยการถ่ายทอดจากครูอาจารย์ที่เป็นผู้พิพากษาตุลาการ จากคนเขียนและจัดทำกฎหมายในกรมร่างกฎหมายและคณะกรรมการกฤษฎีกา

จากอัยการและนักกฎหมายที่ผ่านการอบรมจากประเทศตะวันตก ที่ปฏิบัติราชการหมุนเวียนและเจอะเจอกันอยู่ในงานด้านนิติบัญญัติและตุลาการภายในกลุ่มขนาดไม่ใหญ่นัก ทำให้กลุ่มคนที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับงานทางอำนาจนิติบัญญัติและงานทางอำนาจตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรก เกิดความสัมพันธ์ทั้งในลักษณะที่เป็นเครือข่ายสายสัมพันธ์ส่วนบุคคล และการรับถ่ายทอดและยอมรับเคารพกันในทัศนะทางกฎหมายและการเข้าไปมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการร่างกฎหมายนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญเป็นต้นลงมา

[4] ในหนังสือ "84 พรรษาพระภูมิบาล รอยเสด็จฯ ภูมิสถาน ศาลยุติธรรม" มีกล่าวถึงเรื่องของหลวงประกอบนิติสารเมื่อครั้งที่ท่านต้อง “รัฐภัย” หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพราะถูกต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายกบฏบวรเดช ท่านได้พระยามานวราชเสวี อาจารย์ของท่าน หาทางช่วยให้รอดพ้นจากรัฐภัย ซึ่งใครก็ตามที่เผชิญกับรัฐภัยในช่วงเวลานั้นแล้วมักจะไม่ค่อยรอดจากการถูกลงโทษไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อช่วยหลวงประกอบนิติสารผู้เป็นศิษย์ พระยามานวราชเสวีได้ทำหนังสือถึงศาลขอให้รีบพิจารณาคดีและมีคำตัดสินออกมาโดยเร็ว ในที่สุดศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง รวมเวลาที่หลวงประกอบนิติสารถูกคุมขังอยู่ 133 วัน

เมื่อได้หลวงประกอบนิติสารเป็นจุดตั้งต้นโยงมาหาพระยามานวราชเสวี ก็ตามมาพิจารณาประวัติของพระยามานวราชเสวีต่อ พบว่าหน้าที่การงานที่ท่านเคยทำมานั้นเป็นเส้นทางที่น่าสนใจมาก และน่าเทียบเคียงกับบรรพตุลาการท่านอื่นๆ แม้ว่าพระยามานวราชเสวีอาจเป็นบุคคลพิเศษอยู่สักหน่อยเพราะท่านผ่านงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสำคัญแทบทั้งหมดในเส้นทางการก่อร่างสร้างรัฐสมัยใหม่ของไทย ไม่ว่าจะเป็นที่กรมร่างกฎหมาย คณะกรรมการกฤษฎีกา ศาล อัยการ เนติบัณฑิตยสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ องคมนตรี

จากตำแหน่งหน้าที่การงานเหล่านี้ทำให้เห็นว่าพระยามานวราชเสวี และบุคคลเช่นท่านที่ผ่านหน้าที่การงานมาในลักษณะเดียวกัน แม้จะไม่ครอบคลุมและขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในทุกๆ ด้านได้เท่ากับท่าน จะเป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงเพียงใดในแวดวงกฎหมาย ทั้งในด้านตุลาการ และในด้านนิติบัญญัติ

[5] ในหนังสือเล่มเดียวกัน ยังมีเรื่องราวเล่าถึงการที่กระบวนยุติธรรมถูกอำนาจการเมืองหาทางแทรกแซงในเรื่องของพระสุทธิอรรถนฤมนตร์ ที่ “ไม่ทำตามใจเขา” ผมเคยอ่านงาน “การเมืองการปกครองของกรุงสยาม” ของหลวงวิจิตรวาทการที่ท่านเขียนภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่นาน ตอนหนึ่ง หลวงวิจิตรวาทการตั้งข้อสังเกตว่า

“มีผู้เห็นว่ากิจการที่คณะราษฎรทำไปนั้น เป็นการใหญ่หลวงเท่ากับพลิกแผ่นดิน แผ่นดินที่พลิกใหม่ ๆ ถ้าไม่ยึดไว้ให้มั่นคง มันก็อาจจะพลิกกลับได้ ... ถ้าเจ้าไม่ยอมเข้ากับ “คณะราษฎร” ก็จะต้องยกสิทธิของราษฎรให้สูงกว่าเจ้า จะต้องเกียจกันมิให้เจ้าเข้ามีสิทธิในรัฐสภา เพื่อให้ราษฎรคงรักษาสิทธิและอำนาจของตนอยู่ได้เต็มที่

แต่ปัญหาก็ยังมีต่อไปว่า ในบรรดาคนที่ไม่ใช่เจ้านั่นเอง จะไม่มีบ้างหรือที่ยังเป็นคนรักเจ้า ถ้าหากยังมีราษฎรที่รักเจ้าอยู่อีก จะไม่ทำการขัดขวางแก่ทางดำเนิรการของคณะราษฎรบ้างหรือ เมื่อกลัวกันเช่นนี้อีก ก็มีอยู่อีกทางเดียวที่จะต้องดำเนิน คือ ต้องตั้งกองทหารพิเศษสำหรับ “คณะราษฎร” ขึ้น และ “คณะราษฎร” จะต้องรั้งอำนาจในการปกครองเข้าไว้ให้นานที่สุดที่จะนานได้ “คณะราษฎร” จะต้องดำเนิรแบบฟาสซีสต์ของอิตาลีอย่างแท้จริง"

[6] จากความนึกคิดข้างต้นเลยทำให้ได้คำถามตามมาอีกว่า การศึกษาเพื่อพิจารณาว่า พัฒนาการของระบบกฎหมายและยุติธรรมสมัยใหม่ในด้านอำนาจตุลาการที่ลงหลักปักฐานในเชิงสถาบันได้เข้มแข็งควบคู่มากับการพัฒนาอำนาจรัฐส่วนกลางของฝ่ายบริหาร ก่อนที่อำนาจนิติบัญญัติของรัฐสภาจะตั้งหลักได้มั่นคง ส่งผลอย่างไรต่อการจัดอำนาจและปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทั้งสาม ไม่ว่าจะพิจารณาจากลักษณะทางสังคมวิทยา หรือในกรอบของแนวคิดเช่น historical institutionalism นับเป็นหัวข้อที่มีนัยสำคัญทางรัฐศาสตร์