posttoday

เปลี่ยนความหดหู่เป็นพลัง

19 มีนาคม 2563

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

****************************

เห็นใจนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ที่ต้องแบกรับภาระบ้านเมืองบนบ่าจนหลังแอ่น ไม่ว่าร่างกายจะสุขสบายดีหรือเจ็บไข้ได้ป่วยก็ปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไม่ได้ เพราะท่านได้เสนอตัวต่อประชาชนว่าพร้อมจะทำหน้าที่แทนประชาชนทั้งประเทศฝ่าฟันอุปสรรคของประเทศให้ผ่านพ้นไปได้เพื่อให้ประเทศได้พัฒนาไปข้างหน้า มีทั้งกองเชียร์ และกองแช่งจากนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมทั้งคนไทยประภทที่ไม่เคยพอใจอะไรเลย ขอด่าหรือวิจารณ์อย่างเดียว หากผู้นำใจฝ่อการงานที่ทำก็มีปัญหา แต่ถ้าใจแข็งเหมือนเพชร เดินหน้าลุยอย่างเดียว ในไม่ช้าก็เร็ว ก็สามารถบรรเทาและแก้ไขปัญหาของชาติไม่มากก็น้อย

เมื่อเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 ในประเทศไทย ปัญหาเผชิญหน้าอื่นๆ ก่อนหน้านี้ อาทิ ผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน และปัญหาภัยแล้งหนักที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ ชิดซ้ายไปเลย ผลกระทบจากโควิด 19 ทำให้เศรษฐกิจทุกภาคของประเทศทรุดลงกว่าที่คาด เราต้องยอมรับ "ความจริง" ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้จะลดลง การฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับชาติและระดับชาวบ้านต้องใช้เวลานานขึ้นและลำบากขึ้น เป็นช่วงเวลาที่คนในชาติจะลำบากด้วยกัน แต่เมื่อก้าวข้ามพัน "วิกฤติ” นี้ไปได้ เราจะแบ่งปันความสุขด้วยกันใน “โอกาส" ที่จะตามมา

แม้เป็นปัญหาของชาติที่ไม่ว่านายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จะทุ่มเทความพยายามทั้งกายและใจมากน้อยเพียงใดที่จะทำให้ปัญหาบรรเทาลง แต่นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามก็หาเรื่องด่าจนได้ หากนักการมืองเหล่านี้สงบปากสงบคำบ้างคนไทยก็คงไม่ว่าอะไร ตรงกันข้าม คนไทยเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่เลือกพวกท่านไปทำหน้าที่จะดีใจด้วยซ้ำที่เห็นผู้แทนของตนไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ้ายค้านร่วมมือแก้ไขปัญหาของชาติและของประชาชน

แต่นักการเมืองไทยก็ยังคงเป็นนักการเมืองสปีซีส์เดิมๆ แยกไม่ออกว่าอะไรเป็น "เรื่องการเมือง" อะไรเป็น "เรื่องบ้านเมือง" ยังคงมีนักการเมืองฝ่ายค้านที่ออกมาโพสต์ดั่งคนวิกลจริตว่า หากนายกตาย ประชาชนก็รอด อะไรทำนองนี้ ไม่แตกต่างกับ ส.ส.พวกเดียวกันที่ประกาศท้ายิงตัวต่อตัวกับนายกรัฐมนตรีในเมื่อประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยซึ่งเลือกคนเหล่านี้เป็นผู้แทนของตนในสภารู้สึกระอากับ ส.ส.ประเภทนี้จริง ๆ

สภาพของนายกรัฐมนตที่ออกมาพูดครั้งแรกเพื่อปลุกขวัญกำลังใจว่าประเทศไทยจะชนะสงครามกับโควิด 19 "เราจะชนะไปด้วยกัน" แต่คนที่ถือธงนำหน้าไปสู้กับศัตรูมีอาการโทรมเหลือเกิน ทำให้คนฟังรู้สึกหดหู่แทนที่จะฮึกเหิม แม้เชื่อว่าสุดท้ายจะ "เอาอยู่" แต่การออกมาพูดครั้งที่สองนี้ คนพูดมีอาการดีขึ้นเข้มแข็งขึ้น สุขภาพพร้อมที่จะนำคนไทยสู้ศึกใหญ่ครั้งนี้ ทำให้คนไทยคึกคักขึ้น และฮึกเหิมมากขึ้นเมื่อเห็นผู้นำพร้อมที่จะนำตะลุยกับข้าศึกโหดครั้งนี้

ภาพที่นายกรัฐมนตรีออกมาพูดกับประชาชนครั้งหลัง แม้ไม่สมบูรณ์ตามหลักเกณท์ของ "การสื่อสารในภาวะวิกฤติ" ทั้งเรื่องบท สีแสง เสียง การแอ็คติ้ง ฯลฯแต่ประชาชนก็เกิดความหวังมากขึ้นว่าเราจะอาชนะข้าศึกที่ชื่อโควิด 19 นี้ได้ไม่ช้าก็เร็ว แม้จะชนะอย่างสะบักสะบอม ก็ไม่เป็นไร แล้วค่อยๆ ฟื้นสภาพร่างกายกันทีหลัง

บางเรื่องเป็นเรื่องยากที่จะไปแก้ "บุคลิก" ของนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นทหารมาตลอดชีวิต หรือ "ข้อความ วิธีการ" ที่ท่านนำเสนอ และคงไม่มีใครกล้าไปแนะนำข้อความที่ท่านอ่านก็เป็นแบบรายงานของทหาร ที่จะต้องเรียงเป็นข้อ 1 จากนั้นก็เป็น1.1 เป็นต้น มีข้อหลัก ข้อย่อย ทหารเขาจะต้องอ่านตามนั้น ไม่ให้ผิดพลาด ซึ่งท่านก็อ่านมาแบบนี้ตลอดห้าปีที่ผ่านมา ถ้าจะสรุปประเด็นก็ต้องเขียนสรุปให้ท่านอ่าน ไม่เหมือนกับนักการเมืองที่อาจสรุปประเด็นเก่ง หรือบางทีก็พูดมั่วๆ ไปก็มี

สำคัญกว่าการแถลงของนายกรัฐมนตรี คือ ภาพถ่ายที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ตามมาถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ ที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเราจะชนะสงครามครั้งนี้ เป็นภาพนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะพูดคุยปรึกษาหารือกับบรรดาบรมครูทางการแพทย์ระดับประเทศและระดับโลกเท่าที่มีการเปิดเผยชื่อ มีอาทิ(1) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาธร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข (2) ศาสตราจารย์ นายแพทย์อุดม คชินทร อดีตคณะบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ

(3) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์(4) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ อมร ลีลารัศมี อาจารย์แพทย์อายุรศาสตร์ นายกแพทยสมาคม และอดีตนายกสมาคมโรคติดต่อ(5) ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา(6) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ รณชัย คงสกนธ์ รองคณบดีโรงพยาบาลรามาธิบดี(7) รองศาสตราจารย์ นายแพทย์รุจิภาส สิริจตุภัทร ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศิริราช(หากตกหล่นรายชื่อบางท่านไป ก็ต้องขออภัยด้วย ในการแถลงต่อประชาชนถึงความคืบหน้าของสถานการณ์ จะเป็นความรับผิดชอบของนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค แต่ผู้เดียว)

ท่านเหล่านี้ได้เสนอมาตรการเร่งด่วนหลายประการ โดยเฉพาะ "การหยุดยั้งการเคลื่อนย้ายของประชากร" และ "การป้องกันการรวมตัวของคนหมู่มาก" เมืองไทยเรามีวันสำคัญมากมายที่เป็นวันหยุดและประชาชนมารวมตัวกันเพื่อการสนุกสนานรื่นเริง งานสงกรานต์ปี 2563ใกล้เข้ามาทุกทีที่ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศจะมาชุมนุมกันเพื่อเล่นสงกรานต์กันหลายต่อเนื่องทั่วประทศ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ นี่จะเป็นโอกาสอันดีที่โรคดังกล่าวสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ดีและเร็วที่สุด รัฐบาลได้ตกลงใจทันทีที่จะเลื่อนงานดังกล่าวออกไปตามข้อเสนอแนะของบรรดาอาจารย์หมอเหล่านี้

อีกมาตรการหนึ่งซึ่งต้องทำอย่างเร่งด่วนคือ "การรวมตัวกันของคนหมู่มาก" เพราะเป็นแหล่งกระจายเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว การแพร่ระบาด ระยะหลังที่มีจำนวนคนป่วยเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตก็มาจากกลุ่มคนที่รวมตัวกัน อาทิกลุ่มเชียร์มวย กลุ่มดื่มกินตามผับ ร้านอาหาร การประชุมทางวิชาการ พิธีกรรมทางศาสนา ดังนั้นรัฐบาลได้ตัดสินใจประกาศปิดสนามมวยสองแห่งเป็นการชั่วคราว ปิดสถานบริการต่างๆ เช่น ผับ บาร์ไนต์คลับ สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ สถานอาบอบนวด ร้านนวดไทยนวดแผนโบราณ งดจัดคอนเสิร์ต หรือกิจกรรมทางศาสนา รวมทั้งปิดสถานที่กวดวิชา เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีได้ "ตัดสินใจเพื่อชาติ" ตามข้อเสนอของบรรดาขุนพลอาจารย์หมอเหล่านี้เพื่อประเทศชาติ ต่อไปนี้ ประชาชนก็ต้อง "เปลี่ยนความหดหูเป็นพลัง" ร่วมมือ สนับสนุนรัฐบาลและอาจารย์หมอในการเอาชนะข้าศึกสำคัญครั้งนี้

ส่วนนักการเมืองถอยออกไปก่อน งานนี้เป็นงานของหมอสำหรับนักการเมืองนั้น นอกจากมือไม่พายแล้วก็อย่าเอาเท้าราน้ำ อย่าไปเกี่ยวข้องกับการกักตุนหน้ากากอนามัย อย่าจัดงานวันเกิดหรืองานรื่นเริงในช่วงเวลานี้ เป็นต้น ฝ่ายค้านควรระงับการกล่าวร้ายรัฐบาลในประเด็นนี้สักพักหนึ่ง แล้วมาช่วยกันให้กำลังใจรัฐบาลจะดีกว่า ประชาชนที่เลือกพวกท่านเข้าไปก็จะชื่นชมว่าท่านมีสติปัญญารู้ว่า เรื่องใดเป็นปัญหาของชาติบ้านเมือง เรื่องใดเป็นปัญหาการเมือง เวลานี้ เราไม่มีฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน จะมีแต่ "ฝ่ายไทย" ที่ร่วมมือกันแก้ปัญหาการแพร่กระจายของโรคร้ายนี้

หากพรรคฝ่ายค้านมีข้อเสนอแนะดีๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาล ก็สามารถทำได้โดยยื่นหนังสือเปิดผนึกให้กับรัฐบาล และนำไปเผยแพร่ต่อประชาชนได้ด้วย ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่เลือกพวกท่านเข้าไปก็จะมีความสุขที่เห็น ส.ส.ของตนช่วยกันทำหน้าที่อย่างที่ควรจะทำในยามที่บ้านเมืองมีปัญหา โรคโควิด 19 ไม่ใช่ปัญหาของรัฐบาลหรือของฝ่ายค้านแต่เป็นปัญหาของประเทศ ที่คนไทยทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไข

เมื่อมี "วิกฤติ" ก็ย่อมมี “โอกาส" เมื่อมีเรื่องร้ายๆ ก็ย่อมมีเรื่องดีๆตามมา อย่างน้อยคนที่หวังจะเห็นการชุมนุมหรือความวุ่นวายทางการเมืองในและนอกมหาวิทยาลัย ก็คงผิดหวัง ฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องไปขอร้องให้ระงับการชุมนุม แกนนำในการจัดก็คงต้องระงับไปเอง จนกว่าการระบาดของไข้หวัดโควิด 9 จะยุติลง แล้วค่อยว่ากันใหม่ (จบ)