posttoday

วิธีการ “ทำมาหากิน” ในรัฐสภาไทย (5)

29 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

***************************

นักการเมืองไทยคิดแต่จะ “ซื้อ” ประชาชน

ประชาชนในสายตาของนักการเมืองก็เป็นแค่ “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ที่ต้องพยายามหาทาง “โน้มน้าว” เพื่อให้มาลงคะแนนให้แก่ตน แต่เป็นการโน้มน้าวด้วยอามิสสินจ้าง โดยที่นักการเมืองมีความเชื่อว่า ประชาชนต้องการความช่วยเหลือ เนื่องจากประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ยังยากจน เพราะฉะนั้นการช่วยเหลือด้วยเงินทองหรือสิ่งของจึงน่าจะ “ดึงดูด” ผู้คนได้ดีที่สุด

ผู้หลักผู้ใหญ่ทางการเมืองเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ในสมัยแรกๆ ยังไม่มีเรื่องการซื้อเสียงด้วยเงิน มีเพียงแต่การให้สิ่งของ เพราะเวลาที่ท่านผู้แทนฯออกไปเยี่ยมประชาชน ได้พบเห็นว่าประชาชนนั้นแร้นแค้นขาดแคลน จึงได้นำเอาข้างของเครื่องใช้และของกินไปแจกจ่ายประชาชนอยู่เป็นปกติ ในทำนองว่า “ไม่ไปหากันมือเปล่า” คือเป็นธรรมเนียมไทยที่จะต้องมีข้าวของติดไม้ติดมือเวลาที่ไปเยี่ยมเยียนกัน ที่นิยมกันมากก็คือกระปิ น้ำปลา ปลาร้า ข้าวสาร และอาหารแห้ง

แล้วแต่ว่าเป็นผู้แทนฯของภูมิภาคใด รองลงมาก็คือเสื้อผ้าและรองเท้าแตะฟองน้ำ ส่วนใหญ่ก็เป็นการไปขอจาก “เจ้าใหญ่นายโต” ที่เป็นคนดูแลผู้แทนฯแต่ละกลุ่ม ต่อมาเจ้าใหญ่นายโตเหล่านั้นได้มีอำนาจวาสนามีตำแหน่งในรัฐบาล ท่านก็ช่วยหาเงินจากงบประมาณแผ่นดิน ในทำนองว่าเป็นงบสนับสนุนการทำงานของผู้แทนราษฎร ให้ไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนขาดแคลน ถึงขั้นที่ว่ามีการอนุมัติเงินไปซื้ออุปการณ์การเกษตรเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร “แจกจอบแจกเสียม” ซึ่งก็คงจะมีการคอร์รัปชั่นกันมาก ฝ่ายค้านจึงยื่นญัตติซักฟอก โดยมีการอภิปรายอยู่ถึง7วัน 7 คืน ที่สุดรัฐบาลต้องยุบสภา

เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้แต่ผู้สมัคร ส.ส.เองก็มีการแจกข้าวของกันเป็นปกติ เช่น มี ส.ส.ปลาทูเค็ม ก็หมายถึง ส.ส.ที่ได้ตำแหน่งผู้แทนราษฎรมาจากการแจกปลาทูเค็ม โดย ส.ส.ท่านนี้เป็น ส.ส.ในภาคอีสาน ที่ปลาทูเค็มคือกับข้าวยอดนิยมและถือว่า “หรูมาก” ของคนยากคนจนในภูมิภาคนั้น เพราะการคมนาคมยังลำบาก การที่จะได้ของกินที่เป็นอาหารทะเลอย่างปลาทูเค็ม

จึงเป็นเรื่องที่หลายๆ คนใฝ่ฝัน หรือมี ส.ส.รองเท้าแตะ ที่ไปแจกรองเท้าแตะฟองน้ำแก่ประชาชน แต่แจกให้ข้างเดียวในตอนที่หาเสียง แล้วบอกว่าถ้าเลือกตั้งได้แล้วจะมาแจกอีกข้างหนึ่ง (เรื่องทำนองนี้ผู้เขียนเคย “เห็นกับตา” ในการเลือกตั้งที่มีการใช้เงินในยุคหลังๆ คือในการเลือกตั้งปี 2522 ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมญาติที่อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างที่พักอยู่ในหมู่บ้านก็มีรถกระบะติดป้ายหาเสียงของผู้สมัครคนหนึ่งขับเข้ามาในหมู่บ้าน พร้อมกับบอกให้ไปพบกันที่ศาลาประชาคมกลางหมู่บ้าน จากนั้นก็มีการแจกเงินเป็นแบ๊งค์ 20 บาทเย็บคู่เท่ากับ40 บาท แล้วบอกว่าถ้าเลือกผู้สมัครเบอร์นี้ถ้าได้เป็นผู้แทนแล้วจะมาแจกอีก 40 บาท ซึ่งก็มีคนไปรับเงินจำนวนนี้อยู่หลายคน)

ในยุคต่อมาตั้งแต่ พ.ศ.2512 นอกจากการแจกข้าวของแล้ว ก็มีการสัญญาว่า “จะให้” เช่น ไปบอกหลวงพ่อว่าถ้าได้เป็นผู้แทนฯแล้ว จะเอาเงินมาสร้างโบสถ์สร้างศาลาให้ บอกผู้ใหญ่บ้านว่าจะสร้างถนนสร้างฝายและเอาไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน รวมถึงการฝากลูกฝากหลานให้มีเข้าโรงเรียนในอำเภอจังหวัด และหางานให้หรือฝากงานให้ทำโดยเฉพาะงานราชการ ซึ่งการกระทำแบบนี้แม้จะผิดกฎหมาย แต่ก็มีผู้สมัคร ส.ส.จำนวนมากยังทำกันอยู่อย่างโจ๋งครึ่ม เนื่องด้วย “ความใหญ่” ของนักการเมืองเหล่านั้นที่มีอำนาจรัฐคุ้มกะลาหัว โดยเฉพาะนักการเมืองในฝ่ายรัฐบาลที่มีทหารเป็นผู้ปกครองประเทศคอยค้ำจุนอยู่ ทำให้ข้าราชการทั้งตำรวจและมหาดไทยที่ดูแลกฎหมายเลือกตั้งในยุคนั้น “กลัวหัวหด” ไม่กล้าดำเนินการเอาผิดใดๆ

การใช้เงินซื้อเสียงมาระบาดหนักเอามากๆ ในการเลือกตั้งตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งถือว่าการได้เป็น ส.ส.เป็นการ “ลงทุน” อย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้เป็น ส.ส.ก็สามารถไป “ถอนทุน” คืนได้ ทั้งการ “ขายตัว” ของ ส.ส.เอง ที่จะไปเรียกรับเงินเพื่อให้คนที่อยากเป็นรัฐมนตรี “ประมูล” แต่ถ้าหากตัวเองได้เป็นรัฐมนตรีก็ยิ่งเหมือนถูก “แจ็คพ็อต” เพราะสามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่ “กอบโกย” ได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

แต่ถ้าโชคร้ายเป็นแค่ลิ่วล้อหรือ ส.ส.ฝ่ายค้าน ก็อาจจะหาเบี้ยบ้ายรายทางจากการยกมือผ่านกฎหมายหรือรับรองญัตติต่างๆ รวมถึงเข้าร่วมการประชุมให้เกิดเป็นองค์ประชุม ก็พอจะ “กล้อมแกล้ม” พอออยู่พอกินไปได้ รวมถึงใน “ฤดูทำมาหากินประจำปี” คือในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ที่ ส.ส.มีการรวมกลุ่มกันเพื่อเจรจากับเจ้ากระทรวงต่างๆ ขอค่าผ่านงบของกระทรวงนั้นๆ ซึ่งถ้ากระทรวงใดไม่ให้ก็จะถูก “แขวน” หรือสงวนคำแปรญัตติไว้ ซึ่งแปลความว่ามีโอกาสสูงมากที่จะถูกตัดงบประมาณจำนวนดังกล่าว

โดยเฉพาะการสงวนคำแปรญัตติจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่ต้องอาศัยเสียงจากการยกมือให้ผ่านงบประมาณในแต่ละปีนั้น ดังนั้นรัฐบาลในช่วงเวลานั้นจึงต้องตั้ง “งบ ส.ส.” หรืองบพัฒนาพื้นที่ ให้ ส.ส.นำไปใช้จ่ายในเขตเลือกตั้งของตน แต่ก็เป็นไปแบบ “วัดครึ่งกรรมการครึ่ง” คือนำไปแบ่งปันกันกับผู้รับเหมาและหัวคะแนนในท้องถิ่น สร้างทั้งความมั่งคั่งร่ำรวยและอิทธิพลให้แก่ ส.ส.จำพวกนั้น จนเกิดเป็น “ธนาธิปไตย” หรือระบอบที่ “เงินเป็นใหญ่”

ในสมัยต่อมา การระบาดของธนาธิปไตยนี่เองที่นำมาสู่ความวุ่นวายทางการเมืองตั้งแต่ปี 2522 ป็นต้นมา ยิ่งมีนายกรัฐมนตรีแบบ “เตมีย์ใบ้” ที่แม้ตัวท่านเองจะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่มือสะอาด แต่แขนขาคือลิ่วล้อบริวารของท่านนั้นกลับยังสกปรกโสมมเป็นอย่างยิ่ง อันนำมาสู่การรัฐประหารในวันที่ 23 กุมภาพันธ์2534 ที่ทหารอ้างเหตุผลอย่างหนึ่งว่าจะเข้ามาจัดการกับธนาธิปไตยนั้น กระนั้นก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ เพราะภายหลังที่มีการปฏิรูปการเมืองใน พ.ศ. 2540 ปัญหาการคอร์รัปชั่นในทางการเมืองไทยก็รุนแรงมากขึ้น เพราะนักการเมืองไทยมีวิธีทำมาหากินแบบใหม่ เป็น “ตำนานหน้าใหม่” ที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้ นั่นคือการ “อ้างประชาชน” ขึ้นสู่อำนาจ และกอบโกยอย่างอภิมหาอมตะโคตรโกง

*******************************