posttoday

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (ตอนที่ห้า):ตามหาความจริง

28 พฤษภาคม 2563

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

********************

ที่ผ่านมาสี่ตอน ได้เล่าถึงบันทึกเรื่องโรคระบาดใหญ่ที่กรุงเอเธนส์เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว ที่เป็นผลงานของ ธูซิดิดีส (Thucydides) ที่บันทึกเรื่องโรคระบาดไว้เป็นส่วนหนึ่งของการรบันทึกเรื่องราวของมหาสงครามระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตา ซึ่งงานชิ้นนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของ “the History of the Peloponnesian War” คนสนใจใคร่อ่าน มีแปลเป็นภาษาไทยแล้ว โดยท่าน พลเรือเอกสำเภา พลธร จัดพิมพ์โดยกองวิชาการ กรมยุทธศึกษา กองทัพเรือ

บันทึกเรื่องโรคระบาดของธูซิดิดีสไม่ธรรมดา เขาไม่ได้แค่บันทึกไปแกนๆ แต่เขายังมีวิญญาณการค้นคว้าหาสาเหตุของโรคไปด้วย ในขณะที่พวกหมอๆในสมัยนั้นลงความเห็นกันว่า โรคระบาดที่เอเธนส์มีสาเหตุมาจาก miasma โดยเจ้า miasma นี่คือ ไอระเหยที่เป็นพิษ และคนที่หายใจเอาไอระเหยพิษนี้เข้าไป ก็จะติดเชื้อนี้ไป และไอระเหยพิษที่ว่านี้ มันผุดขึ้นมาจากดินของเอเธนส์ พวกหมอๆเชื่อว่า ดินฟ้าอากาศของเอเธนส์มันเสีย จึงส่งผลให้เกิดไอพิษระเหยระเหิดขึ้นมา แต่จากการที่ธูซิดิดีส สืบค้นข้อมูลคนป่วย พบว่า คนที่อยู่นอกเอเธนส์ก็ป่วยเป็นโรคนี้ได้ นั่นคือ ทหารเอเธนส์ที่กำลังตั้งทัพล้อมเมืองโปเทดา (Poteida) ที่อยู่ห่างเอเธนส์ 583 กิโลเมตรก็ป่วยเป็นโรคนี้ด้วย ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ไม่เป็น แต่ไปเป็นตอนไปล้อมเมืองโปเทดา

ธูซิดิดีสพยายามหาข้อต่อของการป่วยของทหารเอเธนส์ที่เมืองโปเทดา และเขาพบความเชื่อมโยง นั่นคือ ทหารเอเธนส์ที่อยู่ที่เมืองนั้นป่วยหลังจากที่มีทหารจากเอเธนส์ตามไปสมทบ ดังนั้น เขาจึงสรุปว่า การระบาดของโรค ไม่ได้เกิดจากการสูดไอพิษที่เอเธนส์ แต่เกิดจากการติอต่อระหว่างคนสู่คน

การสังเกตการณ์ในแบบของธูซิดิดีสนี้ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว !

แต่เขาก็ไม่ถึงขนาดจะรู้ได้แน่นอนว่าการติดต่อระหว่างคนสู่คนนั้น มันติดต่อผ่านอะไร ? เช่น ผ่านลมหายใจ หรือผ่านละอองฝอยของเหลว แต่เขาก็ได้เดาว่า น่าจะเป็นของเหลว

แพทย์สมัยใหม่ได้ลงไปอ่านบันทึกโรคระบาดของธูซิดิดีสด้วย ทำนองเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การแพทย์ในสาขาว่าด้วยโรคระบาด และลงความเห็น (เดา) กันว่า ดูจากบันทึกอาการของโรคระบาดที่เกิดขึ้นที่เอเธนส์เมื่อสองพันกว่าปีแล้ว น่าจะเป็นไข้ทรพิษหรือฝีดาษ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนแน่นอนว่า เชื้ออะไรที่เป็นสาเหตุของโรคระบาด แต่หมอสมัยใหม่เดาไว้หลายตัวนอกเหนือไปจากไข้ทรพิษ ได้แก่ pathogen หรือจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคในมนุษย์และสัตว์ ที่รวมไปถึง Yesinia pestis (เชื้อกาฬโรค), typhus (เชื้อไข้รากสาดใหญ่) anthrax (โรคแอนแทรกซ์), หัด (measles), หรือแม้กระทั่งอีโบล่า (Ebola)

แต่อย่างไรก็ตาม อาการของโรคต่างๆที่กล่าวมานี้ ไม่มีโรคไหนที่ตรงเป๊ะกับอาการที่ธูซิดิดีสบรรยายไว้เลย เป็นไปได้ว่า โรคระบาดที่เกิดขึ้นที่เอเธนส์เมื่อสองพันห้าร้อยปีที่แล้วมันกลายพันธุ์ หรือไม่ก็มันก็สูญพันธุ์ไปแล้ว

ถ้าดูข้อมูลในประวัติศาสตร์การแพทย์ จะพบว่า ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับข้อสังเกตอันน่าทึ่งของธูซิดิดีสเท่าไรนัก แพทย์สมัยใหม่บางคนถึงกับกล่าวว่า ประวัติศาสตร์การแพทย์อาจจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปเลยก็ได้ถ้าหาก ฮิปโปเครติส (บิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่) หรือบรรดาพวกหมอๆที่อยู่ร่วมสมัยกับธูซิดิดีสให้ความสนใจกับข้อสังเกตและสมมุติฐานของธูซิดิดีส คำถามคือ ทำไมหมอสมัยนั้นถึงละเลยความคิดของธูซิดิดีส ?

เหตุผลที่น่าจะเป็นคือ คนกรีกโบราณมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์น้อยเกินกว่าที่จะเข้าใจวิธีคิดของเขาได้ อีกทั้งคนเอเธนส์ในยุคนั้นไม่แบ่งแยกระหว่างการแพทย์กับเรื่องศาสนา และคนที่มีอิทธิพลทางความคิดความเชื่อต่อผู้คนในสังคม ไม่ใช่นักคิดนักเขียนอย่างธูซิดิดีส แต่หนึ่งในพวกที่ถือได้ว่าเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” ของคนสมัยนั้นคือ คนที่เป็นนักกวี และมหากวีอย่างโซโฟคลีส (Sophocles) ก็แสดงความรู้ของตนออกมาว่า โรคระบาดที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากสิ่งเหนือธรรมชาติ หรืออีกพวกหนึ่งคือ พวกโหราเทพยากรณ์ หรือพวกที่ผู้คนเชื่อว่าสามารถรับและส่งสารจากเทพเจ้าได้ ผู้คนยามเจ็บไข้ได้ป่วยจะไปหาพวก “ทรงเจ้า” นี้มากกว่าจะไปหาหมอ ฟังดูแล้ว ไม่นานมานี้ สังคมไทยก็ไม่ค่อยจะต่างจากสังคมกรีกโบราณเมื่อสองพันห้าร้อยปีที่แล้ว

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (ตอนที่ห้า):ตามหาความจริง

                 โซโฟคลิส                                                                  ฮิปโปเครติส

แต่ก็ยังดีที่ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ (460-370 ก่อนคริสตกาล) อย่างฮิปโปเครติสไม่ได้เชื่อว่า โรคร้ายนั้นมาจากสิ่งเหนือธรรมชาติหรือ “เทพยาดาลงโทษมนุษย์” เพราะเขาเชื่อว่า มันมีสาเหตุจากธรรมชาติ (แต่ก็ยังมีกลิ่นอายแบบศาสนาอยู่) แต่การที่เขาให้น้ำหนักไปที่ธรรมชาติอยู่บ้างก็สมแล้วที่จะได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่ แม้ว่าฮิปโปเครติสจะมีวิธีคิดที่ดูเป็นวิทยาศาสตร์อยู่บ้าง แต่จริงๆแล้ว เขาก็ไม่ได้มีอิทธิพลต่อพวกหมอๆในยุคของเขาเท่าไรนัก เพราะหลังจากเขาตายไป การแพทย์กรีกโบราณก็ถอยหลังเข้าคลอง กลับมาเชื่อในเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติตามเดิม

แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า น่าเสียดายที่วงการแพทย์สมัยโบราณไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิธีคิดของธูซิดิดีส ทั้งๆที่เขามีข้อสังเกตที่ดีมากๆหลายอย่าง เช่น การที่ผู้คนอยู่กันอย่างแออัดยัดทะนานและขาดการรักษาความสะอาดจะช่วยทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้เร็วยิ่งขึ้น และการขาดการใส่ใจในเรื่องสุขภาวะที่สำคัญๆและการไม่มีมาตรการความปลอดภัยในเรื่องความสะอาดทำให้โรคมันลงหลักปักฐานและส่งผลกระทบที่เลวร้ายเสียหากได้มากขึ้น

ที่จริงวิธีคิดของธูซิดิดีสดูจะตรงกับการแพทย์สมัยใหม่มากทีเดียว เพียงแต่เขาไม่ได้มุ่งมั่นประกอบอาชีพเป็นหมอจริงๆจังๆอย่างฮิปโปเครติส เพราะถ้าหากเขาเกิดเลือกที่จะเป็นหมอขึ้นมา ก็เชื่อเลยว่า ตำแหน่งบิดาแห่งการแพทย์สมัยใหม่จะต้องเป็นของเขามากกว่าจะเป็นฮิปโปเครติสเป็นแน่แท้

แต่ไม่ว่าใครจะมีอาชีพอะไรในปัจจุบัน (ยกเว้นคนที่หากินกับเรื่องไสยศาสตร์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์) หากมีวิธีคิดและการสังเกตการณ์ตามแบบของธูซิดิดีส ย่อมจะช่วยให้บ้านเมืองพัฒนาเจริญก้าวหน้าได้มาก และอยากจะบอกด้วยว่า ที่จริงแล้ว ผู้สื่อข่าวที่เดินทางไปทำข่าวในที่ต่างๆ หากใช้วิธีคิดมุมมองและการเก็บข้อมูลตามแบบธูซิดิดีส น่าจะนำเสนอข่าวให้ประเทืองปัญญาผู้คนได้ดีทีเดียว เพราะในแง่หนึ่งธูซิดิดีสก็ทำหน้าที่เหมือนผู้สื่อข่าวที่เก็บเรื่องราวที่พบเห็นมาบันทึกไว้

และแม้ว่าเขาจะตั้งชื่อหนังสือของเขาว่า “ประวัติศาสตร์” แต่จริงๆแล้ว มันเป็นประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน และคำว่า historiai ในภาษากรีกโบราณ ที่ดูเผินๆจะคล้ายกับคำว่า history ในภาษาอังกฤษ แต่คำว่า historiai ในภาษากรีกโบราณไม่ได้หมายถึง ประวัติศาสตร์ อย่างที่เรามักจะเข้าใจกันไป แต่มันหมายถึง “การสอบสวนสืบค้นตามล่าหาความจริง” และจะต้องเป็นการ “ตามล่าหาความจริง” ที่ไม่มีอคติใดๆตั้งท่าไว้ก่อนตั้งแต่ต้น !

บทเรียนจากโรคระบาดในสมัยโบราณ (ตอนที่ห้า):ตามหาความจริง

                                                              ธูซิดิดีส

https://norkinvirology.wordpress.com/2014/09/30/thucydides-and-the-plague-of-athens/https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19787658https://www.ancient.eu/article/939/the-plague-at-athens-430-427

bce/https://en.wikipedia.org/wiki/Plague_of_Athenshttps://www.theatlantic.com/ideas/archive/2020/03/great-plague-athens-has-eerie-parallels-today/608545/