posttoday

สถานทูตสหรัฐอเมริกากับการเมืองไทย:ประชาธิปไตยบนท้องถนนและประชาธิปไตยในสภา

16 มีนาคม 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร  

********************

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของไทย มีมติยุบพรรคอนาคตใหม่โดยมีความดังนี้คือ

“สหรัฐอเมริกาเดินหน้าสนับสนุนการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยทั่วประชาคมโลกอย่างเต็มที่ และชื่นชมประเทศไทยที่มีรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งเมื่อไม่นานมานี้ แม้ว่าสหรัฐฯ จะมิได้สนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งในประเทศไทยเป็นพิเศษ แต่ประชาชนชนกว่า 6 ล้านคนก็ได้ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 คำพิพากษาให้ยุบพรรคอนาคตใหม่อาจนำไปสู่การลิดรอนสิทธิของผู้ลงคะแนนเสียงเหล่านั้น และทำให้เกิดคำถามว่า พวกเขาจะยังคงมีสิทธิมีเสียงในระบบการเลือกตั้งของไทยหรือไม่”

จากแถลงการณ์ ดังกล่าว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความคิดของผู้คนไปต่างๆนานา ฝ่ายที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งผู้ที่ตั้งข้อสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์ “ประชาธิปไตยไทย” ก็นำแถลงการณ์ดังกล่าวมาใช้ในการโจมตีคำวินิจฉัยของศาลและโจมตี “ประชาธิปไตยไทย”ส่วนฝ่ายที่ไม่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งผู้ที่รับได้กับ “ประชาธิปไตยไทย” ก็แสดงความเห็นในเชิงตอบโต้ต่อท่าทีในแถลงการณ์ของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในทำนองที่ว่า สหรัฐฯแทรกแซงกิจการภายในประเทศ แทรกแซงระบบตุลาการ เป็นต้น

ต่อมาในวันที่ 11 มีนาคม นายไมเคิล จี.ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย จัดให้มีการพบปะกับคณะสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก และเมื่อถูกขอให้แสดงความคิดเห็นต่อการเมืองไทยเวลานี้ หนังสือพิมพ์มติชนได้รายงานว่า นายดีซอมบรีได้กล่าวว่า ประชาธิปไตยของไทยยังใหม่และเยาว์วัยอยู่มาก และกำลังก้าวหน้าต่อไปบนเส้นทางประชาธิปไตย เมื่อปีที่ผ่านมามีการเลือกตั้ง เราพอใจที่ได้เห็นการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง “ผมคิดว่าไทยกำลังเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ถูกต้อง อย่างที่ผมว่าไว้ ประชาธิปไตยบางครั้งยุ่งเหยิงและท้าทาย และทุกๆประเทศก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป เราจับตามองทุกอย่างที่กำลังดำเนินไป เราให้การสนับสนุนประชาธิปไตย ไม่ได้ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองหรือนักการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ไม่ได้เข้าข้างใคร เราดีใจที่ได้เห็นกระบวนการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นในสภา ซึ่งเป็นสถานที่ที่ควรจะเกิดขึ้น ถือว่าเป็นลักษณะที่น่าพึงพอใจตามระบอบประชาธิปไตย”

จากข้างต้น ทั้งแถลงการณ์จากสถานทูตสหรัฐฯวันที่ 22 กุมภาพันธ์และคำกล่าววันที่ 11 มีนาคม ของนายไมเคิล จี. ดีซอมบรี เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้ มีความเชื่อมโยงสอดคล้องหรือแตกต่างกันอย่างไร?

ความสอดคล้องประการแรกคือ ทั้งแถลงการณ์และคำกล่าวยืนยันว่า สหรัฐฯไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองใด หรือนักการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ประการที่สอง ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลกับประการแรก คือ สหรัฐฯสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งปรากฏชัดเจนในคำกล่าวของเอกอัครราชทูตฯ และแม้ว่า จะไม่ได้ประโยคนี้ชัดเจนในแถลงการณ์ แต่เนื้อความที่ปรากฏในแถลงการณ์ที่ว่า“....ประชาชนชนกว่า 6 ล้านคนก็ได้ลงคะแนนเสียงให้กับพรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 คำพิพากษาให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ อาจนำไปสู่การลิดรอนสิทธิของผู้ลงคะแนนเสียงเหล่านั้น และทำให้เกิดคำถามว่าพวกเขาจะยังคงมีสิทธิมีเสียงในระบบการเลือกตั้งของไทยหรือไม่”ก็สะท้อนให้เห็นถึงการสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะการยุบพรรคอนาคตใหม่ย่อมจะกระทบประชาชนกว่าหกล้านคนที่ได้ลงคะแนนเสียงให้พรรคอนาคตใหม่ และทำให้เกิดคำถามว่า ประชาชนหกล้านคนจะยังคงมีสิทธิมีเสียงในระบบการเลือกตั้งของไทยหรือไม่ ? (.....and raises questions about their representation within Thailand’s electoral system.) https://th.usembassy.gov/statement-on-the-dissolution-of-the-future-forward-party-in-thailand/

จะสังเกตได้ว่า ประชาธิปไตยในแถลงการณ์นั้น หมายถึง สิทธิ์และเสียงของประชาชนหกล้านคนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีความสำคัญต่อความเป็นประชาธิปไตย แถลงการณ์นั้นไม่ได้แสดงความเห็นด้วยหรือคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่แสดงออกซึ่งความกังวลห่วงใยต่อประชาธิปไตยของไทยหลังศาลตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ หากจะเกิดการประท้วงจนเกิดความสับสนวุ่นวายจากประชาชนหกล้านคนที่ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคอนาคตใหม่ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถมีมาตรการรับมือกับการประท้วงที่เหมาะสม (นั่นคือให้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมสาธารณะภายใต้กฎหมาย) ก็อาจนำไปสู่ “การลิดรอนสิทธิของผู้ลงคะแนนเสียงเหล่านั้น” ได้ แต่ถ้าไม่มีปัญหาอะไร ก็ถือว่าประชาธิปไตยของไทยก็สามารถเดินหน้าต่อไป และแน่นอนว่า หากมีการลิดรอนสิทธิของผู้ลงคะแนนเสียงเหล่านั้น จากแถลงการณ์ดังกล่าว ก็คงจะทำให้รัฐบาลไทยตระหนักล่วงหน้าได้ถึงทีท่าของสถานทูตฯที่จะมีต่อรัฐบาลไทย ซึ่งในแง่นี้ก็เชื่อมโยงสอดคล้องกับว่าคำกล่าวของเอกอัครราชทูตฯที่ว่า “....ประชาธิปไตยบางครั้งยุ่งเหยิงและท้าทาย และทุกๆประเทศก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป เราจับตามองทุกอย่างที่กำลังดำเนินไป”

ซึ่งข้อความที่ว่า “เราจับตามองทุกอย่างที่กำลังดำเนินไป”นั้น ไม่ได้หมายความถึงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ถือเป็นจุดยืนของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯที่มีต่อประชาคมโลกเลยก็ว่าได้ จนบางครั้งมีผู้วิจารณ์ว่า “สหรัฐฯทำตัวเป็นตำรวจโลก” การ “คอยจับตามองทุกอย่าง” ของสหรัฐฯนั้น ย่อมมีทั้งคนชอบและเกลียดเป็นธรรมดา เพราะตามที่ Thomas Hobbes นักทฤษฎีการเมืองแนวอำนาจนิยมของอังกฤษในศตวรรษที่สิบเจ็ดได้กล่าวถึงผู้ใช้อำนาจทางการเมืองไว้ว่า หากใช้อำนาจทางการเมืองแล้ว เราได้ประโยชน์ เราก็ชื่นชม หากเราเสียประโยชน์ เราก็ด่าว่า

ดังนั้น ยามใดที่สหรัฐฯจับตามองและมีทีท่าต่อการเมืองประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็ย่อมจะมีคนชอบและคนเกลียด เพียงแต่สหรัฐฯพยายามจะทำให้เห็นว่า คนที่จะเกลียดสหรัฐฯคือคนที่ไม่อยู่ข้างประชาธิปไตย

ดังนั้น ถ้าสมมุติว่า หลังคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ เกิดมีคนออกมาประท้วงและรัฐบาลเกิดใช้มาตรการความรุนแรง ไม่ว่าจะสามารถหยุดการชุมนุมไปชั่วคราวหรือหยุดไม่ได้และบานปลาย สหรัฐฯก็จะมีทีท่าต่อมาตรการของรัฐบาลว่าไม่เป็นประชาธิปไตย และถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกผ่านสำนักข่าวต่างประเทศ แน่นอนว่า คนทั่วไปที่เห็นภาพประชาชนออกมาประท้วง และเห็นภาพตำรวจทหารมาควบคุมฝูงชน และเกิดการปะทะกัน ร้อยทั้งร้อยที่ดูข่าวนั้น ย่อมเห็นว่า รัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะโดยทั่วไป สัญลักษณ์พื้นฐานแบบเปลือยๆไม่ปรุงแต่งของประชาธิปไตยก็คือ ภาพประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เสรีภาพบนท้องถนน และสื่อส่วนใหญ่ในตะวันตกก็มักจะเล่นบทเดียวกับสหรัฐฯนั่นคือ มีจุดยืนอยู่ข้างประชาชน ซึ่งก็คือข้างประชาธิปไตยนั่นเอง และการยืนอยู่ข้างประชาชนนั่นง่ายมากที่จะถูกเสมอ ไม่ว่าประชาชนขั้วไหน ขอให้มากเป็นพอ และจำนวนมากที่ว่านี้ต้องแสดงออกบนท้องถนน ที่อยู่บ้านเงียบๆ มักจะไม่ถูกนับ เพราะถ้าจะไปนับ ก็ไม่รู้จะนับยังไง เพราะอยู่เงียบๆมีได้ทั้งเห็นด้วยกับประชาชนบนท้องถนนและไม่เห็นด้วย และไม่มีความเห็นอะไรเลย

แต่เนื่องจากหลังคำตัดสิน ยังไม่มีประชาชนจำนวนมากลงถนนชัดเจน มีแต่ประท้วงในวงจำกัดในสถาบันการศึกษาและที่อื่นๆ ทำให้ความกังวลห่วงใยที่ปรากฏในแถลงการณ์คลี่คลายลงไป และ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ก็ยังเป็นตัวแทนประชาชนได้ต่อไป เพียงแต่ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ แต่ก็ไม่ได้มีพลังที่จะเป็นตัวแทนให้ประชาชนครบหกล้านกว่า เพราะ ส.ส.จำนวนหนึ่งถูกตัดสิทธิ์พ้นการเป็นตัวแทนประชาชนไป และ ส.ส. อีกจำนวนหนึ่งได้แยกย้ายไปอยู่พรรคต่างๆ ไม่รวมหมู่กับ ส.ส. ส่วนมากที่ไปอยู่พรรคก้าวไกลกัน แต่อย่างไรก็ตาม การเป็นตัวแทนปากเสียงประชาชนเกือบหกล้านนั้นก็จะสามารถดำเนินต่อไปในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจากคำกล่าวของเอกอัครราชทูตฯ ก็ถือเป็นส่วนสำคัญยิ่งของประชาธิปไตยไม่แพ้ประชาชนบนท้องถนน ดังที่ท่านได้กล่าวว่า

“....เราดีใจที่ได้เห็นกระบวนการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นในสภา ซึ่งเป็นสถานที่ที่ควรจะเกิดขึ้น ถือว่าเป็นลักษณะที่น่าพึงพอใจตามระบอบประชาธิปไตย”

ซึ่งสื่อความว่า หากจะมีการไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาล ก็ควรจะเกิดขึ้นในสถานที่ที่เรียกว่าสภาเป็นเบื้องแรก มากกว่าจะไปตั้งต้นแสดงความไม่ไว้วางใจกันบนท้องถนน หรืออภิปรายตามข้างถนน ทั้งๆที่สภายังทำหน้าที่ได้อยู่

ดังนั้น จากแถลงการณ์จนถึงคำกล่าวของเอกอัครราชทูตฯ ซึ่งในภาพรวมก็คือ ท่าทีของสหรัฐอเมริกาต่อการเมืองไทยนั้นให้ความสำคัญทั้งประชาธิปไตยตามรูปแบบที่เป็นทางการและประชาธิปไตยบนท้องถนนโดยมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และที่สำคัญที่สุดคือ ประชาธิปไตยที่เป็นทางการนั่นคือ การเลือกตั้ง การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การเลือกตั้งคือการได้รัฐบาลและสภาที่มาจากประชาชน ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือการมีการตรวจสอบถ่วงดุล แต่สหรัฐฯคงจะไม่ไปสนใจในรายละเอียดมากนัก เช่น ที่มาของ ส.ว. และการเทคะแนนของ ส.ว. ในการเลือกอดีตผู้นำรัฐประหารที่ลงสนามเลือกตั้ง

เพราะถ้าหากจะให้สหรัฐฯให้ความสนใจในรายละเอียดของความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆในโลกแล้ว อาจจะเหลือประเทศไม่กี่ประเทศให้สหรัฐฯคบค้าสมาคมส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกันและกัน จริงๆแล้ว ไม่เพียงแต่สหรัฐฯที่จะไม่ลงไปในรายละเอียด ประเทศในสหภาพยุโรปก็ด้วย มิฉะนั้น จะมีปัญหาทางความสัมพันธ์ทางการค้าแน่นอน และก็มีประเทศอย่างจีนและรัสเซียคอยเป็นมหามิตรกับประเทศต่างๆโดยไม่ได้ต้องมีเงื่อนไข“ประชาธิปไตย”

ดังนั้น หลังจากที่การเมืองไทยผ่านการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว (นี่ก็จะครบปีแล้ว) จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯก็ดี สหภาพยุโรปก็ดีได้แสดงการยอมรับขับสู้การกลับมาของประชาธิปไตยไทย แม้ว่าจะไม่เต็มใบอย่างที่คนจำนวนหนึ่งในประเทศไม่พอใจ พูดง่ายๆก็คือ ขอให้มีการเลือกตั้งที่ไม่น่าเกลียดจนเกินไป สหรัฐฯและสหภาพยุโรปก็พอรับได้และจะได้เริ่มทำการค้ากันต่อไป

ดังนั้น คนไทยที่พอใจกับแถลงการณ์ของสถานทูตสหรัฐฯ ต่อกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ก็ควรจะทำความเข้าใจการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐฯให้ดี มิฉะนั้นแล้ว จะได้ไม่น้อยใจเสียใจเกินไป และพึงตระหนักในสิ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึงทฤษฎีของ Hobbes ข้างต้นด้วย

และที่น่าสนใจและแสดงออกถึงความเข้าใจในวิวัฒนาการของประชาธิปไตยในประเทศต่างๆในโลกก็คือ ข้อความของท่านเอกอัครราชทูตฯที่ว่า “ประชาธิปไตยของไทยยังใหม่และเยาว์วัยอยู่มาก และกำลังก้าวหน้าต่อไปบนเส้นทางประชาธิปไตย เมื่อปีที่ผ่านมามีการเลือกตั้ง เราพอใจที่ได้เห็นการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง....ไทยกำลังเคลื่อนตัวไปในทิศทางที่ถูกต้อง....ประชาธิปไตยบางครั้งยุ่งเหยิงและท้าทาย และทุกๆประเทศก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป”

เพราะการกล่าวว่า “ประชาธิปไตยของไทยยังใหม่และเยาว์วัยอยู่มาก” เป็นสิ่งที่ผู้เขียนไม่ค่อยได้ยินจากเอกอัครราชทูตของประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาแล้วเท่าไรนักในหลายรอบสิบปีมานี้ เพราะก่อนหน้านี้มีแต่จะเรียกร้องให้ประชาธิปไตยไทยมีมาตรฐานเท่ากับประชาธิปไตยที่พัฒนามาแล้วหลายร้อยปี ดังนั้น คำกล่าวที่ว่าประชาธิปไตยยังใหม่และเยาว์วัยอยู่อาจจะไม่เป็นที่สบอารมณ์ของคนไทยจำนวนหนึ่งที่วิจารณ์ประชาธิปไตยของตัวเองว่า “เปลี่ยนแปลงมาตั้งแปดสิบแปดปีแล้ว ยังไม่ไปไหน”

และสุดท้าย อีกข้อความที่ผู้เขียนชอบก็คือ “...ประชาธิปไตยบางครั้งยุ่งเหยิงและท้าทาย และทุกๆประเทศก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป” เพราะแม้ท่านเอกอัครราชทูตจะไม่กล่าวย้อนไปในรายละเอียดของประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศของท่านเอง แต่ระดับท่านก็ย่อมต้องรู้ดีว่า จอร์จ วอชิงตันก็ยังให้ลูกน้องไปซื้อเหล้ามาซื้อเสียงผู้ลงคะแนน (Washington spent his entire campaign budget, 50 pounds, on 160 gallons of liquor served to 391 voters. [Yes, the Founding Fathers drank heavily, especially when they had to vote.] Buying votes with booze was already a custom in England. Washington also was following a Virginia tradition where barrels of liquor were rolled to courthouse lawns and polling places on Election Day. https://constitutioncenter.org/blog/booze-on-election-day-was-an-american-tradition/)

และประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์นแอบซื้อสื่อหนังสือพิมพ์มาเป็นของตัวเอง และใช้ให้สื่อหนังสือพิมพ์เขียนเชียร์ตัวเองโดยไม่เปิดเผยให้สาธารณะรู้ (They don’t know that Lincoln owned his own newspaper at one point—a German language newspaper no less (and that he managed to hide it from his contemporaries and most biographies). They don’t know the time he spent reviewing and typesetting his famous Cooper Union speech the night before with journalists—knowing how it would launch his political career or more famously, how he designed the Gettysburg address not for the crowd—who was actually quite underwhelmed by it—but to play well for the newswires. They’ve certainly never heard of the jobs, leaks, advertising dollars and access to crucial telegraph lines Lincoln dangled in order to get what he needed. https://observer.com/2014/11/abraham-lincoln-as-media-manipulator-in-chief-the-150-year-history-of-corrupt-press/)

และจากตัวอย่างของนักการเมืองสองท่านของสหรัฐฯและอาจจะรวมตัวอย่างของนักการเมืองไทยด้วย ทำให้เราเข้าใจคำของท่านทูตที่ว่า “ประชาธิปไตยบางครั้งยุ่งเหยิงและท้าทาย และทุกๆประเทศก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องแก้ไขให้ลุล่วงไป” เพราะต่อมา สหรัฐฯก็ได้ออกกฎหมายห้ามซื้อเสียงที่เข้มงวดขึ้นและห้ามซื้อสื่อหรือเป็นเจ้าของสื่อ อันเป็นกฎหมายที่บ้านเราเพิ่งมีมาไม่นานมานี้ สหรัฐฯก็ห้ามไม่ให้กู้เอกชนเกินจำนวนที่กำหนดไว้ บ้านเราก็ไม่ให้ เพียงแต่บ้านเขาโทษแรงสุดคือปรับ แต่ของเรายุบพรรค คำถามคือ การตั้งพรรคการเมืองบ้านเรากับบ้านเขาอันไหนมันยากง่ายกว่ากัน เขาหรือเราจริงจังกว่ากันที่จะให้พรรคการเมืองมาจากฐานประชาชนจริงๆ? แล้วความได้เปรียบที่กู้เงินหัวหน้าพรรคไปใช้ในการเลือกตั้งจนทำให้ได้ ส.ส.มามากมายกว่าพรรคที่ไม่มีเงินส่งผู้สมัครครบทุกเขต เพราะไม่รู้ว่ากู้หัวหน้าพรรคได้มากขนาดนั้น หรือไม่มีหัวหน้าพรรคเป็นมหาเศรษฐี การชดเชยความเสียเปรียบที่เกิดขึ้นนี้จะทำอย่างไร?