posttoday

สิทธิเสรีภาพกับการด่าผู้นำประเทศ

28 พฤษภาคม 2563

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

******************

มีเรื่องเล็ก ๆ แต่ใหญ่ในสายตาของคนไทยที่ห่วงใยพฤติกรรมของคนหนุ่มสาว “คนรุ่นใหม่” เพื่ออ้างสิทธิในความรับผิดชอบต่ออนาคตของประเทศ โดยอ้างว่าคนรุ่นเก่ามีแต่จะตายไป อนาคตของชาติต้องเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่หรือรุ่นของพวกเขา แต่สองสามปีที่ผ่านมา ประชาชนเริ่มเกิดคำถามในใจว่า เราจะมอบอนาคตของชาติที่บรรพบุรุษและคนรุ่นเก่าสร้างมานั้นให้อยู่ในมือของตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่อ้างสิทธิเช่นว่านั้นได้มากน้อยขนาดไหน

นอกจากเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถูกคนเหล่านี้ท้าทายแล้ว ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของประเทศหลายเรื่องยังถูกท้าทายด้วย จนเกิดกระแสต่อต้านวิธีของคนกลุ่มนี้อย่างกว้างขวาง ในที่สุด ความห้าว ขาดสติยั้งคิด ไม่เข้าใจสภาพของสังคมไทยดีพอ ทำให้สะดุดเท้าตัวเองล้มลง

ล่าสุด การเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่ทำโปสเตอร์ติดข้างรถ และทำโปสเตอร์โดยใช้ผ้าขาวยาว เขียนข้อความสั้นด่านายกรัฐมนตรี ตระเวนโชว์ทั่วไป รวมทั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีการแชร์ภาพดังกล่าวทางสื่อดิจิตัล แทบไม่เชื่อสายตาว่า คนเหล่านี้จะใช้คำพูดหยาบคายแบบนี้กับนายกรัฐมนตรี จริงอยู่ “สองคำที่ว่า” นี้ เป็นคำที่นิยมใช้ด่ากันโดยกลุ่มวัยรุ่นในสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นคำด่าต่อคนที่เห็นต่าง แต่การเอามาใช้กับนายกรัฐมนตรีหรือกับผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย

นักการเมืองด้วยกันเองไม่ว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลยังไม่กล้าทำขนาดนี้

อาจมีนักการเมืองฝ่ายค้านบางคนสะใจ แต่ใจจริงก็คงไม่อยากให้มีการก้าวร้าวกันแบบนี้ เพราะถ้าโดนเข้ากับตัวเองก็คงรับไม่ได้เช่นกัน

การวิจารณ์นายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นเรื่องปกติ เขาเหล่านี้มีสิทธิวิจารณ์ผู้บริหารประเทศได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเสียอีก เพราะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรี ควบคู่ไปกับ ส.ส.ในสภา

นักศึกษากลุ่มนี้เลือกจังหวะเวลาช่วงรำลึกถึงครบรอบเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ด้วยถ้อยคำหยาบคายเช่นนี้

ที่ผ่านมา แม้จะมีการใช้คำพูดหรือข้อเขียนที่รุนแรงบ้าง ก้าวร้าวบ้าง แต่ไม่เคยมีการใช้คำหยาบคาย ด่าทอ ดูถูกดูหมิ่นนายกรัฐมนตรีเช่นที่นักเคลื่อนไหว หรือแกนนำนักศึกษาบางคนได้ทำ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นักศึกษากลุ่มนี้ก็ไม่เคยใช้กิริยาวาจาหยาบคาบเช่นนี้มาก่อน

ไม่ว่า จะโกรธ จะเกลียดทางการเมืองมากน้อยเพียงใด อย่างไร ก็ไม่เคยมีการเขียนโปสเตอร์ด่าผู้ใหญ่ด้วยถ้อยคำหยาบคาย เท่าที่สดับตรับฟังจากคนที่ได้อ่านข้อความดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นคนที่ชอบหรือไม่ชอบนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ ทั้งหมดรับไม่ได้กับการใช้คำพูดที่ก้าวร้าว หยาบคายเช่นนี้ แม้ว่าคำด่าสั้น ๆ เป็นคำที่คนวัยรุ่นใช้ด่ากันในสื่อโซเชียลจนเป็นของธรรมดาก็ตามโดยดัดแปลงคำเขียนให้เปลี่ยนไปเล็กน้อย แต่ออกเสียงเหมือนกัน และมีความหมายเหมือนกัน ที่ใช้ด่ากันเองหรือด่าคนที่ตนไม่พอใจ แต่พอเอามาด่าผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองเช่นนี้ เชื่อว่าสังคมรับไม่ได้

เรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยที่คนหนุ่มสาวเหล่านี้ศึกษาอยู่ แต่เป็นเรื่องส่วนบุคคลโดยตรง คนที่สนใจการเมืองก็ไม่สบายใจว่า การเมืองไทยของคนหนุ่มสาวหยาบคายแบบนี้หรือ การเมืองไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะโกรธเกลียดเพียงใด แต่คนไทยจะไม่ใช้คำพูดหยาบคายด่าทอผู้ใหญ่ในที่สาธารณะ

นักศึกษา 4-5 คนที่เคลื่อนไหวและทำป้ายนี้อาจภูมิใจที่ผลงานของตนมีผลสะเทือนทั่วไป ทำให้สื่อและคนทั่วไปหันมาสนใจ แต่ขอให้รู้ว่า ปฏิกิริยาของสังคม ไม่ว่าเขาจะชอบ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ก็ตาม รับไม่ได้กับข้อความดังกล่าว เพราะเห็นว่าทำเกินไป

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสถาบันการศึกษา ไม่เกี่ยวกับอาจารย์ที่สอน แต่น่าจะเป็น ”สันดาน” ของคน นักศึกษาไม่กี่คนอาจทำให้ภาพลักษณ์ของ “คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่” ได้รับผลกระทบ

ที่น่าสังเกตคือ นักการเมืองที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ไม่เคยออกมาปรามการกระทำของนักศึกษาเหล่านี้ (ซึ่งเป็นพรรคพวกเดียวกัน) นักการเมืองฝ่ายค้านก็ไม่เคยออกมาวิจารณ์การกระทำดังกล่าวเช่นกัน มีแต่พลเมืองธรรมดาแบบเราๆ ท่าน ๆ นี่แหละที่ต้องออกมาปราม เราไม่อยากเห็นนักการเมืองไทย หรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย ใช้วิธีการแบบนี้ เพราะถ้าคนหนึ่งทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย คนอื่นก็ทำได้เช่นกัน

วิธีการด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคายต่อคนเห็นต่าง เคยพบมากในการเมืองไทยตลอดสองสามปีที่ผ่าน เมื่อบางพรรคการเมืองหนึ่งที่นิยมใช้สื่อโซเชียลในการหาเสียง โฆษณาชวนเชื่อ และสื่อสารกับประชาชน ทำให้คนกดไลค์ กดแชร์กันเป็นหมื่นแสนได้ในเวลารวดเร็ว สร้างแฮชแท็กติดเป็นอันดับหนึ่งติดต่อกันหลายหลายสัปดาห์

แต่ถ้ามีใครวิจารณ์แกนนำนักการเมืองพรรคนี้ จะมีกระบวนการโหมโจมตี ด่าทอคนที่วิจารณ์ด้วยถ้อยคำทออย่างหยาบคาย รุนแรง ต่อเนื่อง จนทำให้คนที่แสดงความเห็นนอนฝันร้ายไปหลายวัน จนไม่มีใครกล้าที่จะวิจารณ์พรรคนี้หรือคนในพรรคนี้อีก จะให้ตอบโต้ด้วยถ้อยคำหยาบคายก็ทำไม่ได้

คำว่า “การบุลลี่ทางการเมือง” เกิดขึ้นจากพฤติกรรมเช่นว่านี้

นายกรัฐมนตรีที่เป็นเหยื่อของคนกลุ่มนี้ในครั้งนี้อาจไม่สนใจ เพราะรู้ดีว่า นี่คือ “การยั่วยุทางการเมือง” หากตอบโต้ก็เท่ากับไปให้ความสำคัญหรือไปสร้างความดังให้คนกลุ่มนี้ โดยให้สังคมลงโทษเอง แต่ฝ่ายกฎหมายจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ต้องหยิบเรื่องนี้มาศึกษาว่า การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายข้อใดหรือไม่ ที่เห็นชัด ๆ ก็น่าจะเข้าข่าย “หมิ่นประมาท” แต่ถ้าไม่ผิดกฎหมาย ก็ต้องบอกให้สังคมได้รับทราบด้วย

นอกจากนั้น เราควรใช้เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาทำความรู้ความเข้าใจอีกครั้งในเรื่อง สิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญปี 2560 หมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 34 “ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน ......”

รัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ชัดเจน มีความมุ่งหมายชัดเจน ไม่มีสิทธิเสรีภาพใดที่ไร้ขอบเขต เรามีสิทธิเสรีภาพ คนอื่นในสังคมก็มีเหมือนกัน โดยพื้นฐาน การใช้สิทธิเสรีภาพนั้นต้องไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคนอื่น

สมควรพิจารณาว่า สิ่งที่นักศึกษากลุ่มนี้ทำเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ การวิจารณ์นายกรัฐมนตรีทำได้มากน้อยขนาดไหน อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ บางคนอาจอ้างว่า เมื่อเป็นนักการเมืองแล้วต้องถูกด่าได้ แต่ถ้าด่ากันแรงๆแบบนี้ทำได้หรือไม่ รัฐธรรมนูญคงไม่มีเจตนารมณ์ให้วิจารณ์กันด้วยถ้อยคำหยาบคาย หรือด่ากันแรง ๆ แบบนี้ หากไม่ชัดเจน นักการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านก็คงเสียว ๆ เหมือนกันว่า วันหนึ่ง ตัวเองจะโดนนักศึกษาเขียนโปสเตอร์ด่าแบบนี้ขึ้นรถตะเวนไปทั่วกรุง แล้วเอาไปขยายผลต่อในสื่อออนไลน์ แบบนี้หรือไม่ ส่วนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อเห็นว่า กลุ่มนี้ทำได้โดยไม่ผิด ก็อาจมีพฤติกรรมเลียนแบบ ต่อไปคู่กรณีคงด่ากันเละ

สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมเป็นบทเรียนสอนเราในเรื่อง “สิทธิเสรีภาพกับการเมือง” ให้กับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่อยากจะเคลื่อนไหวทางการเมือง