posttoday

ชังชาติ รักชาติ (ตอนที่สาม)

25 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...ไชยันต์ ไชยพร 

*******************

ได้เขียนถึงเรื่องชังชาติ รักชาติไปสองตอน มีผู้แสดงความเห็นที่น่าสนใจเข้ามาหลายท่าน แม้ว่าในตอนที่สอง ผู้เขียนจะทิ้งท้ายว่า “การไม่รักชาติใดชาติหนึ่งก็หาใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเสมอไปเท่านั้น เพราะยังมีพวกที่เชื่อในความเป็นสากลนิยม ความเป็นคนในโลกใบเดียวกันมากกว่าที่จะยึดติดกับพื้นที่เล็กๆวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง

โดยคนแบบนี้ต้องการที่จะเป็นพลเมืองโลกและรับวัฒนธรรมอันหลากหลาย มองเห็นความสวยงามของสิ่งต่างๆในโลก คนพวกนี้อาจจะชังชาติได้ หากชาติมันคับแคบและเห็นแก่ตัวเกินไป คนพวกนี้เป็นปฏิเสธ “nationalism” แต่ยึดมั่นในหลักการที่เรียกว่า “cosmopolitianism” และต้องการให้คนเป็น ‘พลเมืองโลก’ มากกว่าจะยึดติดกับ “ความเป็นพลเมืองของชาติใดชาติหนึ่ง” เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม บางพวกที่เชื่อใน ‘cosmopolitianism’ ก็ยืนยันว่า การเป็นพลเมืองโลก ไม่จำเป็นต้องละทิ้งการเป็น “พลเมืองที่สังกัดรัฐสังกัดชาติ” ด้วย” โดยผู้เขียนหวังว่าจะอธิบายขยายความเรื่อง “cosmopolitanism” ในตอนนี้ แต่เนื่องจากอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อข้อเขียนสองตอนก่อน ผู้เขียนจึงอยากจะนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาเผยแพร่ในตอนนี้

หากยังจำได้ ผู้เขียนเคยกล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม เช่น รัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชนซื้อและใช้ข้าวของที่ผลิตในประเทศแม้ว่าคุณภาพและราคาจะยังไม่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับสินค้าต่างประเทศ แต่การรณรงค์นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมนี้ก็เพื่อหวังผลในระยะยาวที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศให้อยู่ได้ และเมื่ออยู่ได้ก็จะสามารถพัฒนาต่อยอดจนทำให้สินค้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศมีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม

แต่แน่นอนว่าในตอนแรกๆ อาจจะมีประชาชนที่ต้องการซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสมกว่าของในประเทศ คนพวกนี้อาจจะโดนข้อหาว่าเป็นพวกไม่รักชาติได้ และถ้าคนพวกนี้ออกมารณรงค์ต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมโดยอ้างสิทธิเสรี่ภาพในการเลือกซื้อสินค้าตามเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม คนพวกนี้ก็อาจจะโดนข้อหาชังชาติได้

ต่อประเด็นดังกล่าวนี้ ดร.ทศพร นพวิชัย ได้กรุณาแสดงความเห็นในลักษณะตั้งคำถามมาว่า “ชังชาติ รักชาติ ถือเป็นวาทกรรมทางการเมืองได้ไหม ? เพราะคนที่จุดประเด็นเหล่านี้มีส่วนได้ส่วนเสียกับทรัพยากรของส่วนรวม” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าพิจารณาในบริบทของนโยบายทางเศรษฐกิจ จะพบว่า คนที่เป็นเจ้าของกิจการเป็นผู้ผลิตคือผู้ได้ประโยชน์จากการที่ประชาชนซื้อสินค้าภายในประเทศที่ตนเป็นเจ้ากิจการ

ส่วนนักธุรกิจนำเข้าก็จะเสียประโยชน์ ซึ่งในแง่นี้ รักชาติ ชังชาติก็จะถูกมองว่าเป็น “วาทกรรม” ที่ถูกสร้างขึ้นมาอำพรางผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ผลิตภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การอ้าง “เสรีนิยม” ก็เป็น “วาทกรรม” ที่ผู้สร้างขึ้นมาจากฝั่งนักธุรกิจนำเข้าด้วยเช่นกัน

ดร.ทศพร ยังได้ยกประเด็นที่น่าสนใจและแหลมคมมากขึ้นกว่าเรื่องของสินค้าทั่วไป โดยได้กล่าวถึง นโยบายการสงวนอาชีพที่เป็นนโยบายชาตินิยมในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามในช่วง พ.ศ. 2481-2489 โดยหวังจะให้มีหลักประกันทางอาชีพบางอย่างให้แก่คนไทย โดยออกนโยบายสงวนและส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อการส่งเสริมทางสังคมวัฒนธรรมด้วย แต่แน่นอนว่า หากคนไทยที่ประกอบอาชีพที่สงวนให้ได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่สมเหตุสมผลในด้านราคา กลไกตลาดเสรีก็จะทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถ “รักชาติไทย ชูชาติไทย” ตามท่านผู้นำได้ ยกเว้นคนที่ “รักชาติอย่างรุนแรง” แต่ความรักชาติอย่างรุนแรงนี้จะไม่สมเหตุสมผลเลย หากเขายังใช้บริการจากคนไทยที่ให้บริการที่คุณภาพต่ำและแถมยังมีราคาไม่สมเหตุสมผลด้วย

จากตัวอย่างที่ ดร.ทศพร ยกมา ทำให้ผู้เขียนนึกถึงกรณีแท็กซี่ vs อูเบอร์-GRAB และอีกหลายๆกรณีที่น่าจะเกี่ยวพันกับประเด็นที่กล่าวไปนี้

ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้เขียนนึกถึงประเทศสวีเดนในศตวรรษที่สิบแปด ที่เรื่องราวมันอาจจะกลับตาลปัตร เพราะเมื่อพระเจ้ากุสตาฟที่สามทรงทำรัฐประหารยึดอำนาจ นโยบายทางเศรษฐกิจของพระองค์คือ ปล่อยให้เกิดการค้าเสรีเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนของพระองค์ เพราะก่อนหน้านี้ พวกอภิชนและพ่อค้าผูกขาดทางเศรษฐกิจอยู่และได้ประโยชน์จากการค้าขายสินค้าของตนโดยได้ประโยชน์จากนโยบายการกีดกันสินค้าต่างประเทศ ทำให้ประชาชนต้องจับจ่ายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและราคาที่ไม่สมเหตุสมผล

และพระเจ้ากุสตาฟที่สามทรงเชื่อว่า นโยบายการค้าเสรีของพระองค์นั้นเป็นนโยบายเพื่อการกินดีอยู่ดีของประชาชนชาวสวีเดนอย่างแท้จริง และเป็นนโยบายที่พระองค์เรียกว่าเป็นนโยบายเพื่อปิตุภูมิ  ในขณะที่พวกอภิชนและพ่อค้าสวีเดนก็จะรู้สึกไม่พอใจกับนโยบายเศรษฐกิจแบบปิตุภูมินิยมของพระเจ้ากุตาฟที่สาม และถ้ามีปฏิกิริยาออกมามากๆ ก็ย่อมจะกลายเป็นพวก “ชังชาติ” ในสายตาของประชาชนสวีเดนส่วนใหญ่ในเวลานั้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจของพระเจ้ากุสตาฟที่สาม ที่เป็นปิตุภูมินิยมและเสรีนิยมได้ด้วยในเวลาเดียวกัน !

เหตุที่พระเจ้ากุสตาฟที่สามทรงออกนโยบายดังกล่าวก็เพราะพระองค์ทรงได้รับการศึกษาและให้ความสนใจอย่างจริงจังในปรัชญาความคิดที่กำลังเฟื่องฟูทั่วยุโรปในขณะนั้น ที่รู้จักกันในนามของ “กระแสแห่งแสงสว่างทางปัญญา” (the Enlightenment) โดยเฉพาะหลักเศรษฐศาสตร์สำนัก “Physiocracy” ที่มีอิทธิพลต่อบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่อย่างอาดัม สมิธ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมหรือรักชาติจึงไม่จำเป็นต้องหมายถึงการใช้ของภายในประเทศเสมอ แต่ขึ้นอยู่กับบริบทในขณะนั้น ดังนั้น นโยบายหนึ่งๆจึงเป็นนโยบายที่ “รักชาติ” ได้ในบริบทหนึ่ง และก็อาจจะกลายเป็นนโยบาย “ชังชาติ” ได้ในอีกบริบทหนึ่ง คำถามคือ ในเรื่องการเมือง เป็นเช่นเดียวกันแบบเศรษฐกิจหรือเปล่า ? (คราวหน้าจะหยิบยกประเด็นที่มีผู้เสนอมา อันได้แก่ ประเด็น “สลิ่ม” ในการเมืองทศวรรษที่ผ่านมา และประเด็น “คนไทยผสม” ในสมัยรัชกาลที่หก ซึ่งเกี่ยวกับเรื่อง “ชังชาติ รักชาติ” อย่างยิ่ง)

***************************