posttoday

เหลียวหลังแลหน้าไวรัสโคโรนาหวู่ฮั่น (2)

18 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

***************************

โรคซาร์สเริ่มระบาดในจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 ถึงเดือนกรกฎาคม 2546 มีรายงานผู้ป่วยทั้งสิ้น 8,096 ราย ตาย 774 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในจีนและฮ่องกง และกระจายไปยังประเทศต่างๆ รวม 17 ประเทศ / ดินแดน ประเทศไทยมีผู้ป่วย 9 ราย ตาย 2 ราย

ในจีนมีผู้ป่วยตามรายงาน 5,327 ราย ตาย 349 ราย อัตราป่วยตาย (Case Fatality Rate 6.6%), ฮ่องกง ป่วย 1,755 ราย ตาย 299 ราย อัตราป่วยตาย 17.0% , ไต้หวัน ป่วย 346 ราย ตาย 37 ราย อัตราป่วยตาย 10.7% , แคนาดา ป่วย 251 ราย ตาย 43 ราย อัตราป่วยตาย 17.1% , สิงคโปร์ ป่วย 238 ราย ตาย 33 ราย อัตราป่วยตาย 13.9% , เวียดนามป่วย 63 ราย ตาย 5 ราย อัตราป่วยตาย 7.9% , สหรัฐ ป่วย 27 ราย ไม่มีตาย , ฟิลิปปินส์ ป่วย 14 ราย ตาย 2 ราย อัตราป่วยตาย 14.3%

ไทย ป่วย 9 ราย ตาย 2 ราย อัตราป่วยตาย 22.2% , เยอรมนี ป่วย 9 ราย ไม่มีตาย , มองโกเลีย ป่วย 9 ราย ไม่มีตาย , ฝรั่งเศส ป่วย 7 ราย ตาย 1 ราย อัตราป่วยตาย 14.3% , ออสเตรเลีย ป่วย 6 ราย ไม่มีตาย, มาเลเซีย ป่วย 5 ราย ตาย 2 ราย อัตราป่วยตาย 40.0% , สวีเดน ป่วย 5 ราย ไม่มีตาย , สหราชอาณาจักร และ อิตาลี มีประเทศละ 4 ราย ไม่มีตาย , อินเดีย และเกาหลีใต้ มีประเทศละ 3 ราย ไม่มีตาย , อินโดนีเชีย พบ 2 ราย ไม่มีตาย , แอฟริกาใต้ พบ 1 ราย ตาย , ที่เหลือประเทศละ 1 ราย ไม่มีตาย ใน 8 ประเทศ / ดินแดน ได้แก่ คูเวต , ไอร์แลนด์ , มาเก๊า , นิวซีแลนด์ , โรมาเนีย , รัสเซีย , สเปน , และ สวิตเซอร์แลนด์

ตัวเลขอัตราป่วยตายที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ มิได้สะท้อนศักยภาพของแต่ละประเทศในการดูแลรักษาผู้ป่วย เพราะจำนวนผู้ป่วยในแต่ละประเทศแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะในประเทศที่มีผู้ป่วยไม่กี่ราย ตัวเลขอัตราป่วยตายที่แสดงไว้ ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ทางสถิติ อัตราป่วยตายส่วนใหญ่ขึ้นกับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละรายเป็นสำคัญ โดยขึ้นกับสภาพของผู้ป่วย ถ้าอายุมาก น้ำหนักมาก มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ โรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ เป็นต้น โอกาสเสียชีวิตก็จะสูง

โรคซาร์สมีข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่า เกิดจากเชื้อไวรัสซาร์ส เข้าสู่ร่างกายโดยการสัมผัสกับเยื่อบุทางเดินหายใจคือ จมูก โดยสัมผัสได้ 3 ทาง ได้แก่ (1) การสัมผัสโดยตรง (Direct Contact) เช่น การคลุกคลี การจูบ (2) การรับละอองฝอย (droplet) จากการจาม ไอ จะทำให้น้ำมูกถูกพ่นออกมาเป็นละอองฝอย หรือน้ำลายที่มีเชื้อโรคปนอยู่กระเด็นออกมา

ซึ่งโดยทั่วไปจะพ่นไปได้ไกลราว 1 เมตร หรือ ถ้า จาม-ไอ แรงๆ อาจไปได้ไกลถึง 2 เมตร การติดต่อโดยวิธีนี้เรียกว่าการสัมผัสผ่านอากาศ (air-borne) โดยอาจเป็นการสัมผัส “โดยตรง” (direct contact) จากการ ไอ-จาม แล้วเสมหะหรือน้ำลายกระเด็นใส่โดยตรง หรือโดยเสมหะ-น้ำลายที่พ่นออกมาเป็นละอองฝอย แล้วผู้รับสูดเข้าไป (3) การสัมผัสกับ “สิ่งของ” (Fomites หรือ fomes) ที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย หรือ ผู้ติดเชื้อที่สามารถแพร่โรคได้ สิ่งของเหล่านี้เป็นอะไรก็ได้ เช่น แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม โต๊ะ เก้าอี๊ พวงมาลัยรถยนต์ ปุ่มลิฟต์ ลูกบิดกุญแจ ฯลฯ

สำหรับโรคซาร์ส มีผู้ป่วยรายหนึ่งที่แพร่โรคให้แก่คนจำนวนมาก (Super-spreader) ที่โรงแรม เมโทรโปล ในฮ่องกง มีสมมติฐานว่าน่าจะแพร่โรคโดยผ่านการสัมผัสปุ่มลิฟต์ของโรงแรม โดยผู้ป่วยใช้นิ้วที่เปื้อนน้ำมูกกดปุ่มลิฟต์ แล้วคนอื่นๆ มากดตาม และมือที่เปื้อนเชื้อนั้นไปสัมผัสเยื่อบุจมูก

โรคไวรัสโคโรนาหวู่ฮั่นเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเหมือนซาร์ส จึงแพร่โรคใน “ลักษณะ” เดียวกัน คำแนะนำในการป้องกันการติดโรค จึงเหมือนกัน โดยมีคำแนะนำเพื่อจำง่ายๆ ว่า “Remember W-U-H-A-N” (จำคำว่าหวู่ฮั่น) ซึ่งหมายถึง (1) ตัว W คือ Wash hands (ล้างมือ) (2) ตัว U คือ Use mask properly (ใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง) (3) ตัว H คือ Have temperature checked regularly (คอยวัดอุณหภูมิร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูว่ามีไข้หรือไม่) (4) ตัว A คือ Avoid large crowds (หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในหมู่คนมากๆ ) และ (5) ตัว N คือ Never touch your face with unclean hands (ต้องไม่เอามือที่ไม่สะอาดมาสัมผัสใบหน้า)

น่าสังเกตว่า คำแนะนำชุดนี้เริ่มต้นที่การแนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ เพราะเป็นช่องทางการนำเชื้อเข้าสู่ร่างกายที่พบบ่อยที่สุด โดยเรามีโอกาสไปสัมผัสกับวัสดุสิ่งของที่มีเชื้อโรคจากน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยติดอยู่ และเชื้อยังไม่ตาย เมื่อมือที่เปื้อนเชื้อมาแตะที่ใบหน้า เชื้อก็มีโอกาสเข้าจมูกได้

ตอนที่มีการระบาดของโรคซาร์ส โรงพยาบาลหลายแห่งสร้างที่ล้างมือหน้าอาคาร โดยทำก๊อกน้ำที่ใช้เท้าเหยียบเพื่อเปิดน้ำแทนการใช้มือหมุนหรือกดก๊อกน้ำ เพราะเชื้อสามารถติดอยู่กับที่เปิดปิดก๊อกน้ำและแพร่เชื้อไปให้คนที่ไปใช้ต่อๆ ไปได้โดยง่าย ลูกบิดประตูก็เช่นกัน ปุ่มลิฟต์ก็ด้วย การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับ “สิ่งของ” เหล่านี้ทำได้ยาก คำแนะนำในการป้องกันการติดโรคข้อแรก จึง ให้ล้างมือบ่อยๆ

แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเพราะช่วงสัมผัสกับสิ่งของต่างๆ กับการล้างมือแต่ละครั้ง ก็มีช่วงห่าง จึงมีข้อแนะนำข้อที่ 5 คือ ต้องไม่เอามือที่ไม่สะอาดสัมผัสใบหน้า

ทุกครั้งที่ล้างมือ ควรเช็ดมือให้แห้ง คำแนะนำคือใช้กระดาษเช็ดมือ แล้วนำกระดาษเช็ดมือนั้นมาหุ้มลูกบิดประตู จะช่วยให้มือไม่ต้องสัมผัสลูกบิดโดยตรง การเช็ดมือให้แห้งจะช่วยทำให้ขจัดโรคได้อีกทางหนึ่ง เพราะเชื้อโรคจะตายเร็วขึ้น

การใช้เจลแอลกอฮอล์ก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ แต่มีปัญหาบ้าง คือ แอลกอฮอล์จะทำลายความชุ่มชื้นของผิวหนัง ถ้าใช้บ่อยๆ อาจจะทำให้ผิวหนังแห้งและอาจแตกง่ายขึ้น องค์การเภสัชกรรมและโรงงานหลายแห่งแก้ปัญหาโดยนำสมุนไพรใบบัวบกมาผสมลงในผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจล จะช่วยรักษาผิวหนังให้ชุ่มชื้นได้ เพราะใบบัวบกมีฤทธิ์สมาน

การสวมหน้ากากอนามัย นอกจากช่วยป้องกันการรับเชื้อที่แพร่มาทางอากาศจากการไอจามแล้ว ยังช่วยกรองฝุ่นต่างๆ ได้ไม่น้อย แม้ไม่ทั้งหมด และทำให้โอกาสที่เราจะป้องกันการใช้มือที่เปื้อนไปจับต้องใบหน้าได้ด้วย

องค์การอนามัยโลก แนะนำหน้ากากอนามัยคุณภาพสูง เพื่อประสิทธิผลสูงสุดในการป้องกันการรับเชื้อ กระทรวงสาธารณสุขก็แนะนำหน้ากากอนามัยมาตรฐานสูงเช่นกัน แต่ตามหลักวิชาการแล้ว หน้ากากอนามัยธรรมดาราคาถูกๆ ก็ป้องกันการติดโรคได้ใกล้เคียงกับหน้ากากอนามัยชนิด N95 ซึ่งนอกจากราคาแพงและอาจหาซื้อยากแล้ว ยังทำให้อึดอัด และหายใจยากด้วย

สมัยที่โรคเอดส์ระบาด และมีการรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยง ก็มี “นักวิชาการ” บางคนออกมาวิจารณ์ว่าถุงยางอนามัยมีรูพรุนขนาดโตกว่าเชื้อไวรัสเอดส์ ซึ่งก็จริง แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าเชื้อเอดส์ก็ไม่สามารถผ่านรูพรุนนั้นได้ เชื้อจะผ่านได้กรณีใช้ถุงยางอนามัยผิดวิธีหรือถุงยางอนามัยแตก หรือฉีกขาด ซึ่งมักเกิดกับถุงยางอนามัยที่ขาดน้ำยาหล่อลื่น

กระทรวงสาธารณสุข โดยนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้คิดค้นและผลักดันโครงการ “ถุงยางอนามัย 100%” จนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ พบว่าถุงยางอนามัยแต่ก่อนมักบรรจุในซองพลาสติก ซึ่งน้ำยาหล่อลื่นระเหยออกได้ และไม่มีการควบคุมคุณภาพโดยเข้มงวด จึงกำหนดให้ถุงยางอนามัยเป็น “เครื่องมือแพทย์” ตาม พรบ. เครื่องมือแพทย์ มีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานถุงยาง และกำหนดให้ต้องบรรจุในฟอยส์อลูมิเนียม ป้องกันน้ำยาหล่อลื่นระเหย แก้ปัญหาถุงยางอนามัยแตกหรือฉีกขาดได้อย่างชงัด

หน้ากากอนามัยก็เช่นกัน เมื่อสมควรต้องใช้หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ ผู้เขียนเองยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ใช้หน้ากากอนามัยราคาถูกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ไม่ทิ้ง โดยเมื่อกลับเข้าบ้านจะซักน้ำโดยใช้ผงซักฟอกธรรมดา ขยี้เบาๆ ไม่ขยี้แรงเพราะจะฉีกขาด ตากแห้ง สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง

***************************